'บิ๊กตู่' ชวนคนไทยเที่ยวงานใต้ร่มพระบารมี 240 ปี กรุงรัตนโกสินทร์

นายกฯ ชวนเที่ยวงาน 'ใต้ร่มพระบารมี 240 ปี กรุงรัตนโกสินทร์' หวังความภาคภูมิใจในประวัติศาสตร์หลอมรวมจิตใจไทยเป็นหนึ่งเดียว มอบนโยบาย 5F แปลงมรดกวัฒนธรรมสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ

20 เม.ย.2565 - พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม โพสต์เฟซบุ๊ก Prayut-Chan-o-cha" ระบุว่า พี่น้องประชาชนชาวไทยที่รักครับ เมื่อวานนี้ (19 เม.ย.65) ผมได้ร่วมกิจกรรมประชาสัมพันธ์งานใต้ร่มพระบารมี 240 ปี กรุงรัตนโกสินทร์ ที่กำหนดจัดงานตั้งแต่วันที่ 20-24 เม.ย.ศกนี้ เพื่อน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณและเทิดพระเกียรติพระมหากษัตริย์ไทยแห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ ผมจึงขอเชิญชวนพี่น้องประชาชนพาลูกหลานมาเที่ยวชมวัง พิพิธภัณฑ์ เข้าวัดไหว้พระขอพรเสริมสิริมงคล รวมทั้งเรียนรู้สืบสานมรดกศิลปวัฒนธรรมของชาติผ่าน 20 แหล่งเรียนรู้รอบเกาะรัตนโกสินทร์ ซึ่งผมเชื่อว่าความภาคภูมิใจในประวัติศาสตร์และความเป็นไทย จะช่วยหลอมรวมจิตใจไทยให้เป็นหนึ่งเดียว อีกทั้งก่อให้เกิดความรัก ความหวงแหนสมบัติของชาติที่บรรพบุรุษของเรา ได้ปกป้องรักษาไว้ให้เราในวันนี้ และลูกหลานในวันข้างหน้า

กิจกรรมดีๆ เหล่านี้ ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของการส่งเสริมวัฒนธรรมของไทยให้เป็นที่รู้จักทั่วโลก โดยผมได้มอบนโยบายในการแปลงมรดกทางวัฒนธรรมมาสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ จากระดับท้องถิ่นสู่เวทีระดับโลก ทั้ง 5F คือ (1) Food-อาหาร (2) Film-ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ (3) Fashion-การออกแบบแฟชั่นไทย (4) Fighting-ศิลปะการป้องกันตัวแบบไทย (5) Festival-เทศกาลประเพณีไทย นอกจากนี้ ยังมีนโยบายวัฒนธรรมกินได้ที่มุ่งเน้นส่งเสริมให้เกิดการรวมตัวกันในชุมชน แสวงหาจุดเด่น-จุดแข็ง-จุดขาย ที่เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่น ศิลปหัตถกรรมพื้นบ้าน สินค้าและผลิตภัณฑ์จากชุมชน อาหารการกิน รวมทั้งการแสดงที่เป็นเอกลักษณ์ในแต่ละภูมิภาค จัดเป็นตลาดนัด-ตลาดชุมชน ช่วงเสาร์-อาทิตย์ หรือช่วงเทศกาลต่างๆ เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวและเสริมสร้างความเข้มแข็งเศรษฐกิจฐานราก ให้เกิดการสร้างงาน สร้างรายได้ กระจายความเจริญไปสู่ท้องถิ่น ทุกอย่างเกิดจากความร่ำรวยทางวัฒนธรรมของเรา ที่เป็นอันดับต้นๆ ของโลก ที่รัฐบาลผลักดันมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อต่อยอด สร้างมูลค่าเพิ่ม และประทับตราแบรนด์ Thailand ให้ตราตรึงในใจชาวโลก ทุกครั้งที่นึกถึง

นอกจากการส่งเสริมการพัฒนาสิ่งใหม่ๆ แล้ว รัฐบาลก็ได้อนุรักษ์สิ่งเก่าที่เป็นมรดกของชาติ ควบคู่กันไปด้วย เช่น การประสานขอรับมอบโบราณวัตถุ-ศิลปวัตถุของไทย ที่อยู่ในต่างประเทศ โดยช่วงปี พ.ศ.2557 ถึงปัจจุบัน ได้รับคืน 10 ครั้ง รวม 759 รายการ จากทั้งหมด 1,090 รายการ รวมทั้งนโยบายของรัฐบาลที่ทำงานอย่างใกล้ชิดกับยูเนสโก (องค์การศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ) เพื่อพิทักษ์และอนุรักษ์ไว้ซึ่งมรดกของชาติให้คงอยู่ชั่วลูกชั่วหลาน โดยการเสนอขึ้นทะเบียนมรดกโลกในหลากหลายสาขา ได้แก่

1.แหล่งมรดกโลก เช่น ผืนป่าแก่งกระจาน (ขึ้นทะเบียนฯ พ.ศ.2564) และยังมีอีก 4 แห่งที่ได้ขึ้นบัญชีเบื้องต้น และอยู่ระหว่างกระบวนการเสนอให้ที่ประชุมพิจารณา คือ (1) อนุสรณ์สถาน-ภูมิทัศน์วัฒนธรรมของเชียงใหม่ นครหลวงของล้านนา (2) พระธาตุพนม (3) กลุ่มศาสนสถานปราสาทพนมรุ้ง-ปราสาทเมืองต่ำ-ปราสาทปลายบัด และ (4) เมืองโบราณศรีเทพ

2.มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ เช่น โขน (พ.ศ.2561) นวดไทย (พ.ศ.2562) และโนรา (พ.ศ.2564) และอยู่ในระหว่างการเสนอให้เทศกาลสงกรานต์ขึ้นทะเบียนเช่นกัน

3.มรดกความทรงจำแห่งโลก เช่น ฟิล์มกระจกและภาพต้นฉบับจากฟิล์มกระจก ชุดหอพระสมุดวชิรญาณ ของสำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ (พ.ศ.2560) สำหรับ (1) นันโทปนันทสูตรคาหลวง (2) เอกสารใบลานเรื่องอุรังคธาตุ อยู่ระหว่างกระบวนการเสนอให้ที่ประชุมพิจารณา

4. เครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโก (UNESCO Creative Cities Network) จากแนวคิดการใช้ศิลปวัฒนธรรมและเศรษฐกิจสร้างสรรค์เป็นตัวขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืน 7 สาขา ได้แก่ หัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้าน (Crafts and Folk Arts) การออกแบบ (Design) ภาพยนตร์ (Film) อาหาร (Gastronomy) วรรณกรรม (Literature) สื่อศิลปะ (Media Arts) และดนตรี (Music) ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยมีเมืองที่ได้รับการรับรองเป็นเมืองสร้างสรรค์แล้ว ในช่วงปี พ.ศ.2558-ปัจจุบัน จำนวน 5 เมือง ได้แก่ (1) เทศบาลนครภูเก็ต (สาขาอาหาร) (2) จังหวัดเชียงใหม่ (สาขาหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้าน) (3) จังหวัดสุโขทัย (สาขาหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้าน) (4) กรุงเทพมหานคร (สาขาการออกแบบ) (5) จังหวัดเพชรบุรี (สาขาอาหาร) และอยู่ระหว่างเตรียมการเสนอเป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ฯ อีก 3 เมือง ได้แก่ เชียงราย (สาขาการออกแบบ) นครปฐม (สาขาดนตรี) และสุพรรณบุรี (สาขาดนตรี)

ทั้งหมดนี้ เป็นตัวอย่างการดำเนินการในระดับนโยบาย เพื่อผลักดันอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของไทย ให้เป็นสินค้าส่งออกทางวัฒนธรรม นำรายได้เข้าประเทศและขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย อย่างเป็นขั้นเป็นตอนและยั่งยืน โดยรัฐบาลได้ดำเนินการอย่างครอบคลุมตลอดห่วงโซ่อุตสาหกรรม รวมทั้ง Ecosytem และ Platform ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในยุคดิจิทัล บนฐานของต้นทุนทางวัฒนธรรมอันลึกซึ้งและกว้างขวาง ซึ่งเราคนไทยโชคดีที่ได้รับมรดกสืบทอดต่อกันมาจากรุ่นปู่ย่าตายายที่สั่งสมและพัฒนาเรื่อยมา ดังนั้นผมเห็นว่าเราทุกคน ทุกภาคส่วน จะต้องร่วมมือกัน เพื่อให้เกิดพลังในการขับเคลื่อนครั้งยิ่งใหญ่ของชาติบ้านเมืองในทุกๆ ด้านในยุคหลังโควิดครับ

(รายละเอียดเพิ่มเติมงาน "ใต้ร่มพระบารมี 240 ปี กรุงรัตนโกสินทร์” : https://www.m-culture.go.th/th/article_view.php?nid=172386

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'หมอนทองเขาบรรทัด' สินค้า GI รายการที่ 3 ของตราด

รัฐบาลมุ่งเพิ่มมูลค่าสินค้าท้องถิ่นไทย ขึ้นทะเบียนทุเรียนหมอนทองเขาบรรทัด เป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ จังหวัดตราด เพื่อความเชื่อมั่นคุณภาพสินค้า ยกระดับรายได้ชุมชน