จากรายงานดัชนีความยากจนหลายมิติฉบับล่าสุด (Multidimensional Poverty Index: MPI) เผยแพร่เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2565 ภายใต้ชื่อ “Unpacking deprivation bundles to reduce multidimensional poverty” จัดทำโดยโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (United Nations Development Programme – UNDP) ร่วมกับโครงการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และแก้ไขความยากจนแห่งมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด (Oxford Poverty and Human Development Initiative – OPHI)ระบุว่า ดัชนีความยากจนหลายมิติของประเทศกำลังพัฒนา 111 ประเทศทั่วโลก โดยใช้เรื่องสำคัญ 10 เรื่องเป็นตัวชี้วัด ได้แก่ ภาวะโภชนาการ (nutrition) การตายของเด็กแรกเกิด (child mortality) ระยะเวลาในการศึกษาสำเร็จ (years in schooling) การเข้าเรียน (school attendance) เชื้อเพลิงประกอบอาหาร (cooking fuel) การสุขาภิบาล (sanitation) น้ำดื่ม (drinking water) ไฟฟ้า (electricity) ที่อยู่อาศัย (housing) และการครอบครองสินทรัพย์ (asset) โดยค่าดัชนีที่ต่ำลงหมายถึงระดับความยากจนที่ลดลง สำหรับดัชนีความยากจนหลายมิติของประเทศไทยอยู่ที่ 0.002
“ความยากจน” เป็นทั้งสาเหตุ และผลกระทบที่เกี่ยวพันกับปัญหาอื่นๆ ที่มีความซับซ้อน การทำความเข้าใจและมองเห็นถึงความสัมพันธ์ของความยากจนจากหลากหลายมิติ ปัญหาความยากจนในประเทศไทยนั้น เป็นปัญหาที่มีมาอย่างยาวนาน และเกิดจากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นความยากจนจากการขาดที่ดินทำกิน ขาดการศึกษา ปัญหาสุขภาพ หรือการขาดโอกาสในสังคม และจะเห็นได้ว่าภาครัฐเองมีนโยบายในการแก้ไขปัญหาความยากจนมาโดยตลอด
สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน หรือ พอช. มีภารกิจในการสนับสนุนและให้การช่วยเหลือแก่องค์กรชุมชนและเครือข่ายองค์กรชุมชนเกี่ยวกับการประกอบอาชีพ การพัฒนาอาชีพ การเพิ่มรายได้ การพัฒนาที่อยู่อาศัยและสิ่งแวดล้อม และการพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของสมาชิกในชุมชนทั้งในเมืองและชนบท โดยยึดหลักการพัฒนาแบบองค์รวมหรือบูรณาการและหลักการพัฒนาที่สมาชิกชุมชนมีส่วนร่วมเป็นแนวทางสำคัญ และมีกลไกขบวนองค์กรชุมชนขับเคลื่อนการพัฒนาครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศทั้ง 7,825 ตำบล/เมือง ประกอบด้วย สภาองค์กรชุมชนตำบล กองทุนสวัสดิการชุมชนระดับตำบล เครือข่ายที่อยู่อาศัย สหกรณ์ กลุ่มออมทรัพย์ และองค์กรผู้ใช้สินเชื่อ พร้อมทั้งพื้นที่รูปธรรมการพัฒนาที่อยู่อาศัยในชุมชนเมืองและชนบท และพื้นที่รูปธรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและทุนชุมชนระดับตำบล
นายกฤษดา สมประสงค์ ผู้อำนวยการ พอช. กล่าวว่าว่า จากการดำเนินงานพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของสมาชิกในชุมชนทั้งในเมืองและชนบท ท่ามกลางภาวะวิกฤติการณ์ที่เกิดขึ้น สะท้อนให้เห็นศักยภาพของเครือข่ายองค์กรชุมชน เครือข่ายภาคประชาชนในพื้นที่ เป็นกลไกพื้นฐานที่สำคัญในการเชื่อมโยงและขับเคลื่อนการพัฒนาในพื้นที่ เพื่อให้ชุมชนมีความเข้มแข็ง สามารถจัดการและแก้ไขปัญหาด้วยตนเองตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง นำไปสู่การพึ่งตนเองและชุมชนเข้มแข็งได้อย่างยั่งยืน ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญในการลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างความเป็นธรรมในสังคมได้อย่างเท่าเทียมกัน
“ในปี 2567 พอช. จึงได้จัดทำโครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งชุมชนท้องถิ่นสู่ความมั่นคงของมนุษย์ตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง ด้วยระบบข้อมูล TPMAP และข้อมูลที่เกี่ยวข้อง ได้รับการสนับสนุนงบประมาณ จำนวน 3,826,500 บาท มีเป้าหมายสำคัญในการดำเนินงาน คือ สร้างความมั่นคงเศรษฐกิจและทุนชุมชนฐานรากตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง และเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนท้องถิ่นในการแก้ไขปัญหา สร้างโอกาสให้กับคนรุ่นใหม่ ช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาส/กลุ่มคนเปราะบางให้เข้าถึงสวัสดิการพื้นฐาน โดยสานพลังความร่วมมือของทุกภาคส่วน สู่การพัฒนาดัชนีชี้วัดความเข้มแข็งของชุมชน”
ในส่วนของกลุ่มเป้าหมายในการดำเนินงานมุ่งไปที่ผู้มีรายได้น้อย/กลุ่มคนเปราะบาง/ผู้ด้อยโอกาส ซึ่งมีพื้นที่เป้าหมายดำเนินการในพื้นที่ 10 จังหวัด 50 ตำบล มีความมุ่งหวังให้เกิดผลลัพธ์ที่เกิดความเปลี่ยนแปลงใน 3 เรื่อง คือ (1) ผู้ด้อยโอกาส/กลุ่มคนเปราะบางได้รับการดูแล (2) เกิดระบบและกลไกความร่วมมือระหว่างชุมชนและท้องถิ่น ท้องที่ และ (3) หน่วยงานในพื้นที่และชุมชน มีหลักประกันความมั่นคงในชีวิตทางเศรษฐกิจ สังคม และสุขภาวะสู่การพึ่งตนเองและชุมชนเข้มแข็งได้อย่างยั่งยืนตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง และภายใต้ผลลัพธ์ดังกล่าวขบวนองค์กรชุมชน จะต้องผสานความร่วมมือกับกลไกที่เกี่ยวข้องเพื่อให้เห็นผลถึงความเปลี่ยนแปลง ที่จะสนับสนุนงบประมาณไปยังพื้นที่ 3 แผนงาน คือ แผนงานที่ 1 สนับสนุนองค์กรชุมชนและเครือข่ายองค์กรชุมชนในการพัฒนาและฟื้นฟูชุมชนท้องถิ่น (50 ตำบล/เมือง) จะต้องดำเนินการในเรื่องของ (1) การสำรวจข้อมูล TPMAP ของชุมชน และแผนพัฒนาและฟื้นฟูชุมชนท้องถิ่นในระดับตำบล เชื่อมโยง TPMAP ภาครัฐ โดยวิเคราะห์ข้อมูลกลุ่มคนเปราะบาง ปัญหาความเดือดร้อนของชุมชนใน 5 มิติ ได้แก่ สุขภาพ ความเป็นอยู่ การศึกษา รายได้ และการเข้าถึงบริการรัฐ เพื่อให้ข้อมูลมีความถูกต้อง สมบูรณ์ เป็นข้อมูลตั้งต้น เป็นการค้นหา สอบทานข้อมูลเพิ่มเติม (2) ส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจและทุนชุมชนฐานราก เป็นการยกระดับกลุ่มเป้าหมาย ครัวเรือนเปราะบาง ให้มีอาชีพและสามารถสร้างรายได้ที่สอดคล้องกับความต้องการ เช่น เศรษฐกิจสีเขียว (BCG) ธุรกิจชุมชน ท่องเที่ยวชุมชน เป็นต้น (3) เสริมสร้างขีดความสามารถของเครือข่ายองค์กรชุมชนและโครงข่ายทางสังคม เช่น การบริหารจัดการด้านการเงินของชุมชน การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการปฏิบัติงาน การเชื่อมโยงและช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาส/กลุ่มคนเปราะบางในชุมชน และ (4) สร้างโอกาสในการพัฒนาคนรุ่นใหม่/บัณฑิตจบใหม่/คนที่อพยพจากเมือง : พัฒนาความรู้ความสามารถ ทักษะ การคิดค้นนวัตกรรมใหม่ ๆ ในการพัฒนาอาชีพ รายได้ และการพัฒนาชุมชนท้องถิ่น
แผนงานที่ 2 สนับสนุนกระบวนการทำงานและกลไกการขับเคลื่อนระดับอำเภอ/จังหวัด (10 จังหวัด) (1) จัดตั้งคณะกรรมการสนับสนุนการเสริมสร้างความเข้มแข็งชุมชนท้องถิ่นระดับจังหวัดและขับเคลื่อนการทำงานในพื้นที่ เช่น เชื่อมโยงข้อมูล TPMAP ของจังหวัด แผนพัฒนาและฟื้นฟูชุมชนท้องถิ่นระดับจังหวัด การช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาส/กลุ่มคน (2) พัฒนาศักยภาพกลไกในการติดตาม จัดทำข้อมูล และรายงานสถานการณ์ชุมชนผ่านระบบสารสนเทศ (3) พัฒนาระบบข้อมูลและดัชนีชี้วัดความเข้มแข็งของชุมชนอย่างเป็นระบบ (4) ยกระดับพื้นที่ปฏิบัติการและศูนย์การเรียนรู้ของชุมชน เพื่อขยายผลการดำเนินงานในปีต่อไป แผนงานที่ 3 สนับสนุนการดำเนินงานระดับนโยบายพัฒนา ยกระดับและเชื่อมโยงประเด็นงาน/นโยบายสาธารณะระดับภาค/ชาติ (1) พัฒนานวัตกรรม/ข้อเสนอระดับนโยบาย จากระดับตำบล จังหวัด และภาคสู่ระดับชาติ (2) บูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานระดับนโยบายในการพัฒนาระบบสารสนเทศและเชื่อมโยงข้อมูลจากล่างขึ้นบน (3) ประเมินผลการดำเนินงานโครงการ
ผู้อำนวยการ พอช. กล่าวเพิ่มเติมว่า ความสำคัญของการดำเนินงานโครงการฯ มุ่งเน้นให้เกิดการแก้ไขปัญหาพัฒนาคุณภาพชีวิตของพี่น้ององค์กรชุมชนให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น โดยใช้ข้อมูล TPMAP ที่ถือเป็นข้อมูลสำคัญที่ได้มาจากกระบวนการพัฒนาเชิงพื้นที่ แต่ปัญหาความยากจนของพี่น้องประชาชนไม่ได้มีปัญหามาจาก 5 ด้านจากฐานข้อมูล TPMAP คือ ด้านอาชีพ รายได้ การศึกษา สาธารณสุข สวัสดิการ ที่อยู่อาศัย เท่านั้น แต่ยังมีปัญหาอื่นๆ มากมายในพื้นที่ที่ไม่ได้อยู่ในฐานข้อมูล TPMAP เช่น มีกลุ่มเปราะบาง ที่ต้องได้รับการช่วยเหลือแก้ไขปัญหาภายใต้ข้อมูลที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ได้ดำเนินการไว้ (Logbook) รวมถึงข้อมูลอื่นๆ ที่หน่วยงานต่างๆ ลงไปทำในพื้นที่ ฯลฯ ดังนั้น ทาง พอช.จะใช้ข้อมูลจากฐาน TPMAP เป็นข้อมูลตั้งต้น (สารตั้งต้น) ในการเปิดเวทีให้ทุกภาคส่วนที่อยู่ในพื้นที่ได้มีโอกาสมาพูดคุยปรึกษาหารือกัน และนำข้อมูลที่เกี่ยวข้องมาร่วมกันออกแบบแก้ปัญหาพื้นที่ให้เห็นรูปธรรม
“จากระบบข้อมูลดังกล่าวจะนำไปสู่การจัดทำแผนพัฒนาชุมชนท้องถิ่น ว่าเรื่องใดที่เกี่ยวข้องกับองค์กรท้องถิ่น หน่วยงานระดับท้องถิ่นก็นำไปสู่การปฏิบัติ ส่วนใดที่เกี่ยวข้องกับภาครัฐ หรือจำเป็นต้องส่งต่อไประดับจังหวัดก็ให้นำไปสู่การพัฒนาระดับจังหวัด โดยการออกแบบการทำงานครั้งนี้จะไม่ทำเป็นดาวกระจาย แต่จะเน้นน้ำหนักไปที่ระดับอำเภอ เพื่อให้เห็นการแก้ไขปัญหาทั้งอำเภอ นอกจากนี้ การดำเนินงานจากโครงการดังกล่าว จะนำไปสู่การแก้ปัญหาที่เห็นรูปธรรม ทั้งการพัฒนาอาชีพ การสร้างรายได้ให้กับครัวเรือนที่เป็นกลุ่มเป้าหมายแล้ว พอช. มุ่งหวังเห็นภาพการทำงานกับทุกภาคส่วน (ไม่ใช่ภาพปัจเจก) ที่เป็นโครงสร้างเครือข่ายทางสังคม และองค์กรชุมชนที่เกาะเกี่ยวการทำงานร่วมกันของทุกภาคส่วน ที่จะบูรณการการทำงานร่วม รวมทั้งการสร้างให้เกิดคนรุ่นใหม่ในการทำงานครั้งนี้ ที่ไม่ใช่เพียงเด็ก เยาวชน แต่หมายรวมถึงบุคคลที่อาจยังไม่ได้มีโอกาสเข้ามาทำงานพัฒนาอีกด้วย”
สำหรับการบูรณาการประสานความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการดำเนินงานโครงการ Focus ไปที่นายอำเภอที่เป็นพื้นที่เป้าหมาย และสร้างกลไกการทำงานร่วมกันในพื้นที่ให้เกิดการบูรณาการ โดยการทำงานในครั้งนี้จะเชื่อม “กลไกเดิม เพิ่มกลไกใหม่ ใช้กลไกผสม” เมื่อได้ข้อมูลปัญหาความยากจนที่เกิดจากการวิเคราะห์ร่วมกันแล้ว จะนำไปสู่การออกแบบการทำกิจกรรมในการแก้ไขปัญหาร่วมกัน ซึ่งข้อมูลดังกล่าวจะใช้ในการยึดโยงคน ทำให้เกิดความร่วมมือระดับเครือข่าย ท้องที่ ท้องถิ่น หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่จะนำไปสู่การแก้ปัญหาร่วมกันในพื้นที่ต่อไป
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
พลเอกนิพัทธ์ ทองเล็ก นำทีมช่างชุมชน Kick Off ซ่อมบ้านผู้ประสบภัยพิบัติ ‘แม่ยาวโมเดล’
พอช. หนุนงบกว่า 30 ล้าน ซ่อม สร้าง 6 ตำบล 875 ครัวเรือน สร้างรูปธรรม การจัดการที่ดิน ที่อยู่อาศัย ยกระดับคุณภาพชีวิต พร้อมยื่นข้อเสนอเชิงนโยบายจากชุมชน ถึงรัฐบาล
สุราษฎร์ธานี จัดงานวันที่อยู่อาศัยโลกปี67 ย้ำชุมชนต้องเป็นแกนหลักในการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยคนจน
UN – HABITAT หรือ ‘โครงการตั้งถิ่นฐานมนุษย์แห่งสหประชาชาติ’ กำหนดให้วันจันทร์แรกของเดือนตุลาคมทุกปีเป็น ‘วันที่อยู่อาศัยโลก’ หรือ ‘World Habitat Day’
รวมพลังคนจนแก้ปัญหาที่ดิน-ที่อยู่อาศัยทั่วประเทศ วันที่อยู่อาศัยโลก ปี 2567
ปัญหาการขาดแคลนที่อยู่อาศัยหรือมีที่อยู่อาศัยไม่เหมาะสมเป็นปัญหาที่สำคัญของผู้คนทั่วโลก UN-Habitat หรือ ‘โครงการตั้งถิ่นฐานมนุษย์แห่งสหประชาชาติ’
‘21 ปีบ้านมั่นคง’ พอช. แก้ปัญหาที่อยู่อาศัยคนจนทั่วประเทศ กว่า 3 แสนครัวเรือน
รัฐบาลได้มีนโยบายที่จะแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยของผู้มีรายได้น้อย และสร้างความมั่นคงในการอยู่อาศัยแก่คนจนในเมืองที่ ยังไม่มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง โดยเฉพาะกลุ่มผู้อยู่อาศัยในชุมชนแออัด
เสียงจากคลองเปรมประชากร…บ้านหลังใหม่ชีวิตใหม่ “คืนสายน้ำให้คนคลอง คืนสายคลองให้คนเมือง”
คลองเปรมประชากร มีประวัติศาสตร์อันยาวนานและมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาชุมชนและเศรษฐกิจของกรุงเทพมหานคร ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา คลองนี้ได้ประสบปัญหามากมาย
บอร์ด พอช. มีมติ พักชำระหนี้องค์กรผู้ใช้สินเชื่อในพื้นที่ประสบอุทกภัยทั่วประเทศ
สถานการณ์การเกิดอุทกภัยจากอิทธิพลของพายุยางิ ในระหว่างวันที่ 7 - 8 กันยายน 2567 ส่งผลกระทบต่อประชาชนในจังหวัดเชียงราย จำนวน 7 อำเภอ