กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลหนองงูเหลือม
‘กองทุนสวัสดิการชุมชน’ เริ่มจัดตั้งทั่วประเทศในปี 2548 โดยสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์และรัฐบาลให้การสนับสนุน เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนทั่วไป ชาวไร่ ชาวนา เกษตรกร ที่ไม่มีระบบสวัสดิการรองรับเหมือนกับข้าราชการ พนักงานรัฐ บริษัทเอกชน ได้จัดตั้งกองทุนเพื่อช่วยเหลือดูแลกันเอง โดยสมาชิกจะต้องสมทบเงินเข้ากองทุนวันละ 1 บาท หรือสมทบเป็นรายปี จำนวน 365 บาท เพื่อนำเงินกองทุนมาช่วยเหลือดูแลสมาชิกตามข้อตกลง เช่น ช่วยยามคลอดบุตร เจ็บป่วย เสียชีวิต ทุนการศึกษาเด็ก ยามประสบภัยพิบัติ ฯลฯ
รางวัล ‘ผู้สรรค์สร้างความมั่นคงของมนุษย์ตามแนวคิด ป๋วย อึ๊งภากรณ์’
รางวัล ‘ผู้สรรค์สร้างความมั่นคงของมนุษย์ตามแนวคิด ป๋วย อึ๊งภากรณ์’
รางวัล “ผู้สรรค์สร้างความมั่นคงของมนุษย์ระดับชาติ” ตามแนวคิดการจัดสวัสดิการสังคม “จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน” ของดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ จัดประกวดครั้งแรกจัดขึ้นในปี 2559 เพื่อยกย่อง เชิดชู องค์กรหรือกองทุนสวัสดิการชุมชนที่ดำเนินงานช่วยเหลือ ดูแลคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนอย่างโดดเด่นในด้านต่างๆ โดยในปี 2568 นี้ เป็นการจัดประกวดครั้งที่ 9 ซึ่งจะมีการจัดงานเพื่อมอบรางวัลให้แก่กองทุนสวัสดิการชุมชนดีเด่นในวันที่ 9 มีนาคมของทุกปี ซึ่งเป็นวันคล้ายวันเกิดของ ดร.ป๋วยที่ธนาคารแห่งประเทศไทย
การพัฒนาสุขภาพและความมั่นคงทางอาหาร กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลหนองงูเหลือม
การก่อตั้งกองทุนสวัสดิการชุมชน
กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลหนองงูเหลือม ก่อตั้งเมื่อวันที่ 4 เมษายน 2554 เดิมสำนักงานตั้งอยู่ในพื้นที่ตำบลทัพหลวง เริ่มจากการดำเนินงานโครงการบ้านมั่นคงตำบลทัพหลวง อำเภอเมืองนครปฐม จังหวัดนครปฐม ซึ่งเป็นพื้นที่ใกล้เคียงกัน มีการส่งเสริมให้มีการจัดตั้งกองทุนสวัสดิการชุมชน สมาชิกแรกตั้งจำนวน 42 คน เงินสมทบจำนวน 1,000 กว่าบาท ที่ทำการกองทุนปัจจุบัน เลขที่ 22/22 หมู่ 2 ตำบลหนองงูเหลือม อำเภอเมืองนครปฐม จังหวัดนครปฐม ตำบลหนองงูเหลือมประกอบด้วย 11 หมู่บ้าน มีประชากร จำนวน 10,752 คน มีสมาชิกกองทุนสวัสดิการชุมชนครอบคลุมทุกหมู่บ้านจำนวน 1,267 คน คิดเป็นร้อยละ 11.78 ของจำนวนประชากร มีจำนวนคณะกรรมการกองทุน จำนวน 27 คน
ปี 2557 ประธานกองทุนสวัสดิการชุมชนคนเดิมเริ่มมีอายุมากขึ้น ได้ชักชวนแกนนำชุมชนในตำบล เข้าร่วมเป็นคณะกรรมการ จากเดิมที่เป็นสมาชิก คณะกรรมการชุดปัจจุบันเริ่มเข้ามาทำงานบริหารกองทุนจริงจังปี 2560 หลังจากคณะกรรมการได้เข้าร่วมเรียนรู้การทำงานผ่านเวทีการประชุมเครือข่ายได้แก่ 1) ทีมยุทธศาสตร์ 2) ทีมขับเคลื่อน 3) ทีมเครือข่ายเมือง (ทุกกองทุนในอำเภอเมือง)
การบริหารกองทุนสวัสดิการชุมชนหนองงูเหลือม
การบริหารกองทุนสวัสดิการชุมชนหนองงูเหลือม
คณะกรรมการกองทุนสวัสดิการชุมชน จำนวน 27 คน มีการวางแผนการดำเนินการในแต่ละหมู่บ้าน เป็นการทำงานทำลักษณะเครือข่าย คณะกรรมการกองทุนหลายคนอีกบทบาทหนึ่ง อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ทำให้มีการพูดคุยสื่อสารกันอยู่เสมอ
การเข้าร่วมประชุมเครือข่ายอำเภอ เครือข่ายจังหวัด มีส่วนในการสนับสนุนการทำงานของกองทุนสวัสดิการชุมชน มีการประชาสัมพันธ์ เรื่องการสนับสนุนงบประมาณจากหน่วยงานต่าง ๆ เรื่องการพัฒนาศักยภาพ การไปศึกษาดูงาน ส่งให้ทีมงานไปร่วมกลับมาพัฒนางานต่อไป เรื่องการบริหารกองทุน การจ่ายสวัสดิการที่เหมาะสมป้องกันความเสี่ยงของกองทุน มีหลักสูตรอบรมเฉพาะตำแหน่ง เหรัญญิก เลขานุการ การบริหารงานของคณะกรรมการกองทุน และการปฏิบัติหน้าที่สามารถทำงานทดแทนกันได้ คณะกรรมการกองทุนไม่มี่ค่าตอบแทน หากมีการประชุมนอกพื้นที่ มีค่าใช้จ่ายเดินทางให้เล็กน้อย
กองทุนสวัสดิการชุมชนได้เข้าร่วมอบรมโปรแกรมบริหารการเงินและบัญชีกองทุนสวัสดิการชุมชน CODI SWF และเป็นตำบลเดียวในอำเภอเมือง จ.นครปฐม ที่ผ่านการอบรม และใช้งานอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันเป็นครู ก. ช่วยแนะนำกองทุนอื่น ๆ ที่ต้องการเรียนรู้ด้วย
คณะกรรมการกองทุนสวัสดิการชุมชนมีการติดต่อสื่อสารกันผ่าน Application line กันอยู่เสมอ และมีการประชุมเฉพาะคณะกรรมการกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลหนองงูเหลือม ระยะเวลา 3-4 เดือน : ครั้งและส่วนใหญ่เป็นคณะกรรมการอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ซึ่งมีการประชุมกันทุกเดือน ในส่วนของการเก็บเงินสมทบจากสมาชิก ขึ้นอยู่กับความสะดวกของกรรมการและสมาชิก ได้แก่ เดือนละ 1 ครั้ง 3 เดือนครั้ง 4 เดือนครั้ง 6 เดือนครั้ง และรายปี หากสมาชิกในครอบครัวมีหลายคน จะขอจ่ายเป็น กรรมการนำเงินสมทบที่เก็บได้เข้าบัญชีทุกวันที่ 25 ของเดือน คณะกรรมการแต่ละคนเก็บเงินได้เท่าไหร่ก็นำเข้าธนาคาร มีสมุดลงบันทึกไว้ ช่วงต้นเดือนหากต้องใช้เงินก็เบิกออกมา ปัจจุบันมีสดหมุนเวียน จำนวน 10,000 บาท
กองทุนสวัสดิการชุมชนเปิดรับสมาชิกโดยไม่จำกัดอายุของสมาชิก ต้องเข้าเป็นสมาชิก 6 เดือนขึ้นไป จึงขอรับสิทธิเบิกจ่ายสวัสดิการได้ กองทุนสวัสดิการชุมชนมีการสวัสดิการประเภทต่าง ๆ อาทิ สวัสดิการเด็กแรกเกิด จำนวน 500 บาท สวัสดิการแต่งงาน 200 บาท สวัสดิการผู้ป่วยนอน รพ. คืนละ 100 บาทไม่เกิน 10 คืน มีใบรับรองจาก รพ. สวัสดิการกรณีอุบัติเหตุครั้งละ 200 บาท ไม่เกิน 3 คืน และมีสวัสดิการช่วยเหลือสังคม และกองทุนการศึกษาสำหรับเด็กนักเรียน ช่วงสถานการณ์โรคระบาด covid-19 มีการจ่ายเงินสวัสดิการ ภายหลังได้หยุดจ่ายสวัสดิการ covid-19 ไป
การจ่ายเงินสวัสดิการของกองทุนให้แก่สมาชิกมากที่สุด ได้แก่ สวัสดิการสมาชิกเสียชีวิต และสวัสดิการเจ็บป่วยนอนโรงพยาบาลเป็นลำดับรองลงมา กรณีสมาชิกเสียชีวิต จ่ายสวัสดิการลักษณะขั้นบันได เริ่มต้น 3,000 บาท พวงรีด 1 พวง เพิ่มปีละ 500 บาท สมาชิกอายุครบ 15 ปี จ่ายจำนวน 10,000 บาท สมาชิกอายุ 16-20 ปี กำหนดเพดานการจ่าย 10,000 บาท ซึ่งมีการปรับหลักเกณฑ์จ่ายไม่เกิน 10,000 บาท โดยขอมติในการประชุมประจำปีจากสมาชิกกองทุนสวัสดิการทั้งหมด เงินสมทบแต่ละปีที่เก็บได้จากสมาชิกรายรับมากกว่ารายจ่าย รับเงินสมทบจากสมาชิก ประมาณ 300,000 – จ่ายสวัสดิการ ประมาณ 100,000 บาท
กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลหนองงูเหลือม ได้รับเงินสมทบ 2 ขา คือ เงินสมทบจากสมาชิก และเงินสมทบจากรัฐบาลผ่าน พอช. เงินสมทบจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น คาดว่าจะได้รับสมทบจาก อบต.หนองงูเหลือม ปัจจุบันกองทุนสวัสดิการชุมชนได้จัดส่งเอกสารเสนอแผนเพื่อบรรจุเข้าแผนท้องถิ่นปี 2569 เงินสมทบจาก พอช. ได้รับสมทบครั้งที่ 10 จำนวนเงินประมาณ 70,000-80,000 บาท
ธนาคารเมล็ดพันธุ์
เมื่อสุขภาพของคนในชุมชนเป็นเรื่องใหญ่
ปี 2561 ตำบลหนองงูเหลือม จังหวัดนครปฐม ต้องเผชิญกับปัญหาที่สะเทือนใจ เมื่อมีสมาชิกชุมชนเสียชีวิตจากโรคมะเร็งถึง 4 รายภายในปีเดียว แพทย์ลงความเห็นว่าอาจเกิดจากการสะสมของสารเคมีในอาหารที่บริโภคในชีวิตประจำวัน เหตุการณ์นี้กระตุ้นให้คนในชุมชนตระหนักถึงอันตรายจากสารเคมีตกค้าง และจุดประกายแนวคิด "ปลูกผัก
ปลอดภัย เพื่อสุขภาพและรายได้ที่ยั่งยืน" กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลหนองงูเหลือม ได้ริเริ่มโครงการตรวจสารเคมีตกค้างในเลือดของสมาชิก พบว่าหลายคนมีสารพิษตกค้างในระดับที่เสี่ยงต่อสุขภาพ จึงมีการผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ด้วยการส่งเสริมให้สมาชิกหันมาปลูกผักปลอดภัย และพัฒนาวิธีการทำเกษตรแบบยั่งยืน เช่น การใช้ปุ๋ยชีวภาพ การทำปุ๋ยหมัก และการจัดตั้ง "ธนาคารเมล็ดพันธุ์" เพื่อให้ชุมชนสามารถพึ่งพาตนเองด้านอาหารได้
ชุมชนปลูกผักปลอดภัยทั้งเพื่อบริโภคและจำหน่าย
จากปลูกเพื่อกินสู่ปลูกเพื่อขาย
เมื่อแนวคิดนี้ได้รับการตอบรับดี สมาชิกในชุมชนเริ่มปลูกผักปลอดภัยทั้งเพื่อบริโภคและจำหน่าย ไม่ว่าจะเป็นผักสวนครัว เช่น พริก กะเพรา โหระพา ไปจนถึงพืชเศรษฐกิจ เช่น หน่อไม้ฝรั่ง กุ้ยช่าย และกระชาย ซึ่งได้รับการรับรองมาตรฐาน GAP (Good Agricultural Practices) และสามารถส่งขายในห้างสรรพสินค้าชั้นนำอย่าง Central นครปฐม สร้างรายได้ให้กับสมาชิกและช่วยให้คนเมืองได้เข้าถึงผักปลอดภัย
การปลูกพืชสมุนไพรพื้นบ้านในครัวเรือน
ผลการดำเนินงานด้านการพัฒนาสุขภาพและความมั่นคงทางอาหาร
ด้านการพัฒนาสุขภาพและความมั่นคงทางอาหาร ทำให้เกิดความสำเร็จเรื่องสุขภาพชัดเจน มีสมาชิกเครือข่ายเพิ่ม สมาชิกปลูกผักไว้กินในครัวเรือน แยกจากที่ปลูกผักไว้ขาย พบว่าสมาชิกที่ปลูกผักร่วมกัน 238 ครัวเรือน มีพืชผักหลากหลายชนิด ขยายผลความมั่นคงทางอาหาร ดำเนินงานเรื่องธนาคารเมล็ดพันธุ์ เพื่อนำมาแจกจ่ายให้กับสมาชิกในชุมชน ตำบลหนองงูเหลือม มีสมาชิกจัดเก็บเมล็ดพันธุ์ จำนวน 10 กว่าคน การเก็บเมล็ดพันธุ์ต่าง ๆ สมาชิกกองทุนสวัสดิการชุมชนเล่าให้ฟังว่า
ธนาคารเมล็ดพันธุ์ มาจากบุคคลภายนอกเข้ามาเห็นว่า สมาชิกในตำบลเริ่มมีการเก็บเมล็ดพันธุ์ จึงแนะนำเริ่มเก็บและอนุรักษ์เมล็ดพันธุ์เรื่อยมา “ถ้าเราเก็บกันเอง เก็บได้ไม่ได้นาน” หลังจากจดเป็นวิสาหกิจชุมชน ทางมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เริ่มเข้ามาประสาน เข้ามาให้ความรู้อบรมเรื่องการเก็บเมล็ดพันธุ์ เก็บอย่างไร ควรเอาไว้ในตู้เย็น หลังจากได้รับความรู้ กระบวนการส่งเสริมเรื่องการปลูกผัก ทำแล้วประสบความสำเร็จ ทำต่อเนื่อง ช่วงแรกแจกเมล็ดพันธุ์ ปัจจุบัน เริ่มจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ คณะกรรมการคิดว่า หากแจกฟรี ผู้รับอาจไม่เห็นคุณค่า สมาชิกเก็บเมล็ดพันธ์มาขายกับกองทุน กองทุนรับซื้อไว้ เวลาไปออกบูธ มีเมล็ดพันธุ์พืชผักต่าง ๆ ไปด้วย”
นอกจากนี้ยังมีการอบรมให้ความรู้ ด้านสารชีวภัณฑ์บิวเวอร์เรีย และไตรโคเดอร์มาในการจำกัดแมลง การปลูกพืชสมุนไพรพื้นบ้านในครัวเรือน เสนอขอพันธุ์สัตว์น้ำ จากกรมประมงอำเภอ นำมาปล่อยคลองธรรมชาติ เพื่อเป็นต้นทุนเพิ่มความมั่นคงทางอาหารให้กับคนในชุมชน มีการปล่อยพันธุ์กุ้งก้ามกราม 2 ครั้ง ละ 1 ประมาณแสนตัว ปล่อยพันธุ์ปลาต่าง ๆ จำนวน 4 ครั้ง ๆ ละ 100 ตัว (นายอำเภอมาเปิดงาน) มีการวางกฎกติกา ห้ามจับสัตว์น้ำ ในฤดู น้ำแดง ฤดูปลาวางไข่ (พฤษภาคม - ปลายเดือนสิงหาคม) การส่งเสริมความมั่นคงทางอาหาร
มีการส่งเสริมให้กับเด็กนักเรียนโรงเรียนบ้านหนองงูเหลือม โดยผู้อำนวยการโรงเรียน(ท่านเดิม) ให้โจทย์ว่ามีใบไม้ กิ่งไม้ ในโรงเรียนจำนวนมาก จะทำอย่างไร ให้เกิดประโยชน์ ได้ขอรับการสนับสนุนจากกรมพัฒนาที่ดิน ขอสารเร่งพด.1 (กลุ่มจุลินทรีย์ที่มีความสามารถสูงในการย่อยสลายวัสดุเหลือใช้จากการเกษตร) นำมาย่อยสลาย และนำปุ๋ยที่ได้ จากการย่อยสลายมาปลูกผัก ขอรับการสนับสนุนจากวิทยากรจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มาให้ความรู้เรื่องการทำปุ๋ย
มีการขยายผลต่อยอดไปยังสถานศึกษาโรงเรียนระดับประถม ระดับมัธยมศึกษา เรื่องการทำปุ๋ยหมักในโรงเรียน มีนักเรียน 480 คน ตั้งแต่เด็กจนถึงเด็ก ปัจจุบันโรงเรียนจะมีการต่อยอดแปลงผักไฮโดรโปรนิกส์
"ป้าม่วย รถพุ่มพวงแห่งชุมชน” ปลูกผัก ขายผัก และแบ่งปันสุขสู่เพื่อนบ้าน
นางสาวนพรัตน์ ณัฐพูลวัฒน์ หรือ "ป้าม่วย" สมาชิกกองทุนสวัสดิการชุมชน ผู้ที่มีหลายบทบาทในชุมชน ไม่ว่าจะเป็น อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) จิตอาสา และประธานหมู่บ้านด้านพัฒนาชุมชนและความมั่นคงของมนุษย์ แต่สิ่งที่ทำให้ป้าม่วยเป็นที่รู้จักในชุมชนมากที่สุด ก็คือการเป็น "รถพุ่มพวงขับเคลื่อนชุมชน" นำพืชผักปลอดภัยจากสวนมาส่งถึงมือผู้บริโภค เริ่มต้นจากการปลูกผักไว้กินเอง และนำส่วนที่เหลือมาขายให้เพื่อนบ้าน แต่เมื่อเห็นว่า ชาวบ้านในตำบลต่างก็ปลูกผักปลอดภัยเช่นกัน ป้าม่วยจึงรับซื้อผักจากชาวบ้านในราคาที่เป็นธรรม แล้วนำไปขายต่อให้กับลูกค้าในหมู่บ้านและพื้นที่ใกล้เคียง
นางสาวนพรัตน์ ณัฐพูลวัฒน์ หรือ "ป้าม่วย"
"นอกจากปลูกเองแล้ว ป้าม่วยก็ไปรับผักจากเพื่อนบ้านมาขายต่อ คล้ายๆ รถพุ่มพวง แต่ของเราจะเน้นผักปลอดภัย บางทีต้นทุนถูกหน่อย ก็ขายไม่แพง บางอย่างถูกกว่าตลาดนัดอีก!" ป้าม่วย เล่า
ทุกวันพฤหัสบดี ป้าม่วยจะขี่มอเตอร์ไซค์พ่วงข้างคู่ใจ ออกตระเวนขายผัก ครอบคลุม 3 ตำบล ได้แก่ ตำบลทุ่งขวาง ตำบลห้วยขวาง และตำบลหนองงูเหลือม ซึ่งมีพื้นที่เชื่อมต่อกัน ทำให้มีลูกค้าประจำที่คอยอุดหนุนเสมอ สินค้าที่ป้าม่วยขายไม่ได้มีแค่ผักสดจากสวนของตัวเองและเพื่อนบ้านเท่านั้น แต่ยังรวมถึง ต้นหอม กระเทียม ปลาเค็ม ปลาทู พริกแกง หอมแดง กระเทียม และผักสวนครัวหลากหลายชนิด สิ่งสำคัญที่ทำให้ป้าม่วยมั่นใจว่าผักของตนเองและของเพื่อนบ้าน ปลอดภัยจากสารเคมี คือระบบเฝ้าระวังกันเองภายในชุมชน
"เวลามีการฉีดยา คนในหมู่บ้านก็จะบอกกันว่า 'ไม่ต้องเอาไปนะ' เพราะเราต้องการให้ลูกค้ากินของดี ไม่มีสารตกค้าง เราเน้นสุขภาพมากกว่ากำไร"
นอกจากจะขายผักเพื่อเลี้ยงชีพ ป้าม่วยยังมี แนวคิดการบริหารรายได้ที่แตกต่าง โดยแบ่งเงินที่ได้จากการขายผักไปสมทบเข้ากองทุนสวัสดิการชุมชนให้กับพี่สาวและญาติพี่น้องที่ ผ่านมา ป้าม่วยได้จ่ายเงินสมทบให้ญาติไปแล้ว 2 ราย และเมื่อต้องสูญเสีย กองทุนสวัสดิการชุมชนก็สามารถมอบเงินช่วยเหลือครอบครัวได้ รายละ 5,000 บาท ซึ่งเป็นการแบ่งเบาภาระได้เป็นอย่างดี
"เราส่งเงินเข้ากองทุนให้พี่สาวด้วย คิดว่าถ้าถึงวันที่เขาเสียชีวิต เราจะไม่ต้องควักเงินก้อนใหญ่จากกระเป๋าตัวเอง เพราะกองทุนจะช่วยดูแลให้ เราอยู่กันเป็นครอบครัวใหญ่ การมีกองทุนแบบนี้ช่วยให้คนในชุมชนไม่ต้องเดือดร้อนเรื่องเงินเวลาเกิดเหตุฉุกเฉิน ป้าม่วยเองก็มีความสุข ไม่เจ็บ ไม่ป่วย แถมยังช่วยเหลือญาติพี่น้องได้อีก"
ป้าม่วยไม่ใช่แค่แม่ค้าขายผัก แต่เป็นฟันเฟืองสำคัญในการกระจายอาหารปลอดภัยสู่ชุมชน ไม่เพียงแต่ช่วยให้ชาวบ้านมีตลาดรองรับผลผลิต ยังช่วยให้ผู้บริโภคในชุมชนได้เข้าถึงผักปลอดสารในราคาที่เป็นธรรม แสดงให้เห็นว่า เศรษฐกิจฐานรากที่เข้มแข็งไม่ได้เกิดจากทุนใหญ่หรือโครงการของภาครัฐเพียงอย่างเดียว แต่เกิดจากคนตัวเล็กๆ ที่มีจิตอาสา พร้อมแบ่งปัน และสร้างเครือข่ายที่ดีให้กับชุมชน
"ขอให้ทุกคนหันมาให้ความสำคัญกับการกินดีอยู่ดี เราเองก็ต้องเป็นคนสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีให้กับชุมชนของเรา ไม่ต้องรอให้ใครมาทำให้ เราทำเองได้" ป้าม่วย กล่าวทิ้งท้ายด้วยรอยยิ้ม
วิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์หนองงูเหลือม
เครือข่ายเข้มแข็งคือหัวใจสำคัญของความสำเร็จ
กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลหนองงูเหลือมไม่ได้ขับเคลื่อนเพียงลำพัง แต่มีการประสานความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ เช่น สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พมจ.), กรมพัฒนาที่ดิน, มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ รวมถึง อบต. หนองงูเหลือม ซึ่งสนับสนุนงบประมาณให้แต่ละหมู่บ้านเพื่อดำเนินโครงการที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงทางอาหาร
ระบบเกษตรปลอดภัยสุขภาพดี รายได้ดี และชุมชนเข้มแข็ง"
บทเรียนแห่งความสำเร็จและความท้าทายในอนาคต
ปัจจุบัน สมาชิกกองทุนกว่า 1,200 คน ได้รับประโยชน์จากโครงการนี้ ไม่เพียงแต่ด้านสุขภาพ แต่ยังรวมถึงเศรษฐกิจชุมชนที่เติบโตขึ้นจากการผลิตและจำหน่ายผักปลอดภัย อย่างไรก็ตาม ความท้าทายสำคัญคือ การดึงคนรุ่นใหม่เข้ามาสานต่อ และ การขยายผลโครงการสู่ชุมชนอื่นๆ เพื่อสร้างระบบเกษตรปลอดภัยและเศรษฐกิจชุมชนที่เข้มแข็งอย่างแท้จริง จากจุดเริ่มต้นเล็กๆ ของการตรวจสุขภาพ นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของชุมชนตำบลหนองงูเหลือม "สุขภาพดี รายได้ดี และชุมชนเข้มแข็ง" คือสิ่งที่พวกเขากำลังสร้างขึ้น และเป็นต้นแบบที่สามารถนำไปปรับใช้กับชุมชนอื่นๆ ได้ทั่วประเทศ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
"รองนายกรัฐมนตรี ลงพื้นที่ติดตามการจัดที่ดินทำกินตามนโยบาย คทช. หนุนประชาชนมีที่ทำกินอย่างยั่งยืน"
นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี ลงพื้นที่บ้านพรเจริญ ตำบลวังตามัว ติดตามความก้าวหน้าการจัดสรรที่ดินทำกินและโครงการบ้านมั่นคงชนบท
ผู้นำแปซิฟิกเยือนชุมชนประชาร่วมใจ เรียนรู้โมเดลบ้านมั่นคงไทย สู่เวทีนานาชาติ
ผู้แทนระดับรัฐมนตรีจาก 7 ประเทศหมู่เกาะแปซิฟิก ร่วมลงพื้นที่แลกเปลี่ยนประสบการณ์กับชุมชนริมคลองในกรุงเทพฯ พร้อมถอดบทเรียนจากโครงการบ้านมั่นคงของไทย เป็นต้นแบบการพัฒนาที่อยู่อาศัยเพื่อผู้มีรายได้น้อยในระดับภูมิภาคแปซิฟิก
UN-Habitat เยือนพื้นที่บ้านมั่นคงรามคำแหง 39 ต้นแบบพัฒนา “ทั้งย่าน” สู่สิทธิการอยู่อาศัยที่ยั่งยืน
กรุงเทพฯ-23 พฤษภาคม 2568 นางอนาคลาวเดีย โรสบาค (Ms. Anacláudia Rossbach) รองเลขาธิการสหประชาชาติ และผู้อำนวยการบริหารโครงการตั้งถิ่นฐานมนุษย์แห่งสหประชาชาติ
จากชุมชนถึงจังหวัด! พอช.เสริมพลังผู้นำภาคเหนือ สู่ 'จังหวัดจัดการตนเอง'" เปิดเวทีพัฒนาศักยภาพผู้นำชุมชน 9 จังหวัด เน้นกระจายอำนาจ สร้างฐานพลังพลเมือง หนุนท้องถิ่นเข้มแข็ง
วันที่ 23 เมษายน 2568 สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. เปิดเวทีสัมมนาเชิงปฏิบัติการ “พัฒนาผู้นำการเปลี่ยนแปลงสู่จังหวัดจัดการตนเอง” ครั้งที่ 1
"UN-Habitat" ชื่นชมไทย ขับเคลื่อนที่อยู่อาศัยเพื่อทุกคน – ดันเป็นเจ้าภาพ Habitat IV ปี 2026
รมว.พม. ต้อนรับรองเลขาฯ UN-Habitat ร่วมถกความร่วมมือระดับภูมิภาค พร้อมเปิดทางสู่การประชุมนานาชาติด้านเมืองและที่อยู่อาศัยในอนาคต
"วราวุธ" ผนึก พม.-ทส. เดินหน้า “กระเสียวโมเดล” แก้ปัญหาน้ำขาดแคลน หนุนเกษตรแปลงใหญ่ พัฒนานิคมสร้างตนเอง
วันที่ 21 เมษายน 2568 นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) เปิดโครงการกระเสียวโมเดล :