ประธานกกต. ยันไม่ยื่นศาลรธน.ตีความปมจำนวนราษฎรใช้คำนวณส.ส. ชง 3 รูปแบบค่าใช้จ่ายผู้สมัคร

ประธานกกต. ยันไม่ยื่นศาลรธน.ตีความ ปมจำนวนราษฎรใช้คำนวณจำนวนส.ส. และแบ่งเขตเลือกตั้ง ตามข้อเสนอ 'วิษณุ' อ้างยึดตามทะเบียนราษฎร ชง 3 รูปแบบค่าใช้จ่ายผู้สมัครส.สแบบแบ่งเขต- บัญชีรายชื่อ ให้พรรคการเมืองเลือก

8 ก.พ.2566 - ที่โรงแรมเซ็นทรา บาย เซ็นทารา ศูนย์ราชการฯ แจ้งวัฒนะ นายอิทธิพร บุญประคอง ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมหารือกับพรรคการเมืองเพื่อกำหนดจำนวนเงินค่าใช้จ่ายของผู้สมัครรับเลือกตั้งส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้งและแบบบัญชีรายชื่อ รวมทั้งหารือในเรื่องของการติดป้ายประกาศ ติดแผ่นป้ายเกี่ยวกับการหาเสียงเลือกตั้ง และวิธีการสรรหาผู้สมัครลงรับเลือกตั้งของพรรคการเมือง (ไพรมารีโหวต) เพื่อเตรียมความพร้อมการเลือกตั้งส.ส. ว่า ในส่วนของค่าใช้จ่ายของผู้สมัครลงรับเลือกตั้ง กกต.ได้กำหนดตุ๊กตาไว้ รวม 3 รูปแบบ รูปแบบแรกกกต.คิดเอง โดยคำนวณกับปัจจัย 7 ประการ ได้แก่ อัตราค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำ ดัชนีราคาผู้บริโภค น้ำมันดีเซล ราคาไม้อัดราคาไม้อัดขนาด 4X8 ฟุต หนา 4 มิลลิเมตร กระดาษโปสเตอร์ขนาด 15.5X21.5 (บาทต่อแผ่น) ค่าไวนิลขนาด 1X3 เมตร (บาทต่อผืน) และฟิวเจอร์บอร์ด 130 เซนติเมตร X 3 มิลลิเมตร (บาทต่อแผ่น) ซึ่งหากสภาอยู่ครบวาระ ผู้สมัครส.สแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง ใช้จ่ายได้คนละ 6.5 ล้านบาท และพรรคการเมืองใช้จ่ายได้ 152 ล้านบาท

ส่วนกรณีมีการยุบสภาผู้สมัครส.สแบบแบ่งเขตเลือกตั้งใช้จ่ายได้คนละ 1.74 ล้านบาท และพรรคการเมืองใช้จ่ายได้ 40.6 ล้านบาท รูปแบบที่ 2 เป็นการนำปัจจัย 7 ประการไปหารือกับ 3 หน่วยงานทางเศรษฐกิจ ได้แก่กระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย และกระทรวงพาณิชย์ ทำให้จำนวนค่าใช่จ่ายของผู้สมัครเพิ่มขึ้นกว่าที่กกต.ตั้งตุ๊กตาไว้ ส่วนรูปแบบที่ 3 เป็นข้อเสนอของ 3 หน่วยงาน ที่เห็นว่าควรคำนวณอัตราเงินเฟ้อรวมเข้าไปด้วย การเสนอทั้ง 3 รูปแบบได้มีการเสนอให้ผู้แทนพรรคการเมืองได้พิจารณาในที่ประชุมวันนี้ ซึ่งพรรคการเมืองได้แสดงความเห็นอย่างหลากหลาย มีทั้งที่เห็นว่าเหมาะสมแล้ว มากเกินไป หรือน้อยเกินไป โดยกกต.มีแบบสอบถามความเห็นให้พรรคการเมืองได้แสดงความเห็นว่าพึงพอใจรูปแบบใด จากนั้นทำสำนักงานกกต.ก็จะนำความเห็นมาประมวล และส่งให้ที่ประชุมกกต. พิจารณาว่าเท่าใดจึงจะเหมาะสมก่อนที่จะออกประกาศ

สำหรับการติดป้ายหาเสียงประเด็นที่พรรคการเมืองสอบถามคือต้องการทราบว่าสามารถติดป้ายไว้ที่ใดบ้าง ส่วนขนาดมีทั้งที่มองว่าที่กกต. กำหนดใหญ่หรือเล็กเกินไป แทนที่จะให้พรรคเป็นผู้ดำเนินการ กกต.ควรเป็นคนกำหนด และมีข้อเสนอในเรื่องของสถานที่ติดป้ายประกาศว่ากกต.ควรจะเป็นผู้กำหนด

นายอิทธิพร กล่าวถึงการแบ่งเขตเลือกตั้งส.ส. ที่มีการนำจำนวนราษฎรที่ไม่ได้มีสัญชาติไทยมาคำนวณจำนวนส.สและแบ่งเขตเลือกตั้ง ว่า ยืนยันว่ากกต.ปฏิบัติตามที่รัฐธรรมนูญมาตรา 86 บัญญัติไว้ ว่าให้ใช้จำนวนราษฎรทั้งประเทศตามหลักฐานการทะเบียนราษฎรที่ประกาศในปีสุดท้ายก่อนปีที่มีการเลือกตั้ง ซึ่งผู้อำนวยการทะเบียนกลางได้ประกาศจำนวนราษฎรทั่วราชอาณาจักร เมื่อวันที่ 23 ม.ค.2566 ว่ามีจำนวนเท่าใด โดยมีทั้งบุคคลที่มีสัญชาติไทยและไม่มีสัญชาติไทย ซึ่งถ้าพิจารณาถ้อยคำที่ใช้จะเห็นว่าให้เอาจำนวนราษฎร ทั่วราชอาณาจักรมาพิจารณา ซึ่งกกต.ได้ยึดหลักการนี้ในการแบ่งเขตมาโดยตลอด

เมื่อถามว่าเป็นห่วงว่าจะมีการยื่นร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญตีความคำว่าราษฎร แล้วจะมีผลต่อการแบ่งเขตเลือกตั้งหรือไม่ นายอิทธิพร ยืนยันว่า เราทำตามที่กฎหมายเขียนไว้ ว่าให้ใช้จำนวนราษฎรทั้งประเทศ เมื่อถามต่อว่านายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เห็นว่าควรยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความเพื่อเป็นบรรทัดฐาน นายอิทธิพล กล่าวว่า เราเห็นว่า สิ่งที่เราพิจารณาเป็นไปตามข้อกฎหมายแล้ว

เมื่อถามต่อว่า นั่นหมายความว่ากกต.จะไม่มีการยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญ ตามที่นายวิษณุ เสนอใช่หรือไม่นายอิทธิพร กล่าวว่า เวลานี้เราไม่ได้คิดอย่างนั้น

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับค่าใช้จ่ายของผู้สมัครส.สแบบแบ่งเขตและแบบบัญชีรายชื่อ ในรูปแบบที่ 2 ที่กกต.มีการนำปัจจัย 7 ประการ ในการคิดคำนวณไปหารือกับ 3 หน่วยงาน พบว่า มีการให้นำดัชนีราคาผู้บริโภค จากปีฐานคือปี 2562 มาคำนวณด้วยซึ่งก็จะทำให้กรณีครบวาระผู้สมัครส.สแบบแบ่งเขตใช้จ่ายได้คนละ 7 ล้านบาท แบบบัญชีรายชื่อ 163 ล้านบาท แต่ถ้ายุบสภาแบบแบ่งเขตใช้จ่ายได้คนละ 1.9 ล้านบาท และบัญชีรายชื่อใช้จ่ายได้ 44 ล้านบาท

ส่วนรูปแบบที่ 3 เป็นการคิดจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยตั้งแต่ปี 2562-2565 จะพบว่าในกรณีอยู่ครบวาระผู้สมัครแบบแบ่งเขต จะใช้ค่าใช้จ่ายได้ 6 ล้านบาท แบบบัญชีรายชื่อ 141 ล้านบาท และหากกรณียุบสภาแบบแบ่งเขตสามารถใช้ได้ 1.6 ล้านบาท แบบบัญชีรายชื่อใช้จ่ายได้ 38 ล้านบาท

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'อิทธิพร' ย้ำ กกต.ไม่มีอำนาจท้วงติงนโยบายแจกเงินดิจิทัล

'อิทธิพร' ตอบปม สว. ท้วง กกต. ไม่ทักท้วงเงินดิจิทัล เหตุ กม.ไม่ไห้อำนาจให้ความเห็น แต่กำกับรายละเอียด การใช้เงินพร้อมความคุ้มค่า

ประธาน กกต.ฟันธง 'ทักษิณ' ไปเพื่อไทยหรือเดินสายไม่ใช่การครอบงำ!

ประธาน กกต. ชี้ 'ทักษิณ' เข้าพรรคเพื่อไทย-เดินสาย ไม่ถือเป็นการครอบงำพรรคการเมือง ขออย่าคิดไปเอง ต้องดูข้อกฎหมาย และสิ่งที่ปฏิบัติจริง

กกต.ย้ำไม่ได้เร่งยุบก้าวไกลแต่ส่งเอกสารเพิ่มเติมให้ศาล รธน.แล้วตั้งแต่ 25 มี.ค.

กกต.แจง ส่งเอกสาร ยื่นยุบก้าวไกล เพิ่มเติมถึงศาลรัฐธรรมนูญเรียบร้อยแล้ว ส่วนคำร้องยุบภูมิใจไทยเป็นคนรับประเด็น