การเสริมสร้างบทบาทขององค์กรชุมชนให้มีพลังในการขับเคลื่อนพัฒนาชุมชน ต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายฝ่าย ทั้งภาครัฐ ภาคประชาสังคม และองค์กรชุมชน สวัสดิการชุมชนไม่ใช่แค่เครื่องมือช่วยเหลือประชาชนในระยะสั้น แต่ต้องเป็นระบบที่ช่วยให้ประชาชนสามารถพึ่งพาตนเองได้ และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน "อนาคตของสวัสดิการชุมชน ขึ้นอยู่กับความร่วมมือและพลังของประชาชน"
พิษณุโลก/วันที่ 9 - 10 กุมภาพันธ์ 2568 เครือข่ายสวัสดิการชุมชน 5 ภาค ร่วมกับ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(องค์การมหาชน) หรือ พอช. จัดสัมมนา “ สรุปผลงาน ประสานพลังเครือข่ายสวัสดิการ ภาคีพัฒนาสู่การบรรลุเป้าหมาย ปี 2568 ” นำโดย นายอนุกูล ปีดแก้ว ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ นายนิสิต สวัสดิเทพ รองผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก ผู้แทนเครือข่ายสวัสดิการชุมชน 5 ภาค กองเลขาสวัสดิการชุมชน รวมทั้งผู้แทนหน่วยงานภาคีที่เกี่ยวข้อง และผู้บริหาร เจ้าหน้าที่ พอช.เข้าร่วม กว่า 100 คน ณ โรงแรมเนเชอรัลปาร์ค รีสอร์ท อำเภอวังทอง จังหวัดพิษณุโลก
นายอนุกูล ปีดแก้ว
“สร้างสังคมที่เข้มแข็งผ่านสวัสดิการชุมชน: ปลดล็อกศักยภาพประชาชน พัฒนาอย่างยั่งยืน"
นายอนุกูล ปีดแก้ว ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้กล่าวถึงแนวทางสำคัญในการ ยกระดับสวัสดิการชุมชน ว่า "หัวใจสำคัญของการพัฒนาคือการสร้างศักยภาพของชุมชนให้สามารถพึ่งพาตนเองได้" ปรับโครงสร้างสวัสดิการชุมชน สู่การพัฒนาที่เป็นระบบ ปัจจุบัน การทำงานของระบบราชการยังมีข้อจำกัดและอาจไม่สอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาชุมชนที่ก้าวหน้า การแก้ไขปัญหาจึงไม่ใช่เพียงแค่การให้เงินอุดหนุนจากภาครัฐเท่านั้น แต่ต้องเป็นการ ส่งเสริมให้ชุมชนสามารถบริหารจัดการทรัพยากรและสร้างสวัสดิการของตนเองได้
"เราต้องลดการพึ่งพาภาครัฐ และสร้างระบบสวัสดิการชุมชนที่ประชาชนสามารถบริหารจัดการเองได้" นายอนุกูลกล่าว พร้อมชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของการ "บูรณาการการทำงาน" โดยภาครัฐต้องทำงานร่วมกับภาคประชาชนและหน่วยงานท้องถิ่น เพื่อให้เกิดการ จัดสรรทรัพยากรที่มีประสิทธิภาพ ลดความซ้ำซ้อน และเพิ่มศักยภาพของเครือข่ายชุมชน
นายอนุกูล กล่าวต่อไปอีกว่า ทิศทางใหม่ของสวัสดิการชุมชน คือการลดการพึ่งพา เพิ่มศักยภาพของประชาชน สวัสดิการชุมชนไม่ควรเป็นเพียงแค่ระบบช่วยเหลือเฉพาะหน้า แต่ต้องเป็น "ระบบที่ยั่งยืนและหมุนเวียนได้เอง" เพื่อให้ประชาชนสามารถพึ่งพาตนเองได้ สิ่งสำคัญที่ต้องดำเนินการ ได้แก่ เชื่อมโยงทรัพยากรในพื้นที่ให้ชุมชนสามารถจัดการทรัพยากรของตนเองโดยไม่ต้องพึ่งพางบประมาณจากรัฐมากเกินไป สร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนทำให้ชาวบ้านมีบทบาทในการกำหนดแนวทางสวัสดิการของตนเอง ส่งเสริมการพัฒนาระบบข้อมูลชุมชนการจัดทำฐานข้อมูลที่เป็นปัจจุบันและถูกต้อง จะช่วยให้การบริหารจัดการเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ "ความสำเร็จของสวัสดิการชุมชน ไม่ได้อยู่ที่จำนวนเงินที่ได้รับจากภาครัฐ แต่อยู่ที่ชุมชนสามารถบริหารทรัพยากรของตนเองได้หรือไม่"
นายอนุกูล เน้นย้ำว่า หนึ่งในกุญแจสำคัญของการพัฒนาสวัสดิการชุมชน คือ "การบูรณาการทำงานเชิงยุทธศาสตร์" โดยต้องทำให้เกิดการเชื่อมโยงเครือข่ายการทำงานในระดับพื้นที่ ระดับจังหวัด และระดับประเทศ พัฒนาสวัสดิการชุมชนให้เป็นระบบหุ้นส่วนการพัฒนา เปิดโอกาสให้ประชาชนร่วมมือกับภาครัฐและหน่วยงานอื่น ๆ ขยายเครือข่ายการทำงานของสวัสดิการชุมชนใน 5 ภาค ทั่วประเทศเพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนแนวทางพัฒนาและสามารถนำแนวคิดที่ประสบความสำเร็จไปปรับใช้กับพื้นที่อื่น ๆ กำหนดเป้าหมายร่วมกันให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องสามารถทำงานไปในทิศทางเดียวกันและบรรลุผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม ต้องเปลี่ยนจากการทำงานแบบต่างคนต่างทำ มาเป็นการทำงานแบบประสานพลัง เพื่อให้สวัสดิการชุมชนมีความยั่งยืนและเข้าถึงประชาชนได้จริง
สวัสดิการชุมชนไม่ใช่แค่เรื่องของการให้ แต่เป็นเรื่องของการสร้างระบบที่ประชาชนสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างแท้จริงต้องสามารถช่วยเหลือสมาชิกได้อย่างทั่วถึง โดยไม่ต้องรอความช่วยเหลือจากรัฐเสมอไป ทำให้ชุมชนสามารถดูแลกันเองได้ผ่านกลไกการบริหารจัดการที่เข้มแข็ง ไม่เพียงแค่ช่วยเหลือด้านการเงิน แต่ต้องเป็นเครื่องมือสร้างงาน สร้างอาชีพ และพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน อนาคตของสวัสดิการชุมชน ขึ้นอยู่กับพลังของประชาชน และการทำงานร่วมกันของทุกฝ่ายหากประชาชนสามารถรวมพลังกันได้จริง ระบบสวัสดิการชุมชนจะเป็นเครื่องมือสำคัญที่ทำให้คนไทยทุกคนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน สังคมที่แข็งแกร่ง ไม่ใช่สังคมที่พึ่งพารัฐตลอดไป แต่เป็นสังคมที่ประชาชนสามารถยืนหยัดได้ด้วยตนเอง นายอนุกูล กล่าวในตอนท้าย
นายปาลิน ธำรงครัตนศิลป์ ผู้แทนเครือข่ายสวัสดิการชุมชน 5 ภาค กล่าวถึง วัตถุประสงค์ของการจัดสัมมนาครั้งนี้ คือ 1.เป็นการสรุปผลการทำงานของสวัสดิการชุมชน ปี 2567 เช่น การขับเคลื่อนงานสวัสดิการ นโยบาย สรุปการจัดงานสมัชชาที่ร่วมกับกระทรวง พม. และหน่วยงาน ทั้ง 4 ภาค ทบทวนทิศทางการทำงานของเครือข่ายสวัสดิการชุมชน (และการทำงานมาตลอดระยะ 20 ปี) ที่ได้ดำเนินการผ่านมา ตั้งแต่ปี 2548 ภายใต้การเปลี่ยนแปลงของสังคมไทย ร่วมกันวิเคราะห์สถานการณ์การขับเคลื่อนงานที่สำคัญ ปี 2568 ที่ได้ดำเนินการร่วมกับเครือข่ายสวัสดิการทุกระดับ เช่น การติดตามเรื่องการปรับปรุงกฎหมายสวัสดิการชุมชน การเสนอกฎหมายใหม่ การทำงานร่วมกับหน่วยงานอื่น ๆ และออกแบบกลไกการทำงานใหม่ ที่ผ่านกลไกการทำงานของคณะทำงานพัฒนาสวัสดิการชุมชนทั้ง 5 ภาค รวมทั้งการตั้งเป้าหมายในการหนุนเสริมการขับเคลื่อนเพื่อบูรณาการการทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
นายนิสิต สวัสดิเทพ รองผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก กล่าวว่า การทำงานบูรณาการของจังหวัดพิษณุโลก ให้การสนับสนุนงานพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในจังหวัด สร้างระบบสวัสดิการชุมชน ที่มีกองทุนของชุมชน ในลักษณะหุ้นส่วนของการพัฒนา ซึ่งการทำงานใช้การมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ทำงานร่วมกับหน่วยงานรัฐ และใช้ภาคเอกชนปิดจุดอ่อนของการทำงานภาครัฐ สามารถเปิดการเข้าถึงให้แก่ประชาชน บริการได้อย่างทั่วถึง และได้ให้กำลังใจต่อการทำงานของเครือข่ายสวัสดิการชุมชน ให้เกิดความเข้มแข็ง และทำงานได้ต่อไปอย่างต่อเนื่อง
บทสรุปและวิเคราะห์การดำเนินงานสวัสดิการชุมชน ปี 2567
นายวิริยะ แต้มแก้ว ผู้ช่วยผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน กล่าวว่าที่ผ่านมาปี 2564 ได้มีการดำเนินการคลีนซิ่งระบบข้อมูลสวัสดิการชุมชนในระบบโปรแกรมสวัสดิการชุมชน เพื่อให้ฐานข้อมูลของสวัสดิการชุมชนเป็นปัจจุบัน มีความถูกต้องและเป็นข้อมูลที่ตรงกับพื้นที่ อปท. รวมถึงสถานการณ์ของกองทุน (ดำเนินการ , กำลังดำเนินการ และหยุดดำเนินการ) โดยในระบบฐานข้อมูลจากในระบบโปรแกรม พบว่ากองทุนที่มีศักยภาพ เข้าถึงงบประมาณของ อปท. ได้ มีจำนวนร้อยละ 50 - 60 จากกองทุนทั้งหมด , และการส่งเสริมการจัดตั้งกองทุนสวัสดิการชุมชนให้เต็มพื้นที่ อปท. ซึ่งปัจจุบันยังจัดตั้งกองทุนไม่เต็มตามพื้นที่ อปท. เหลือจำนวนประมาณ 1,000 กว่ากองทุน , การสมทบงบประมาณกองทุน จำนวน 3,200 กองทุน สมาชิกจำนวน 2 ล้านกว่า , การรับรองคุณภาพกองทุน โดยมีกลุ่ม A ที่มีความเข้มแข็ง จำนวนกว่าร้อยละ 50 ของกองทุนทั้งหมด ซึ่งเป็นกองทุนที่ผ่านการรับรองมาตรฐาน และเรื่องปัญหาการร้องเรียน เกิดจากการบริหารจัดการที่ไม่เข้าใจกันในจังหวัดลพบุรี และการบริหารจัดการที่ตำบลที่มีปัญหาในช่วงสถานการณ์โควิด จำนวน 11 กองทุน , การจัดตั้งกลไกระดับอำเภอ 5 ภาค 332 โซน เพื่อเป็นกลไกสนับสนุนการทำงานในพื้นที่ โดยจะมีการจัดระดับความเข้มแข็ง และการทำงานระบบโปรแกรมบริหารการเงินและบัญชีกองทุนสวัสดิการชุมชน (Codi_SWF) เข้าถึงโปรแกรมได้อย่างเปิดเผยโปร่งใส โดยมีสมาชิกเข้าใช้งานแล้วจำนวน 2,964 คน และ สามารถโปรแกรมได้จริง จำนวน 500 กว่าคน , เรื่องระบบการบริหารกองทุน โดยแบ่งเป็น 2 แบบ คือ 1) สมาชิกเป็นเจ้าของกองทุนเองทั้งหมด และ 2) บริหารร่วมกับนักพัฒนาสังคม เป็นผู้ดำเนินการร่วมในกองทุน จำนวน 702 กองทุน ทั้งนี้ ได้รายงานสถานการณ์ข้อมูลกองทุนสวัสดิการชุมชน ทั้ง 5 ภาค
โดยประเด็นที่ต้องพัฒนาและสร้างระบบบริหารจัดการที่ดี ต่อไป คือ เรื่องการพัฒนาศักยภาพคนรุ่นใหม่เข้ามาพัฒนาระบบโปรแกรม มุ่งที่การพัฒนาตำบล และไปยังระดับโซนอำเภอ การพัฒนาระบบโปรแกรมบริหารการเงินและบัญชีกองทุนสวัสดิการชุมชน (Codi_SWF) การวิเคราะห์สมาชิกที่มีกลุ่มผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น การสร้างความร่วมมือกับท้องถิ่นที่เข้าร่วมโครงการจัดสวัสดิการชุมชน การพัฒนาเครื่องมือสื่อสารและส่งเสริมการใช้ระบบเทคโนโลยีเข้ามาทำงาน และการตั้งเป้าหมายการขับเคลื่อนงานร่วมกัน จำนวน 4 ประเด็น ได้แก่ 1) การพัฒนาผู้นำสวัสดิการ และการพัฒนาคนรุ่นใหม่ 2) การพัฒนาใช้งานระบบโปรแกรม 3) การสร้างนวัตกรรมเข้ามาพัฒนางานสวัสดิการชุมชน การฟื้นฟูเครือข่ายสวัสดิการให้เกิดความเข้มแข็ง และ 4) การพัฒนากองทุนใหม่เข้าสู่ระบบโปรแกรม และการตั้งกองทุนภัยพิบัติ โดยจะเป็นกองทุนกลางใหม่ ในการช่วยเหลือสมาชิก
บทบาทและกระบวนการทำงานของคณะทำงานพัฒนางานสวัสดิการชุมชนระดับภาค
นายสิน สื่อสวน ที่ปรึกษาคณะทำงานเครือข่ายสวัสดิการชุมชน 5 ภาค ได้อธิบายถึง กลไกการขับเคลื่อนงานของคณะทำงานพัฒนางานสวัสดิการชุมชนระดับภาค องค์ประกอบด้วย ผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่ พอช. , ผู้แทนสวัสดิการชุมชนในระดับภาค ซึ่งเป็นกลไกการทำงานสำคัญของภาค มีบทบาทหน้าที่ ได้แก่ สามารถกุมสภาพการทำงานได้ รวมถึงคุณภาพของกองทุนสวัสดิการชุมชน วิเคราะห์ทิศทางการทำงานเชิงยุทธศาสตร์ของกองทุน ส่งเสริมสนับสนุนสร้างความสามารถของกลไกระดับภาคในทุกระดับ ความสามารถในการบริหารจัดการกองทุน ผลักดันนโยบายจังหวัด/กลุ่มจังหวัด เพื่อเชื่อมโยงการทำงาน รายงานต่อส่วนที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งเชื่อมโยงงานสวัสดิการชุมชนกับประเด็นงานอื่น ๆ ได้
แผนการขับเคลื่อนงานสวัสดิการชุมชนและการขับเคลื่อนงานเชิงนโยบาย ปีงบประมาณ พ.ศ. 2568
ดร.มณเฑียร สอดเนื่อง ผู้แทนเครือข่ายสวัสดิการชุมชน กล่าวว่า ในการพัฒนาและยกระดับงานกองทุนสวัสดิการชุมชน เพื่อให้เกิดคุณภาพของกองทุนในพื้นที่ โดยวิธีการมีหลากหลายรูปแบบเพื่อยกระดับการทำงานให้เกิดประสิทธิภาพสร้างโอกาสให้กับกองทุนอย่างจริงจัง มีแนวทางดังนี้
- วิธีที่จะเป็นประโยชน์มากที่สุด คือ การพัฒนาศักยภาพผู้นำสวัสดิการชุมชน เปิดโอกาสในการเข้าถึงเรื่องพัฒนาใหม่ๆซึ่งเป็นความท้าทายของกองทุนที่จะต้องพัฒนา
- เรื่องสำคัญที่จะต้องดำเนินการ คือ การจัดตั้งกองทุนใหม่ โดยจะต้องอาศัยกลไกระดับภาค ช่วยหนุนเสริมในการสร้างกองทุนใหม่จากพื้นที่จังหวัด
- การสนับสนุนการขับเคลื่อนกลไกสวัสดิการชุมชนทุกระดับ ให้มีความสามารถในการขับเคลื่อนงานในแต่ละพื้นที่ต่าง ๆ ได้ และเกิดการสนับสนุนแผนการขับเคลื่อนงานในแต่ละระดับ โดยจะต้องมีการปรับเปลี่ยนแผนงานให้เหมาะสมกับพื้นที่ และสถานการณ์
- การสร้างนวัตกรรมพื้นที่ และส่งเสริมให้เป็นพื้นที่แห่งการเรียนรู้
- การพัฒนาศักยภาพกองทุน ต้องเริ่มการพัฒนาที่กลไกเสียก่อน
- การประสานความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆในท้องถิ่น อย่างบูรณาการเพื่อร่วมกันออกแบบการทำงานให้เกิดบูรณาการ โดยจะพยายามประสานความร่วมมือกับกรมส่งเสริมปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อคลี่คลายปัญหา และส่งเสริมการทำงาน ให้เกิดปัญหาน้อยที่สุด , การประสานความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาเพื่อเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนางานสวัสดิการ เช่น ว.ป๋วย และมหาวิทยาลัยราชภัฏทั่วประเทศ
- การยกระดับกองทุนสวัสดิการชุมชน ให้เป็นศูนย์ช่วยเหลือสังคมภาคประชาชน ทำให้สามารถเกิดการจัดสวัสดิการได้เต็มรูปแบบ และทำให้เกิดการพัฒนากองทุนในจังหวัดได้อย่างมีสิทธิภาพ
- การจัดตั้งกองทุนภัยพิบัติ ในทุกจังหวัด 77 จังหวัด โดยเริ่มจากกองทุนที่มีความพร้อม เพื่อเป็นกองทุนช่วยเหลือสมาชิกในจังหวัด มีแนวทางการปฏิบัติในทิศทางเดียวกัน และอาจจะสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อให้การสนับสนุน
- การพัฒนากองทุนสวัสดิการผู้นำ ที่คาดหวังให้มีกองทุนครอบคลุมทุกจังหวัด ดูแลช่วยเหลือผู้นำสวัสดิการในยามแก่ชรา
- การปรับปรุงแก้ไขกฎหมายเดิม ที่ต้องผ่านกระบวนการวิเคราะห์ รับฟังความคิดเห็นจากส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อสร้างการเป็นนิติบุคคล อันจะเป็นประโยชน์ต่อการขับเคลื่อนงานของสวัสดิการชุมชน ซึ่งจะมีการออกแบบ เปิดโอกาสให้มีการรับฟังความคิดเห็น เพื่อให้ผู้ที่เกี่ยวข้องมีส่วนร่วมต่อการแก้ไขกฎระเบียบสวัสดิการชุมชน และผลักดันไปสู่การแก้ไขปัญหาชุมชน อย่างมีประสิทธิภาพ
- ส่งเสริมการประสานงานกับภาคเอกชน โดยสร้างความร่วมมือกับภาคเอกชน ที่เป็นภาคที่มีพลังต่อการทำงาน เพื่อจะช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับกองทุนสวัสดิการชุมชน
- การยกระดับความรู้ เพื่อส่งเสริมให้กองทุนสวัสดิการชุมชน เป็นนวัตกรรมทางสังคมอีกทางหนึ่ง เพื่อส่งเสริมความรู้ให้กับกองทุนได้อย่างหลากหาย และส่งเสริมองค์ความรู้ใหม่ ๆ เข้ามาพัฒนาการขับเคลื่อนงานให้กลุ่มเป้าหมายในแต่ละดับ เช่น กลุ่มเด็ก กลุ่มคนทำงาน กลุ่มผู้สูงอายุ รวมถึง กลุ่มเป้าหมายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
ขับเคลื่อนสวัสดิการชุมชน สู่ระบบที่เข้มแข็งและยั่งยืน
การพัฒนาสวัสดิการชุมชนไม่ได้เป็นเพียงแค่การให้ความช่วยเหลือในระยะสั้น แต่คือการสร้างระบบที่เข้มแข็ง ยั่งยืน และสามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนได้อย่างแท้จริง ล่าสุด ที่ประชุมเครือข่ายสวัสดิการชุมชนระดับประเทศ ได้มีมติสำคัญต่อแนวทางการขับเคลื่อนงานในปี 2568 เพื่อยกระดับการทำงานสวัสดิการชุมชนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น หนึ่งในประเด็นหลักของที่ประชุมคือ การพิจารณาบทบาทและหน้าที่ของคณะทำงานสวัสดิการชุมชน ให้ชัดเจนยิ่งขึ้น เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนที่มีทิศทาง และสามารถตอบสนองความต้องการของประชาชนได้อย่างแท้จริง มติสำคัญที่เกิดขึ้นจากที่ประชุม ได้แก่ การกำหนดบทบาทของคณะทำงานให้มีความชัดเจนในหน้าที่ และสามารถทำงานได้อย่างมีเป้าหมาย ร่วมกันวางแผนขับเคลื่อนงานปี 2568 ทั้งในระดับพื้นที่ ระดับจังหวัด และระดับประเทศ รายงานผลการดำเนินงานต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้ทุกฝ่ายได้รับทราบและสามารถประสานงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ปรับโครงสร้างและกลไกให้สอดคล้องกับยุคสมัย สวัสดิการชุมชนเป็นมากกว่าแค่การช่วยเหลือทางการเงิน แต่เป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยสร้างความเข้มแข็งให้กับองค์กรชุมชน ดังนั้น การทำงานในอนาคตจำเป็นต้องมี กลไกการบริหารจัดการที่ชัดเจน และสามารถพัฒนาได้อย่างต่อเนื่อง การบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้การทำงานของสวัสดิการชุมชนมีประสิทธิภาพและสามารถเข้าถึงประชาชนได้มากขึ้น สร้างนวัตกรรมและคุณภาพของสวัสดิการ ให้สวัสดิการชุมชนสามารถตอบโจทย์ปัญหาที่เปลี่ยนแปลงไปของสังคม พัฒนากระบวนการแก้ไขปัญหาเรื่องร้องเรียน สร้างระบบป้องกันและแก้ไขข้อร้องเรียนให้มีความโปร่งใส จัดทำระบบข้อมูลและการบริหารจัดการผ่านโปรแกรมดิจิทัล กำลังกลายเป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนาสวัสดิการชุมชน การประชุมครั้งนี้ได้เน้นถึงการใช้เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือสำคัญในการบริหารจัดการ ข้อเสนอเกี่ยวกับเทคโนโลยีที่ถูกหยิบยกขึ้นมาพิจารณา คือการพัฒนาระบบฐานข้อมูลสวัสดิการชุมชนให้สามารถเข้าถึงและใช้งานได้ง่ายขึ้น เพิ่มความโปร่งใสในการบริหารจัดการ ด้วยการนำเทคโนโลยีมาใช้ตรวจสอบและติดตามผล อบรมให้สมาชิกสามารถใช้งานโปรแกรมและระบบดิจิทัลได้ เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
พัฒนากองทุนสวัสดิการให้เป็นระบบที่ยั่งยืน
กองทุนสวัสดิการชุมชนต้องสามารถดูแลสมาชิกได้จริง และมีความมั่นคงในระยะยาว แนวทางสำคัญในการพัฒนากองทุนสวัสดิการชุมชน คือ การรับรองมาตรฐานและคุณภาพของกองทุน ให้เกิดความมั่นใจและมีหลักเกณฑ์ที่ชัดเจน พร้อมพัฒนากองทุนสวัสดิการผู้นำสำหรับดูแลผู้ที่ทำงานเพื่อสังคม ให้สามารถได้รับการสนับสนุนที่เหมาะสมยกระดับกองทุนภัยพิบัติเป็นกลไกสำคัญในการช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากภัยธรรมชาติ การจัดตั้งกองทุนเหล่านี้ ไม่เพียงแต่ช่วยเหลือผู้ที่เดือดร้อนเท่านั้น แต่ยังช่วยเสริมสร้างเครือข่ายความร่วมมือ และเพิ่มขีดความสามารถของสวัสดิการชุมชนให้มีความมั่นคงมากขึ้น
ความสำคัญของการเสริมสร้างบทบาทขององค์กรชุมชนให้มีพลังในการขับเคลื่อน ต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายฝ่าย ทั้งภาครัฐ ภาคประชาสังคม และองค์กรชุมชน สวัสดิการชุมชนไม่ใช่แค่เครื่องมือช่วยเหลือประชาชนในระยะสั้น แต่ต้องเป็นระบบที่ช่วยให้ประชาชนสามารถพึ่งพาตนเองได้ และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน "อนาคตของสวัสดิการชุมชน ขึ้นอยู่กับความร่วมมือและพลังของประชาชน"
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
"MOU หน่วยงาน ผนึกกำลังขับเคลื่อน ‘ภูเก็ตเกาะสวรรค์’ สู่จังหวัดจัดการตนเอง"
สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(องค์การมหาชน)หรือ พอช. ร่วมกับ 18 หน่วยงานร่วมจัดเวทีบันทึกความร่วมมือ “ภูเก็ตเกาะสวรรค์จัดการตนเอง”
จังหวัดภาคเหนือก้าวสู่การจัดการตนเอง: ขับเคลื่อนจังหวัดบูรณาการชุมชนเข้มแข็ง
วันที่ 17-18 มีนาคม 2568 สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(องค์การมหาชน) หรือ พอช. ร่วมกับ ขบวนองค์กรชุมชนภาคเหนือ จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ "Kick off แนวทางการขับเคลื่อนงานจังหวัดบูรณาการสู่จังหวัดจัดการ
“รักจังสตูล” รวมพลังคนสตูล บูรณาการความรู้ สร้างเครือข่ายหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาชุมชนและสังคมให้ยั่งยืน
สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(องค์การมหาชน) หรือ พอช. จัดเวทีคืนข้อมูลโครงการวิจัยบูรณาการภาคีร่วมพัฒนาเพื่อส่งเสริมชุมชนเข้มแข็งสู่การยกระดับคุณภาพชีวิตทุกช่วงวัย
8กองทุนสวัสดิการชุมชนดีเด่นรับรางวัล ‘ป๋วย อึ๊งภากรณ์’ ปี 2567 ‘ด้านการพัฒนาสุขภาพ ความมั่นคงทางอาหาร’ กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลหนองงูเหลือม อ.เมือง จ.นครปฐม (1)
‘กองทุนสวัสดิการชุมชน’ เริ่มจัดตั้งทั่วประเทศในปี 2548 โดยสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์และรัฐบาลให้การสนับสนุน
รวมพลังชุมชน ขับเคลื่อนการจัดการป่า ลดฝุ่นควัน สร้างสุขภาวะที่ดี
กรุงเทพฯ/12 มีนาคม 68 สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(องค์การมหาชน)หรือ พอช. จับมือ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดเวทีประชุมเชิงปฏิบัติการ การขับเคลื่อนการจัดการป่าชุมชนเพื่อลดฝุ่นตวันและสร้างสุข
สสส.-พอช. ผนึกกำลัง 16 จังหวัด เดินหน้าป่าชุมชน ลดเผา-แก้ PM2.5 อย่างยั่งยืน
สสส. จับมือ พอช. และภาคีเครือข่าย เดินหน้าบริหารจัดการป่าชุมชน 60 แห่งใน 16 จังหวัดทั่วประเทศ เร่งแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 เสริมศักยภาพชุมชนลดการเผา พัฒนาเป็นศูนย์เรียนรู้ด้านการจัดการป่าอย่างยั่งยืน มุ่งสู่สังคมอากาศสะอาดเพื่อสุขภาพประชาชน