'คำนูณ' เปลือยพรรคก้าวไกลล่อนจ้อนปม 112

ต้องอ่าน! คำนูณกางเนื้อหาแก้ 112 ของพรรคก้าวไกลแบบชัดๆ พร้อมวิเคราะห์ทุกเม็ด ชี้ชัดเหมือนเปิดประตูหลังบ้านเพื่อหวังผลไปเรื่องใหญ่ รับการบังคับใช้มีปัญหาจริงแต่สามารถแก้ไขด้วยวิธีการอื่น

28 มิ.ย.2566 - นายคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) โพสต์เฟซบุ๊กในรูปบทความในหัวข้อ “แก้ 112 ลดการคุ้มครองพระมหากษัตริย์ ย้ายหมวด-ลดโทษ-เพิ่มเหตุเว้นผิด/เว้นโทษ-ยอมความได้-จำกัดผู้ร้องทุกข์ !” ระบุว่า “มีข้อมูลมีหลายฝ่ายที่ยังเข้าใจผิด เพราะการแก้ไขคือการแก้ไข ไม่ใช่การยกเลิก เท่าที่ได้คุยกับส.ว. ทำให้เขาเข้าใจมากขึ้น การรักษาการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ต้องปรับเปลี่ยนให้เหมาะกับประเทศไทยที่กำลังเปลี่ยนผ่าน” นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ / 27 มิถุนายน 2566

เมื่อท่านแคนดิเดทนายกรัฐมนตรีว่ามาอย่างนี้ ก็ขอชวนเชิญมาดูข้อมูลช้า ๆ ชัด ๆ กันอีกครั้งให้สิ้นกระแสความกันไปว่าร่างกฎหมายแก้ไข 112 ภายใต้ฉลาก ‘(แค่)แก้ไข ไม่ใช่ยกเลิก’ นั้น - เนื้อในคืออะไร ?

ปรับเปลี่ยนอะไร ?

ภาพรวมคือการลดระดับการคุ้มครองสถานะอันเป็นที่เคารพสักการะผู้ใดจะละเมิดมิได้ขององค์พระมหากษัตริย์ลงมาเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 90 ปีนับตั้งแต่วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับถวรฉบับแรกเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2475 จากการคุ้มครองเด็ดขาด เป็นการคุ้มครองอย่างมีเงื่อนไข โดยมีทั้งบทยกเว้นความผิด บทยกเว้นโทษ และบทจำกัดผู้ร้องทุกข์

เบื้องต้นเลยคืออาจขัดรัฐธรรมนูญ ฝ่ายบริหารของสภาผู้แทนราษฎรชุดที่แล้ววินิจฉัยตั้งแต่ปี 2564 ว่าอาจขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 6 จึงไม่บรรจุเข้าระเบียบวาระและส่งคืนผู้เสนอ

รัฐธรรมนูญมาตรา 6 บัญญัติไว้ว่า…“องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใด ๆ มิได้”

ข้อเสนอปรับเปลี่ยนของพรรคก้าวไกลจะ ‘ขัดรัฐธรรมนูญ’ หรือไม่ ความเห็นของแต่ละคนแตกต่างกันได้ ตราบใดที่องค์กรที่มีหน้าที่วินิจฉัยชี้ขาดตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดให้เป็นที่สุดและมีผลผูกพันทุกองค์กรยังไม่ได้วินิจฉัยชี้ขาด จึงใช้คำว่า ‘อาจ’ นำหน้าไว้

แต่เรื่องปรับเปลี่ยนโดย ‘ลดระดับการคุ้มครองพระมหากษัตริย์’ นั้นปรากฎชัดเจนในร่างกฎหมายยกเลิกมาตรา 112 แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 135/5 - 135/9 ตามปรากฎอยู่ในภาพประกอบหน้า 1 และ 2 พอสรุปเป็นคำสำคัญได้ดังนี้

“ย้ายหมวด - ลดโทษ - เพิ่มเหตุยกเว้นความผิด/ไม่ต้องรับโทษ - ยอมความได้ - ให้สำนักพระราชวังร้องแทน” ขยายความได้เป็น 6 ประการดังนี้

1. นำออกจากหมวดความผิดต่อความมั่นคงของรัฐ

2. ลดโทษจำคุกลงต่ำเหลือไม่เกิน 1 ปี

3. ถ้าทำโดยเจตนาบริสุทธิ์พื่อประโยชน์สาธารณะอย่างใดอย่างหนึ่งใน 3 ประการ ไม่ถือว่าเป็นความผิด

4. ถ้าพิสูจน์ได้ว่าเป็นความจริง ไม่ต้องรับโทษ

5. ให้เป็นความผิดที่ยอมความได้

6. จำกัดผู้แจ้งความดำเนินคดี

การนำมาตรา 112 ออกจากหมวดความผิดต่อความมั่นคงของรัฐในประมวลกฎหมายอาญาเป็นประเด็นหลักที่ต้องถกกันเป็นเบื้องต้น เพราะนี่คือกฎหมายลำดับรองที่ทำให้รัฐธรรมนูญมาตรา 6 มีผลเป็นจริงในทางปฏิบัติ

นี่คือกระดุมเม็ดแรกที่ผู้ร่างจงใจกลัดเสียใหม่ให้ผิดไปจากหลักเดิม ทำให้เม็ดต่อ ๆ มาผิดตาม เพราะเมื่อลดสถานะขององค์พระมหากษัตริย์ลงมาเปรียบเทียบกับบุคคลธรรมดาเสียแล้ว ก็ไปนำ ‘หลักการทั่วไป’ ของโทษหมิ่นประมาทบุคคลธรรมดาในประมวลกฎหมายอาญาว่าด้วยเหตุไม่เป็นความผิดและไม่ต้องรับโทษมาใช้กับพระองค์ และกำหนดหลักการเพิ่มให้สำนักพระราชวังเป็นผู้ร้องทุกข์แทน

การกำหนดให้สำนักพระราชวังเป็นผู้ร้องทุกข์แทน และให้เป็นผู้เสียหาย ในทางปฏิบัติก็เสมือนกับการนำองค์พระมหากษัตริย์ลงมาเป็นคู่กรณีโดยตรงกับประชาชนอยู่ดี เพราะสำนักพระราชวังเป็นส่วนราชการในพระองค์ การจัดระเบียบและการบริหารเป็นไปตามพระราชอัธยาศัย ตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการในพระองค์ พ.ศ. 2560 และพระราชกฤษฎีกาจัดระเบียบราชการและการบริหารงานบุคคลของราชการในพระองค์ พ.ศ. 2560

และในอีกมุมมองหนึ่ง ยังเป็นเสมือนการตัดสิทธิของประชาชนที่จะทำหน้าที่พิทักษ์ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ตามรัฐธรรมนูญหมวดหน้าที่ของปวงชนชาวไทยมาตรา 50 (1) เพราะเมื่อพบเห็นการกระทำที่เป็นความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ก็ไม่อาจร้องทุกข์ได้โดยตรง

บทยกเว้นความผิด 3 ประการที่ให้ผู้ถูกกล่าวหาสามารถยกขึ้นกล่าวอ้างได้นั้นก็กว้างขวางมาก

1. เพื่อรักษาไว้ซึ่งการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

2. เพื่อธำรงไว้ซึ่งรัฐธรรมนูญ

3. เพื่อประโยชน์สาธารณะ
หมายความว่าอะไรหรือ ?

หมิ่นประมาท/ดูหมิ่น/อาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ได้ ไม่ถือเป็นความผิด หากกระทำโดยสุจริตเพื่อรักษาไว้ซึ่งการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ?

หมิ่นประมาท/ดูหมิ่น/อาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ได้ ไม่ถือเป็นความผิด หากกระทำโดยสุจริตเพื่อธำรงไว้ซึ่งรัฐธรรมนูญ ?

หมิ่นประมาท/ดูหมิ่น/อาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ได้ ไม่ถือเป็นความผิด หากกระทำโดยสุจริตเพื่อประโยชน์สาธารณะ ?

แล้วยังให้ผู้ถูกกล่าวหาพิสูจน์ได้ว่าการหมิ่นประมาท/ดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ตามที่ถูกกล่าวหานั้นเป็นความจริง เพื่อไม่ต้องรับโทษ โดยมีบทยกเว้นห้ามพิสูจน์เฉพาะบางเรื่อง และให้เป็นความผิดที่ยอมความได้

หากการแก้ไขสำเร็จ บทบัญญัติคุ้มครองการดำรงอยู่ในสถานะอันเป็นที่เคารพสักการะผู้ใดจะละเมิดมิได้ขององค์พระมหากษัตริย์ตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 6 ถึงจะยังคงมีอยู่แต่ก็จะลดระดับลงมามาก

ผมจึงพูดในอีกมุมหนึ่งไปว่า…เป็นเสมือนการแก้ไขบทบัญญัติหลักมาตราแรกหมวดพระมหากษัตริย์ของรัฐธรรมนูญ 2560 ทางประตูหลัง ! ซึ่งหากบทบัญญัติหลักมาตราแรกของรัฐธรรมนูญหมวดพระมหากษัตริย์สั่นคลอน ถูกลดระดับ ก็มีคำถามตามมาอีก 2 ประการ

หนึ่ง บทบัญญัติรัฐธรรมนูญหมวดพระมหากษัตริย์มาตราอื่น ๆ ก็สามารถเปลี่ยนแปลงแก้ไขได้ในโอกาสต่อไป ?

สอง บุคคลบางกลุ่มจะยิ่งเพิ่มข้อเรียกร้องให้รัฐบาลไทยให้สัตยาบันธรรมนูญกรุงโรมว่าด้วยศาลอาญาระหว่างประเทศ (Rome Statute of the International Criminal Court) ค.ศ. 2008 อันจะยิ่งส่งผลให้ลดระดับการคุ้มครองการดำรงอยู่ในสถานะอันเป็นที่เคารพสักการะผู้ใดจะละเมิดมิได้ผู้ใดจะฟัองร้องมิได้ขององค์พระมหากษัตริย์ลงไปอีก ? นี่หรือคือประเทศไทยที่กำลังเปลี่ยนผ่าน ?

สำหรับคนไทยโดยทั่วไป บทบัญญัติคุ้มครองการดำรงอยู่ในสถานะอันเป็นที่เคารพสักการะผู้ใดจะละเมิดมิได้ขององค์พระมหากษัตริย์ตามรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่แค่กฎหมายมาตราหนึ่งเท่านั้น หากแต่เป็น ‘มรดก’ ของวัฒนธรรมและจริยธรรมไทยที่เป็นเอกลักษณ์ และมีลักษณะ 2 ด้าน ด้านหนึ่งคือการมีสถาบันพระมหากษัตริย์ที่มีประวัติศาสตร์อันยาวนาน มีสถานะสูงส่งทั้งทางศาสนาและสังคม อีกด้านหนึ่งคือการที่องค์พระมหากษัตริย์ไทยในอดีตจวบจนปัจจุบันทรงมีความใกล้ชิดกับประชาชนเป็นที่เคารพรักสักการะของประชาชนอย่างยิ่ง ด้วยพระราชกรณียกิจนานัปการที่ทรงประกอบเพื่อประชาชน และนำพาประเทศออกจากวิกฤติใหญ่ครั้งแล้วครั้งเล่าในแต่ละยุคสมัย ทําให้เมื่อมีการวิพากษ์วิจารณ์พระมหากษัตริย์โดยไม่เป็นธรรม คนไทยส่วนใหญ่ที่มีชีวิตมายืนยาวพอได้ประจักษ์ในความจริงแก่สายตา จึงรู้สึกยอมรับไม่ได้ และต้องการรักษา ‘มรดก’ นี้ไว้ให้เป็นรากฐานแห่งความเจริญรุ่งเรืองของสังคมไทย

บทบัญญัติคุ้มครองการดำรงอยู่ในสถานะอันเป็นที่เคารพสักการะผู้ใดจะละเมิดมิได้ขององค์พระมหากษัตริย์ ได้ปรากฎอยู่ในรัฐธรรมนูญไทยทุกฉบับตั้งแต่รัฐธรรมนูญฉบับถาวรฉบับแรก 10 ธันวาคม 2475 นับจนถึงวันนี้ก็กว่า 90 ปีมาแล้ว มีขึ้นเพื่อให้สอดรับกับลักษณะพิเศษของการปกครองระบอบประชาธิปไตยของประเทศไทย
ทำไมจะต้องปรับเปลี่ยนหลักการนี้ ? ปรับเปลี่ยนเพื่อให้ประเทศไทยเปลี่ยนผ่านไปเป็นอะไร ?

ไม่ว่าคำตอบจะเป็นอย่างไรก็ตาม ผมยังเชื่อโดยบริสุทธิ์ว่าบทบัญญัติคุ้มครองสถานะอันเป็นที่เคารพสักการะผู้ใดจะละเมิดมิได้ของพระมหากษัตริย์ไม่ใช่ประเด็นจำเป็นเร่งด่วนอันจะหลีกเลี่ยงมิได้จนจะตัองนำมาพิจารณาเพื่อหาข้อสรุปกันรัฐสภาในสถานการณ์ปัจจุบัน ตรงกันข้ามหากเร่งนำประเด็นที่มีความละเอียดอ่อนและเกี่ยวเนื่องโดยตรงกับสถาบันอันที่เคารพสักการะและเป็นมรดกทางวัฒนธรรมและจริยธรรมอันเป็นเอกลักษณ์ของสังคมไทยมาพิจารณาเพื่อหาข้อสรุปกันในรัฐสภาโดยไม่มีเหตุผลเพียงพอ อาจเป็นชนวนนำไปสู่ความขัดแย้งและวิกฤตใหญ่ได้

จริงอยู่ พวกเราต้องยอมรับว่าปัญหาที่เกิดขึ้นจากการบังคับใช้มาตรา 112 ในบางกรณีนั้นมีอยู่ ไม่ใช่ไม่มี
แต่ก็สามารถแก้ไขได้ด้วยมาตรการและกลไกของฝ่ายบริหารในชั้นสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และโดยการหารือร่วมกันกับองค์กรอัยการและฝ่ายตุลาการในประเด็นที่เกี่ยวข้อง โดยทุกวันนี้ก็ได้มีการดำเนินการกันอยู่

หรือถึงที่สุดแล้ว หากเห็นพ้องต้องกันว่าจะต้องมีการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายให้มีความรัดกุมยิ่งขึ้น ก็สามารถทำได้หลากหลายรูปแบบ โดยไม่เป็นการกระทบบทบัญญัติรัฐธรรมนูญว่าด้วยการคุ้มครองสถานะอันเป็นที่เคารพสักการะผู้ใดจะละเมิดมิได้ขององค์พระมหากษัตริย์

แต่อีกด้านหนึ่ง เราก็ต้องยอมรับเช่นกันว่าการกระทำความผิดตามมาตรา 112 โดยเจตนานั้นมีอยู่จริง มีไม่น้อย และมีอยู่อย่างเป็นระบบและเป็นกระบวนการอันสะท้อนจุดมุ่งหมายทางการเมืองเพื่อมุ่งเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองไปจากที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

ประเด็นของมาตรา 112 หาใช่มีแต่การใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือทำร้ายปรปักษ์ทางการเมืองทำร้ายเยาวชนของอำนาจเผด็จการตามที่บุคคลบางกลุ่มพยายามสร้างอุปาทานหมู่ให้เห็นเป็นเช่นนั้นไม่ จึงนำเสนอมาเพื่อวิญญูชนพึงพิจารณา

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'อานนท์' อ่วม! คุก 2 ปี 20 วัน รวม 3 คดีหมิ่นสถาบัน อยู่ยาว 10 ปี

ศาลอ่านคำพิพากษาในคดีหมายเลขดำที่ อ1676/2564 พนักงานอัยการ สำนักงานอาญากรุงเทพใต้ยื่นฟ้อง นายอานนท์ นำภา ทนายความเเกนนำนักเคลื่อนไหว

พนัส อดีตสว.-อดีตสสร. คัดเลือกสภาสูง 2567 ฝ่ายประชาธิปไตยมีสิทธิลุ้น

ความเคลื่อนไหวการได้มาซึ่ง"สมาชิกวุฒิสภา"(สว.) ชุดใหม่ ใกล้เข้ามาเรื่อยๆ ล่าสุดที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันอังคารที่ 23 เม.ย.ที่ผ่านมา ได้อนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. ....

เปิดระเบียบ กกต. ว่าด้วยการแนะนำตัวเลือกสมาชิกวุฒิสภา 2567

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเมื่อวานนี้ นายอิทธิพร บุญประคอง ประธาน​กรรม​การ​การเลือกตั้ง​ (กกต.)​ ได้ลงนามในระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้ง ว่าด้วยการแนะนำตัวในการเลือกสมาชิกวุฒิสภาพ.ศ.2567

ประธาน กมธ.พัฒนาสังคมฯ ย้ำจุดยืนไม่ไปดูงาน ตปท.

'ครูหยุย' ย้ำจุดยืน กมธ.การพัฒนาสังคมฯ ไม่ไปดูงาน ตปท. ชี้หากใครไปต้องตอบคำถามสังคมให้ได้ แนะกำหนดแนวทางให้ชัด เศรษฐกิจแย่ -แจกเงินหมื่น ไม่ให้ไปดูงานต่างประเทศ