กกต. ไฟเขียว 49 พรรค หาเสียงตามเบอร์ที่จับได้ ตรวจสอบเอกสารแล้วไร้ปัญหา

กกต.ไฟเขียว 49 พรรคหาเสียงตามเบอร์ที่จับได้ หลังตรวจสอบเอกสารครบถ้วน แจงไม่มีอำนาจตรวจสอบคุณสมบัติแคนดิเดตนายกฯ เหตุกม.กำหนดให้ทำหน้าที่แค่รับแจ้ง พร้อมยันกกต.พิมพ์บัตรโหลเป็นตามกม.กำหนด ยกผลถอดบทเรียนเลือกตั้ง 62 บัตรมีโลโก้ - ชื่อพรรคทำบัตรเสียท่วม

4 เม.ย.2566 - เวลา 14.45 น. ที่อาคารไอราวัฒพัฒนา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร นายแสวง บุญมี เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แถลงข่าวภายหลังการรับสมัครการส.ส.แบบบัญชีรายชื่อในวันแรก ว่า การรับสมัครส.ส.บัญชีรายชื่อในวันนี้ หลังกกต.ได้ตรวจสอบเอกสารที่ 49 พรรคการเมืองที่มาก่อนเวลา 08.30 น. เอกสารครบและสามารถออกใบรับสมัครทั้ง 49 พรรคการเมือง มีคุณสมบัติครบแล้วได้หมายเลขตามลำดับที่จับสลากได้ โดยภาพรวมการรับสมัครงานนี้ค่อนข้างเรียบร้อย มีปัญหาอยู่บ้างคือสถานที่คับแคบ จุดรับสมัครน้อยโดยการรับสมัครในขณะนี้มีพรรคการเมืองแบบบัญชีรายชื่อจำนวน 53 พรรคการเมือง และรับแจ้งรายชื่อบุคคลซึ่งพรรคการเมืองจะเสนอเป็นนายกรัฐมนตรี หรือแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจำนวน 16 พรรค 20 คน

นายแสวง ยังกล่าวด้วยว่า รายชื่อผู้สมัครส.ส.แบบบัญชีรายชื่อทั้งหมดกกต. จะดำเนินการตรวจสอบคุณสมบัติเช่นเดียวกับส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง หากพบว่าผู้สมัครรายใดไม่มีคุณสมบัติจะไม่ประกาศรายชื่อ ซึ่งผู้ที่ไม่ได้รับการประกาศรายชื่อสามารถยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาได้ หากศาลไม่คืนสิทธิให้พรรคการเมืองก็จะเหลือจำนวนผู้สมัครเท่าที่มีอยู่ ส่วนแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีกฎหมายกำหนดให้กกต.เป็นเพียงผู้รับแจ้งชื่อเท่านั้น ไม่ได้มีหน้าที่ตรวจสอบคุณสมบัติ

ส่วนที่มีข่าวว่าบางพรรคเอกสารการสมัครไม่ครบทำให้การสมัครล่าช้า นายแสวง ชี้แจงว่า เกิดจากการใช้เอกสารที่เป็นสำเนาที่พิมพ์มาจากคอมพิวเตอร์ ซึ่งไม่ใช่เอกสารตัวจริง แต่กกต. พิจารณาแล้วเห็นว่าไม่ได้ทำให้สาระสำคัญของการรับสมัครเสียไป หรือเอกสารไม่สมบูรณ์ จึงได้ดำเนินการรับสมัคร

เมื่อถามถึงกรณีบัตรเลือกตั้งส.ส.เขตที่ไม่มีโลโก้และชื่อของพรรคการเมือง นายแสวง กล่าวว่า เมื่อเช้าได้คุยทำความเข้าใจกับหลายพรรคการเมือง ว่ารูปแบบบัตรที่จะจัดพิมพ์ดีสำหรับพรรคการเมือง เพราะจากการถอดบทเรียนการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 มีบัตรเสียมากก็เพราะรูปแบบบัตรเลือกตั้งมีเครื่องหมายพรรค อีกทั้งครั้งนี้กฎหมายกำหนดให้บัตรเลือกตั้ง 2 แบบมีความแตกต่างอย่างชัดเจน โดยแบบแบ่งเขตกำหนดให้มีช่องกาเครื่องหมายและหมายเลขเท่านั้น ส่วนแบบบัญชีรายชื่อกำหนดให้มีช่องกาเครื่องหมาย สัญลักษณ์ และชื่อพรรค ดังนั้นบัตรทั้ง 2 ใบจะทำเหมือนกันไม่ได้ และสีจะมีความแตกต่างกันโดยขณะนี้ยังไม่ได้มีการจัดพิมพ์และเรื่องสีถือเป็นความลับ

ซึ่งกกต.ก็จะพยายามอำนวยความสะดวกให้กับประชาชน ให้ทุกหมายเลขของผู้สมัครทั้ง 2 แบบอยู่ในหน้าเดียวกัน โดยแบบแบ่งเขตยอดผู้สมัครสูงสุด ณ ขณะนี้ คือ 16 หมายเลข ที่กรุงเทพฯ ส่วนบัญชีรายชื่อแม้จะมีพรรคที่มีสิทธิส่งผู้สมัครรวม 60 พรรค ก็จะทำให้อยู่ด้านเดียวกันให้ได้ นอกจากนี้ในวันเลือกตั้ง นอกจากหน้าหน่วยจะมีการติดประกาศข้อมูลของผู้สมัครแล้ว ก็จะมีการติดป้ายไวนิลข้อมูลผู้สมัครไว้ในจุดที่ประชาชนไปใช้สิทธิในคูหาแล้วสามารถมองเห็นได้ เพื่อสามารถจดจำเบอร์ไปกาบัตรได้ถูกต้อง

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ประธาน กกต. แจงความคืบหน้าเลือก สว. ชุดใหม่

นายอิทธิพร บุญประคอง ประธานกกต. กล่าวถึงความคืบหน้าของระเบียบ และประกาศกกต. เกี่ยวข้องกับการเลือกสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ว่า เสร็จไปแล้วเป็นส่วนใหญ่ โดยมี 1 ฉบับที่ส่งไปแล้ว และอยู่ระหว่างการ

'แม้ว' หักหลังเสื้อแดง ฟันธงเลือกตั้ง 'เพื่อไทย' แพ้ 'ก้าวไกล'

ความพยายามของคุณทักษิณ ชินวัตร ที่ออกมาปฏิเสธภาพลักษณ์ของพรรคเพื่อไทยว่า ไม่ใช่พรรคอนุรักษ์นิยมใหม่ แต่เป็นพรรครีฟอร์มมาจากพรรคไทยรักไทย และพรรคพลัง