'ดร.นิว' อัปเดต ผู้ตรวจการแผ่นดิน รับพิจารณาคำร้องเรียน กสทช.ขัดมาตรา 60 แล้ว

'ดร.นิว' อัปเดต สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินได้รับพิจารณาคำร้องเรียน กสทช.กระทำการขัดมาตรา 60 ประมูลสิทธิการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียม เอื้อประโยชน์แก่บริษัทเอกชน ไม่รักษาสมบัติของชาติ

18 ม.ค.2566 - ดร.ศุภณัฐ อภิญญาณ หรือ ดร.นิว นักวิจัยภายใต้สถาบันวิจัย MAST Center และ คณะวิศวกรรมชีวการแพทย์ University of Arkansas ประเทศสหรัฐอเมริกา โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่า

อัปเดตนะครับ วันนี้ 18 มกราคม สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินได้รับพิจารณาคำร้องเรียน กสทช. และอยู่ระหว่างดำเนินการเป็นที่เรียบร้อยแล้วครับ หลังจากที่เพิ่งยื่นเรื่องไปเมื่อวาน 17 มกราคม จึงขอประกาศให้ทราบโดยทั่วกัน เพื่อที่จะได้ร่วมกันติดตามและรักษาผลประโยชน์สูงสุดของปวงชนชาวไทยอย่างถึงที่สุดครับ #ทวงคืนดาวเทียม
__________
เรียน สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน

ข้าพเจ้านายศุภณัฐ อภิญญาณ ขอร้องเรียนสำนักงานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เนื่องด้วย กสทช. กระทำการขัดต่อมาตรา 60 ตามที่ได้ปรากฏในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย โดย กสทช. ได้ทำการประมูลสิทธิการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมในวันที่ 15 มกราคม 2566 ที่เอื้อประโยชน์แก่บริษัทเอกชนอย่างชัดเจน ซึ่งไม่ได้เป็นการรักษาสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมอันเป็นสมบัติของชาติ เพื่อใช้ให้เกิดประโยชน์แก่ประเทศชาติและประชาชนอย่างแท้จริง

1. การกระทำของ กสทช. ไม่ได้เป็นไปเพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชน

1.1 การเปลี่ยนแปลงจากระบบสัมปทานดาวเทียมมาสู่ระบบใบอนุญาตสิทธิการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียม มีแต่จะเอื้อประโยชน์ให้กับบริษัทเอกชนเพิ่มมากขึ้น เพราะทรัพย์สินที่เกิดขึ้นในกิจการดาวเทียมจะตกเป็นกรรมสิทธิ์ของบริษัทเอกชนทั้งหมด รวมถึงยังส่งผลให้บริษัทเอกชนผูกขาดการเป็นเจ้าของในสิทธิการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมที่เป็นสมบัติของชาติ ตลอดจนสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างอิสระเสรี โดยที่ไม่ได้ก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศชาติและประชาชนแต่อย่างใด

1.2 เมื่อประเมินรายได้ขั้นต่ำของดาวเทียมดวงใหม่ที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้น ซึ่งจะมาแทนที่ดาวเทียมไทยคม 4 (IPSTAR-1) ในวงโคจร 119.5E จากข้อมูลรายได้ของดาวเทียมไทยคม 4 ซึ่งเคยปรากฏในสื่อต่างชาติจำนวน 100 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี ผนวกกับอายุการใช้งานของดาวเทียมดวงใหม่ 15 ปี จะเป็นรายได้ 1,500 ล้านเหรียญสหรัฐ (อัตราแลกเปลี่ยน 1 เหรียญสหรัฐเท่ากับ 33 บาท) ก็จะเป็นเงินไทยราว 4.95 หมื่นล้านบาท จึงเห็นได้อย่างชัดเจนว่าดาวเทียมเพียงแค่ดวงเดียวในวงโคจรที่สำคัญอย่าง 119.5E ยังสามารถสร้างรายได้ในขั้นต่ำๆ ถึงหลายหมื่นล้านบาท โดยที่ยังไม่ได้ประเมินวงโคจร 120E ร่วมด้วย แต่วงโคจรสำคัญสองวงนี้ กลับถูกจับมาประมูลเป็นชุดเดียวกัน ในราคาประมูลเพียงแค่ 417 ล้านบาทเท่านั้น

1.3 หาก กสทช. มีความซื่อสัตย์สุจริตในการปฏิบัติหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดของประชาชนอย่างแท้จริง กสทช. ต้องปฏิบัติตามแนวทางใดแนวทางหนึ่ง
- แนวทางแรก ให้รัฐดำเนินการกิจการดาวเทียมเองทั้งหมด แต่ทว่า กสทช. ไม่ได้มีความจริงใจในการให้บริษัทเอกชนทำการถ่ายโอนเทคโนโลยีตลอดจนองค์ความรู้ที่สำคัญทั้งหมด เพื่อเปิดโอกาสให้บริษัทโทรคมนาคมแห่งชาติสามารถดำเนินการได้เอง เช่นนี้ รายได้สูงสุดก็จะเป็นของประชาชน
- แนวทางที่สอง ให้รัฐรักษาสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมและลงทุนดาวเทียมเอง โดยที่รัฐยังทำการว่าจ้างบริษัทเอกชนในการดำเนินการควบคุมดาวเทียมต่อไป เช่นนี้ รายได้จำนวนมหาศาลเกือบทั้งหมดก็ยังคงเป็นของประชาชน
- แนวทางที่สาม จัดตั้งเป็นรัฐวิสาหกิจให้รัฐดำเนินการร่วมกับบริษัทเอกชน โดยที่รัฐถือครองสัดส่วนความเป็นเจ้าของไว้เกินกึ่งหนึ่ง เช่นนี้ รายได้จำนวนมหาศาลมากกว่ากึ่งหนึ่งก็ยังคงเป็นของประชาชน

2. การกระทำของ กสทช. จงใจเอื้อประโยชน์ต่อบริษัทเอกชน
ทั้งการเปลี่ยนแปลงมาสู่ระบบใบอนุญาต ตลอดจนการเร่งรัดให้เกิดการประมูลที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญขึ้นโดยไม่ฟังเสียงอันแท้จริงของประชาชน ล้วนแต่บ่งชี้ถึงการเอื้อประโยชน์ให้กับบริษัทเอกชน เป็นไปเพื่อรองรับดาวเทียมไทยคม 9 ที่บริษัทเอกชนได้ตระเตรียมไว้แล้ว ซึ่งพบการเผยแพร่ข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับการยิงดาวเทียมไทยคม 9 ขึ้นสู่วงโคจรภายใต้ชื่อ TCSTAR-1 โดยได้ระบุไว้คร่าวๆ ว่าจะมีการยิงขึ้นสู่วงโคจรในเดือนธันวาคม 2566 ทั้งนี้ ข้อมูลอีกทางหนึ่งยังยืนยันด้วยว่าดาวเทียมไทยคม 9 เป็นดาวเทียมบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ที่จะมาแทนที่ดาวเทียมไทยคม 4 สุดท้าย ดูเหมือนว่า กสทช. ก็แค่แอบอ้างการประมูลเพียงเพื่อประเคนวงโคจรสำคัญโดยเฉพาะอย่างยิ่งชุดที่ 3 (119.5E กับ 120E) ที่รองรับดาวเทียมไทยคม 9 ให้กับบริษัทเอกชนในราคาถูกเท่านั้น ซึ่งถือเป็นการแสวงหาประโยชน์จากประชาชนผู้บริโภคโดยไม่เป็นธรรม

ข้าพเจ้านายศุภณัฐ อภิญญาณ จึงเรียนมาเพื่อให้ สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินระงับผลการประมูลของ กสทช. ที่เกิดขึ้นในวันที่ 15 มกราคม 2566 โดยเร่งด่วนที่สุด เพื่อมิให้เกิดความเสียหายขึ้นต่อรัฐและรักษาประโยชน์สูงสุดของประชาชนตามมาตรา 60 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ตลอดจนทำการยกเลิกระบบใบอนุญาตที่ไม่เป็นธรรมต่อประชาชน เพื่อนำไปสู่ทางออกแนวทางใดแนวทางหนึ่งตามที่ได้นำเสนอในข้างต้น ซึ่งจะเป็นไปเพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชนอย่างแท้จริง
ด้วยความเคารพอย่างสูง
ศุภณัฐ อภิญญาณ
17 มกราคม พ.ศ. 2566
#ประชาธิปไตยTheseries by ดร.ศุภณัฐ

 

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

รัฐบาลชวน 'ครู-นร.' ลงทะเบียน 'ซิมพร้อมเรียน' ใช้เน็ตฟรี

นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาล โดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ได้ร่วมมือกับคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)

ทลาย 'แก๊งคอลเซ็นเตอร์' ใช้เบอร์ 02 ลวงเหยื่อกว่าหมื่นเลขหมาย

พาณิชย์” ร่วม 3 หน่วยงาน แถลงข่าวจับกุมแก๊งคอลเซนเตอร์ ใช้นิติบุคคลบังหน้า หลอกลวงประชาชน หลัง กสทช. พบความผิดปกติใช้เบอร์โทร 02 นับหมื่นเลขหมาย โทรหาเหยื่อ ตำรวจพบมีนิติบุคคล 3 ราย เข้าไปเกี่ยวข้อง และกรมพัฒนาธุรกิจการค้าให้ข้อมูลนิติบุคคลเชิงลึก เผยยังได้วาง 7 แนวทาง ป้องกันการนำบริษัทไปใช้หลอกลวงเกิดขึ้นซ้ำอีก

จี้รัฐบาลยื่นข้อเสนอให้กัมพูชายอมรับแผนที่ UNCLOS เพื่อยุติปัญหาพื้นที่ทับซ้อนโดยเร็ว

ดร.ศุภณัฐ อภิญญาณ หรือ ดร.นิว นักวิจัยภายใต้สถาบันวิจัย MAST Center และ คณะวิศวกรรมชีวการแพทย์ University of Arkansas ประเทศสหรัฐอเมริกา โพสต์เฟซบุ๊ก หัวข้อ แผนที่ UNCLOS ช่วยยุติพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา มีเนื้อหาดังนี้่

แก๊งคอลฯ ลูบคม ปธ.กมธ.ตำรวจ ลูกสาวถูกหลอกรีดเงิน 6 แสน จี้ ผบ.ตร-นายกฯ แก้ปัญหาด่วน

แก๊งคอลเซ็นเตอร์ ลูบคม 'ชัยชนะ' ปธ.กมธ.ตำรวจ โวยลูกสาวถูกหลอกรีดเงิน 6 แสน ประนามพฤติกรรมเลวทราม จี้ ผบ.ตร-นายกฯ แก้ปัญหา คอลเซ็นเตอร์ด่วน

แนะรบ.ไทยยึด 'UNCLOS' ไม่เสียเกาะกูดแถมได้พื้นที่ส่วนใหญ่ ถ้ายึด MOU 2544 เสียเปรียบ

ดร.ศุภณัฐ อภิญญาณ หรือ “ดร.นิว” นักวิจัยภายใต้สถาบันวิจัย MAST Center และ คณะวิศวกรรมชีวการแพทย์ University of Arkansas ประเทศสหรัฐอเมริกา โพสต์เฟซบุ๊กว่า UNCLOS ไม่เสียเกาะกูดแน่แถมได้พื้นที่ส่วนใหญ่