เวทีวิพากษ์ (ร่าง) พ.ร.บ.ส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคม
ภาคีภาครัฐ ประชาชนและประชาสังคม 130 คน ร่วมเวทีวิพากษ์ (ร่าง) พ.ร.บ.ส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคม ที่นครศรีธรรมราช เน้นปรับโครงสร้างกฎหมายให้ทันยุค เพิ่มบทบาทองค์กรชุมชนอย่างแท้จริง “พอช.” หนุนสร้างกลไกสวัสดิการระดับพื้นที่ เชื่อมโยงตำบลถึงชาติ “ประชาชนต้องเป็นเจ้าของและกำหนดทิศทางระบบสวัสดิการ”
ผู้เข้าร่วมเวทีวิพากษ์ (ร่าง) พ.ร.บ.ฯภาคใต้
นครศรีธรรมราช/วันที่ 7 พฤษภาคม 2568 สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคมแห่งชาติ (สกส.) กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) จัดเวทีวิพากษ์ (ร่าง) พระราชบัญญัติส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ภาคใต้ โดยมีผู้เข้าร่วมจากหลายภาคส่วน ได้แก่ ผู้แทนกองทุนสวัสดิการชุมชน องค์กรสาธารณประโยชน์ เครือข่ายระดับชาติ หน่วยงานรัฐ นักวิชาการ ในพื้นที่รวม 130 คน ณ โรงแรมปุระนคร จังหวัดนครศรีธรรมราช
นางละอองดาว สีจันทร์แจ้ง ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านส่งเสริมสวัสดิการสังคม กล่าวว่า กฎหมายฉบับปัจจุบันยังไม่ตอบโจทย์บริบทสังคมที่เปลี่ยนไป ทั้งในด้านความซับซ้อนของกระบวนการกำกับติดตาม และข้อจำกัดขององค์กรสาธารณประโยชน์ การปรับปรุงร่างกฎหมายจึงจำเป็นต้องเปิดพื้นที่ให้ภาคประชาชนร่วมให้ข้อเสนอแนะ เพื่อสร้างระบบสวัสดิการที่มีความยั่งยืน ยืดหยุ่น และเป็นธรรมต่อทุกภาคส่วน โดยเฉพาะการเสริมบทบาทองค์กรสวัสดิการชุมชนในระดับพื้นที่
นายสุพล บริสุทธิ์ อดีตที่ปรึกษาด้านกฎหมาย สป.พม. กล่าวถึง ร่างกฎหมายฉบับนี้สานต่อแนวคิดตั้งแต่รัฐบาลนายชวน หลีกภัย ที่เน้นบทบาทรัฐในการดูแลประชาชนตั้งแต่วัยเด็ก เช่น โครงการนมโรงเรียน พร้อมยกตัวอย่างประเทศที่ประสบความสำเร็จด้านสวัสดิการอย่างเยอรมนี ญี่ปุ่น และเกาหลี ที่ให้อำนาจเทศบาลท้องถิ่นบริหารจัดการโดยมีกฎหมายรองรับทุกระดับ
ร่าง พ.ร.บ.ฉบับใหม่นี้ เพิ่มหมวด 7 ว่าด้วย “องค์กรสวัสดิการชุมชนนิติบุคคล” ซึ่งถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ องค์กรที่ผ่านการจดแจ้งสามารถยื่นจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลโดยไม่มีค่าใช้จ่าย และสามารถยื่นได้ทั้งแบบเอกสารและระบบอิเล็กทรอนิกส์ เปิดโอกาสให้กองทุนมีสถานะทางกฎหมาย นำไปสู่สิทธิประโยชน์ทางภาษีและความชัดเจนในการดำเนินธุรกรรม นายสุพล กล่าวสรุป
นายวิชัย นะสุวรรณโน รองผู้อำนวยการ พอช. กล่าวว่า ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้เป็นเครื่องมือสำคัญในการเสริมพลังชุมชนให้สามารถจัดการตนเองได้ในด้านสวัสดิการ ด้วยการส่งเสริมสถานะนิติบุคคลให้กับองค์กรชุมชน ทำให้ชุมชนสามารถทำธุรกรรมทางการเงิน รับการสนับสนุนจากภาครัฐและภาคเอกชนได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย และยังเพิ่มความเชื่อมั่นในการบริหารจัดการทรัพยากรด้วยตนเอง ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาที่ยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง
นายวิริยะ แต้มแก้ว ผู้ช่วยผู้อำนวยการ พอช. ย้ำว่า การปรับปรุงกฎหมายครั้งนี้มีที่มาจากการผลักดันของเครือข่ายสวัสดิการชุมชน 5 ภาค ตั้งแต่ปี 2563 โดยมีเป้าหมายเพื่อแก้ปัญหาความซ้ำซ้อนของหน่วยงานรัฐ และสร้างระบบสวัสดิการที่หลากหลายและเป็นของประชาชนอย่างแท้จริง โดยชุมชนต้องเป็นเจ้าของระบบ พอช.จึงมีบทบาทหนุนเสริม ทั้งเชิงโครงสร้าง กลไก และการพัฒนาบุคลากรในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง
นายสิน สื่อสวน ผู้ทรงคุณวุฒิ และที่ปรึกษาเครือข่ายสวัสดิการชุมชน ย้ำถึงเจตนารมณ์สำคัญของการผลักดันกฎหมายฉบับนี้ว่า คือการฟื้นฟูทุนทางสังคม เพื่อรักษาระบบการเกื้อกูลกันในชุมชนให้อยู่คู่กับสังคมไทย พร้อมรำลึกถึงบุคคลสำคัญ เช่น นายชบ ยอดแก้ว และ “น้าแก้ว” ที่ร่วมผลักดันกฎหมายนี้มาโดยตลอด โดยเน้นว่า “การให้อย่างมีคุณค่า และการรับอย่างมีศักดิ์ศรี” ต้องเป็นหัวใจของระบบสวัสดิการที่ออกแบบร่วมกัน
ดร.มณเฑียร สอดเนื่อง คณะอนุกรรมการสวัสดิการชุมชน กล่าวเพิ่มเติมว่า การผลักดันให้องค์กรสวัสดิการชุมชนมีสถานะเป็นนิติบุคคล จะช่วยลดความเสี่ยงทางกฎหมาย และเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงแหล่งทุนอื่นๆ นอกเหนือจากเงินสมทบภาครัฐ เป็นกลไกสำคัญที่ทำให้ระบบสวัสดิการมีเสถียรภาพยิ่งขึ้น และช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในระยะยาว
ผู้เข้าร่วมเห็นชอบกับการยกระดับกองทุนสู่ “นิติบุคคล”
การแก้ไขกฎหมายและส่งเสริมการพัฒนากองทุนสวัสดิการชุมชนให้เป็นนิติบุคคล จะเป็นกลไกสำคัญในการ ยกระดับการดำเนินงาน ลดความเสี่ยง และเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงแหล่งทุน ซึ่งทั้งหมดนี้จะส่งผลดีโดยตรงต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตและความมั่นคงของประชาชน เวทีครั้งนี้นับเป็นอีกก้าวสำคัญของการมีส่วนร่วมของประชาชนและภาคีเครือข่ายในการออกแบบระบบสวัสดิการที่ทุกคนเป็นเจ้าของร่วมกัน และเป็นเครื่องยืนยันว่า การพัฒนาสวัสดิการไทย ต้องไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
แบ่งกลุ่มวิพากษ์ (ร่าง) พ.ร.บ.ส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคม
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
พอช. แจงข้อเท็จจริง “บ้านมั่นคงเพชรธนา” อุดรธานี – เดินหน้าแก้ปัญหาสหกรณ์ ฟื้นฟูความเชื่อมั่น
สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) ชี้แจงกรณีร้องเรียนโครงการบ้านมั่นคงเพชรธนา จังหวัดอุดรธานี ย้ำให้ความสำคัญกับความโปร่งใสของกระบวนการ
กาญนะจ๊ะ เดินหน้าระบบจัดการ-ตั้งศูนย์กระจายสินค้าชุมชน สร้างโอกาสทางเศรษฐกิจฐานราก
พอช. จับมือขบวนองค์กรชุมชนจังหวัดกาญจนบุรี ระดมความคิดวางแนวทางจัดตั้งศูนย์กระจายสินค้าชุมชนต้นแบบ พัฒนาเครือข่ายการตลาด สร้างเศรษฐกิจชุมชนอย่างยั่งยืน พร้อมหารือโมเดลบริหารจัดการข้อมูลและทุนในพื้นที่
พม. จับมือเครือข่าย จัดกิจกรรม หนุนพลังครอบครัว-ชุมชน ริมคลองเปรมประชากร พัฒนาเด็ก เยาวชนยั่งยืน พร้อมแก้ปัญหาเด็กหลุดระบบการศึกษา
นายอนุกูล ปีดแก้ว ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (ปลัด พม.) เป็นประธานเปิดกิจกรรม Kick off โครงการ “Prem’s Plearn” จุดพลังครอบครัว ชุมชน ร่วมพัฒนาเด็กและเยาวชนอย่างยั่งยืน เพื่อสร้างพื้นที่การเรียนรู้ การจัดกิจกรรมสร้างสรรค์ และการส่งเสริมบทบาทของครอบครัวในการพัฒนาเด็กและเยาวชนในชุมชนให้เติบโตเป็นพลเมืองที่ดี มีคุณภาพ
‘เชียงรายล้านนาแห่งความสุข’ รวมพลังทุกภาคส่วนพัฒนาจังหวัดเข้มแข็งอย่างยั่งยืน”
เปิดตัว “ภาคีอาสา” จุดประกายการพัฒนาจังหวัดเชียงรายสู่เมืองสุขภาวะ ด้วยการบูรณาการ 9 หน่วยงานหลักร่วมกับภาคประชาชน หนุนสร้างพื้นที่กลาง
“น้ำท่วมแม่สายหนัก! พอช. ลงลุยพื้นที่ เยี่ยมให้กำลังใจ ทุ่มงบเร่งฟื้นฟูชุมชน”
สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน เร่งเยียวยาผู้ประสบอุทกภัยแม่สาย อนุมัติงบกว่า 4.9 ล้านบาทช่วยซ่อมบ้าน 318 ครัวเรือน พร้อมเดินหน้า “บ้านมั่นคงภัยพิบัติ”
เชียงรายเดินหน้า “จังหวัดจัดการตนเอง” ผนึกพลังทุกภาคส่วน เปิดศูนย์ประสานงานขบวนองค์กรชุมชน เดินหน้าสู่ “ล้านนาแห่งความสุข”
สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน ผนึกกำลัง ม.ราชภัฏเชียงราย พร้อมภาคประชาชน เปิดศูนย์ประสานงานขบวนองค์กรชุมชนฯ ตั้งเป้าเป็นศูนย์กลางขับเคลื่อนยุทธศาสตร์