'อ.ปริญญา' โต้แย้งคำพิพากษา ไม่ควรตัดสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง 'ช่อ' ตลอดชีวิต

'อ.ปริญญา'โต้แย้งคำพิพากษาตัดสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง'ช่อ'ชี้เป็นการตีความรัฐธรรมนูญของผู้มีอำนาจหน้าที่ ทั้งที่เป็นการกระทำที่เกิดขึ้นก่อน ไม่ใช่เกิดขึ้นหลังมาตรฐานจริยธรรมประกาศใช้ จึงไม่ควรตัดสิทธิตลอดชีวิต

22ก.ย.2566- ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊ก ระบุว่า

กรณีศาลฎีกาพิพากษา #ตัดสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ของคุณพรรณิการ์ วานิช #ตลอดชีวิต นั้น เป็นเรื่องที่เกินไปหรือไม่? และเป็นปัญหาที่เกิดจากรัฐธรรมนูญ 2560 หรือเป็นปัญหาการใช้การตีความรัฐธรรมนูญ? เพื่อตอบคำถามเหล่านี้ ผมจะขอแยกแยะประเด็นโดยจะกล่าวถึงเฉพาะประเด็นสำคัญที่สุด ดังต่อไปนี้ครับ

1. รัฐธรรมนูญฉบับต่างๆ ก่อนหน้ารัฐธรรมนูญ 2560 ล้วนแต่กำหนดให้การตัดสิทธิเลือกตั้ง หรือตัดสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง จะต้องเป็นเรื่อง #การฝ่าฝืนกฎหมาย และหากเป็นการฝ่าฝืนหรือกระทำผิดกฎหมายอาญาจนถูกศาลพิพากษาให้จำคุก จะต้องพ้นโทษมาแล้วเกิน 5 ปี จึงจะสมัครรับเลือกตั้งได้ ว่าง่ายๆ คือ #ต่อให้ทำผิดกฎหมายอาญาถึงขนาดติดคุก ก็ถูกตัดสิทธิสมัครรับเลือกตั้งต่อไปอีก 5 ปีหลังพ้นโทษเท่านั้น

แต่รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 235 ให้ตัดสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง #ตลอดชีวิต หากฝ่าฝืน #มาตรฐานทางจริยธรรม ปัญหาคือมาตรฐานจริยธรรมนี้ #มิใช่กฎหมาย ทำไมจึงมีโทษหรือมีผลของการฝ่าฝืนร้ายแรงถึงขนาดถูกตัดสิทธิตลอดชีวิตได้? ทั้งๆ ที่รัฐธรรมนูญก่อนหน้านี้ทำผิดกฎหมายอาญาจนติดคุกยังถูกตัดสิทธิต่ออีก 5 ปีเท่านั้น

2. แล้ว “มาตรฐานทางจริยธรรม” ที่ศาลฎีกาใช้ในการพิพากษาตัดสิทธิสมัครรับเลือกตั้งตลอดชีวิต มาจากไหน ใครเป็นคนเขียน? คำตอบคือ รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 219 บัญญัติให้ #ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระเป็นผู้กำหนด มาตรฐานทางจริยธรรมนี้จึงมิใช่กฎหมายดังที่ได้กล่าวข้างต้น มิใช่ทั้งกฎหมายที่มาจากฝ่ายนิติบัญญัติ และมิใช่กฎหมายลำดับรองที่มาจากฝ่ายบริหาร แต่เป็นสิ่งที่มาจากศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระที่มีที่มายึดโยงกับผู้ทำรัฐประหารในปี 2557 มาตรฐานทางจริยธรรมนี่จึงมีปัญหามาก และจึงเท่ากับเป็นเครื่องมืออีกอันหนึ่งที่ใช้ในการ #ควบคุมผู้ที่มาจากการเลือกตั้ง

3. การโพสต์ในเฟซบุคของพรรณิการ์ ผู้ถูกฟ้อง เป็นเรื่องความไม่เหมาะสมหรือเหมาะควรหรือไม่ แต่ #ยังไม่ใช่การกระทำที่ผิดกฎหมาย ศาลฎีกาเองก็วินิจฉัยว่า “ฟังไม่ได้ว่าเป็นการไม่ยึดมั่นและธำรงไว้ซึ่งการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” และที่สำคัญคือเป็นการโพสต์ #ก่อน ที่รัฐธรรมนูญ 2560 และมาตรฐานทางจริยธรรมจะประกาศใช้หลายปี จะเรียกว่าเป็นการกระทำที่ “ฝ่าฝืน” มาตรฐานทางจริยธรรมที่มา #ทีหลัง ได้อย่างไร

เรื่องนี้จึงถูกตั้งคำถามว่าเป็นการ #ใช้กฎหมายเป็นโทษย้อนหลังแก่บุคคล หรือไม่? ในประเด็นนี้ศาลท่านให้เหตุผลว่า แม้จะโพสต์มาก่อน แต่ผู้ถูกฟ้องยังปล่อยไว้ไม่ลบโพสต์ คนจึงยังเข้าถึงได้ จึงถือว่าถือเป็นการ #ละเว้น ไม่ปฏิบัติ และดังนั้น จึงเป็นการฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง ด้วยความเคารพ เหตุผลนี้จะรับฟังได้หากหลังประกาศใช้มาตรฐานทางจริยธรรมนี้แล้ว มีหน่วยงานที่รับผิดชอบหรือผู้มีอำนาจหน้าที่ได้ตักเตือนหรือแจ้งให้ลบแล้วผู้ถูกฟ้องยังไม่ยอมลบ จึงจะฟังได้ว่า “ฝ่าฝืน” เพราะการโพสต์ในในสื่อสังคมออนไลน์ที่ผ่านไปนานแล้ว คนโพสต์ก็มักจะลืมไปแล้วว่าเคยโพสต์อะไรไปบ้าง จึงไม่ควรถือโดยอัตโนมัติว่าเป็นการกระทำที่ต่อเนื่องมาตั้งแต่ตอนโพสต์

#สรุป ที่ศาลฎีกาตัดสิทธิสมัครรับเลือกตั้งตลอดชีวิต เพราะรัฐธรรมนูญมาตรา 235 กำหนดไว้เช่นนั้น ไม่ใช่ศาลกำหนดเองว่าให้สิทธิตลอดชีวิต แต่ทว่าเรื่องนี้ก็ไม่ใช่ปัญหาจากรัฐธรรมนูญ 2560 เท่านั้น หากเป็นเรื่องการใช้การตีความรัฐธรรมนูญของผู้มีอำนาจหน้าที่ด้วย เพราะการกระทำของผู้ถูกฟ้องเกิดขึ้นก่อน ไม่ใช่เกิดขึ้นหลังมาตรฐานจริยธรรมประกาศใช้ จึงสามารถถือว่าผู้ถูกฟ้องมิได้ฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรมที่มาในภายหลัง

ประเด็นสำคัญที่สุดของเรื่องนี้คือ #ความเป็นธรรม การกระทำที่เป็นเพียงเรื่องเหมาะควรหรือไม่ ไม่ใช่เรื่องการทำผิดกฎหมาย ทั้งยังเป็นการกระทำที่ทำมาก่อนมาตรฐานทางจริยธรรมจะประกาศใช้ ไม่ควรนำมาตัดสิทธิบุคคลถึงขนาดตัดสิทธิตลอดชีวิตเช่นนี้ครับ

 

pairs (kerning).

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'ช่อ' ฟาดกลับ กกต. เอาอำนาจอะไรมาห้ามรณรงค์ประชาชนสมัคร สว. บอกมาให้ชัดผิดระเบียบข้อไหน

นางสาวพรรณิการ์ วานิช อดีต สส.พรรคบัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ และโฆษกคณะก้าวหน้า กล่าวถึงกรณีที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ออกประกาศว่าไม่สามารถจูงใจหรือชี้ชวนบุคคลให้สมัครเป็น สว. ได้ ว่า เรื่องนี้ต้องแยกให้ชัดว่า กกต. กำลังทำอะไรอยู่กันแน่

'ดร.ปริญญา' เปิด 4 กรอบนโยบาย ชิงเก้าอี้อธิการบดีม.ธรรมศาสตร์

ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์ความในเฟซบุ๊ก เรื่อง ธรรมศาสตร์จะไปทางไหน และ ใครจะเป็นอธิการบดีคนต่อไป 2 มีเนื้อหาดังนี้