ตีแสกหน้า! นโยบายหาเสียงพรรคการเมือง บางเรื่องสร้างภาระงบประมาณ

นักวิชาการทีดีอาร์ไอ วิพากษ์-ตีแสกหน้า นโยบายหาเสียงพรรคการเมือง บางเรื่องสร้างภาระงบประมาณ หวั่นเกิดปัญหาระยะยาว  ชี้เลือกตั้งแข่งขันรุนแรง มีการซื้อตัว จี้แคนดิเดตนายกฯขึ้นเวทีดีเบตทุกคน

12 มี.ค.2566-นายนิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) หนึ่งในทีมนักวิชาการของทีดีอาร์ไอ ที่อยู่ระหว่างการติดตามการนำเสนอนโยบายของพรรคการเมืองต่างๆในการหาเสียงครั้งนี้เพื่อออกรายงานทางวิชาการของทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า การเลือกตั้งที่จะมีขึ้น ภาพรวมชัดเจนว่าพรรคการเมืองทุกพรรคต้องการเป็นรัฐบาล ซึ่งการเลือกตั้งครั้งนี้ดูแล้ว มีการแข่งขันที่ค่อนข้างรุนแรง โดยพรรคการเมืองขณะนี้มองแล้วคล้ายมีอยู่2 ขั้ว อาจจะเรียกว่าเป็นอนุรักษ์นิยมและขั้วที่ต้องการประชาธิปไตย เพราะฉะนั้นการแข่งขัน ก็เริ่มจากการกวาดต้อนนักการเมืองให้เข้ามาสังกัดในพรรคของตัวเอง ทุกวันนี้มีการแข่งขันที่รุนแรงมาก มีการซื้อตัวกันเกิดขึ้น นโยบายแข่งขันที่รุนแรงค่อนข้างมาก

“ผมหวังว่าเวลาที่มีการดีเบตนโยบายพรรคการเมือง สื่อจะตั้งคำถามสำคัญๆ ที่จะได้เห็นว่าแต่ละพรรคการเมืองคิดอย่างไร ประชาชนจะได้ตัดสินใจจากการดีเบตได้ การดีเบตเป็นเรื่องสำคัญ เรียกร้องว่า คนที่อาสาจะมาเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี จะต้องมาออกเวที ตอบคำถามสื่อให้ได้”

จากการเก็บข้อมูลเมื่อสิ้นเดือนมกราคมที่ผ่านมาแม้ว่าหลายพรรคการเมืองจะยังไม่มีการแถลงนโยบาย  โดยได้มีการเก็บข้อมูล 76 นโยบายจาก 8 พรรค พบว่าในจำนวน 50 นโยบาย ต้องใช้งบประมาณมหาศาล เรากำลังคำนวณดูว่า หากสมมุติว่ามีพรรคการเมืองเช่น พรรค ก. พรรค ข. พรรค ค. พรรค ง. ร่วมกันเป็นรัฐบาลแล้ว จะต้องใช้เงินงบประมาณเท่าไหร่ แต่เข้าใจว่าต้องใช้งบประมาณหลายแสนล้านบาท เยอะมาก และจะเกินกำลังของวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีซึ่งมีแค่ 3 ล้านล้านบาท

หากยกตัวอย่างเช่นนโยบายที่จะให้เงินกับผู้สูงอายุหรือเบี้ยคนชรา ปัจจุบันใช้เงินอยู่ประมาณ 90,000 ล้านบาท หากทำตามนโยบายที่บางพรรคการเมืองได้หาเสียง จะต้องใช้วงเงินเพิ่มขึ้นถึงเกือบ 400,000 ล้านบาท จะทำให้เห็นว่าจากนโยบายดังกล่าวนี้กำลังความสามารถของบประมาณรายจ่ายประจำปีที่เป็นงบหลักจะไม่เพียงพอ จะเป็นภาระทำให้จะต้องมีการกู้เงิน ต้องใช้เงินจากสถาบันการเงินของรัฐแน่นอน หรือไม่ก็ต้องกู้เงิน เพราะไม่มีใครบอกเลยว่า จะให้มีการขึ้นภาษี เมื่อกู้เงินแล้วแน่นอนจะกลายเป็นภาระของลูกหลานในอนาคต

“พูดง่ายๆ คุณกำลังหาเสียงวันนี้ โดยนำเงินในวันหน้าที่ลูกหลานของเรา จะต้องทำมาหากิน มาใช้ในการหาเสียงเพื่อจะได้เป็นรัฐบาล อันนี้คือปัญหาที่น่ากลัวโดยที่พบว่ายังไม่ได้ระบุให้ชัดเจนว่าแล้วจะหาเงินจากที่ไหนมาทำนโยบายต่างๆ เหล่านี้ จะเพียงพอหรือไม่โดยไม่สร้างความเดือดร้อน”

เมื่อถามถึงกรณีพรรคการเมืองหาเสียงเรื่องนโยบายผู้สูงอายุเช่น เงินบำนาญผู้สูงอายุเดือนละสามพันบาท คิดว่าทำได้หรือไม่ นายนิพนธ์กล่าวว่า หากเราดูนโยบายดังกล่าวเพียงนโยบายเดียว โดยไม่ดูนโยบายอื่น ก็อาจมีงบประมาณไปทำได้ แต่คุณไม่ได้หาเสียงด้วยนโยบายดังกล่าวเพียงนโยบายเดียว แล้วเวลามาเป็นรัฐบาล ก็ไม่ได้เป็นพรรคเดียวที่ตั้งรัฐบาลแต่เป็นรัฐบาลผสม ที่ทำให้ต้องนำนโยบายของทุกพรรคการเมืองร่วมรัฐบาลมารวมกัน ที่ต่างคนต่างก็ใช้เงินงบประมาณในการทำ แล้วจะต้องใช้งบประมาณเท่าใด อันนี้คือปัญหายกตัวอย่างก็ได้ ในรัฐบาลปัจจุบันที่เป็นรัฐบาลผสม มีพรรคพลังประชารัฐ ประชาธิปัตย์ ร่วมเป็นรัฐบาล

“ทางพรรคประชาธิปัตย์บอกว่าหาเสียงเข้ามาได้ด้วยนโยบายประกันรายได้ให้เกษตรกร พลังประชารัฐบอกว่าหาเสียงมาได้ด้วยนโยบายช่วยเหลือต้นทุนไร่ละหนึ่งพันบาท ผลก็เลยให้ทำทั้งสองนโยบายที่ซ้ำซ้อนกัน ทั้งที่เป็นเรื่องเดียวกัน แต่ซ้ำซ้อนกัน แต่ต่างก็บอกว่าเป็นเรื่องที่พรรคตัวเองหาเสียงเข้ามา เรื่องแบบนี้จริงๆ ไม่ควรจะเกิด ที่ผมเชื่อได้ว่าในระบบปัจจุบันมันจะเกิด อันนี้คือปัญหา ประเด็นคือว่าจะทำได้หรือทำไม่ได้ แต่ประเด็นคือเมื่อทำแล้วมันสร้างความเสียหายแค่ไหน”

นักวิชาการจากทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า เมื่อไปพิจารณาจาก กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง มาตรา 57 ที่เขียนไว้ว่า หากพรรคการเมืองจะประกาศนโยบายหาเสียง จะต้องมีเงื่อนไข คือต้องบอกว่าแหล่งเงินที่จะนำมาใช้ทำจะมาจากไหน และต้องไม่สร้างความเสียหาย แต่ว่าบทบังคับของกฎหมายเหมือนเสือกระดาษ เพราะแค่ปรับ แล้วไม่ได้ไปตามว่า พรรคการเมืองที่หาเสียงไว้เมื่อเข้าไปเป็นรัฐบาลแล้วทำได้ตามที่โฆษณาหาเสียงไว้หรือไม่ และไม่ได้สร้างความเสียหายจริงหรือไม่ กฎหมายไม่ได้มีหมวดบังคับไปถึงจุดดังกล่าว ก็ควรมีการแก้ไขกฎหมายตรงนี้ เพราะพรรคการเมืองจะเข้ามาตัดสินอนาคตของประเทศ เรื่องดังกล่าวคือความรับผิดชอบเบื้องต้นที่พรรคการเมืองจะต้องทำ คือเวลาที่พูดแล้วไม่ใช่แค่ทำจริงได้แต่ทำแล้วต้องเป็นประโยชน์ ไม่สร้างความเสียหายให้กับประเทศ

ถามถึงกรณีพรรคการเมืองชูเรื่องบัตรสวัสดิการต่างๆ เช่น จะให้เงินเดือนละเจ็ดร้อยบาท เป็นเรื่องที่ทำได้หรือไม่ นายนิพนธ์กล่าวว่าก็เช่นเดียวกัน เรื่องนี้ไม่ใช่ว่าทำได้หรือทำไม่ได้ แต่อยู่ที่ชุดนโยบาย อย่างเรื่องบัตรสวัสดิการ เรามีสวัสดิการคนชรา และยังมีสวัสดิการเรียนหนังสือ สวัสดิการเรื่องเด็ก เรามีสวัสดิการเยอะไปหมด สิ่งสำคัญคือจะต้องจัดลำดับความสำคัญของสวัสดิการ-บัตรสวัสดิการเหล่านี้ ว่ากลุ่มไหนสำคัญที่สุดแล้วจะนำเงินจากที่ไหนมาใช้ เช่นภาษี VAT ตอนนี้เก็บ 7 เปอร์เซ็นต์ หากจะขึ้นอีก 3 เปอร์เซ็นต์ เพื่อนำมาใช้หรือไม่ ขอให้ช่วยบอกประชาชนด้วย จะนำเงินจากตรงไหนมาใช้ แล้วใช้ในส่วนไหนก่อน เคยบอกแล้วว่า การหาเสียงเป็นเรื่องง่าย แต่การทำชุดนโยบายที่ทำให้ประชาชน มีความหวังมันยาก แต่พรรคการเมืองควรจะทำ  นอกจากนี้ ยังมีเรื่องสำคัญอีกเรื่องคือ ยังไม่พบว่าจะมีพรรคการเมืองพรรคใดกล้าพูดเลยว่า จะขึ้นภาษีหรือไม่ หากไม่กู้เงิน เพราะการกู้เงินคือการโยนภาระให้ลูกหลาน แต่การขึ้นภาษี คือการโยนภาระให้รุ่นปัจจุบัน แต่ทำไมพรรคการเมืองไม่กล้าพูด

ถามต่อไปว่ากรณีมีบางพรรคการเมือง หาเสียงไว้ว่าจะให้มีค่าจ้างขั้นต่ำวันละไม่ต่ำกว่า  600 บาท เงินเดือนปริญญาตรี 25,000 บาท โดยมีเงื่อนไขว่าเศรษฐกิจโตปีละ 5% มองอย่างไร นายนิพนธ์ นักวิชาการจากทีดีอาร์ไอ ตอบว่า เข้าใจว่าเป็นการส่งสัญญาณที่บางพรรคบอกว่าจะขึ้นทันที แต่บางพรรคบอกว่ายังไม่ขึ้นแต่ผมก็คิดว่า อย่าไปวางเงื่อนไข การไปวางเงื่อนไขว่า เศรษฐกิจต้องโตปีละกี่กี่เปอร์เซ็นต์

“ โดยเงื่อนไขที่บอกว่า เศรษฐกิจต้องโตที่ปีละ 5% เป็นเรื่องที่ลำบากมาก เนื่องจากประเทศไทยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ถามว่า โตถึง 5% หรือไม่ เพราะฉะนั้นพูดแบบนี้แสดงว่าจะไม่ทำ จึงไม่ควรวางเงื่อนไขแบบนั้น แต่ต้องกลับไปกำหนดเป็นชุดนโยบายว่า จะส่งสัญญาณ ว่าจะค่อยๆปรับขึ้นและประเทศไทยค่าแรงขั้นต่ำจะต้องสูงขึ้น ลดการใช้แรงงานต่างด้าวแต่ต้องเพิ่มทักษะของคน สิ่งที่ดีที่สุดคือ การเพิ่มทักษะของคนให้สูงขึ้นแล้วค่าจางก็จะสูงกว่าค่าจ้างขั้นต่ำแต่เรายังไม่มีนโยบายดังกล่าว คือนโยบายให้เบ็ดตกปลาไม่ใช่นโยบายให้เปล่า”

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'แม้ว' หักหลังเสื้อแดง ฟันธงเลือกตั้ง 'เพื่อไทย' แพ้ 'ก้าวไกล'

ความพยายามของคุณทักษิณ ชินวัตร ที่ออกมาปฏิเสธภาพลักษณ์ของพรรคเพื่อไทยว่า ไม่ใช่พรรคอนุรักษ์นิยมใหม่ แต่เป็นพรรครีฟอร์มมาจากพรรคไทยรักไทย และพรรคพลัง

วุฒิสภา นัดถกรายงานเสนอ กกต. แก้กฎหมายเลือกตั้ง-พรรค ใช้โซเชียลหาเสียง

นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา ได้นัดประชุมในวันที่ 9 เม.ย. โดยมีวาระพิจารณาที่น่าสนใจ คือ การพิจารณารายงานของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภา ที่มีนายเสรี สุวรรณภานนท์ สว.

‘เศรษฐา’ โอ่ 3 ปีครึ่ง นำความเป็นอยู่ที่ดีให้ ปชช. ฉุด ‘พท.’ ชนะเลือกตั้งครั้งหน้า

นายกฯ โอ่ทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชนดีขึ้น และหวังว่าผลที่จะตามมาคือ ทำให้พรรคเพื่อไทยชนะการเลือกตั้ง

ดร.เสรี บอก 'สลิ่ม' อย่าเพิ่งดีใจว่าก้าวไกลจะโดนยุบพรรค

ดร.เสรี วงษ์มณฑา นักวิชาการด้านการตลาดและการสื่อสาร โพสต์เฟซบุ๊กว่า "สลิ่มอย่าเพิ่งดีใจไปว่าพรรคก้าวไกลจะโดนยุบพรรค เพราะเขา