ถึงเวลาสร้างระบบใหม่ที่ยั่งยืน หยุดการรั่วไหลน้ำมัน...สู่ทะเล

น้ำมันรั่วในทะเลอ่าวไทยบริเวณจังหวัดระยองเมื่อเดือนที่ผ่านมา ไม่ใช่ครั้งแรกและครั้งเดียว แต่เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นบ่อยครั้ง และเป็นปัญหาเรื้อรังที่สร้างผลกระทบอย่างกว้างขวางมานาน โดยที่รูปแบบการบริหารจัดการอย่างเป็นบูรณาการนั้น ยังไม่ปรากฏให้เห็นชัดเจนแม้จนวันนี้

ด้วยความห่วงใยและมีข้อกังวลเกี่ยวกับปัญหาน้ำมันรั่วสู่ทะเล หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้จัดเสวนาออนไลน์ผ่านระบบ ZOOM ในหัวข้อ "น้ำมันรั่วสู่ทะเล (อีกแล้ว)..ถึงเวลาสร้างระบบใหม่เพื่อนิเวศที่ยั่งยืนและเป็นธรรม" เพื่อแสวงหาทางเลือกและทางออก ตลอดจนการเสนอแนะแนวทางที่พึงปฏิบัติ ด้วยเจตนาที่อยากจะเห็นการสร้างระบบป้องกันปัญหาที่ยั่งยืน และสามารถเยียวยาให้ความเป็นธรรมต่อทุกฝ่าย โดยเฉพาะผู้เคราะห์ร้ายที่ต้องได้รับผลกระทบจากอุบัติภัยน้ำมันรั่วไหล ซึ่งถือเป็นอันตรายต่อชีวิตและสิ่งแวดล้อมอย่างประมาณค่าได้ยาก

ในการเสวนาครั้งนี้ มีการหยิบยกเหตุการณ์ย้อนหลังน้ำมันรั่วไปเมื่อ 10 ปี ที่อ่าวพร้าว เกาะเสม็ด จังหวัดระยอง ว่าส่งผลกระทบเป็นระยะยาวจนถึงวันนี้ โดย ดร.กฤษฎา บุญชัย เลขาธิการสถาบันชุมชนท้องถิ่น ในฐานะผู้ดำเนินการเสวนา เปิดประเด็นว่า การที่น้ำมันรั่วลงทะเลโดยที่จัดการกับปัญหานี้ไม่ได้ เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า   น้ำมันรั่วเมื่อปี 2556 ยังยืดเยื้อคาราคาซังอยู่ แม้ว่าศาลจะตัดสินไปแล้ว แต่ยังไม่ได้รับการแก้ไขเยียวยา โดยเฉพาะการคิดในเชิงระบบใหญ่ เราจะออกจากปัญหาวังวนเหล่านี้ได้อย่างไร เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม

นายวีรศักดิ์ คงณรงค์ นายกสมาคมประมงพื้นบ้านท้องถิ่นระยอง อภิปรายเป็นคนแรกว่า น้ำมันรั่วที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด อ่าวระยอง เป็นเรื่องผิดปกติ ปีนี้รั่วที่จุดเดิมเหมือนปี 2556 โดยไม่รู้สาเหตุของการรั่วไหล เมื่อปี 2556 สมาคมชาวประมงฯ ได้รับผลกระทบจากน้ำมัน 5 หมื่นลิตรรั่วไหลเข้าเกาะเสม็ดระยะทาง 36 กม. ครั้งนั้นมีผลกระทบ 10 ปี ครั้งนี้ปี 2565 รั่ว 4 แสนลิตร รุนแรงกว่าปี 2556 ประเมินความเสียหายอย่างประเมินค่าไม่ได้ ได้รับผลกระทบแบบเฉียบพลัน  

“ผมประเมินความเสียหายครั้งนี้ถึง 20 ปี กระทบต่ออาชีพชาวประมง ใจจริงผมอยากออกไปหาปลา แต่ถ้าจับปลาเลอะน้ำมันที่มีสารเคมี สมควรเอาไปขายให้คนกินไหมครับ ปลาเลอะน้ำมัน แม้จะล้างคราบน้ำมันที่ปนเปื้อนออกหมดแล้ว สมควรที่จะขายไหม ใครจะกล้ากิน แต่ถ้าเราไม่ทำอาชีพจะเอาเงินที่ไหนไปเลี้ยงครอบครัว ผมว่าความเสียหายอย่างต่ำ 20 ปี ประมงพื้นบ้านล่มสลาย ไม่แน่ว่าชีวิตนี้ผมคงต้องปลดเกษียณจากอาชีพชาวประมง คนที่มีอาชีพประมงที่นี่กว่า 4,000 คน เป็นจำนวนไม่น้อยได้รับผลกระทบ” นายวีรศักดิ์กล่าวย้ำ และแสดงความเห็นว่า ปัญหาค่าชดเชยให้กับสมาคมประมงพื้นบ้าน ประมงพาณิชย์ ประมงค้าขายปลาสดนั้น ไม่สำคัญเท่ากับว่าจะมีการฟื้นฟูทะเล คืนสภาพธรรมชาติให้กับอ่าวระยองอย่างไร

"วันนี้สิ่งแวดล้อมทางทะเลจะคืนกลับสู่สภาพปกติได้อย่างไร ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ" นับเป็นคำถามปลายเปิด ที่นายกสมาคมประมงพื้นบ้านท้องถิ่นระยองส่งเสียงออกมา และคาดหวังว่าจะมีคำตอบจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

ขณะที่ .ดร.ศิวัช พงษ์เพียจันทร์ อาจารย์คณะพัฒนาสังคม สาขาวิชาการเมืองและยุทธศาสตร์การพัฒนา สถาบันนิด้า ได้นำเสนองานวิจัยน้ำมันรั่วที่อ่าวพร้าว เกาะเสม็ด ซึ่งตีพิมพ์ใน Marine Pollution Bulletin Journal ว่า เมื่อปี 2556 สารก่อมะเร็งเหล่านี้อยู่ในน้ำมันดิบ มีปริมาณน้ำมันดิบปนเปื้อนสิ่งแวดล้อม มีการเก็บตัวอย่างน้ำมันดิบรั่วไหลตามจุดต่างๆ เวลาผ่านไป 2ปี เราพบการตกค้างสารก่อมะเร็ง เมื่อปี 2556 มีการบันทึกข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียมจากจิสด้า น้ำมันดิบจำนวนมหาศาลไหลเข้ามาปนเปื้อนตามจุดต่างๆ เมื่อนำอุปกรณ์ทางวิทยาศาสตร์มาวิเคราะห์เพื่อจำแนกสาร ซึ่งมีความแม่นยำมาก ผลของการวิเคราะห์มีสารก่อมะเร็งกระจุกตัวอยู่ที่อ่าวพร้าว ได้รับการปนเปื้อนมากที่สุด

“ผมมั่นใจว่า 10 ปีผ่านไปย่อมส่งผลกระทบต่อนิเวศบริเวณชายฝั่ง เรายังไม่ได้เจาะห่วงโซ่อาหารที่ปนเปื้อนมากับสาหร่าย”

งานวิจัยยังไม่ครอบคลุม เราพบว่ามีสัดส่วนพิเศษเมื่อนำมาเปรียบเทียบกับสารก่อมะเร็งที่เกิดขึ้นในประเทศอื่นๆ น้ำมันดิบรั่วไหลที่มีสารก่อมะเร็งคือการรวมตัวของวงแหวน 2 วง 3 วง 4 วง 5 วง 6 วง 7วง ความเป็นพิษระดับก่อมะเร็งแปรผันตามจำนวนวงแหวน นักวิชาการกังวลใจกับสาร PIS ที่มีวงแหวนมาก มีความเสี่ยงสูงทำให้เกิดโรคมะเร็งได้

เป็นเรื่องน่ากังวลใจที่มีการปนเปื้อนน้ำมันดิบรั่วไหล มีวงแหวน 3 วงที่อ่าวพร้าว กลายเป็นว่าสีชมพู สีน้ำเงิน วงแหวน 5 วง 6 วงเป็นองค์ประกอบหลักที่เราค้นพบ และยังพบที่อ่าวลุงดำ อ่าวน้อยหน่า อ่าวช่อ อ่าวปะการังและจุดอื่นๆ เกาะเสม็ด เกิดคำถามว่าถ้าน้ำมันดิบมีแหล่งกำเนิดต่างกัน สัดส่วนวงแหวนไม่เหมือนกันด้วย จุดปนเปื้อนน้ำมันดิบรั่วไหลในประเทศอื่นทั่วโลก 3 วง 4 วง จำนวน 78% วงแหวน 5 วง 6 วงเป็นส่วนน้อย แต่สารก่อมะเร็งที่อ่าวพร้าวมีความเป็นพิษสูง มีวงแหวน 5 วง 6 วง

ดังนั้นขอยืนยันว่า การรั่วไหลจากน้ำมันปิโตรเลียมที่อ่าวพร้าว เกาะเสม็ด แม้เวลาผ่านไปแล้ว ผลกระทบจากน้ำมันปิโตรเลียมยังมีอยู่เหมือนเดิม ขอยืนยันว่าอ่าวพร้าวได้รับผลกระทบจากครั้งนี้จริงๆ เป็นไปตามหลัก Cluster Analysis มาจากน้ำมันดิบรั่วไหล

ศ.ดร.ศิวัชชี้ปัญหาว่า โครงสร้างขององค์การป้องกันและขจัดมลพิษทางน้ำ เนื่องจากน้ำมันภายใต้แผนป้องกันและขจัดมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมันแห่งชาติ ในเมืองไทยยังไม่มีหน่วยงาน Super Agency บริหารจัดการปัญหา บ้านเรามีกรมควบคุมมลพิษดูแลจะต้องจัดทำระบบฟื้นฟู และเข้ามาบริหารจัดการปัญหา

ส่วน .ส.เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผอ.มูลนิธิบูรณานิเวศ กล่าวว่า จากการเก็บข้อมูลน้ำมันรั่วไหลที่อ่าวพร้าวครบ 10 ปีพอดี ครั้งนี้น้ำมันรั่วในอ่าวไทยปี 2565 รุนแรงร้ายแรงที่สุดยิ่งกว่าปี 2556 มีการใช้สารเคมีสลายคราบน้ำมันสูงมากๆ ตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ข้อมูลที่เปิดเผยต่อสาธารณะ ทางบริษัทน้ำมันเป็นผู้ออกแถลงการณ์ฝ่ายเดียว เพียงแต่แจกแจงว่าน้ำมันรั่วไหลในทะเล 4 แสนลิตร แต่การที่ใช้สารเคมีเยอะมาก น่าแปลกใจข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียมของจิสด้าก็ไม่มี การที่ปริมาณน้ำมันรั่วไหลลงสู่อ่าวไทย ในขณะที่เมืองไทยต้องนำเข้าน้ำมันควรมีการตั้งคณะกรรมการกลาง ตัวแทนนัก กม. คณะ กก.ที่เกี่ยวข้องกับปิโตรเลียม ผู้เชี่ยวชาญเข้าร่วมพิจารณาเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริง  วางมาตรการเพื่อเยียวยาผู้เสียหายให้เกิดความเป็นธรรม

“ปัญหาน้ำมันรั่วที่เกาะเสม็ดย่อมส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยว การประมงอย่างรุนแรง หอย ปู ปลา ปะการังเสียหายเป็นอย่างมาก อ่าวไทยเป็นแหล่งอาหารทางทะเลหลายหมื่น กม. ที่สำคัญที่สุด มีท่อส่งน้ำมันท่อก๊าซหลายหมื่น กม. มีระบบโครงข่ายที่สร้างมาแล้ว 40 ปี โครงข่ายการซ่อมบำรุง เราไม่เคยได้รับรายงานจุดผุกร่อน มีความเสี่ยงที่จะกัดกร่อนใต้ทะเล ต้องมีการสอบสวนหาสาเหตุ หลายหน่วยงานต้องขับเคลื่อนจากสถานการณ์ที่รุนแรงให้ผ่อนเบาลงได้ แต่ทุกครั้งที่เกิดปัญหาใหญ่ภัยพิบัติรุนแรงในประเทศไทย ไม่มีกลไกนำไปสู่การแก้ไขที่เป็นรูปธรรม ระบบการจัดทำรายงาน ไม่มีการสรุปในที่ประชุม ต้องใช้กลไกคณะกรรมการกลาง ไม่ใช่บริษัทต้นทางของปัญหาเป็นผู้สรุปรายงานการประชุม การให้ข้อมูลที่เป็นจริง เปิดโอกาสให้หลายฝ่ายขบคิดแก้ไขปัญหา จะทำให้ประชาชนมีความศรัทธา” เพ็ญโฉมกล่าว

เสียงสะท้อนจากผู้เดือดร้อน ตลอดจนข้อเสนอแนะทั้งหลายจากนักวิชาการ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและภาคเอกชน  เพื่อป้องกันหรือหาทางออกมิให้น้ำมันรั่วไหลซ้ำซากอีกแล้ว สมควรที่จะมีการนำไปต่อยอดสร้างระบบระเบียบการแก้ปัญหาที่ยั่งยืน อย่างน้อยที่สุดควรต้องเริ่มจากมุมมองการมีส่วนร่วมว่า ปัญหานี้เป็นปัญหาของสาธารณชน มิใช่แค่ชาวประมง หรือชาวบ้านที่มีวิถีชีวิตอาศัยทะเลเป็นแหล่งทำมาหากินเท่านั้น.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ยลโฉมน้องเต่าตะนุ แหวกว่ายน้ำตื้นสิมิลัน  ชี้วัดทะเลสมบูรณ์มากขึ้น

พังงาสวยงาม เปิดภาพโลกใต้ทะเลเกาะสิมิลัน พบเต่าตะนุและฝูงปลาว่ายน้ำอวดโฉมให้นักท่องเที่ยวชื่นชม ชี้วัดความสมบูรณ์ของทะเลไทย