กก.ปฏิรูปปราบโกง ชู 5 บิ๊กล็อก สังคายนากฎหมายโบราณ ชงเรื่องถึงนายกฯ ผลักดันให้สำเร็จ

กก.ปฏิรูปปราบโกง ชู 5 บิ๊กล็อก สังคายนากฎหมายโบราณ พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารฯต้องเปิดเผยสาธารณะ เข็น กม.ปิดปากกันถูกข่มขู่ฟ้องกลับ- พ.ร.ฎ.เปิดทรัพย์ขรก.-จนท.รัฐทุกราย ชงเรื่องถึง นายกฯ ผลักดันให้สำเร็จ

27 พ.ค. 2565 - ที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ แถลงถึงการดำเนินการตามแผนการปฏิรูปประเทศ ด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ ในรอบปีที่ผ่านมา

นายภักดี โพธิศิริ ประธานกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ แถลงว่า แผนการปฏิรูปประเทศด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบประกาศใช้ครั้งแรกเมื่อเดือน ก.พ.61จากนั้นมีการปรับแผนปฏิรูปประเทศและยุทธศาสตร์ชาติให้มีความสอดคล้องกัน เพื่อให้บรรลุผลตามเป้าหมายของการป้องกันและปราบปรามการทุจริต โดยมีการปรับปรุงเสร็จสิ้นและประกาศใช้อย่างเป็นทางการเมื่อเดือน ก.พ.64 ซึ่งแผนปฏิรูปฉบับปัจจุบันโฟกัสไปที่ 5 บิ๊กล็อก จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงปัญหาและอุปสรรคเก่าให้หมดไป เพื่อก้าวไปข้างหน้าอย่างประสบความสำเร็จ ทั้งนี้ สำหรับ 5 ล็อกดังกล่าว ได้แก่ 1.การส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในการต่อต้านการทุจริต เปลี่ยนแปลงประชาชนให้เป็นพลังพลเมือง 2.การพัฒนาการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร ระบบคุ้มครองผู้แจ้งข้อมูลทุจริตที่มีประสิทธิภาพ 3.การพัฒนาการะบวนการยุติธรรม ให้รวดเร็ว โปร่งใส ไม่เลือกปฏิบัติทั้งรัฐและเอกชน 4.การพัฒนาระบบราชการไทยให้โปร่งใสไร้ผลประโยชน์ เกี่ยวกับสินบนและการประพฤติมิชอบ และ5.การพัฒนามาตรการสกัดกั้นการทุจริตเชิงนโยบายในการดำเนินการโครงการขนาดใหญ่ ทำให้มีระบบบริหารจัดการความเสี่ยงในการดำเนินโครงการขนาดใหญ่ เช่น สัญญาคุณธรรม เป็นต้น

นายภักดี กล่าวว่า ที่มีคำถามว่าจะปฏิรูปอะไรนั้น ขอชี้แจงว่าเราพยายามจะดูปัญหาและอุปสรรคดั้งเดิมเพื่อจะขจัดปัดเป่าให้หมดไป โดยเน้น 3 มิติ คือ ปฏิรูปภาคประชาชน ปฏิรูประบบกฎหมาย และปฏิรูปในภาครัฐและกระบวนการยุติธรรม อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาประสบปัญหาอุปสรรคอย่างมากทำให้การดำเนินการป้องกันและปราบปรามการทุจริตไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร สำหรับเรื่องการปฏิรูปภาคประชาชน ต้องเปลี่ยนประชาชนมาให้เป็นพลังพลเมือง ทำให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการป้องกันเชิงรุกอย่างแท้จริง ไม่ใช่เชิงรับที่เครือข่ายรัฐพยายามเอากิจกรรมและโครงการต่างๆ ไปชักชวนมาเป็นเครือข่าย ลักษณะอย่างนั้นประชาชนจะมองไม่เห็นความสำคัญและประโยชน์ เขาจะไม่เข้าใจว่าจะแก้ปัญหาที่เขาประสบในพื้นที่อย่างไร ต้องปฏิรูปโดยคอนเซปต์ใหม่ให้ประชาชนมีเครือข่ายที่เข้มแข็ง ทำเรื่องที่มีประโยชน์กับเขาเอง โดยรัฐมีหน้าที่สนับสนุน

นายภักดี กล่าวว่า สำหรับการปฏิรูประบบกฎหมายนั้น จะมีทั้งในส่วนที่พยายามแก้ไขกฎหมายเดิมที่ยังมีความไม่เหมาะสม ในเรื่องความโปร่งใสจะเน้นความสำคัญในการให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร โดยเฉพาะข้อมูลของภาครัฐ สาธารณชนต้องเข้าถึงได้ง่ายและทั่วถึง แต่ตัวกฎหมายเดิมยังไม่เอื้อ ทำให้เกิดสภาพเดิม ตัว พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ.2540 เป็นกฎหมายโบราณ ซึ่งที่อื่นเปลี่ยนแปลงหมดแล้ว อีกทั้งรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ชัดเจนในมาตรา 59 ว่าข้อมูลราชการต้องเปิดเผย เพราะเป็นข้อมูลสาธารณะ ดังนั้น เป็นลักษณะกฎหมายที่ต้องมีการปฏิรูป และมีที่ต้องเพิ่มมาใหม่เพื่อให้การทำงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตมากขึ้น เช่น กฎหมายขัดแย้งกันของผลประโยชน์ กฎหมายป้องกันการปิดปาก รวมถึง พ.ร.ฎ.ให้มีการแสดงบัญชีทรัพย์สินของข้าราชการเจ้าหน้าที่รัฐทุกราย เพราะเป็นเรื่องที่จะป้องปรามได้อย่างแท้จริง ขณะที่ในส่วนการปฏิรูปในภาครัฐ ถือเป็นปัญหาสำคัญที่ล้วนแล้วแต่ส่งผลให้ค่าดัชนีภาพลักษณ์ หรือ CPI ตกต่ำ เช่น เรื่องรับสินบน ปัญหาการประพฤติมิชอบ การตระหนักรู้ทุจริต

นายภักดี กล่าวสรุปว่า ได้มีการปฏิรูปประเทศด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ ซึ่งหลายเรื่องประสบผลสำเร็จแล้ว แต่ขณะเดียวกัน มีอีกหลายเรื่องยังดำเนินการไม่แล้วเสร็จ จำเป็นต้องมีการขับเคลื่อนต่อ ไม่อย่างนั้นจะเป็นที่น่าเสียดาย ขาดหายไปถ้าไม่ได้ดำเนินการ โดยเรียนไปยังรัฐบาลให้เห็นถึงความสำคัญตรงนี้ โดยจะทำเรื่องเสนอไปยังคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหมเป็นประธาน เพื่อขอให้มีการสนับสนุนแผนปฏิรูปโครงการกิจกรรมสำคัญที่เรากำหนดไว้แล้วต่อไป ซึ่งมีบางเรื่องยังไม่เสร็จต้องดำเนินการต่อ โดยเฉพาะบิ๊กล็อกเปลี่ยนพลังประชาชนเป็นพลังเมือง สำคัญมาก เป็นแนวคิดใหม่ หากดำเนินการได้จะทำให้เกิดความยั่งยืน เพราะการแก้ไขปัญหาทุจริตคงไม่มีอะไรดีกว่าการให้ประชาชนตระหนักถึงปัญหาและมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง

ด้านนายภูเทพ ทวีโชติธนากุล ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวว่า ปัจจุบัน ป.ป.ช.มีกฎหมายคุ้มครองพยาน และมีระบบการคุ้มครองผู้แจ้งเบาะแสให้มีความปลอดภัย นอกจากนี้ ยังมีการจัดทำกฎหมายที่สนับสนุนในเรื่องนี้คือ กฎหมายเกี่ยวกับการป้องกันการฟ้องปิดปาก เพื่อห้ามเจ้าหน้าที่รัฐ หัวหน้าหน่วยงานของรัฐและเอกชนมาดำเนินคดีกับพยานบุคคลและผู้แจ้งเบาะแส ในเรื่องหลักการนั้นฝ่ายบริหารสนับสนุนเรื่องนี้ อยู่ที่จะบัญญัติเป็นกฎหมายเฉพาะ หรือเพิ่มมาในกฎหมาย ป.ป.ช.

นายภูเทพ กล่าวว่า หลักการสำคัญเกี่ยวกับการป้องกันการฟ้องปิดปาก เพื่อป้องกันการข่มขู่ปิดกั้นไม่ให้แสดงความคิดเห็นกับบุคคลที่กระทำความผิด เรื่องคดีทุจริตเกี่ยวกับเจ้าหน้าที่รัฐ และผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งเป็นผู้ที่มีอำนาจในการบริหารงาน บริหารประเทศ ดังนั้น การที่ประชาชนจะลุกขึ้นมามีความเสี่ยงค่อนข้างสูง แม้ ป.ป.ช.จะมีกฎหมายคุ้มครองพยาน แต่บุคคลนั้นต้องเป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการตรวจสอบของ ป.ป.ช. จึงจะคุ้มครอง แต่ยังไม่ครอบคลุมผู้ที่ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องหรือไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการตรวจสอบของ ป.ป.ช. เช่น สื่อมวลชนที่ต้องใช้ประมวลกฎหมายอาญาทั่วไปเวลาถูกฟ้อง ดังนั้น จึงต้องผลักดันกฎหมายฉบับนี้

ด้านนายมานะ นิมิตมงคล กรรมการปฏิรูปประเทศด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ กล่าวว่า คอร์รัปชันในประเทศไทยวันนี้กลับเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ความรุนแรงไม่ได้ลดน้อยลงไป แม้บางเรื่องอาจถูกแก้ไขและซาลงไป แต่พฤติกรรมการคอร์รัปชันในรูปแบบใหม่ๆ ในพื้นที่ใหม่ๆ ยังเกิดขึ้น โดยรวมคือมันยังไม่เปลี่ยนแปลง แต่พลังในการต่อต้านคอร์รัปชั่นเราได้เห็นความเปลี่ยนแปลงมากขึ้น ที่เกิดทั้งในภาครัฐและประชาชน ยิ่งความตื่นตัวของคนรุ่นใหม่ถือเป็นสัญญาณที่ดีว่าในอนาคตเราจะสามารถควบคุมพฤติกรรมคอร์รัปชั่นและลดความสูญเสียต่อสังคมลงได้ ทั้งนี้ จากการรวบรวมข้อมูลในภาครัฐมีมาตรการการแก้ไขปัญหาคอรัปชั่นเกิดขึ้นอย่างชัดเจน เช่น เว็บไซต์ของ ป.ป.ช.จะพบเครื่องมือในการต่อสู้กับคอร์รัปชันที่สามารถใช้งานได้จริงหลายอย่าง

นายมานะ กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม พลังการตื่นตัวของคนรุ่นใหม่ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาที่ออกมาพูดออกมาเรียกร้องออกมาเปิดโปงพฤติกรรมคอร์รัปชันพฤติกรรมฉ้อฉลในสังคมมากขึ้น และพลังของคนรุ่นใหม่เป็นพลังที่กล้ามาก กล้าที่จะพูดความจริง กล้าที่จะเรียกร้องและชักชวนคนรู้จักให้ออกมาช่วยกันต่อต้านปัญหาคอร์รัปชัน นี่ถือว่าเป็นอนาคตที่ดีของประเทศไทย โดยเฉพาะการนำเทคโนโลยีอย่างโซเชียลมีเดียมาเป็นเครื่องมือในการแก้ไขปัญหาคอรัปชั่น ซึ่งในการปฏิรูปประเทศมีความพยายามที่สนับสนุนให้มีการสร้างปัจจัยพื้นฐานเอาไว้

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'ดร.มานะ' ชำแหละ '10 วัฒนธรรมเป็นพิษ' ที่ซ้ำเติมให้คอร์รัปชันลุกลามเกินเยียวยา

ดร. มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) โพสต์เฟซบุ๊ก เรื่อง '10 วัฒนธรรมเป็นพิษ' (Toxic Culture) ที่ซ้ำเติมให้คอร์รัปชันลุกลามเกินเยียวยา มีเนื้อหาดังนี้

เดินหน้าเต็มที่ 'เศรษฐา' เมินรายงานป.ป.ช.ยุติเงินดิจิทัล รับไทม์ไลน์อาจขยับ แต่ไม่ยาว

'เศรษฐา' ลั่นเดินหน้าเต็มที่ ไม่คิดเอารายงาน ป.ป.ช.ยุติโครงการเงินดิจิทัล ยันไม่มีทุจริตร้อยเปอร์เซ็น เพราะใช้เทคโนโลยีส่งเงินตรงเข้ากระเป๋าปชช. ยอมรับไทม์ไลน์อาจขยับ แต่ไม่ยาวไปถึงใช้งบปี 68 จ่อคุยพรรคร่วมหลังข้อมูลครบ

'อี้ แทนคุณ' ตอก 'เด็จพี่' ย้อนดูอดีตอย่าโกงจนชาติพัง จี้นายกฯ ตอบคำถามเรื่อง 'นักโทษเทวดา'

'อี้ แทนคุณ' ซัด 'เด็จพี่' สะกดคำว่า 'สุภาพบุรุษ' ให้เป็นแนะย้อนดูอดีตอย่าโกงจนชาติพัง ใครบริหารประเทศแล้วคนไทยตายมากที่สุดและจี้ นายกฯ ตอบคำถาม 'จุรินทร์' นายกฯมีไว้ทำไม :ดูแลประชาชนหรือมีไว้ดูแล 'นักโทษเทวดา'

'ดร.มานะ' เผยแพร่บทความ 'ราชการไทย : ระบบที่รอวันรื้อแล้วสร้างใหม่'

ดร. มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) เผยแพร่บทความผ่านเฟซบุ๊ก เรื่อง ราชการไทย: ระบบที่รอวันรื้อแล้วสร้างใหม่ มีเนื้อหาดังนี้่

'เทพมนตรี' ยกคำปรารภในรธน.ปี60 ค้านตั้งสสร.ยกร่างรธน.ใหม่ทั้งฉบับ

'เทพมนตรี' ยกคำปรารภในรธน.ปี60 ยืนยันการแก้ไขรธน.ควรกระทำบางมาตรา ไม่ควรให้นักการเมืองแก้ไขเพื่อประโยชน์ตนเอง จะนำพาไปสู่การทุจริตคอร์รับชันทุกรูปแบบ การตั้งสสร.เพื่อนำมาสู่การยกร่างทั้งฉบับ สิ้นทั้งงบประมาณและเวลายังไม่เหมาะสมกับกาลยุคสมัย