วาดอนาคต’ถนนสายไม้บางโพ’ ช่วยชุมชนอยู่รอด

ถนนสายไม้บางโพ เป็นถนนสายเดียวในกรุงเทพฯ ที่ตลอดระยะทาง 1 กิโลเมตรในซอยประชานฤมิตรมีชุมชนประกอบอาชีพเกี่ยวกับงานไม้ครบวงจร ทั้งไม้แปรรูปสำหรับก่อสร้าง เฟอร์นิเจอร์ไม้ตกแต่งบ้าน  และบรรดาช่างแกะสลักไม้มากฝีมือ  ร้านรวงสองข้างทางเกือบ 150 ร้าน มีงานไม้คุณภาพดีให้เลือกซื้อและราคาประหยัดด้วย  เป็นอัตลักษณ์ที่ชุมชนอื่นไม่มี

ท่ามกลางกระแสการเปลี่ยนแปลงและการขยายตัวของเมือง ชุมชน”ประชานฤมิตร” ชุมชนเก่าแก่ย่านบางโพ เผชิญปัญหาเศรษฐกิจชุมชนซบเซา ขายสินค้าได้ลดลง ซ้ำเติมให้แย่ลงเมื่อเจอโควิดระบาดหนักช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ชุมชนเริ่มเสื่อมโทรม มีแต่ผู้สูงอายุ คนรุ่นใหม่ย้ายออกจากพื้นที่  

ปัญหาที่รุมเร้าในชุมชนเป็นจุดเริ่มต้นให้คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทำงานร่วมกับชุมชนประชานฤมิตร หาทางออกในการอนุรักษ์และพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน โดยคำนึงถึงจุดแข็งของชุมชน เอาชุมชนเป็นตัวตั้ง มีการลงนาม MOU ร่วมกับชุมชนเป็นระยะเวลา 3 ปี (ตั้งแต่ปี 2563-2565)

ชุมชนได้เปิดพื้นที่ตามร้านค้า โรงไม้ ร้านแกะสลัก ช่างฝีมือ ร้านเฟอร์นิเจอร์ ให้คณาจารย์และนิสิตคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ จากภาควิชาต่างๆ ศึกษาเรียนรู้จากหน้างานจริงๆ  แบบที่ไม่สามารถหาได้ในหนังสือหรือห้องเรียน ก่อนร่วมกันออกแบบปรับปรุงผลิตภัณฑ์เฟอร์นิเจอร์ไม้ร่วมกับชาวชุมชนช่างไม้  รวมถึงจัดทำข้อเสนอพัฒนาชุมชนและเชิญชาวบ้านมาให้ข้อคิดเห็น เช่น การปรับปรุงคลองให้สัญจรได้ช่วยเปิดพื้นที่ให้คนกลุ่มใหม่ๆ ที่เดินทางจากรถไฟฟ้าเข้าถึงกลางชุมชนได้ง่ายขึ้น ปรับปรุงถนนให้เข้ามายังชุมชนง่ายขึ้น เพราะปัจจุบันไม่สามารถจอดรถข้างทางได้  ทำโกดังกลางแจ้งที่ลูกค้าสามารถดูสินค้าและสั่งซื้อทางออนไลน์ได้  และพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์คนยุคใหม่

นิสิตจุฬาฯ ทำงานร่วมกับชุมชนแข็งขันจนเป็นนิทรรศการ”บางโพซิเบิ้ล” หรือ “BANG PO(SSIBLE)” เสนอทางเลือกในการพัฒนาชุมชน ซึ่งจัดแสดงพื้นที่ชั้นล่างของร้านสมเกียรติการช่างในซอยประชานฤมิตรที่ปรับเป็นศูนย์เรียนรู้นิทรรศการถนนสายไม้บางโพ เปิดแสดงถึงวันที่ 30 ก.ค. 2565 เท่านั้น  

ผศ.ดร.ปริญญ์ เจียรมณีโชติชัย รองคณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ  บอกที่มาว่า เมื่อปี 2562 คณะสถาปัตยกรรมฯ ได้เสนอการพัฒนารอบสถานีไฟฟ้าให้แก่กรุงเทพมหานคร  ซึ่งมีพื้นที่ชุมชนประชานฤมิตร เพราะตั้งอยู่ใกล้สถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน สถานีเตาปูนและสถานีบางโพ รวมทั้งไม่ไกลจากสถานีรถไฟฟ้าสถานีกลางบางซื่อ  เป็นชุมชนมีศักยภาพสูงและมีทางเลือกในการเดินทางมาชุมชนถนนสายไม้ได้สะดวกเพิ่มขึ้น การพัฒนาต้องเสริมสร้างอัตลักษณ์ชุมชนเดิม ไม่ใช่มองไปเห็นแต่คอนโดในเมือง

“ ชุมชนนี้มีของ มีการรวมตัวทำงานเกี่ยวกับไม้สารพัด  มีช่างฝีมือจำนวนมากในชุมชน  ซึ่งเป็นลูกหลานซอยไม้หลังวัดสระเกศหรือภูเขาทองนั่นเอง  ย้ายมาตั้งถิ่นฐานกันที่บางโพกว่า  60 ปีแล้ว ทำให้ชุมชนประชานฤมิตรเป็นแหล่งขายไม้ใหญ่ในกรุงเทพฯ ถ้าได้รับการส่งเสริมการออกแบบที่ช่วยเพิ่มมูลค่าให้ผลิตภัณฑ์งานไม้ และผลักดันสู่แหล่งเรียนรู้งานไม้ที่มีชีวิตในกรุงเทพฯ จะสร้างรายได้ให้กับชุมชนมากขึ้น นี่เป็นจุดเริ่มต้นที่ชุมชนติดต่อมาที่คณะฯ เพราะต้องการฟื้นฟูธุรกิจงานไม้ชุมชน “ ผศ.ดร.ปริญญ์ กล่าว

สำหรับปัญหาหลักฯ รองคณบดีคณะสถาปัตย์ฯ บอกว่า จากการรับฟังชุมชน พบขายสินค้าได้น้อยลง   แม้กระทั่งไม้ที่แกะสลักลวดลายสวยงาม ส่วนมากเป็นกลุ่มลูกค้าเดิมๆ  ผลจากเทรนด์การออกแบบและความชอบของผู้บริโภคเปลี่ยนไป ส่งผลให้เศรษฐกิจชุมชนชะลอตัว รวมถึงมีเศษวัสดุงานไม้เหลือทิ้งกลายเป็นขยะปริมาณมาก ทั้งยังไร้คนรุ่นใหม่สืบทอดวิชาช่างฝีมืองานไม้ในชุมชน

ทั้งนี้ จาก MOU ร่วมกัน สองปีแรกได้นำเรื่องพัฒนาชุมชนประชานฤมิตรเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนการสอนนิสิตผ่านวิชาฟื้นฟูเมืองและการลงพื้นที่สำรวจชุมชน  1 ครั้ง แต่เมื่อสถานการณ์โควิดคลี่คลายได้จัดโครงการ”ค่ายสถาปัตย์Arch CU summer ปฏิบัติการออกแบบสหศาสตร์ภาคฤดูร้อนเพื่ออนุรักษ์พัฒนาชุมชนยั่งยืน 2565 “ เมื่อเดือนมิ.ย.ที่ผ่านมา  โดยนิสิตจากหลายหลักสูตรทั้งภูมิสถาปัตยกรรม สถาปัตยกรรม ผังเมือง สถาปัตยกรรมไทย ออกแบบอุตสาหกรรม  40 คน เข้ามาแก้ปัญหาชุมชนเมืองกับชุมชนถนนสายไม้บางโพ ใช้เวลา 1 เดือนเต็มๆ ช่วงปิดเทอมให้เกิดประโยชน์ 

ผศ.ดร.ปริญญ์ บอกว่า นิสิตได้เรียนรู้ข้ามศาสตร์ตามความสนใจ ชุมชนสนับสนุนพื้นที่ทำงาน ที่พัก ช่วยผลิตหุ่นจำลองและต้นแบบผลิตภัณฑ์ เพื่อนำเสนอในนิทรรศการ ”บางโพซิเบิ้ล” เดิมชุมชนทำบานประตูไม้ลวดลายไทย นิสิตได้สร้างสรรค์บานประตูรูปแบบใหม่ที่มีฟังก์ชั่นหมุนด้านบนแล้วทำให้ถาดเครื่องปรุงออกมาอยู่ด้านนอกได้ แล้วยังมีบานประตูมีที่ใช้เท้าเหยียบแล้วมีที่ยื่นออกมาเป็นที่วางจาน ส่งอาหารได้  ซึ่งชุมชนร่วมคิดค้นกลไกให้ มีการนำเศษงานไม้มาทำหิ้งพระบูชารูปแบบใหม่ที่ติดตั้งอยู่มุมห้อง ช่วยประหยัดพื้นที่ เหมาะสำหรับชาวคอนโดหรือคนรักตกแต่งบ้าน เป็นสินค้าทันสมัย

นอกจากนี้ นิสิตได้ออกแบบโลโก้ชุมชนประชานฤมิตร จำนวน 6 แบบให้คนในชุมชนเลือก รวมทั้งจัดทำมาสคอตเป็นที่แขวนม่านและราวลูกกรงไม้ ซึ่งเป็นไอเดียที่แปลกใหม่และน่าสนใจ

“ จากต้นแบบผลิตภัณฑ์มีผู้ประกอบการในชุมชนให้ความสนใจจะนำไปผลิตในเชิงพาณิชย์ ซึ่งจะขยายกลุ่มลูกค้าให้กว้างขึ้น   เกิดประโยชน์กับช่างไม้ในชุมชนได้ทำงานรูปแบบใหม่ๆ  ร้านมีสินค้าที่น่าสนใจมากขึ้น ชวนให้คนมาดูสินค้าในย่านนี้ ถ้ามีการปรับปรุงคลองและถนนควบคู่จะยิ่งเพิ่มการเข้าถึงชุมชน ” รองคณบดีกล่าวชุมชนต้องปรับตัว

จากจุดเริ่มต้นในการฟื้นฟูชุมชนของภาควิชาการและภาคประชาชน ผศ.ดร.ปริญญ์  บอกว่า ขณะนี้ได้รับการประสานจากสำนักงานเขตบางซื่อ สส. สก.  มาพูดคุยเกี่ยวกับข้อเสนอการอนุรักษ์และพัฒนาชุมชนที่เกิดขึ้น เล็งเห็นศักยภาพชุมชนประชานฤมิตร รวมถึงหากจะจัดงาน”ถนนสายไม้”อีกครั้ง ควรปรับเป็นเทศกาลสอดแทรกเรื่องวิถีชีวิต ย่านการค้าไม้ การออกแบบชุมชน   ทำให้คนในชุมชน ผู้ประกอบการ และประชาชนเห็นถึงอดีต ปัจจุบัน และอนาคต  ส่วนคณะสถาปัตย์ฯ มีแนวโน้มจะขยายความร่วมมือกับชุมชนต่อไป

ชวนไปเดินเล่นถนนสายไม้ในกรุงเทพฯ  ชมนิทรรศการ “บางโพซิเบิ้ล” แสดงวันจันทร์ – เสาร์ เวลา 08.00 – 17.00 น. สามารถเดินทางมาด้วยรถไฟฟ้า 2 สาย สถานีบางโพ สถานีเตาปูน รวมทั้งรถโดยสาร หลังจบนิทรรศการในพื้นที่จริงจะนำมาจัดแสดงที่คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ต่อไป

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

IRPC - คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ร่วมวิจัยและพัฒนา สร้างวัสดุการพิมพ์ 3 มิติ จากพลาสติกรีไซเคิล

บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) หรือ IRPC โดย คุณพยม บุญยัง ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ศูนย์นวัตกรรม IRPC และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ สรายุทธ ทรัพย์สุข

AI วาดรูปเทรนด์สร้างศิลปะ ต่อเติมจินตนาการ

ปัจจุบันเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI (Artificial Intelligence) ช่วยให้มนุษย์มีชีวิตที่สะดวกสบายมากขึ้นและปลดล็อกศักยภาพที่เป็นข้อจำกัดสำหรับหลายคน เช่นการวาดภาพและสร้างสรรค์งานศิลปะ ที่หลายคนมองว่าตัวเองไม่มีทักษะและพรสวรรค์ด้านนี้เอาเสียเล