"ปลูก เปลี่ยน เมือง" : เปลี่ยนพื้นที่ว่างให้เป็นสวนผัก เปลี่ยนชีวิตให้มั่นคงและยั่งยืน เมื่อการปลูกผัก…ไม่ใช่แค่เรื่องของอาหาร แต่เป็นก้าวสำคัญในการสร้างชีวิต ความมั่นคง และเศรษฐกิจของชุมชน

สวนผักชุมชน

กรุงเทพฯ2 กุมภาพันธ์ 2568 สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. ได้จัดเวทีสัมมนา "ปลูก เปลี่ยน เมือง" เพื่อแนวทางการขับเคลื่อนการพัฒนาศักยภาพในการพัฒนาคุณภาพชีวิต แลกเปลี่ยนแนวคิดและประสบการณ์ในการใช้ “สวนผักชุมชน” เป็นเครื่องมือขับเคลื่อนการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนเมืองพร้อมสร้างเครือข่ายการขับเคลื่อนงาน โดยมีผู้เข้าร่วมจากหลายภาคส่วน ทั้ง พอช. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และเครือข่ายองค์กรชุมชน มากกว่า 90 คน ณ ห้องประชุมไพบูลย์ วัฒนศิริธรรมสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน บางกะปิ กรุงเทพฯ

ผู้เข้าร่วมเวทีสัมมนา “ปลูก เปลี่ยน เมือง”

"สวนผักชุมชน" กำลังกลายเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยพัฒนาเมือง ลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างความมั่นคงด้านอาหารให้กับชาวบ้าน โครงการนี้ไม่ได้เป็นเพียงแค่การปลูกพืชผักเพื่อบริโภคเท่านั้น แต่ยังเป็น "ทางรอด" และ "ทางเลือก" ของชุมชนในการสร้างอาชีพ ลดค่าใช้จ่าย และเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กับเมือง

จากพื้นที่รกร้าง สู่แหล่งอาหารและรายได้ของชุมชน "อย่ามองว่าสวนผักเป็นแค่แปลงปลูกผัก แต่มันคือเครื่องมือสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับชุมชน"

นางสาวเฉลิมศรี ระดากูล รองผู้อำนวยการ พอช. กล่าวถึงแนวคิดสำคัญของโครงการ "ปลูก เปลี่ยน เมือง" ว่า "เราต้องการให้เรื่องของผักเป็นมากกว่าแค่การบริโภค แต่เป็นเครื่องมือที่ช่วยสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ สร้างอาชีพ และทำให้ชุมชนสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างแท้จริง"

การใช้พื้นที่ว่างในชุมชนให้เกิดประโยชน์ เช่น ลานรกร้าง ข้างบ้าน พื้นที่ส่วนกลางในชุมชนบ้านมั่นคง ได้กลายเป็นแหล่งผลิตอาหารปลอดภัย ลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือน และยังสามารถ ต่อยอดเป็นอาชีพ โดยการจำหน่ายผลผลิตภายในชุมชน

ดินพร้อมปลูกจากเครือข่ายบ้านมั่นคง

"พื้นที่สีเขียวที่เพิ่มขึ้นในเมือง ไม่เพียงแต่ทำให้คนได้กินผักปลอดสารพิษ แต่ยังช่วยให้ชุมชนมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการขายผลผลิต สร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจให้กับคนตัวเล็ก ๆ" นางสาวเฉลิมศรีกล่าว

สวนผักชุมชน: เมื่อการปลูกผัก คือการลงทุนเพื่อชีวิตที่ดีกว่า

นางเข็มเพชร เลนะพันธ์ ผู้ช่วยผู้จัดการ สสส. กล่าวว่า โครงการนี้เป็น เครื่องมือสำคัญในการช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง ไม่ว่าจะเป็น ผู้สูงอายุ คนว่างงาน หรือครอบครัวที่มีรายได้น้อย "เรามองว่าสวนผักชุมชน คือเครื่องมือที่ช่วยสร้างโอกาส สร้างรายได้ และสร้างความมั่นคงด้านอาหารให้กับชาวบ้าน การปลูกผักเป็นมากกว่าการทำเกษตร แต่มันคือการลงทุนเพื่อชีวิตที่มั่นคง"

ผลิตภัณฑ์จากสวนผักชุมชน

สสส. และ พอช. ได้ร่วมกันออกแบบแนวทางการทำงานเพื่อให้โครงการขยายไปสู่ชุมชนต่าง ๆ ทั่วประเทศ โดยมีเป้าหมาย "สวนผักชุมชน 50 แห่ง ภายในปี 2570"

สวนผักชุมชน: เครื่องมือสร้างสุขภาวะและความมั่นคงในชีวิต

นางสาวสมสุข บุญญะบัญชา ประธานอนุกรรมการบ้านมั่นคงและการจัดการที่ดิน พอช. กล่าวว่า การออกแบบกระบวนการพัฒนานี้ไม่ได้เป็นแค่เรื่องของเกษตรกรรม แต่เป็นเรื่องของ "สิทธิในการเข้าถึงอาหารที่ปลอดภัยของทุกคน" ชุมชนสามารถสร้างระบบอาหารที่ยั่งยืนได้เอง เราต้องมองว่าสวนผักชุมชนเป็นมากกว่าการปลูกพืชผัก แต่เป็นการสร้างสุขภาวะที่ดีขึ้น สร้างพื้นที่สีเขียวในเมือง และช่วยให้คนในชุมชนสามารถพึ่งพาตนเองได้ บ้านมั่นคงต้องมาคู่กับอาหารมั่นคง เราไม่ได้แค่ให้บ้านกับชาวบ้าน แต่เราต้องให้พวกเขามีวิธีใช้ชีวิตที่มั่นคงได้ด้วย นางสาวสมสุข กล่าวในตอนท้าย

นางสาววรางคนางค์ นิ้มหัตถา หัวหน้าโครงการปลูกเพื่อเมือง สสส. กล่าวเสริมว่า "สวนผักชุมชนไม่ได้เป็นเพียงพื้นที่ปลูกพืช แต่เป็นพื้นที่สร้างปฏิสัมพันธ์ของคนในชุมชน"  สวนผักชุมชนยังช่วยเสริมสร้างความยืดหยุ่นให้กับชุมชนในการรับมือกับวิกฤต เช่น วิกฤตเศรษฐกิจ วิกฤติอาหาร และการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ กระบวนการสำคัญที่จะพัฒนาศักยภาพ คนของชุมชน มุ่งเน้นที่จะผลักดันให้ชุมชนมีกิจกรรมร่วมกัน โดยใช้กระบวนการขับเคลื่อนคน สุขภาพ เศรษฐกิจ การสร้างพื้นที่พื้นที่สีเขียวในชุมชน

สสส. และ พอช. ได้ร่วมกันออกแบบแนวทางการทำงานเพื่อให้โครงการขยายไปสู่ชุมชนต่าง ๆ ทั่วประเทศ

ในการสัมมนาครั้งนี้ทำให้เห็นว่า "สวนผักชุมชน" ไม่ใช่แค่แปลงปลูกผักธรรมดา แต่มันคือเครื่องมือสำคัญในการสร้างชุมชนให้เข้มแข็ง สร้างโอกาสทางเศรษฐกิจ และลดความเหลื่อมล้ำในสังคม นี่คืออนาคตของเมืองไทย ที่ทุกคนมีสิทธิ์ในการเข้าถึงอาหารปลอดภัย รายได้ที่มั่นคง และสังคมที่น่าอยู่

"เมืองที่ยั่งยืน อาจเริ่มต้นจากเมล็ดพันธุ์เล็ก ๆ ที่เราลงมือปลูกวันนี้"

"สวนผักชุมชน" ไม่ใช่แค่แปลงปลูกผักธรรมดา แต่มันคือเครื่องมือสำคัญในการสร้างชุมชนให้เข้มแข็ง

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

"MOU หน่วยงาน ผนึกกำลังขับเคลื่อน ‘ภูเก็ตเกาะสวรรค์’ สู่จังหวัดจัดการตนเอง"

สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(องค์การมหาชน)หรือ พอช. ร่วมกับ 18 หน่วยงานร่วมจัดเวทีบันทึกความร่วมมือ “ภูเก็ตเกาะสวรรค์จัดการตนเอง”

จังหวัดภาคเหนือก้าวสู่การจัดการตนเอง: ขับเคลื่อนจังหวัดบูรณาการชุมชนเข้มแข็ง

วันที่ 17-18 มีนาคม 2568 สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(องค์การมหาชน) หรือ พอช. ร่วมกับ ขบวนองค์กรชุมชนภาคเหนือ จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ "Kick off แนวทางการขับเคลื่อนงานจังหวัดบูรณาการสู่จังหวัดจัดการ

“รักจังสตูล” รวมพลังคนสตูล บูรณาการความรู้ สร้างเครือข่ายหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาชุมชนและสังคมให้ยั่งยืน

สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(องค์การมหาชน) หรือ พอช. จัดเวทีคืนข้อมูลโครงการวิจัยบูรณาการภาคีร่วมพัฒนาเพื่อส่งเสริมชุมชนเข้มแข็งสู่การยกระดับคุณภาพชีวิตทุกช่วงวัย

8กองทุนสวัสดิการชุมชนดีเด่นรับรางวัล ‘ป๋วย อึ๊งภากรณ์’ ปี 2567 ‘ด้านการพัฒนาสุขภาพ ความมั่นคงทางอาหาร’ กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลหนองงูเหลือม อ.เมือง จ.นครปฐม (1)

‘กองทุนสวัสดิการชุมชน’ เริ่มจัดตั้งทั่วประเทศในปี 2548 โดยสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์และรัฐบาลให้การสนับสนุน

รวมพลังชุมชน ขับเคลื่อนการจัดการป่า ลดฝุ่นควัน สร้างสุขภาวะที่ดี

กรุงเทพฯ/12 มีนาคม 68 สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(องค์การมหาชน)หรือ พอช. จับมือ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดเวทีประชุมเชิงปฏิบัติการ การขับเคลื่อนการจัดการป่าชุมชนเพื่อลดฝุ่นตวันและสร้างสุข

สสส.-พอช. ผนึกกำลัง 16 จังหวัด เดินหน้าป่าชุมชน ลดเผา-แก้ PM2.5 อย่างยั่งยืน

สสส. จับมือ พอช. และภาคีเครือข่าย เดินหน้าบริหารจัดการป่าชุมชน 60 แห่งใน 16 จังหวัดทั่วประเทศ เร่งแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 เสริมศักยภาพชุมชนลดการเผา พัฒนาเป็นศูนย์เรียนรู้ด้านการจัดการป่าอย่างยั่งยืน มุ่งสู่สังคมอากาศสะอาดเพื่อสุขภาพประชาชน