'รศ.หริรักษ์' เปิดข้อมูลอีกมุม ผลศึกษาโครงการแลนด์บริดจ์ของจุฬาฯ

25 ม.ค.2567 - รศ.หริรักษ์ สูตะบุตร อดีตรองอธิการบดีฝ่ายบริหารบุคคล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) โพสต์เฟซบุ๊กระบุว่า ความคิดที่จะทำโครงการ land bridge เริ่มมาตั้งแต่รัฐบาลชุดที่แล้ว มีข่าววงในซึ่งไม่ยืนยันบอกว่า หลังจากผลการศึกษาของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งผู้ว่าจ้างคือสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ออกมาว่า โครงการนี้ไม่มีความเป็นไปได้ในทางเศรษฐกิจ พูดอีกอย่างหนึ่งคือไม่คุ้มที่จะลงทุน ซึ่งจำนวนเงินลงทุนที่ประมาณการคือ 538,542 ล้านบาท รัฐบาลชุดที่แล้วจึงดูจะชะลอโครงการนี้ ไม่ได้เร่งดำเนินการต่อ เหมือนกับปล่อยให้รัฐบาลชุดต่อไปเป็นผู้ตัดสินใจ

รัฐบาลชุดปัจจุบัน ในระยะแรกๆ คุณสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ก็ดูเหมือนจะแบ่งรับแบ่งสู้เหมือนไม่อยากจะทำต่อ จึงไม่พูดชัดว่าจะผลักดันโครงการนี้ต่อหรือไม่ แต่แล้วจู่ๆรัฐบาลชุดนี้ก็กลับเดินหน้าโครงการนี้ต่อแบบเต็มสูบ ถึงขั้นที่นายกรัฐมนตรีทำหน้าที่เป็น salesman เดินหน้าขายโครงการ land bridge ให้ต่างประเทศมาลงทุน ในเกือบทุกประเทศที่นายกรัฐมนตรีไปเยือนหรือไปประชุม ไม่ทราบว่าเป็นเพราะอะไร
คุณสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ ตอบคำถามนักข่าวเกี่ยวกับ โครงการ land bridge ความว่า

..... ท่านอดีตนายกทักษิณ ชินวัตร ท่านเป็นผู้มีวิสัยทัศน์ สั่งให้ก่อสร้างสนามบินสุวรรณภูมิจนสำเร็จ ทำให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของการเดินทางและการท่องเที่ยวในภูมิภาคนี้ แต่ตั้งแต่นั้นมากว่า 20 ปี ประเทศไทยก็ยังไม่มีโครงการใหญ่ระดับนี้เลย.....

จะตอบคำถามนักข่าวก็ยังไม่วายต้องยกความดีให้ ”นายใหญ่“ ซึ่งก็เป็นความจริงเพียงบางส่วน เพราะความจริงคือ โครงการสร้างสนามบินแห่งใหม่ที่หนองงูเห่า ได้ยืดเยื้อคาราคาซังมานานกว่า 30 ปี จนในที่สุดรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ซึ่งคุณ ชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรี อนุมัติงบประมาณ 120,000 ล้านบาท เพื่อดำเนินโครงการสนาบินแห่งใหม่ที่หนองงูเห่า และได้ดำเนินการว่าจ้างบริษัท Murphy/Jahn จากประเทศเยอรมันนีเป็นผู้ออกแบบ และได้มีการดำเนิการโครงการไปบางส่วนแล้ว แต่ยังไม่ได้เริ่มก่อสร้างตัวอาคาร

มาถึงรัฐบาลคุณทักษิณ ได้มีการแก้แบบโดยปรับลดขนาดอาคารผู้โดยสารลง และเปลี่ยนแปลงวัสดุที่ใช้ภายในอาคารหลายรายการ และดำเนินการก่อสร้างจนสำเร็จ ดังนั้นจึงไม่ผิดที่จะบอกว่าสนามบินสุวรรณภูมิสร้างแล้วเสร็จและเปิดใช้ในรัฐบาลคุณทักษิณ แต่การยกความดีทั้งหมดให้คุณทักษิณคงไม่ใช่เรื่องที่ถูกต้องแต่อย่างใด

กลับมาเรื่องโครงการ land bridge สำนักนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร(สนข) กระทรวงคมนาคม ซึ่งมีคุณศักดิ์สยาม ชิดชอบเป็นรัฐมนตรีว่าการ ได้ว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษา 6 บริษัท ให้ทำการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ land bridge ด้วยวงเงินค่าจ้าง 68 ล้านบาท ตั้งแต่ปี 2564 ซึ่งผลการศึกษาเบื้องต้นได้นำเสนอ ครม ชุดปัจจุบันไปแล้ว ผลการศึกษาที่ดำเนินการว่าจ้างโดยสนข.มีความแตกต่างกับผลการศึกษาของจุฬาหลายประการ ที่สำคัญคือ จำนวนเงินลงทุนมากกว่า 2 เท่าคือ 1,001,206.47 ล้านบาท และยังชี้ว่าโครงการนี้มีความคุ้มที่จะลงทุน

ไม่ทราบว่าเป็นเพราะอะไร ที่ทำให้รัฐบาลชุดนี้เดินหน้าที่จะทำโครงการ land bridge อย่างเต็มที่ โดยไม่มีการนำผลการศึกษาทั้ง 2 ฉบับมาเปรียบเทียบ และพิเคราะห์ให้รอบคอบก่อนที่จะเดินหน้าทำ road show โดยนายกรัฐมนตรี

ตัวเลขที่สำคัญที่สุดที่ต้องนำมาเปรียบเทียบผลการศึกษาทั้ง 2 คือ นอกจากตัวเลขการลงทุนแล้ว คือตัวเลขการประมาณการรายได้ ซึ่งต้องดูในรายละเอียดว่ามีที่มาอย่างไร มาจากไหน และตัวเลขระยะเวลาและต้นทุนของการขนถ่ายสินค้าแต่ละประเภทจากเรือลงมาขึ้นรถไฟ และการขนส่งโดยรถไฟไปถึงจุดหมายคือฝั่งอันดามัน และต้นทุนค่าขนถ่ายสินค้าแต่ละประเภท จากรถไฟขึ้นบนเรือ ขณะนี้ยังไม่ช้ดเจนว่าจะมีการขนถ่ายทางท่อหรือไม่

เงื่อนไขที่สำคัญมากคือ การจัดการและระบบข้อมูลเพื่อขนถ่ายสินค้าจากเรือขึ้นรถไฟ และจากรถไฟไปขึ้นเรืออีกฝั่ง จะต้องทำได้แบบไร้รอยต่อ คือรถไฟหรือการขนส่งแบบอื่นๆจะต้องมาถึงพอดีเวลาที่ต้องขนย้ายสินค้าจากเรือ และเมื่อขนส่งสินค้าไปยังอีกฝั่งก็จะต้องพอดีกับเวลาที่เรือมารอรับ พูดอีกอย่างหนึ่งคือจะต้องมีเวลารอให้น้อยที่สุด มิฉะนั้นเวลาที่อ้างว่าจะลดลงได้ 5 วัน ก็จะน้อยลง ยิ่งเวลารอมากขึ้นเท่าใด ระยะเวลาที่ลดลงได้ก็จะน้อยลงมากเท่านั้น ซึ่งนั่นหมายความว่าต้นทุนค่าขนส่งก็จะเพิ่มขึ้นด้วย

ที่สำคัญอีกประการคือ โครงการ land bridge ไม่ควรหวังพึ่งความแออัดที่ช่องแคบมะละกา ไม่ควรหวังที่จะรองรับเรือส่วนเกินกว่าที่ช่องแคบมะละกาจะรองรับได้ ซึ่งขณะนี้ก็เห็นว่ายังเถึยงกันอยู่ว่า ช่องแคบมะละกาแออัดจริงหรือไม่ และยังไม่มีการยืนยันด้วยข้อเท็จจริงว่าฝ่ายใดเป็นฝ่ายถูก แต่โครงการ land bridge จะต้องหวังที่จะสร้างความแตกต่าง นั่นคือสร้างความได้เปรียบด้านระยะเวลาและต้นทุนค่าขนส่งที่ถูกกว่า

ผมได้ถามความเห็นของผู้ที่ทำธุรกิจเดินเรือ และนักวิชาการในด้าน logistics และพาณิชย์นาวีบางท่าน ล้วนไม่เห็นด้วยกับโครงการ land bridge ทำให้อดคิดไม่ได้ว่า หากรัฐบาลทำ road show ในขณะนี้ อาจหาผู้ลงทุนต่างชาติไม่ได้ด้วยซ้ำ เพราะคงไม่มีใครต้องการลงทุนเป็นแสนล้านหรือล้านล้านแล้วไม่อาจคืนทุนได้

น่าสนใจอย่างยิ่งว่า หากเป็นเช่นนั้นจริงรัฐบาลจะตัดสินใจอย่างไร หวังว่าจะไม่ตัดสินใจลงทุนเอง เพราะหากตัดสินใจเช่นนั้น จะแสดงว่ารัฐบาลไม่ได้ทำเพื่อผลประโยชน์ของชาติแต่ทำเพื่อผลประโยชน์ของตัวเองมากกว่า
เรามาคอยดูกันต่อไป

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'หมอโอ๋' มองดราม่าอัญเชิญพระเกี้ยว อย่าเห็นคนรุ่นใหม่เป็นศัตรู ขอให้รู้ผู้ใหญ่จะตายก่อน

พญ.จิราภรณ์ อรุณากูร หรือ หมอโอ๋ เจ้าของเพจ "เลี้ยงลูกนอกบ้าน" ได้โพสต์ข้อความทางเฟซบุ๊กว่าด้วยเรื่องอัญเชิญพระเกี้ยว