เปิดความจริง 'โกงจำนำข้าว' 5 เรื่อง! ทำไมถึงก้าวข้ามไม่ได้

‘อดีตรองอธิการ มธ.’ เปิดความจริง 5 เรื่อง ตอกหน้า ‘เพื่อไทย’ ทำไมทุจริต ‘จำนำข้าว’ ถึงมูฟออนไม่ได้

3 มิ.ย. 2565 – รศ.หริรักษ์ สูตะบุตร อดีตรองอธิการบดีฝ่ายบริหารบุคคล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า เมื่อใดที่มีการอภิปรายงบประมาณในสภา กรณีจำนำข้าวก็จะถูกหยิบยกขึ้นมากล่าวถึงเสมอ และก็จะมีคนที่เรียกตัวเองว่า “ฝ่ายประชาธิปไตย” ออกมาร้องว่า ให้ move on หรือ เดินไปข้างหน้าได้แล้ว หรือก้าวข้ามเรื่องจำนำข้าวเสียที บางคนก็ถึงกับยกย่องนโยบายจำนำข้าวของคุณทักษิณที่ให้พรรคเพื่อไทยดำเนินการ ว่าเป็นนโยบายที่ชาวนาได้ประโยชน์อย่างยิ่ง แม้ขาดทุนก็ต้องยอม

ข้อเท็จจริงที่ปฏิเสธไม่ได้เกี่ยวกับนโยบายจำนำข้าวก็คือ ทุกวันนี้รัฐบาลยังคงต้องตั้งงบประมาณเพื่อผ่อนชำระหนี้ที่เกิดขึ้นจากการรับจำนำข้าว ซึ่งตัวเลขจากฐานเศรษฐกิจระบุว่า ยังคงมีหนี้เหลืออีกกว่าแสนล้านบาท และจะต้องใช้หนี้ต่อไปอีก 3-5 ปี แต่คุณทักษิณก็ยังพูดใน club house ว่า จุดแข็งของพรรคเพื่อไทยคือ มีแนวทางในการแก้ปัญหาของประเทศและทำเป็นด้วย อย่างนี้แล้วจะให้ก้าวข้ามเรื่องนี้ไปได้อย่างไร

วันนี้เราจึงจะลองย้อนไปสรุปความจริงเกี่ยวกับนโยบายจำนำข้าวของรัฐบาลพรรคเพื่อไทย สำหรับผู้ที่บอกให้ move on แต่อาจไม่ได้รู้ว่าเกิดอะไรขึ้นในการดำเนินโยบายจำนำข้าวของพรรคเพื่อไทยบ้าง ดังนี้

1.นโยบายจำนำข้าวของพรรคเพื่อไทย หลักการคือ รัฐบาลรับซื้อข้าวจากชาวนาทุกเมล็ดในราคาสูงกว่าราคาตลาด นั่นคือ รับซื้อในราคาตันละ 15,000 บาท ในขณะที่ราคาตลาดขณะนั้นอยู่ที่ตันละ 10,000 บาท ซึ่งความจริงควรเรียกนโยบายนี้ว่า นโยบายรับซื้อข้าวมากกว่า เพราะราคารับจำนำหรือรับซื้อสูงกว่าราคาตลาดมากขนาดนี้ คงไม่มีใครสติเสียพอที่จะไปไถ่ถอนข้าวที่จำนำไปแล้วคืน

วิธีดำเนินการคือ รัฐบาลรับจำนำข้าวเปลือกจากชาวนา จ้างโรงสีที่รัฐบาลคัดเลือกให้ทำการสีข้าวให้เสร็จใน 7 วัน บรรจุลงกระสอบแล้วนำไปเก็บไว้ในโกดังหรือยุ้งที่ได้รับคัดเลือก โดยรัฐบาลเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายในการเก็บรักษา และค่าใช้จ่ายทั้งหมดที่เกิดขึ้นจนกว่าจะมีการขายข้าวออกไป

วิธีคิดตามนโยบายจำนำข้าวคือ รับจำนำ(ซื้อ)ข้าวจากชาวนามาเก็บไว้ในราคาสูงกว่าราคาตลาด ทำการเจรจาร่วมมือกับประเทศผู้ส่งออกข้าวเช่น เวียตนามและอินเดีย ร่วมกันกำหนดราคาให้สูงขึ้น เมื่ออุปทานของข้าวถูกดูดซับเข้ามาเก็บไว้ในโกดังของรัฐบาล ปริมาณข้าวที่หาได้ในตลาดโลกจะลดลง ราคาก็จะเพิ่มขึ้น เมื่อราคาเพิ่มขึ้นสูงกว่าราคาที่รับซื้อ ก็จะทำการขายออกไปในราคาที่ได้กำไร

สิ่งที่เกิดขึ้นจริงคือ กลไกตลาดข้าวถูกทำลาย ชาวนาแห่นำข้าวขายให้กับรัฐบาล ผู้ส่งออกข้าวไม่มีข้าวให้ส่งออก เนื่องจากไปข้าวไปกองอยู่ในโกดังที่รัฐบาลเช่าเกือบหมด ความร่วมมือกับประเทศผู้ส่งออกในการกำหนดราคาไม่เกิดขึ้น ซึ่งประวัติศาสตร์บอกไว้แล้วว่า cartel ของสินค้าทุกชนิดยกเว้นน้ำมันไม่เคยได้ผล เพราะจะมีสมาชิกใน cartel นำสินค้าไปขายในราคาต่ำกว่าราคาที่ตกลงกันเสมอ ในปีที่มีการเริ่มจำนำข้าวเป็นปีที่ผลผลิตข้าวของทุกประเทศที่เป็นผู้ผลิตสูงเป็นพิเศษ เนื่องจากฝนฟ้าอำนวย ข้าวจึงไม่ขาดแคลน ทั้งเวียตนามและอินเดียล้วนขายข้าวในราคาต่ำกว่า 10,000 บาทต่อตัน เสียด้วยซ้ำ ส่วนไทยไม่สามารถระบายข้าวออกมาได้โดยไม่ขาดทุน เพราะราคาตลาดไม่ได้สูงขึ้นอย่างที่คาดหวัง ข้าวจึงยังกองอยู่ในโกดัง เสื่อมสภาพไปเรื่อยๆ อันดับการส่งออกของไทยที่เคยเป็นผู้นำจึงถูกแซงหน้า ในขณะที่ฤดูกาลเก็บเกี่ยวใหม่ก็กำลังมาถึง เมื่อไม่สามารถระบายข้าวออกไปได้ รัฐบาลก็ต้องกู้เงินจาก ธกส. เพิ่ม เพื่อรับซื้อข้าวจากชาวนาในฤดูกาลใหม่ ผลที่ตามมาคือชาวนาได้รับเงินช้า รัฐบาลเป็นหนี้ชาวนาเป็นจำนวนมาก

2.ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นตามมาอีกคือ แรงงานจากภาคการผลิตอื่นๆ ละทิ้งอาชีพเดิมเปลี่ยนอาชีพไปทำนาเป็นจำนวนมาก ชาวนาไม่สนใจการพัฒนาคุณภาพข้าวเพราะจะอย่างไรก็ขายได้ทุกเมล็ด ทั้งยังมีคนแอบไปซื้อข้าวจากประเทศเพื่อนบ้านนำมาสวมสิทธิขายให้กับรัฐบาล เจ้าของโรงสีและเจ้าของโกดังที่ได้รับการคัดเลือกส่วนใหญ่เป็นหัวคะแนนของส.ส.ของพรรครัฐบาล หรือเป็นพรรคพวกของคนในรัฐบาลล้วนได้ผลประโยชน์จากการรับจ้างสีข้าว และได้รับค่าเช่าโกดังจากรัฐบาลกันถ้วนหน้า นอกจากนี้ยังมีผู้มีอิทธิพลแอบนำข้าวในโกดังออกไปขาย แล้วหาซื้อข้าวจากประเทศเพื่อนบ้านที่มีคุณภาพต่ำ ราคาต่ำมาส่งคืนในภายหลัง จากผลการศึกษาของ TDRI ระบุว่ามีข้าวในโกดังต่างๆหายไป 2.9 ล้านตัน เนื่องจากแอบนำข้าวออกไปขายแล้วนำกลับมาคืนไม่ทัน

3.เมื่อไม่สามารถระบายข้าวออกไปได้ในราคาที่สูงกว่าราคาจำนำ แต่หากไม่ระบาย ข้าวก็จะเสื่อมสภาพ และจะไม่มีเงินทุนหมุนเวียนกลับมาซื้อข้าวจากชาวนา จึงจำเป็นต้องระบายข้าวออกไปในราคาขาดทุน แต่ก็ยังไม่เว้นที่จะเกิดการทุจริตขึ้นอีก ผลการศึกษาของ TDRI เช่นกันระบุว่า การทุจริตในการระบายข้าวมี 3 รูปแบบ รูปแบบที่หนึ่ง คือการทุจริตจากการขายข้าวแบบจีทูจีหรือรัฐต่อรัฐ ซึ่งไม่ใช่เป็นการขายแบบรัฐต่อรัฐจริง แต่เป็นการใช้บริษัทที่แอบอ้างว่าเป็นของรัฐมารับซื้อ ในส่วนนี้มีปริมาณข้าว 7.8 ล้านตัน คิดเป็นเงิน 45,094 ล้านบาท รูปแบบที่สองคือ การเลือกขายข้าวให้กับพ่อค้าที่เป็นพรรคพวกที่เสนอซื้อในราคาต่ำราว 4 ล้านตัน คิดเป็นเงิน 21,512 ล้านบาท รูปแบบที่สามคือ การทุจริตในโครงการข้าวธงฟ้า/ข้าวถุงถูกใจ 1.1 ล้านตัน เป็นเงิน 8,541 ล้านบาท

4.คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีหนังสือเตือนรัฐบาลเรื่องการทุจริตจำนำข้าว 2 ฉบับ ฉบับแรกเป็นการเสนอให้รัฐบาลพิจารณาวิธีการจำนำข้าวใหม่โดยไม่ให้มีการบิดเบือนกลไกตลาด เสนอหลักเกณฑ์การระบายข้าวเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการทุจริต ซึ่งรัฐบาลมีหนังสือตอบ ป.ป.ช. ยืนยันว่านโยบายจำนำข้าวเป็นประโยชน์ต่อเกษตรกร และยืนยันว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีมาตรการและกลไกเพื่อควบคุมดูแลดีอยู่แล้ว มีระบบตรวจสอบเพื่อให้การดำเนินการมีความโปร่งใสตรวจสอบได้ แต่อย่างไรก็ตามก็ได้มอบหมายให้ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี สั่งการให้หน่วยงานในกำกับทำการตรวจสอบเพื่อป้องกันการทุจริตในระดับปฏิบัติ ต่อมา ป.ป.ช. มีหนังสือแจ้งเตือนอีกฉบับ ครั้งนี้ถึงกับขอให้ยุติการดำเนินโครงการรับจำนำข้าว เนื่องจากจะก่อให้เกิดปัญหาตามมามากมาย นอกจากนี้ สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ยังมีหนังสือเตือนรัฐบาลอีก 4 ครั้ง อ้างถึงงานวิจัยของ TDRI โดย ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร ทั้ง ป.ป.ช. และ สตง. เห็นตรงกันว่าควรยุติโครงการรับจำนำข้าว แต่รัฐบาลยังคงยืนยันดำเนินการต่อไป

5.แม้รัฐบาลจะมีการระบายข้าวออกไปได้บ้าง แต่ก็เป็นการระบายข้าวที่ทำให้ขาดทุนอย่างมหาศาล ทำให้ไม่มีเงินทุนหมุนเวียนพอที่จะชำระเงินให้กับชาวนาทั้งหมดได้ รัฐบาลจึงต้องกู้เงินเพิ่มอีก แต่เมื่อมีการประท้วงขับไล่รัฐบาลครั้งใหญ่ คุณยิ่งลักษณ์ นายกรัฐมนตรีเลือกที่จะประกาศยุบสภาแทนการลาออก รัฐบาลจึงเปลี่ยนสถานะเป็นรัฐบาลรักษาการ ซึ่งตามกฎหมายไม่สามารถก่อหนี้ได้ รัฐบาลจึงไม่สามารถกู้เงินเพิ่มได้ เป็นผลให้ชาวนาที่ขายข้าวแล้วยังไม่ได้รับเงินฆ่าตัวตายไปจำนวนหนึ่ง หลังจากมีการเปลี่ยนรัฐบาลโดยการรัฐประหาร จึงสามารถกู้เงินมาชำระหนี้แก่ชาวนาได้ทั้งหมด

ทั้งหมดข้างต้นคือความจริงที่เถียงไม่ได้ จริงอยู่ ชาวนาได้ประโยช์จากนโยบายจำนำข้าว แต่ สตง. ระบุในหนังสือเตือนว่า ชาวนาที่ได้ประโยชน์ส่วนใหญ่เป็นชาวนาที่เป็นเจ้าของที่ดิน มีชาวนาที่ยากจนได้รับประโยชน์เพียงร้อยละ 18 เท่านั้น และผู้ได้รับประโยชน์เต็มเม็ดเต็มหน่วยกลับเป็นเจ้าของโรงสี จ้าของโกดัง และเอกชนที่ซื้อข้าวจากรัฐบาลในราคาต่ำ เช่นนี้ยังมีคนสรรเสริญเยินยอนโยบายจำนำข้าวครั้งนั้นได้อีกหรือ

สุดท้ายขอนำการถกเถียงเรื่องการนโยบายจำนำข้าวกับนโยบายประกันราคาข้าวของรัฐบาลประชาธิปัตย์ ระหว่างมือเศรษฐกิจของพรรคเพื่อไทยคนหนึ่ง กับ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์คนหนึ่ง ในรายการ เจาะข่าวเด่นของคุณสรยุทธ สุทัศนะจินดา ตั้งแต่ก่อนที่จะเริ่มดำเนินนโยบายจำนำข้าวกลับมาให้ชมกัน (ตาม link ด้านล่าง) ในเวลานั้นคงยังบอกไม่ได้ว่าว่าระหว่างมือเศรษฐกิจของพรรคเพื่อไทย กับ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ซึ่งโดยพื้นฐานเป็นแพทย์ ใครผิดใครถูก แต่ขณะนี้เวลาได้พิสูจน์ให้เห็นเรียบร้อยแล้ว

ดูแล้วจะแปลกใจว่าไฉนคนบางคนยังคงยืดหน้ายืดอกแสดงภูมิความรู้วิพากษ์วิจารณ์ผู้อื่นได้จนถึงปัจจุบัน หรือว่าเขาได้ move on ก่อนคนอื่นไปแต่แรกแล้วกระมัง.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'ทวี' พร้อมให้ตรวจสอบ ลั่น! 'อะไรที่กฎหมายไม่เขียนให้เราทำได้เราก็จะไม่ทำ'

ที่ทำเนียบรัฐบาล พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว. ยุติธรรม กล่าวถึงกรณีกรณีที่ถูก นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ประธานพรรคไทยภักดี ร้

'อนุทิน' การันตี ภท. ไม่ปรับ ครม. ชี้ 8 รมต. ทำงานคืบหน้า

'อนุทิน' ย้ำรัฐมนตรีภูมิใจไทย 8 คน ไม่มีขยับ ชี้ทุกคนทำงานเต็มที่ผลักดันนโยบายคืบหน้าตลอด นายกฯ ยังไม่ส่งสัญญาณปรับ ครม. พร้อมอุ้ม 'เกรียง' มอบ พช. ดูแลเพิ่มอีกกรม