กรมสมเด็จพระเทพฯ ทรงนำกรรมการมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ทัศนศึกษาที่โคราช

20 ต.ค.2565 - เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินโดยรถบัสพระที่นั่งจากโรงแรมแคนทารี โคราช จ.นครราชสีมา ทรงนำคณะกรรมการรางวัลนานาชาติ มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์ ไปยังสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี อ.เมือง จ.นครราชสีมา โดยมี นายสมเกียรติ วิริยะกุลนันท์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา รศ.ดร.วีระพงษ์ แพสุวรรณ ประธานกรรมการสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน รศ.ดร.พาสิทธิ์ หล่อธีรพงศ์ รองปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม รศ.ดร.อนันต์ ทองระอา อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี และผู้บริหารสถาบันฯ พร้อมเจ้าหน้าที่ เฝ้า ฯ รับเสด็จ

จากนั้นเสด็จพระราชดำเนินเข้าภายในอาคารสิรินธรวิชโชทัย ชั้น 1 แล้วทรงฟังการบรรยายสรุปเกี่ยวกับกิจการของสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน ที่อยู่ในกำกับดูแลของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) ที่เป็นศูนย์กลางด้านแสงซินโครตรอนในอาเซียนมากว่า 20 ปี โดยแสงซินโครตรอนเกิดจากการเร่งอนุภาคมีประจุให้มีความเร็วเข้าใกล้ความเร็วแสง แล้วบังคับเลี้ยวในสนามแม่เหล็ก ทำให้เกิดการสูญเสียพลังงานและถูกปลดปล่อยออกมาเรียกว่า “แสงซินโครตรอน” ซึ่งสถาบันฯ มีพันธกิจสำคัญในการวิจัยและพัฒนาเพื่อการใช้ประโยชน์จากแสงซินโครตรอนในด้านต่างๆ ให้บริการแสงซินโครตรอนและเทคโนโลยีด้านแสงซินโครตรอน แก่ภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษา และส่งเสริมการเรียนรู้และพัฒนาบุคลากรให้มีความชำนาญในเทคโนโลยีด้านแสงซินโครตรอน

จากนั้นเสด็จทอดพระเนตรนิทรรศการประจำจุดต่างๆ ภายในห้องปฏิบัติการแสงสยาม ซึ่งแบ่งเป็น 4 จุด คือ นิทรรศการจุดที่ 1 เรื่องการประยุกต์ใช้เทคนิคแสงซินโครตรอนเพื่อการแพทย์และวิทยาศาสตร์ชีวภาพ ได้แก่ การจัดแสดงหน้ากากผ้าไหมจาก อ.ปักธงชัย จ.นครราชสีมา ที่ใช้รังสีเอกซ์จากแสงซินโครตรอนวิเคราะห์และออกแบบโครงสร้างสามมิติเพื่อป้องกันโควิด-19 และใช้ทดแทนหน้ากากอนามัยทางการแพทย์, งานวิจัยเรื่องกระดูกพรุนที่เป็นผลจากการรับประทานอาหารที่มีรสเค็ม ซึ่งเป็นงานวิจัยที่มีความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยมหิดล, งานวิจัยเรื่องการวิเคราะห์โครงสร้างและทดสอบคุณภาพในการปกป้องผิวของโลชั่นมามาคาระสำหรับผิวเด็ก, การพัฒนาอนุภาคนาโนไขมันเพื่อห่อหุ้ม RNA สำหรับวัคซีนป้องกันโควิด-19 โดยนักวิจัยไทยเพื่อลดการพึ่งพาจากต่างประเทศ, การพัฒนาสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพเพื่อต้านวัณโรคด้วยเทคนิคการเลี้ยวเบนรังสีเอกซ์

นิทรรศการจุดที่ 2 เรื่องการประยุกต์ใช้เทคนิคแสงซินโครตรอนด้านอาหาร ยาและการเกษตร ได้แก่ การศึกษา “ต้นแจงสุรนารี” ต้นแจงสายพันธุ์ใหม่ที่พบได้เฉพาะใน อ.คลองไผ่ จ.นครราชสีมา โดยใช้เทคนิคซินโครตรอนอินฟราเรดวิเคราะห์ความแตกต่างทางชีวเคมีในเม็ดพันธุ์ต้นแจง พบว่าเม็ดแจงสุรนารีมีไขมัน โปรตีน และคาร์โบไฮเดรตสูงกว่าต้นแจงที่พบได้ในพื้นที่อื่นๆ ของไทย, การวิเคราะห์โครงสร้างของโปรตีนในเนื้อสัตว์เพื่อนำไปสู่การปรับปรุงการเลี้ยงสัตว์เพื่อให้ได้เนื้อสัตว์ที่มีคุณภาพและตรงตามความต้องการของผู้บริโภค, การใช้เทคนิคซินโครตรอนอินฟราเรดในการศึกษาบทบาทของไคโตโอลิโกแซคคาไรด์บริสุทธิ์ที่ได้จากเปลือกกุ้งเปลือกปูในการยับยั้งการเกิดโรคขอบใบแห้งในข้าว และการค้นพบยาต้านเชื้อมาลาเรียชนิดใหม่ ด้วยเทคนิคการคัดสรรสารยับยั้งเสมือนจริง และอินฟราเรดซินโครตรอน

นิทรรศการจุดที่ 3 เรื่องการประยุกต์ใช้เทคนิคแสงซินโครตรอนด้านวัสดุศาสตร์ อุตสาหกรรม การผลิตชิ้นส่วนสามมิติระดับไมโครเมตร และอุปกรณ์ทางการแพทย์ ได้แก่ การพัฒนาแก้วชนิดใหม่สำหรับการผลิตแบตเตอรีชนิดของแข็ง ซึ่งทำให้แบตเตอรีมีประสิทธิภาพ การใช้งานที่ยาวนานและปลอดภัยมากยิ่งขึ้น, การใช้แสงซินโครตรอนวิเคราะห์ธาตุโลหะที่เจืออยู่ในพลอยเพื่อศึกษาสาเหตุการเปลี่ยนสีในพลอยที่ผ่านการปรับปรุงคุณภาพด้วยความร้อนหรือที่ผ่านการฉายรังสี และการใช้แสงซินโครตรอนเปลี่ยนสีไข่มุกน้ำจืดให้เป็นสีทองและสร้างลวดลายสีทองบนไข่มุก, การวิจัยและพัฒนาฟิล์มคาร์บอนเสมือนเพชรสำหรับอุตสาหกรรมด้านบรรจุภัณฑ์อาหารและอุตสาหกรรมปิโตรเลียม เพื่อช่วยยืดอายุของผลิตภัณฑ์และลดต้นทุนกระบวนการผลิต และการใช้แสงซินโครตรอนพัฒนาแก๊สเซนเซอร์เพื่อวัดความสุกของผลไม้ และติดตามอาการของผู้ป่วยเบาหวานจากลมหายใจ

นิทรรศการจุดที่ 4 เรื่องการประยุกต์ใช้เทคนิคแสงซินโครตรอนด้านโบราณคดี ได้แก่ การพัฒนาระบบสุญญากาศเพื่อเก็บรักษาตัวอย่างฟอสซิลโดยให้อยู่ในสภาวะออกซิเจนและความชื้นต่ำ, การใช้แสงซินโครตรอนวิเคราะห์ตะกอนดินจากเขตบางขุนเทียน กรุงเทพมหานคร ด้วยเทคนิคการเรืองรังสีเอกซ์เพื่อศึกษาการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อมและมานุษยวิทยาในช่วง 1,000 ปีที่ผ่านมา, การไขความลับของทองคำโบราณและดินแดนสุวรรณภูมิโดยใช้เทคนิคแสงซินโครตรอนศึกษาตัวอย่างทองคำโบราณที่ค้นพบในแหล่งโบราณคดีเขาสามแก้ว จ.ชุมพร แหล่งเรือโบราณคลองกล้วยนอกและแหล่งโบราณคดีภูเขาทอง จ.ระนอง แหล่งโบราณคดีคลองท่อม จ.กระบี่ และ อ.เขม่าจี สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา และการศึกษาแผ่นทองคำโบราณจากปราสาทหินพิมาย และปราสาทหินพนมวัน จ.นครราชสีมา และปราสาทหินพนมรุ้ง จ.บุรีรัมย์ โดยใช้เทคนิคการเรืองรังสีเอกซ์เพื่อวิเคราะห์ความบริสุทธิ์ของทองคำโบราณจากแหล่งต่างๆ

โอกาสนี้ทรงฉายพระฉายาลักษณ์ร่วมกับคณะกรรมการรางวัลนานาชาติฯ จากนั้นประทับรถบัสพระที่นั่งเสด็จฯ ออกจากสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอนไปยังอุทยานประวัติศาสตร์พิมาย อ.พิมาย จ.นครราชสีมา

ทั้งนี้เวลา 16.07 น.สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินนำคณะกรรมการรางวัลนานาชาติ มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลในพระบรมราชูปถัมภ์ มายังอุทยานประวัติศาสตร์พิมาย โดยมีนายสยาม ศิริมงคล ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชีสาม พร้อมด้วยนายบพิตร วิทยาวิโรจน์ รองอธิบดีกรมศิลปากร และข้าราชการ เจ้าหน้าที่กรมศิลปากร ประชาชนในพื้นที่ เฝ้ารับเสด็จฯ ณ อุทยานประวัติศาสตร์พิมาย อำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมา

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

สำนักพระราชวัง เชิญชวนประชาชนร่วมลงนามถวายพระพร กรมสมเด็จพระเทพฯ 1-3 เม.ย.67

เว็บไซต์ สำนักพระราชวัง เผยแพร่ข่าวประชาสัมพันธ์ ขอเชิญชวนประชาชนร่วมลงนามถวายพระพร สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร มหาวชิราลงกรณวรราชภักดี สิริกิจการิณีพีรยพัฒน

ครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ระเบิดศึก'RWS สัญจร' จ.นครราชสีมา30มีนาคมนี้!

RWS ร่วมกับ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา การกีฬาแห่งประเทศไทย กองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ และจังหวัดนครราชสีมา จัดงาน RWS โคราช เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งฉลองชัยชนะท้าวสุรนารี โดยยกศึก RWS ไปจัดที่โคราชครั้งแรกในวันเสาร์ที่ 30 มี.ค.ณ ลานอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี (ย่าโม) อ.เมือง จ.นครราชสีมา ด้วยการสนับสนุนของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา การกีฬาแห่งประเทศไทยและจังหวัดนครราชสีมา ส่งผลให้มีการผนึกกำลังร่วมกับRWSและเวทีมวยราชดำเนิน เพื่อร่วมกันปักหมุดความสำเร็จของมวยไทยจากเวทีมวยไทยที่มีอายุเก่าแก่มากที่สุดในโลกอย่างเวทีราชดำเนินไปยังพื้นที่หัวเมืองใหญ่ ที่มีศักยภาพทางด้านมวยไทย อย่างจังหวัดนครราชสีมา ที่เป็นที่รู้จักและยอมรับกันว่าเป็นเมืองแห่งนักสู้

นายกฯตรวจเยี่ยมพื้นที่จัดงานมหกรรมพืชสวนโลกโคราช

นายกฯ ตรวจเยี่ยมพื้นที่จัดงานมหกรรมพืชสวนโลกนครราชสีมา พ.ศ. 2572 ชู จ.นครราชสีมาให้เป็นศูนย์กลางด้านนวัตกรรม และความยั่งยืนในอุตสาหกรรมพืชสวน สู่เมืองต้นแบบด้านนวัตกรรมสีเขียว

นายกฯ สักการะอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี ก่อนตรวจราชการ จ. นครราชสีมา

เวลา 09.29 น. ณ อนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา นางสาวเกณิกา อุ่นจิตร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่านายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พร้อมด้วยนายสุริยะ รุ่งเรืองกิจ

โคราชดัน Soft Power 'รมว.ท่องเที่ยว' ปลื้มเปิดงานย่าโมยิ่งใหญ่

ที่อนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี อ.เมือง จ.นครราชสีมา นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา เป็นประธานเปิดงานฉลองวันแห่งชัยชนะของท่านท้าวสุรนารี(งานย่าโม) ประจำปี 2567 และชมการรำ บวงสรวงท้าวสุรนารี โดยสตรีลูกหลานย่าโม

'เด็กธรรมนัส' ลุยตรวจ สปก.เมืองโคราช พบใช้ที่ดินผิดประเภท จ่อฟ้อง ม.157 จนท.มีเอี่ยว

นายธนดล สุวัณณะฤทธิ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกัน และปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) และเจ้าหน้าที่ตำรวจกองบังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริต