'ภูเก็ตก้าวไปด้วยกัน' ก้าวสู่โมเดลเปิดประเทศ รู้เท่าทันโควิด

คนภูเก็ตได้บทเรียนถูกผิดจาก "ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ "มาแล้ว ก่อนถึง 1พฤศจิกายน จึงมีการเตรียมพร้อมรับมือ เพราะชีวิตต้องเดินต่อไป เพราะในสถานการณ์ตอนนี้่เป็นไปไม่ได้ที่เราจะปลอดจากโควิด 100%

"จังหวัดภูเก็ต" นับว่า"แนวหน้า"ในการนำร่องเปิดประเทศ ผ่านโปรเจ็ค "ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ "ทั้งที่ในช่วงเปิดตัวเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม ที่ผ่านมา ผู้ติดเชื้อโควิด19 ในประเทศกำลังพุ่งสูง แต่ผลลัพธ์ ที่ได้ในช่วงสองเดือนคือมีเงินเข้าประเทศมากถึง 1,600 ล้านบาท แต่หนทางไม่ได้ราบรื่นอย่างที่คิดเพราะโควิด19 สายพันธุ์เดลต้าได้บุกภูเก็ตจนเกือบเอาไม่อยู่ ทำให้มีผู้ติดเชื้อพุงสูงขึ้นกว่า 200 คนต่อวัน ทั้งนักท่องเที่ยวต่างชาติและคนในพื้นที่ ถึงอย่างนั้นโครงการก็สำเร็จผ่านไปด้วยดี เนื่องจากภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนชาวภูเก็ตได้ร่วมมือบูรณาการระบบรองรับ โดยเฉพาะระบบความปลอดภัยต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นภูเก็ตชนะ หมอพร้อม SHA และ SHABA ที่ออกแบบมาใช้กับแซนด์บอกซ์โดยเฉพาะ

นับว่าเป็นบทเรียนสำคัญสำหรับภูเก็ตที่จะผงาดเป็น หมุดหมายด้านการท่องเที่ยวของไทยและของโลกอีกครั้ง องค์กรภาครัฐและเอกชนในจังหวัดภูเก็ต จึงได้ล้อมวงพูดคุยเพื่อผลักดันก้าวต่อไปของภูเก็ตกับแคมเปญ “Together Phuket Stepping Forward: ภูเก็ตก้าวไปด้วยกัน” ชูประเด็นภูเก็ตน่าเที่ยว ปลอดภัย เข้าง่าย กระจายรายได้ถึงมือทุกคนสอดรับนโยบายของรัฐบาล ที่จะเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวกลุ่มความเสี่ยงต่ำสามารถเดินทางเข้าประเทศไทยได้โดยไม่ต้องกักตัว ในวันที่ 1 พ.ย. นี้

ณรงค์ วุ่นซิ้ว ผู้ว่าราชการ จ.ภูเก็ต กล่าวว่า ในวันนี้ภูเก็ตกำลังต่อสู้กับโควิด19 และเศรษฐกิจที่กำลังค่อยๆฟื้นตัว ซึ่งเมื่อมองถึงรายได้ที่ขาดหายไปช่วงโควิด19 ข้อมูลจากกรมการท่องเที่ยว เปรียบเทียบรายได้ในช่วง 3 ปี ในปี 2562 มีรายได้ 4.4 แสนล้านบาท ปี 2563 ลดลงมาเหลือ 2.07 แสนล้านบาท และในปี 2564 ไม่นับรวมอีก 3 เดือนที่เหลือรวมรายได้ 7.052 พันล้านบาท ทำให้กระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของคนในพื้นที่เป็นอย่างมาก อีกทั้งยังได้เห็นความเหลื่อมล้ำที่ชัดเจนมาขึ้น ไม่ว่าจะเป็นความยากจน การศึกษา ระบบสาธารณสุข ซึ่งศาสตร์พระราชาและเศรษฐกิจพอเพียงจะเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะเข้ามาแก้ไขความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้น ดังนั้นก้าวต่อจากนี้ คือก้าวสำคัญที่พวกเราต้องทำให้เกิดการกระจายรายได้ให้มากที่สุด ลดช่องว่างทางเศรษฐกิจลงให้มากที่สุด เพื่อการเดินไปด้วยกันอย่างมั่นคง ท่ามกลางสภาวะแห่งความผันผวน

“ภูเก็ตพร้อมเป็น Sandbox ในทุกมิติการพัฒนา เพื่อสร้างประโยชน์ให้คนภูเก็ตและประเทศไทย ภูเก็ตนับจากวันที่21 ต.ค. เราจะดันให้เป็นเมืองท่องเที่ยวระดับโลก ด้วยการออกแบบอินฟราสตรักเจอร์และพรีเมียมเซอร์วิส ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจที่มีความเข้มแข็งของเสาทั้ง 10 เสา ตั้งแต่เสาหลักคือการท่องเที่ยว, การศึกษา, การเกษตรแม้ว่าจะมีแค่ 2.7%, การเป็นสมาร์ทซิตี้, สปอร์ททัวริซึม, แกสโตโนซิตี้ จากนำวัฒนธรรมที่มีอยู่และธรรมชาติที่จะเพิ่มเสน่ห์, ภูเก็ตเฮลท์แซนด์บอกซ์, ไมซ์ซิตี้ในทุกรูปแบบ รวมทั้งมีการส่งเสริมเศรษฐกิจระดับฐานรากไปพร้อมกัน จะทำให้เห็นการเปลี่ยนแปลงภูเก็ตในทิศทางที่ดีขึ้นและยั่งยืน” ผู้ว่าฯกล่าว

ปิยพงศ์ ชูวงศ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต กล่าวเสริมว่า ภูเก็ตเป็นจังหวัดเดียวในประเทศไทย ที่มีโอกาสสร้างมาตรการที่ชัดเจนในเรื่องของการคัดกรองผู้ที่เดินทางเข้า-ออกในจังหวัดและต่างประเทศ เนื่องจากการทำโครงการภูเก็ตแซนด์บอกซ์ และนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในการเดินทาง คือ มีเพียงการยืนว่าฉีดวัคซีนครบ หรือ ผลตรวจโควิด19 นับตั้งแต่วันที่ 16 ต.ค.ที่ผ่านมานั้นง่ายกว่าเดิมมาก และมาตรการระหว่างประเทศของชาวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาลดจำนวนกักตัวเหลือ 7 วัน เป็นการส่งสัญญาณความพร้อมของภูเก็ตในการเดินไปข้างหน้าอย่างมั่นใจ และเป็นต้นแบบของประเทศในการกำหนดมาตรการเพื่อเปิดการท่องเที่ยว พร้อมสนับสนุนนโยบายของรัฐบาลในการเปิดประเทศวันที่ 1 พ.ย. ภูเก็ตก้าวไปด้วยกัน แล้วเราจะกลับมาดีกว่าเดิม

"ภูเก็ตแซนด์บอกซ์ให้อะไรที่เป็นประโยชน์กว่าจำนวนเงินและตัวเลขนักท่องเที่ยว เพราะเราได้เรียนรู้ผิดถูก ที่จะสามารถรับมือได้กับทุกสถานการณ์ ขนาดรัสเซล โครว์ นักแสดงระดับโลก ยังบอกความประทับใจทำให้ชาวต่างชาติที่ฉีดวัคซีนครบสูตรแล้วอยากลองมาเที่ยวภูเก็ต ซึ่งในส่วนสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆขณะนี้ได้มีการเสนอในที่ประชุมถึงการขยายระยะเวลาล็กดาวน์จาก 22.00 น. เป็นเที่ยงคืน หรือการรวมกลุ่มทำกิจกรรม 500 คน โดยอยู่ในการพิจารณาช่วง 10 วันหลังจากนี้ "รองผู้ว่าฯกล่าว

ด้านนพ.กู้ศักดิ์ กู้เกียรติกุล นายแพทย์สาธารณสุขจ.ภูเก็ต กล่าวถึงสถานการณ์โควิดในจังหวัดว่า หากมอภาพรวมสถานโควิดของประเทศจังหวัดในภาคก็ยังครอง 10 อันดับจังหวัดที่มียอดผู้ติดเชื้อมากที่สุด ในภูเก็ต แบ่งการพบผู้ติดเชื้อเป็น 2 ช่วง คือ ช่วงแพร่ระบาดสายพันธุ์อัลฟ่ามีผู้ติดเชื้อมากสุด 20 คนต่อวัน และช่วงสายพันธุ์เดลต้าระบาดพบผู้ติดเชื้อมากถึง 250 คนต่อวัน ซึ่งเป็นช่วงการทำแซนด์บ็อกซ์ แต่นั่นไม่ใช่ปัจจัยที่ทำให้ยอดติดเชื้อเพิ่มขึ้น แต่เป็นผลจากการเคลื่อนตัวของแรงงาน จึงทำให้มีการเร่งฉีดวัคซีนซึ่งประชาชนในจังหวัดได้รับวัคซีนมากที่สุดในไทยครบ 2 เข็ม 77% บูสเตอร์อีก 46% และเด็กอายุ 12-17 ปี 50% เพิ่มความครอบคลุมด้วยการฉีดวัคซีนและตรวจ ATK เชิงรุกมากขึ้น รวมถึงเคร่งครัดในมาตรการต่างๆ

นพ.กู้ศักดิ์ กล่าวว่า โดยขณะนี้สถานการณ์ผู้ป่วยเริ่มลดลง เหมาะที่จะสร้างสมดุลระหว่างการควบคุมโรคและการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยยอดผู้ติดเชื้อรายใหม่วันที่ 19 ต.ค. มีจำนวน 132 คน ในจำนวนนี้มีนักท่องเที่ยวแซนด์บ็อกซ์ 6 คน หากนับจำนวนผู้ติดเชื้อ ตั้งแต่ทำแซนด์บ็อกซ์ในเดือนก.ค. รวม 163 คน ทั้งนี้นักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาไม่ใช่สาเหตุที่ทำให้เกิดคลัสเตอร์ในกลุ่มคนไทย

การเตรียมรับมือโควิด นพ.กู้ศักดิ์ กล่าวว่า ขณะนี้อัตราการครองเตียงผู้ป่วยทุกประเภทเหลือเตียงว่าง 46.95% ยังมีทีมปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาโควิด-19 เชิงรุก (Phuket CCR Team) ดำเนินการอย่างต่อเนื่องในชุมชนทุกอาทิตย์ ให้ความสำคัญตรวจกลุ่ม 608 มีการลงทะเบียนเก็บตกวัคซีนในกลุ่มนักเรียน นักศึกษาในเว็บไซต์ www.ภูเก็ต ต้องชนะ.com พิจารณาการปิด LQ,CI, และ Hospitel

“โลกแห่งความจริงคือ เราจะพบผู้ ติดเชื้อทั้งจากทางต่างประเทศและในประเทศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ทีมสาธารณสุขจังหวัดภูเก็ตมีความเชื่อมั่นในการควบคุมและจัดการโควิด-19ได้ จากประสบการณ์ที่ผ่านมา พร้อมการสนับสนุนของทุกภาคส่วน เราพร้อมที่จะอยู่กับโควิด-19 อย่างปลอดภัย”

อนาคตการท่องเที่ยวในอีก 3 เดือนของปี 2564 ภูมิกิตติ์ รักแต่งาม นายกสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยว จ.ภูเก็ต กล่าวว่า ภูเก็ตพร้อมกับการเดินต่อไปข้างหน้า เพราะเกาะแห่งนี้พึ่งพาธุรกิจด้านการท่องเที่ยว โดยมีธุรกิจการท่องเที่ยวถึง 95% และจากการทำท่องเที่ยวแซนด์บ็อกซ์จนถึงวันนี้รวม 4 เดือนที่นักท่องเที่ยวสะสมอยู่ที่กว่า 50,000 คน ซึ่งสร้างรายได้ทางตรงกว่า 2,900 ล้านบาท และรายได้หมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจประมาณเกือบ 7,000 ล้านบาท แต่หากคิดดูแล้วเฉลี่ยผู้ที่เดินทางเข้ามาเที่ยวเพียงวันละ 466 คน หรือเพียง 1% ซึ่งในความจริงไม่สามารถช่วยอะไรได้เลย

ภูมิกิตติ์ แนะว่า ดังนั้นจึงต้องวิธีทางที่จะทำให้มีผู้เดินทางเข้ามา 10,000 คนต่อวันให้ได้ โดยคาดว่าจะมีผู้ติดเชื้อวันละ 30 คน ซึ่งที่ผ่านมาเป็นผู้ป่วยสีเขียวหรือไม่มีอาการ ซึ่งระบบสาธารณสุขเรายังรองรับได้ แลกกับการจ้างงานเพิ่มขึ้น 30% และจะทำให้รูปแบบชีวิตปกติใหม่ของชาวภูเก็ตกลับมา สิ่งที่จะเกิดขึ้นทางเศรฐกิจจะมีรายได้เข้ารวม 16,320 ล้านบาท และเศรษฐกิจจะหมุนเวียนถึง 35,000 ล้านบาท

อีกมุมมองที่น่าสนใจในหัวข้อ ถ้าไม่เปิดประเทศตอนนี้จะเปิดตอนไหน นพ.สงวน คุณาพร ผู้ทรงคุณวุฒิ จังหวัดภูเก็ต ได้บอกว่า เปรียบเทียบภูเก็ตกับเมืองท่องเที่ยวชั้นนำต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นซีย์เชล มัลดีฟส์ สเปน หรือประเทศอังกฤษ โดยยกอังกฤษให้เป็นโมเดลสำหรับภูเก็ต เพราะ ไม่มีทางเป็นไปได้ที่จะลดจำนวนผู้ติดเชื้อให้เหลือศูนย์ เรายังจะพบตัวเลขผู้ติดเชื้อเริ่มสูงขึ้นอีกอย่างต่อเนื่องนับจากนี้ตามบริบท กิจกรรม และปริมาณผู้คนที่เดินทางเข้ามาภูเก็ต แม้เกือบทุกคนที่เข้ามาต้องฉีดวัคซีนหรือหายจากโควิดมาก่อน แต่ด้วยเหตุที่คนในเกาะส่วนใหญ่มีภูมิคุ้มกันจากวัคซีนเดิมและเข็มกระตุ้นล่าสุด ผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่ก็จะไม่มีอาการ หรือป่วยเล็กน้อยคล้ายเป็นหวัด ผู้ป่วยหนักที่ต้องเข้าไอซียูหรือเสียชีวิตก็จะไม่มาก ระบบสาธารณสุขของภูเก็ตจะดูแลจัดการได้แน่นอน

“ถ้าไม่เปิดภูเก็ตตอนนี้ก็คงจะช้าเกินไป ชาวภูเก็ตฉีดวัคซีนครบ 2 เข็มกันมากกว่า 80% แล้ว รวมทั้งได้รับการบูสเตอร์เข็ม 3 ด้วยแล้ว ดังนั้นชีวิตต้องเดินต่อไป และเราจะไม่รอสิ่งที่ไม่มีทางเป็นไปได้ คือ การปลอดจากโควิด 100% แต่เราเลือกที่จะอยู่กับโควิดอย่างรู้เท่าทัน และเมื่อในคราวที่เราหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะติดโควิด เราจะเผชิญอย่างเข้าใจ เพราะเรามั่นใจว่าผู้ได้วัคซีนครบ โอกาสป่วยรุนแรงและเสียชีวิตจะต่ำมาก” นพ. สงวน ชี้ให้เห็นสถานการณ์จริง

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ดีครับท่าน ใช่ครับนาย 'เสริมศักดิ์' ไม่เกี่ยงนั่งท่องเที่ยวแม้ถนัดมหาดไทย

“เสริมศักดิ์” พร้อมรับทุกตำแหน่ง เผยถนัดงาน “มหาดไทย” แต่ไม่ขัด หากได้นั่ง รมว.ท่องเที่ยวฯ เพราะมีหลักในการทำงานอยู่แล้ว