กลุ่มพัฒนาอาชีพตำบลโพงาม จ.ชัยนาท ต่อยอด “แพะเงินล้าน” สร้างนวัตกรรมชุมชน ผลิตปุ๋ยอินทรีย์มูลแพะ-ชุดผักพร้อมปลูก

‘แพะเงินล้าน’ ที่ อ.สรรคบุรี  จ.ชัยนาท

กลุ่มอาชีพตำบลโพงามผลิตปุ๋ยมูลแพะ-ชุดผักพร้อมปลูก

ในยุคที่ข้าวของแพง-ค่าแรงต่ำ  หมู  ไก่  ไข่  และอาหารอื่นๆ พากันขยับราคา  ทำให้เดือดร้อนกันทั้งคนซื้อและคนขาย  แต่ยังมีสัตว์เศรษฐกิจชนิดหนึ่งคือ ‘แพะ’ ที่ยังซื้อง่ายขายคล่อง  เพราะตลาดยังมีความต้องการสูง  และส่วนใหญ่จะส่งไปขายที่ประเทศเพื่อนบ้าน  รวมทั้งพี่น้องมุสลิมที่นิยมรับประทานเนื้อแพะ  เช่น  ข้าวหมกแพะ  แกงแพะ  ซุปแพะ  หรือแพะตุ๋นน้ำแดงแบบอาหารจีน  ฯลฯ  ราคาขายหน้าฟาร์ม (แพะเป็นทั้งตัว) ไม่ต่ำกว่ากิโลกรัมละ 105-120 บาท !! 

จังหวัดชัยนาทเป็นจังหวัดหนึ่งที่เกษตรกรนิยมเลี้ยงแพะเนื้อ  เนื่องจากเป็นสัตว์ที่เลี้ยงง่าย  ต้นทุนการเลี้ยงไม่สูง  สามารถเลี้ยงแบบปล่อย  ให้แพะหาหญ้ากินเอง  หรือเลี้ยงแบบปิดในโรงเรือนเพื่อความสะดวกในการดูแล  ใช้เวลาเลี้ยงเพียง 4 เดือนก็ขายได้ 

ข้อมูลจากสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 7 ชัยนาท ระบุว่าในปี 2563  มีเกษตรกรในจังหวัดเลี้ยงแพะ  778 ราย รวม  30,883 ตัว  อำเภอที่เลี้ยงแพะมากที่สุด  คือ  สรรคบุรีและสรรพยา  แต่ปัจจุบันตัวเลขน่าจะสูงขึ้น  เนื่องจากมีเกษตรกรรายใหม่ๆ สนใจหันมาเลี้ยงแพะกันมาก

แพะเงินล้าน

วิรักษ์  แตงงาม  เจ้าของฟาร์มแพะ วรัญญาฟาร์ม  ตำบลโพงาม  อ.สรรคบุรี  จ.ชัยนาท  เล่าว่า  เมื่อ 30 ปีก่อนตนและภรรยามีอาชีพรับจ้างแบกข้าวเปลือกขึ้นรถบรรทุก  ทำงานหนัก  ร่างกายจึงทรุดโทรม  แต่มีรายได้เพียงเดือนละ 6,000 บาท  ต่อมาได้รับบาดเจ็บจากการแบกข้าวเปลือก  จึงมองหาอาชีพใหม่  เห็นเพื่อนทำอาชีพเลี้ยงแพะเนื้อมีรายได้ดี  ตนจึงมาศึกษาเรียนรู้  แล้วหากู้เงินมาลงทุนประมาณ 150,000 บาท  นำมาสร้างโรงเลี้ยง  ซื้อแพะรุ่นแรกมาเลี้ยงประมาณ 40 ตัว  จากนั้นแพะก็ออกลูกออกหลาน  เพิ่มจำนวนมากขึ้น  ใช้เวลาประมาณ 2 ปีจึงปลดหนี้ที่กู้ยืมมาเลี้ยงแพะได้หมด

ผมว่าเลี้ยงแพะดีกว่าเลี้ยงหมู  เพราะลงทุนต่ำกว่า  ค่าอาหารถูกกว่า   อาจจะมีต้นทุนค่าโรงเรือนถ้าเลี้ยงระบบปิด  แต่ก็จะดีกว่าการเลี้ยงแบบเปิด  หรือเลี้ยงแบบไล่ต้อนให้แพะไปหากินหญ้าเอง  เพราะเลี้ยงระบบปิดจะได้แพะที่มีคุณภาพ  ควบคุมการเลี้ยงได้  ส่วนแพะที่ผมเลี้ยงเป็นพันธุ์บอร์  สายพันธุ์มาจากแอฟริกา  จุดเด่นคือ  เนื้อเยอะ  โตเร็ว  4 เดือนก็จับขายได้  น้ำหนักประมาณตัวละ 30-35  กิโลฯ พ่อค้าจะมารับซื้อเอง  ราคาขายหน้าฟาร์มตอนนี้ประมาณกิโลฯ ละ 105 บาท  หรือตัวหนึ่งไม่ต่ำกว่า 3,000 บาท   วิรักษ์บอก  และว่าตอนนี้มีโรงเรือนเลี้ยงแพะอยู่ 3 โรง  เคยเลี้ยงสูงสุดประมาณ 400 ตัว  พ่อค้าจะมารับซื้อแล้วส่งไปขายที่ประเทศเวียดนาม  ลาว

เจ้าของวรัญญาฟาร์ม             

แพะยิ้ม

ตลอดเกือบ 30 ปีที่ผ่านมา  วรัญญาฟาร์มเลี้ยงแพะไปแล้วนับร้อยรุ่น  หากนับจำนวนคงอยู่ในระดับหมื่นตัว มูลค่าหลายสิบล้านบาท วิรักษ์จะสั่งพ่อพันธุ์แพะพันธุ์บอร์ (Boer) มาจากต่างประเทศ  ราคาตัวหนึ่งประมาณ 240,000 บาท  นำมาผสมกับแม่แพะสายพันธุ์ดี   แม่แพะปีหนึ่งจะตั้งท้องได้ 2 ครั้งๆ หนึ่งจะให้ลูกประมาณ 2 ตัว   ใช้เวลาเลี้ยงประมาณ 11-12  เดือน  แพะก็พร้อมที่จะผสมพันธุ์  ออกลูกออกหลานอีก  แพะที่มีลักษณะดี  แข็งแรง  สมบูรณ์  จะขายเป็นพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ราคาตัวหนึ่งไม่ต่ำกว่า 20,000 บาท

ส่วนอาหารหลักของแพะคือกระถินและหญ้าแห้งสับผสมกัน   ให้อาหารวันละ 2 ครั้ง  เสริมด้วยอาหารอื่น  เช่น  อาหารผสมสำเร็จรูป  ข้าวโพดหมัก  หญ้าแองโกล่า  ถ้ามีพื้นที่ปลูกเองก็จะลดต้นทุนได้อีก  นอกจากนี้ยังมีผลพลอยได้  คือมูลแพะ  เอาไปผสมทำปุ๋ยอินทรีย์  จะมีคนมารับซื้อกระสอบละ 20 บาท  กระสอบหนึ่งหนักประมาณ 15-20  กิโลฯ  เดือนหนึ่งจะได้มูลแพะประมาณ 1 พันกระสอบ  วิรักษ์บอกถึงผลพลอยได้

โรงเลี้ยงแพะจะยกพื้นสูง  เว้นระยะพื้นร่องเพื่อให้อากาศถ่ายเท  และกวาดมูลแพะลงมาได้ง่าย  เมื่อมูลแพะมีจำนวนมากจะขายเพื่อทำปุ๋ย

กลุ่มพัฒนาอาชีพตำบลโพงามต่อยอดผลิตปุ๋ยมูลแพะ

พงศ์รัตน์   ยันบัวเงิน  ประธานวิสาหกิจชุมชนกลุ่มพัฒนาอาชีพตำบลโพงาม  บอกว่า  ชาวบ้านตำบลโพงามส่วนใหญ่มีอาชีพทำนา  อาชีพรองคือการเลี้ยงแพะ  และมีอาชีพเสริม  เช่น  ทำไม้กวาด  ในปี 2563  มีหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) เข้ามาจัดทำโครงการวิจัยเพื่อพัฒนาพื้นที่เพื่อแก้ไขปัญหาความยากจน  โดยสนับสนุนให้ชุมชนสำรวจข้อมูลต่างๆ เพื่อนำมาแก้ไขปัญหา  เพราะตำบลโพงามถือว่าเป็นตำบลที่ชาวบ้านมีปัญหาความยากจนมากที่สุดในอำเภอสรรคบุรี

เราเอาข้อมูลที่สำรวจมาวิเคราะห์  พบว่าชาวบ้านในตำบลโพงามส่วนใหญ่ทำนา  แต่มีรายได้น้อย  มีต้นทุนค่าปุ๋ยเคมี  ขณะที่ในตำบลมีการเลี้ยงแพะกันมาก  มีปัญหาเรื่องกลิ่นจากมูลแพะ  เราจึงคุยกันเรื่องจะเอามูลแพะมาทำปุ๋ยใส่ในไร่นา  ใส่แปลงผักสวนครัว  รวมทั้งทำปุ๋ยขายเพื่อเป็นอาชีพด้วย  ประธานกลุ่มบอกถึงจุดเริ่มต้น

จากนั้นในช่วงกลางปี 2564 จึงเริ่มต้นทำปุ๋ยจากมูลแพะ  โดยไปพูดคุยกับ วิรักษ์  แตงงาม เจ้าของฟาร์แพะ วรัญญาฟาร์มเพื่อติดต่อขอซื้อมูลแพะ  วิรักษ์เมื่อรู้วัตถุประสงค์ของกลุ่มวิสาหกิจฯ จึงขายมูลแพะให้ในราคาพิเศษ  จากปกติที่ขายทั่วไปราคากระสอบละ 20 บาท (15-20 กิโลกรัม) เป็นกระสอบละ  8 บาท  โดยกลุ่มฯ จะมาเก็บมูลแพะใส่กระสอบเอง 

แพะ 1 ตัวจะถ่ายมูลออกมาประมาณวันละ 4 กิโลฯ   หากฟาร์มไหนเลี้ยงแพะ 100 ตัว  วันหนึ่งๆ จะได้มูลแพะประมาณ 400 กิโลฯ  ในอำเภอสรรคบุรีมีคนเลี้ยงแพะกว่า 100 ราย  มีทั้งรายเล็กรายใหญ่  เลี้ยงแบบฟาร์มและไล่ต้อน  แต่มูลแพะที่เอามาทำปุ๋ยจะเอามาจากฟาร์มปิด  เพราะเก็บได้ง่าย  เอามาทำปุ๋ยได้ตลอดปี ประธานกลุ่มฯ บอกถึงวัตถุดิบที่ไม่มีวันหมด

มูลแพะที่ไม่มีวันหมด  กลุ่มพัฒนาอาชีพตำบลโพงามสามารถรวบรวมนำมาทำปุ๋ยเดือนหนึ่งได้ประมาณ 10 ตัน

ส่วนวิธีการผลิตปุ๋ยมูลแพะนั้น  กลุ่มได้รับความรู้มาจากมหาวิทยาลัยแม่โจ้  จังหวัดเชียงใหม่  เป็นสูตรปุ๋ยหมักไม่กลับกอง  หรือ วิศวกรรมแม่โจ้ 1’  อัตราส่วน  1 ต่อ 4  ส่วน  (มูลแพะ 1  เข่ง  ฟางก้อน  4 เข่ง)   โดยกลุ่มจะผลิตครั้งหนึ่งจำนวนมาก  โดยนำมูลแพะจำนวน 1,500 กิโลกรัมมาหมักกับฟาง 500 ก้อน  

วิธีการ  คือ  นำฟางมาวางเรียงบนลานกว้างประมาณ 2.5 เมตร  ความยาวไม่จำกัด  เรียงฟางให้มีความหนาประมาณ 10 เซนติเมตร  จากนั้นนำมูลแพะมาเทเกลี่ยให้ทั่วกองฟาง  รดน้ำ  แล้วนำฟางมาคลุม  ใส่มูลแพะ  รดน้ำ  ทำสลับแบบนี้จนได้กองปุ๋ยหนา 12 ชั้น  (กองเป็นรูปสามเหลี่ยม  สูงประมาณ 1.5 เมตร) 

จากนั้นต้องรดน้ำภายนอกทุกวันๆ ละ 1 ครั้ง  และรดน้ำภายในทุกๆ 10 วัน  โดยเจาะกองปุ๋ยให้เป็นรูทั่วทั้งกอง  ห่างกันรูละ 40 เซนติเมตร  แล้วรดน้ำลงไปในรู  เสร็จแล้วปิดรู   ทำแบบนี้ตลอดระยะเวลา 3 เดือน  มูลแพะและฟางภายในกองจะย่อยสลาย  จากนั้นจึงนำปุ๋ยมากองให้แห้ง  แล้วนำมาร่อนเพื่อเอาสิ่งเจือปนออก  ขั้นตอนสุดท้ายคือนำมาบรรจุถุงหรือนำมาทำเป็นปุ๋ยอัดเม็ดนำไปใช้หรือจำหน่ายได้

กลุ่มของเรามีสมาชิก 112 คน  สมาชิกจะต้องลงหุ้นๆ ละ 100 บาท   คนหนึ่งไม่เกิน 10 หุ้น  เพื่อเอามาเป็นทุนในการผลิตปุ๋ย  ตอนนี้มีเงินกองทุนประมาณ 1 แสนบาท   เวลาจะทำปุ๋ยเราก็จะนัดให้สมาชิกมาช่วยกัน  ใครมีเวลาว่างก็จะมาช่วยกันทำ  เราให้ค่าแรงเพื่อให้สมาชิกมีรายได้วันละ 200-300 บาทตามสภาพงาน  เช่น  รวบรวมมูลแพะจากฟาร์ม  ทำกองปุ๋ย  รดน้ำปุ๋ย  ร่อนปุ๋ย  บรรจุปุ๋ยใส่ถุง  เวลาทำปุ๋ยครั้งหนึ่งจะมีสมาชิกมาช่วยกันประมาณ 10 คน  ประธานกลุ่มบอก

สมาชิกกลุ่มช่วยกันบรรจุปุ๋ยที่แห้งและร่อนเอาสิ่งเจือปนออกแล้ว

ชี้ช่องทางสร้างเศรษฐกิจชุมชน

ด้านการผลิตและจำหน่ายนั้น  พงศ์รัตน์   ยันบัวเงิน ประธานกลุ่มบอกว่า  ขณะนี้ถือว่ากลุ่มยังอยู่ในระยะเริ่มต้น  มีผลิตภัณฑ์หลัก  คือ 1.วัสดุปรับปรุงคุณภาพดินคุณภาพสูง  สูตรแม่โจ้ 1 (ปุ๋ยมูลแพะ)  สำหรับปลูกผัก  ต้นไม้  ทำให้ดินร่วน  รากเดินดี  พืชเจริญเติบโตไว  บรรจุถุงละ 1 กิโลกรัม  ราคา 79 บาท  จำหน่ายในเฟสบุคส์  และห้างสรรพสินค้าในกรุงเทพฯ   2.ชุดพร้อมปลูก  ประกอบด้วย  เมล็ดพันธุ์ผัก  ปุ๋ยมูลแพะผสมดิน  กระถางใยมะพร้าว  ราคาชุดละ 129 บาท  และ 3.มูลแพะบรรจุถุง  ราคากิโลกรัมละ 30 บาท  จำหน่ายให้แก่สมาชิก  เกษตรกรทั่วไป   ชาวไร่  ชาวนา  เพื่อลดการใช้ปุ๋ยเคมี

นำมูลแพะบรรจุถุงและชุดพร้อมปลูกไปจำหน่ายในห้างสรรพสินค้าที่กรุงเทพฯ ช่วงเทศกาลปีใหม่ที่ผ่านมา

ข้อดีของปุ๋ยอินทรีย์จากมูลแพะคือ  ช่วยบำรุงให้พืชโตไว  โดยเฉพาะพืชผักจะมีใบเขียวสวย  ไม่มีสารเคมีตกค้าง  และราคาถูกกว่าปุ๋ยเคมีประมาณกิโลฯ ละ 10 บาท  และนอกจากจะผลิตปุ๋ยจากมูลแพะแล้ว  กลุ่มของเรายังมีแผนจะปลูกผักอินทรีย์จำหน่าย  โดยใช้ปุ๋ยมูลแพะของเราที่มีอยู่แล้ว  จะทำให้ลดต้นทุนการปลูกได้อีก ประธานกลุ่มบอกถึงแผนงานต่อไป

ขณะที่ วิรักษ์  แตงงาม เจ้าของฟาร์มแพะบอกว่า  ยินดีให้คำแนะนำแก่เกษตรกรที่สนใจจะเลี้ยงแพะแบบฟาร์มปิด  สามารถมาศึกษาหาความรู้ได้ที่ฟาร์มวรัญญา  หากเริ่มต้นเลี้ยงจะมีต้นทุนประมาณ 1 แสนบาทเศษ  เช่น  ค่าก่อสร้างโรงเรือนแบบยกพื้น (ประมาณ 7 x 10 ตารางเมตร) 35,000 บาท  ค่าพ่อพันธุ์-แม่พันธุ์ 5 คู่ ๆ ละ 15,000 บาท

หากเริ่มเลี้ยงครั้งแรก  จะใช้เวลาเลี้ยงประมาณ 8-12  เดือนก็สามารถขายแพะรุ่นแรกได้  ตลาดนิยมแพะเนื้อที่มีอายุประมาณ 4 เดือน  น้ำหนักประมาณ 16-20  กิโลฯ  เพราะเป็นแพะหนุ่มสาว  เนื้อมีความนุ่ม  ราคาหน้าฟาร์ม (แพะเป็นทั้งตัว) กิโลฯ ละ 105-120 บาท ส่วนพ่อพันธุ์-แม่พันธ์ุจะเลี้ยงใช้งานได้ไม่ต่ำกว่า 7-8 ปี  แม่แพะปีหนึ่งจะออกลูกได้ 2 ครั้ง  โรคก็ไม่ค่อยมี  อาหารหลักคือกระถินกับหญ้าสับ  ต้นทุนไม่สูง  แพะจึงเป็นสัตว์เลี้ยงที่น่าส่งเสริม” เจ้าของฟาร์มวรัญญาบอก

ดร.จรรยา  กลัดล้อม  ขบวนองค์กรชุมชนจังหวัดชัยนาท  กล่าวว่า  การผลิตปุ๋ยของวิสาหกิจชุมชนกลุ่มพัฒนาอาชีพตำบลโพงามถือเป็นนวัตกรรมของชุมชนที่น่าสนใจ  เพราะสามารถนำเอาฟางข้าวที่เหลือจากการทำนาและมูลแพะที่มีปัญหาส่งกลิ่นรบกวนชาวบ้านมาสร้างมูลค่า  โดยนำมาผลิตเป็นปุ๋ยมูลแพะ  สร้างอาชีพ  สร้างรายได้ให้แก่สมาชิก

“จังหวัดชัยนาทมีการจัดตั้งกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลเพื่อช่วยเหลือสมาชิกตั้งแต่เกิดจนตายครบทุกอำเภอ  ครบทุกตำบลแล้ว  หากมีการเชื่อมโยงกองทุนสวัสดิการกับกลุ่มอาชีพต่างๆ เพื่อส่งเสริมให้มีการเลี้ยงแพะ  นำมูลแพะมาใช้ประโยชน์  เพื่อลดต้นทุนในการทำนา  และสร้างรายได้จากมูลแพะ  ก็จะทำให้กองทุนสวัสดิการฯ และกลุ่มอาชีพเติบโตขึ้น  สามารถช่วยเหลือสมาชิกได้มากขึ้นด้วย”  ดร.จรรยาบอกทิ้งท้าย

(เรื่องและภาพ  : สำนักพัฒนานวัตกรรมชุมชนจัดการความรู้และสื่อสาร  สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)  ติดต่อฟาร์มวรัญญา facebook.com/ววรัญญา-ฟาร์ม   และวิสาหกิจชุมชนกลุ่มพัฒนาอาชีพตำบลโพงาม facebook.com/PHO-G-โพธิ์-จี-)

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

‘วราวุธ’ รมว.พม. เยี่ยมชุมชนริมคลองเปรมประชากร ด้าน ‘พอช.’ เดินหน้าพัฒนาที่อยู่อาศัย-คุณภาพชีวิตแล้ว 17ชุมชน 1,699 ครัวเรือน

คลองเปรมประชากร/ ‘วราวุธ ศิลปอาชา’ รมว.พม.ลงพื้นที่เยี่ยมชาวชุมชนริมคลองเปรมประชากร โดยลงเรือบริเวณท่าเรือชั่วคราวสะพานสูง เขตบางซื่อ

มอบรางวัลกองทุนสวัสดิการชุมชนดีเด่น 10 ประเภท ตามแนวคิดสวัสดิการสังคมของ ‘ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์’

ธนาคารแห่งประเทศไทย / แบงก์ชาติร่วมกับภาคีเครือข่ายจัดงาน ‘ธรรมาภิบาลดีเด่นแห่งปี 2567’ มอบรางวัลให้แก่ผู้ประกอบการ SME และ 10

10 กองทุนสวัสดิการชุมชนดีเด่นรับรางวัล ‘ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์’ (10) กองทุนสวัสดิการชุมชนเทศบาลตำบลลาดชะโด จ.พระนครศรีอยุธยา “ย้อนรอยวิถีน้ำ คืนชีพเรือเก่า เล่าขานตำนานท้องถิ่น”

กองทุนสวัสดิการชุมชนเทศบาลตำบลลาดชะโด อ.ผักไห่ จ.พระนครศรีอยุธยา เป็น 1 ใน 10 กองทุนสวัสดิการชุมชนจากทั่วประเทศที่ได้รับรางวัล

10 กองทุนสวัสดิการชุมชนดีเด่นรับรางวัล ‘ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์’ (9) กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลสุไหงปาดี จ.นราธิวาส “สร้างความเป็นธรรม.....เพื่อรักษาที่ดินทำกินให้ลูกหลาน”

กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลสุไหงปาดี อำเภอสุไหงปาดี จังหวัดนราธิวาส เป็น 1 ใน 10 กองทุนสวัสดิการชุมชนจากทั่วประเทศที่ได้รับรางวัล

กระทรวง พม. จัดประชุมแก้ปัญหา “วิกฤตประชากร” ‘วราวุธ’ แนะเปลี่ยนวิธีคิดวิธีทำงาน ชวนทุกหน่วยงานแก้ปัญหาไปด้วยกัน

ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ / ‘วราวุธ’ รมว.พม. เป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการ "พัฒนาความมั่นคงครอบครัวไทย ผ่านพ้นภัยวิกฤตประชากร" เนื่องจากสังคมไทยก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ