เปิดกลยุทธ์ดัน'หนังไทย' SOFTPOWER

อุตสาหกรรมภาพยนตร์เป็นอีกช่องทางการขับเคลื่อนซอฟท์พาวเวอร์ไทย  หากจะผลักดันให้ภาพยนตร์ไทยก้าวสู่ระดับโลก จำเป็นต้องเกิดการบูรณาการ  งานเทศกาลหนังเมืองแคน ครั้งที่ 7 ที่ จ.ขอนแก่น ที่มีคนในแวดวงอุตสาหกรรมภาพยนตร์ทั้งในไทยและต่างประเทศร่วมงานคับคั่ง หนึ่งในกิจกรรมน่าสนใจเวทีเสวนาด้านภาพยนตร์ หัวข้อ “นโยบายภาครัฐและความต้องการของภาคเอกชนในการขับเคลื่อนซอฟต์พาวเวอร์ของไทยสู่คอนเทนต์โลก กรณีศึกษาด้านภาพยนตร์” ให้ภาครัฐ ผู้ประกอบการ ผู้กำกับ และเยาวชน ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น โดยเฉพาะมุมของการขับเคลื่อนซอฟต์พาวเวอร์ผ่านอุตสาหกรรมหนัง จัดที่สำนักอธิการบดี  มหาวิทยาลัยขอนแก่น เมื่อวันก่อน โดย นางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธาน

นางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัด วธ. กล่าวว่า ภาพยนตร์ เป็นหนึ่งในแนวทาง 5F+ ด้านการขับเคลื่อนซอฟต์พาวเวอร์ด้านมิติทางวัฒนธรรม ที่อยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมบันเทิง  แนวทาง วธ.มีหลากหลายรูปแบบ ทั้งในรูปแบบงบประมาณ สนับสนุนการดำเนินงานของผู้ผลิตภาพยนตร์ การนำผู้สร้าง ผู้จัดจำหน่ายภาพยนตร์ไปร่วมออกคูหานิทรรศการในต่างประเทศ การหาตลาดใหม่ๆ ตลอดจนการพัฒนาบุคลากรในด้านต่างๆ

จากผลสำรวจเดือน พ.ย.2566 ของ The Attraction ซอฟต์พาวเวอร์ไทยแต่ละเรื่อง องค์กรที่มีบทบาทสำคัญระบุว่า กระทรวงวัฒนธรรม 70.5% กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา 62.9% CEA สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ 61% รวมไปถึงแบรนด์ที่บทบาทอาทิ King Power สิงห์ และช้าง ทั้งนี้ ตัวบุคคลสามารถเป็นซอฟต์พาวเวอร์ได้ เพราะมีอิทธิพลต่อสังคมเกิดการยอมรับและติดตาม อย่าง ลิซ่า Blackpink 63.3% บัวขาว บัญชาเมฆ 36.2% และโทนี่ จา 32.4%  เรื่องที่ต้องดำเนินการผลักดัน ได้แก่ งานสร้างสรรค์และงานศิลปะ 63.8% ซึ่งประเทศไทยมีการจัดงานอย่าง ไทยแลนด์เบียนนาเล่ ภาพยนตร์ไทย 42.9% และเฟสติวัล 31.9% อย่าง เทศกาลลอยกระทง เทศกาลสงกรานต์ สิ่งเหล่านี้กระตุ้นเศรษฐกิจและการสร้างรายได้ในทุกภูมิภาค 

การจัดเทศกาลหนังเมืองแคน ปลัด วธ.ระบุได้เปิดพื้นที่แลกเปลี่ยนความเห็นทุกภาคส่วน เพราะสิ่งสำคัญที่จะผลักดันวงการภาพยนต์สู่สากลทุกฝ่ายต้องมีส่วนร่วม ปี 2567 วธ. จะเข้ามาร่วมสนับสนุนเทศกาลหนังเมืองแคน ที่ผ่านมารัฐนำผู้ประกอบการภาพยนตร์ไปเจรจาธุรกิจในต่างประเทศ สร้างรายได้ให้กับประเทศ หรือการเปิดให้ต่างประเทศเข้ามาถ่ายทำภาพยนต์ในเมืองไทย ส่งผลให้เกิดการจ้างงาน  มี  MOU กับเกาหลีในการแลกเปลี่ยนและพัฒนาบุคลากรด้านภาพยนตร์

“ ความนิยมหนังไทยขึ้นกับรสนิยมของผู้บริโภคที่อาจจะชอบแนวหนังไม่เหมือนกัน ต้องคำนึงถึงกลุ่มเป้าหมายให้แน่ชัดว่า ต้องการสื่อสารกับกลุ่มไหน แต่ปัญหาสำคัญที่ประเทศไทยยังขาด คือ ผู้เขียนบทหรือพัฒนาบทภาพยนตร์ที่จะตอบสนองความต้องการหรือเกิดสีสันให้แก่ผู้ชมได้ ประเทศไทยมีต้นทุนทางวัฒนธรรมหรือภูมิปัญญาต่างๆ ส่วนที่จะต้องเพิ่มคือการใส่ความคิดสร้างสรรค์ วิธีการนำเสนอให้น่าสนใจ วธ.มีการพัฒนาและสนับสนุนผู้เขียนบทภาพยนตร์ผ่านกิจกรรมอบรมและฝึกเขียนบทภาพยนต์ ตัวอย่างการพัฒนาบทที่ประสบความสำเร็จ เช่น มนต์รักหนองผักกะแยง เราให้ความสำคัญในการสร้างผู้เขียนบทที่มีศักยภาพ” ปลัด วธ. กล่าว  

ปลัด วธ.เผยอยากจะสนับสนุนให้แต่ละมหาวิทยาลัยที่มีการเปิดสอนเกี่ยวภาพยนตร์ช่วยผลิตผู้เขียนบทรุ่นใหม่ ปีหน้าอยากจะชวนทุกมหาวิทยาลัย มาร่วมกันคิดโครงการหรือเทศกาลที่รวบรวมเด็กและเยาวชนในแวดวงอุตสาหกรรมเข้ามาในการฝึกเขียนบท ผลิตภาพยนตร์ และหาแนวทางในการเผยแพร่ต่อไป ทั้งนี้เด็กและเยาวชนที่ก้าวเข้าสู่วงการภาพยนต์ จะต้องไม่ใช่แค่การสร้างภาพยนต์เป็นอย่างเดียวเท่านั้น จะต้องมีการปลูกฝังเรื่องจริยธรรมในการนำเสนอเนื้อหาที่ก่อให้ประโยชน์ สร้างทั้งคุณค่าและมูลค่าไปพร้อมกัน

ด้าน นายปรัชญา ปิ่นแก้ว ผู้กำกับภาพยนตร์ชื่อดัง กล่าวว่า ปัญหาอุตสาหกรรมภาพยนต์ไทยที่ยังไม่ก้าวไปสู่ระดับสากล เกิดจากการไม่เข้าใจระบบหรือหนังที่ดีคืออะไร หนังแบบไหนที่คนอยากจะดู คนในแวดวงภาพยนต์และภาครัฐจะต้องค้นหาคำตอบให้ได้ ถึงจะสามารถผลิตภาพยนตร์ตอบโจทย์ผู้บริโภค เพราะประเทศไทยมีทั้งวัฒนธรรม สถานที่ หรือสิ่งที่นำมาสร้างมูลค่า ผ่านการผลิตภาพยนตร์ได้ โดยเฉพาะการพัฒนาผู้เขียนบทให้มีศักยภาพ รัฐต้องร่วมลงทุนส่วนนี้ ซึ่งเป็นกลไกสำคัญเคลื่อนอุตสาหกรรมภาพยนต์ อย่าง นางนาก ที่ต่างชาติเห็นมูลค่า เป็นหนังไทยเรื่องแรกที่นำไปฉายและจำหน่ายในต่างประเทศ ทุกวันนี้ที่โลกเปลี่ยนไปเกิดการเชื่อมต่อกันง่ายขึ้น เราจะนำเสนอความเป็นซอฟต์พาวเวอร์อย่างไรให้ขายได้  บทและการนำเสนอในระดับสากลสำคัญ

ทัศนะซอฟต์พาวเวอร์ของ  รศ.ดร.นิยม วงศ์พงศ์คำ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า จากการร่วมพูดคุยของทั้ง 3 มหาวิทยาลัย ได้แก่ มข. ม.อ. มช. สรุป”ซอฟต์พาวเวอร์” เป็นเรื่องอะไรก็ได้ที่ดี และสามารถเกิดอิทธิพลให้คนทำตามได้ เป็นที่ยอมรับในวงกว้าง สิ่งใดจะเป็นซอฟต์พาวเวอร์ได้จะต้องมีการพิสูจน์ให้ได้ว่านี่คืออัตลักษณ์ของตนเอง และผู้คนส่วนใหญ่นิยมทำกัน หรือในภาพยนตร์ที่ต้องการนำเสนอซอฟต์พาวเวอร์จะต้องมีการอธิบายได้อย่างเป็นระบบ และความตั้งใจของผู้ที่ผลิตคอนเทนต์ ไม่ได้บังคับให้ทำ เพราะจะไม่ใช่ซอฟต์พาวเวอร์ แต่เป็นฮาร์ดพาวเวอร์

 ดร.ดนัย หวังบุญชัย ผู้จัดการแผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ สสส. กล่าวว่า ผู้สร้างซอฟต์พาวเวอร์ในอุตสาหกรรมภาพยนต์สามารถทำได้ตั้งแต่รุ่นเล็ก รุ่นกลาง และรุ่นใหญ่ ทิศทางในการสนับสนุนต้องมีโจทย์พัฒนาร่วมกัน อย่างรุ่นเล็ก-รุ่นกลาง เป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่จะต้องเริ่มจากทำหนังสั้นหรือพัฒนาบทภาพยนตร์ ขณะเดียวกันพัฒนาคนทำงานด้านโปรดักชั่น ต้องยอมรับผู้ที่เรียนภาพยนตร์ไม่มีงานที่ลงภาคสนาม ดังนั้น หน่วยงานที่มีทุนสนับสนุนด้านนี้จึงพยายามให้โจทย์ทำหนัง อย่าง ทุนวัฒนธรรมด้านอาหารหรืองานหัตถกรรมจะสามารถสร้างเป็นหนังให้น่าสนใจและต่อยอดให้งานขายได้จริง ส่วนผู้ใหญ่ซึ่งเป็นผู้กำกับมืออาชีพ จะให้ทุนเป็นวิทยากรให้กับคนรุ่นใหม่ และกองทุนสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ที่มีทุนทำภาพยนต์กว่า  10 ล้าน ส่วน สสส. ผู้ขอทุนต้องทำความเข้าใจข้อจำกัด เน้นด้านสุขภาพตีโจทย์ผลิตหนัง ทั้งนี้ ในต่างประเทศที่ประสบความสำเร็จด้านภาพยนตร์ไม่เน้นกองทุนภาครัฐ แต่เป็นกองทุนเอกชน อย่างเกาหลี  5 แบรนด์ใหญ่ตั้งกองทุน KOCCA สนับสนุนผลิตภาพยนตร์  ไทยก็นำโมเดลนี้มาทำกองทุน THACCA เป็นศูนย์บ่มเพาะที่มีมหาวิทยาลัยเป็นหลักสนับสนุนภาพยนตร์

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'ใจถึงธรรมะ' ท่องแดนพุทธภูมิ (1)

เป็นอีกครั้งในชีวิตที่ออกเดินทางไปยังประเทศอินเดียและเนปาล เพื่อค้นหาคำตอบบางอย่าง ซึ่งตัวเองก็ยังไม่รู้ว่าจะพบมั้ย แต่เชื่อมั่นว่า จะทำให้ตัวเองในฐานะชาวพุทธได้พบกับความสุขสงบในจิตใจและได้เว้นวรรคจากวิถีชีวิตที่เร่งรีบ ห่างไกลจากสิ่งเร้ารอบตัว ตามโปรแกรมจะไปครบทั้ง 4 สังเวชนียสถาน

20 ชุมชนชิงต้นแบบ'เที่ยวชุมชน ยลวิถี'

ชุมชนท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมนั้นกระจายอยู่ตามจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศไทย แต่ละชุมชนมีความโดดเด่นด้วยอัตลักษณ์ วิถีชีวิต เอกลักษณ์เฉพาะถิ่น เป็นเสน่ห์ดึงดูดนักท่องเที่ยวตามบริบทของชุมชน เพื่อคัดเลือกชุมชนต้นแบบ”เที่ยวชุมชน ยลวิถี”ที่มีเรื่องราวน่าสนใจ

ค้นหาอัตลักษณ์ 6 จังหวัด จัดฉลองสงกรานต์ยิ่งใหญ่

26 มี.ค.2567 - นางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า จากการประชุมติดตามความคืบหน้าการดำเนินงานจัดกิจกรรมเทศกาลสงกรานต์ ประจำปี 2567 ร่วมกับประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัด 6 พื้นที่ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร ภูเก็ต เชียงใหม่ ขอนแก่น สมุทรปปราการ และชลบุรี

สัมผัสสถานที่จริง'สังเวชนียสถาน' ต่อยอดงานศาสนา

พระสงฆ์และพุทธศาสนิกชนได้เดินทางไปสัมผัสสถานที่จริงที่สังเวชนียสถาน 4 ตำบล ซึ่งเกี่ยวข้องกับพุทธประวัติ 4 แห่ง สถานที่ประสูตร  สถานที่ตรัสรู้ สถานที่แสดงปฐมเทศนา และสถานที่ปรินิพพาน ในประเทศอินเดียและเนปาลอีกครั้งจากการเข้าร่วมโครงการส่งเสริมพระสงฆ์และพุทธศาสนิกชน

'ลานตา ลันตา' พหุวัฒนธรรมแข็งแกร่งสู่สายตาโลก

เทศกาลลานตา ลันตา หนึ่งในเทศกาลประเพณีที่ส่งเสริมภาพลักษณ์ความเป็นไทยที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม ปีนี้ชาวเกาะลันตา จังหวัดกระบี่ ซึ่งภาคภูมิใจในวิถีวัฒนธรรมที่มีเอกลักษณ์และทรัพยากรธรรมชาติอันยิ่งใหญ่ ร่วมกันเผยแพร่ความเป็นพหุวัฒนธรรมที่แข็งแกร่ง

วธ.พัฒนาเครือข่ายภาคใต้รู้ทัน Fake News

7 มี.ค.2567 - นางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานพิธีเปิดกิจกรรมค่ายครอบครัวคุณธรรม นำสังคมเป็นสุข ภาคใต้ ระหว่างวันที่ 7-9 มีนาคม 2567 โดยมีนายอนุวรรตน์ โหมดพริ้ง รองผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่ หัวหน้าส่วนราชการจังหวัดกระบี่ วัฒนธรรมจังหวัดพื้นที่ภาคใต้