กสม. ชี้แผนก่อสร้างถนน ผ่านพื้นที่โฉนดชุมชนคลองโยง ละเมิดสิทธิชุมชน

กสม. ตรวจสอบกรณีกรมทางหลวงชนบทมีแผนก่อสร้างถนนเชื่อมต่อถนนนครอินทร์ ช่วงศาลายา - นครชัยศรี ผ่านกลางพื้นที่โฉนดชุมชนคลองโยง ชี้ละเมิดสิทธิชุมชนในการมีส่วนร่วมตัดสินใจ

22 มี.ค.2567- คณะกรรมการสิทธิมนุษชนแห่งชาติ (กสม.) โดยนางสาวศยามล ไกยูรวงศ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า กสม.ได้รับเรื่องร้องเรียนเมื่อเดือนสิงหาคม 2566 จากประธานสหกรณ์บ้านคลองโยง จำกัด และผู้แทนสมาชิกสหกรณ์ในพื้นที่โฉนดชุมชนคลองโยง อำเภอพุทธมณฑล และอำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม ระบุว่า ระหว่างเดือนมิถุนายน - สิงหาคม 2566 กรมทางหลวงชนบท ได้จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นต่อแนวเส้นทางที่เหมาะสมเพื่อก่อสร้างถนนเชื่อมต่อถนนนครอินทร์ ช่วงศาลายา - นครชัยศรี จำนวน 3 แนวเส้นทาง ผลการศึกษาพบว่า แนวทางเลือกที่ 3 ซึ่งมีระยะหนึ่งตัดผ่านกลางพื้นที่โฉนดชุมชนคลองโยง จำนวน 12 แปลงย่อย มีความเหมาะสมมากที่สุด ผู้ร้องและผู้แทนสหกรณ์บ้านคลองโยง จำกัด เข้าร่วมประชุมและแสดงความคิดเห็นคัดค้านผลการศึกษาแนวเส้นทางดังกล่าวเนื่องจากจะส่งผลกระทบหลายประการต่อพื้นที่โฉนดชุมชนคลองโยง เช่น วิถีชีวิตเกษตรกรรมแบบดั้งเดิมจะเปลี่ยนแปลงไป การกว้านซื้อที่ดินและอสังหาริมทรัพย์จากนายทุน อาจส่งผลต่อระบบนิเวศและการทำเกษตรกรรมในพื้นที่โฉนดชุมชน รวมทั้งไม่สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของจังหวัดนครปฐมที่มุ่งเป็นแหล่งผลิตสินค้าเกษตร การท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์วัฒนธรรม และประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2566 ผู้ร้องได้จัดเวทีประชุมหารือร่วมกับสมาชิกสหกรณ์บ้านคลองโยง จำกัด และผู้ที่อาศัยในพื้นที่โฉนดชุมชนคลองโยง จำนวน 250 คน ซึ่งที่ประชุมมีมติเป็นเอกฉันท์ไม่เห็นด้วยกับโครงการที่จะมีถนนผ่านเข้ามาในพื้นที่ และนำเสนอความเห็นดังกล่าวต่อกรมทางหลวงชนบทในเวทีรับฟังความคิดเห็นเมื่อเดือนสิงหาคม 2566 แล้ว แต่ข้อทักท้วงดังกล่าวไม่มีผลต่อการพิจารณาของกรมทางหลวงชนบท เนื่องจากการประชุมรับฟังความเห็นในครั้งนั้นเป็นขั้นตอนสุดท้ายของโครงการ จึงขอให้ตรวจสอบ

กสม. ได้พิจารณาข้อเท็จจริงของทุกฝ่าย หลักกฎหมายและหลักสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้องแล้ว เห็นว่า คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติให้การรับรองสิทธิในสิ่งแวดล้อมที่ดี เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2564 ขณะที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 รับรองสิทธิของบุคคลและชุมชนในการจัดการ บำรุงรักษา และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และรับรองสิทธิประชาชนและชุมชนในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารในความครอบครองของหน่วยงานของรัฐ และสิทธิในเชิงกระบวนการ ซึ่งการดำเนินการของรัฐที่อาจมีผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ คุณภาพสิ่งแวดล้อม สุขภาพ อนามัย คุณภาพชีวิต หรือส่วนได้เสียสำคัญอื่นใดของประชาชนหรือชุมชน ต้องจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นและการมีส่วนร่วมพิจารณาการดำเนินการนั้นของผู้มีส่วนได้เสียและประชาชนที่เกี่ยวข้องก่อน

เมื่อพิจารณาถึงประเด็นความจำเป็นของโครงการก่อสร้างถนนผ่านพื้นที่โฉนดชุมชนคลองโยง เห็นว่า แม้เหตุผลความจำเป็นที่สำคัญของการก่อสร้างถนน คือ ความจำเป็นด้านการจราจร ทั้งการเชื่อมต่อโครงข่ายจราจรและแก้ไขปัญหาการจราจรของกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และความจำเป็นเพื่อรองรับการขยายตัวของเมืองและพัฒนาพื้นที่โดยรอบ แต่ต้องพิจารณาควบคู่กับเจตจำนงของชุมชนคลองโยงด้วย กล่าวคือ ชุมชนคลองโยงต่อสู้เรียกร้องเพื่อให้ได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ในที่ดินอย่างมั่นคงตั้งแต่ปี 2519 - 2553 มีเจตจำนงอย่างชัดเจนในการอนุรักษ์พื้นที่เกษตรกรรมแห่งนี้ให้คงอยู่อย่างยั่งยืน ทั้งยังเป็นพื้นที่ที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ สังคม และวัฒนธรรมที่เกี่ยวข้องกับเกษตรกรรมการปลูกข้าวและนาบัวที่สำคัญของจังหวัดนครปฐม โดยคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2553 และเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2553 โอนกรรมสิทธิ์ที่ราชพัสดุแปลงเลขที่ 42341 และแปลงเลขที่ 42342 ให้สหกรณ์บ้านคลองโยง จำกัด เพื่อสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคมของประชาชนและท้องถิ่นในการประกอบอาชีพเกษตรกรรมและรักษาไว้ซึ่งสมบัติของแผ่นดิน โฉนดชุมชนคลองโยง จึงถือเป็นโฉนดชุมชนฉบับแรกของประเทศไทยและเป็นความก้าวหน้าของการรับรองสิทธิชุมชนอย่างเป็นรูปธรรม

กสม. เห็นว่า แนวคิดการสร้างถนนเส้นทางดังกล่าวของกรมทางหลวงชนบท จึงเป็นการละเลยซึ่งสิทธิในการกำหนดเจตจำนงตนเองของชุมชนคลองโยง ประกอบกับการประเมินผลกระทบของกรมทางหลวงชนบทในโครงการนี้ไม่เข้าข่ายต้องจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ส่งผลให้การประเมินผลกระทบไม่ครอบคลุมถึงข้อมูลที่แสดงถึงความสำคัญของพื้นที่โฉนดชุมชนคลองโยงอย่างรอบด้าน ทั้งที่ข้อมูลข้างต้นเป็นปัจจัยสำคัญของการเป็นต้นทุนที่ทำให้ชุมชนบรรลุซึ่งสิทธิในมาตรฐานการครองชีพที่เพียงพอและดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง สิทธิในสิ่งแวดล้อมที่ดี สิทธิในการจัดการ บำรุงรักษา และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ของสหประชาชาติ ดังนั้น การลดทอนคุณค่าของพื้นที่โฉนดชุมชนคลองโยงให้เหลือเพียงพื้นที่เกษตรกรรมที่มีต้นทุนเวนคืนต่ำ และให้น้ำหนักกับความจำเป็นด้านการจราจร ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจมากกว่าผลกระทบที่ไม่อาจชดเชยได้กับสิ่งที่ชุมชนคลองโยงจะสูญเสียไป ซึ่งอาจนำไปสู่การเสนอขออนุมัติโครงการเพื่อก่อสร้างถนน ผ่านพื้นที่โฉนดชุมชนคลองโยง จึงรับฟังได้ว่า การกระทำของกรมทางหลวงชนบท ผู้ถูกร้อง เป็นการกระทำหรือละเลยการกระทำที่สุ่มเสี่ยงต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชน

นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาถึงประเด็นการมีส่วนร่วมของสมาชิกสหกรณ์บ้านคลองโยง จำกัด ในการรับทราบข้อมูลของโครงการการก่อสร้างถนนดังกล่าว เห็นว่า กระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนที่จัดโดยผู้ถูกร้องเป็นเพียงการเสนอข้อมูลและผลการศึกษาของผู้ถูกร้อง โดยที่ผู้ร้องและชุมชนมีหน้าที่รับฟังและเสนอความคิดเห็น ซึ่งข้อคัดค้านของชุมชนไม่มีผลเปลี่ยนแปลงผลการศึกษาของผู้ถูกร้อง รวมทั้งผู้ถูกร้องยังไม่ประชาสัมพันธ์ข้อมูลโครงการให้สมาชิกสหกรณ์บ้านคลองโยงซึ่งเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ร่วมกันและจะเป็นผู้ได้รับผลกระทบทั้งหมดจากการที่จะมีถนนตัดผ่านกลางชุมชนได้รับทราบอย่างทั่วถึง อันเป็นการละเลยซึ่งสิทธิในการมีส่วนร่วมของประชาชนและชุมชนตามรัฐธรรมนูญฯ ซึ่งจะต้องมีสิทธิในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร สิทธิในการมีส่วนร่วมตัดสินใจต่อการดำเนินโครงการของหน่วยงานรัฐ และสิทธิในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมด้วย ประเด็นนี้ จึงรับฟังได้ว่า การกระทำของกรมทางหลวงชนบท ผู้ถูกร้อง เป็นการกระทำหรือละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน

ด้วยเหตุผลข้างต้น กสม. ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2567 จึงมีข้อเสนอแนะไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สรุปได้ดังนี้

(1) ข้อเสนอแนะในการป้องกันหรือแก้ไขการละเมิดสิทธิมนุษยชน ให้กระทรวงคมนาคมและกรมทางหลวงชนบท ผู้ถูกร้อง ยกเลิกเส้นทางที่เป็นแนวทางเลือกที่ 2 และ 3 เฉพาะในช่วงที่ตัดผ่านพื้นที่โฉนดชุมชนคลองโยง เนื่องจากหากดำเนินการต่อไป จะเป็นการทำลายคุณค่าทางประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม วิถีชีวิตชุมชน และต้นทุนฐานทรัพยากรที่ไม่อาจประเมินค่าได้ของพื้นที่โฉนดชุมชนคลองโยง และให้กรมทางหลวงชนบทพัฒนาและออกแบบกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนและชุมชน โดยควรให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมตั้งแต่การพิจารณาถึงความจำเป็นของโครงการ การกำหนดปัจจัยที่ใช้ในการศึกษา การมีส่วนร่วมในการตัดสินใจเลือกแนวทางเลือกที่จะมีหรือไม่มีโครงการ การใช้กระบวนการสานเสวนาเพื่อรับฟังความคิดเห็นและสร้างความเข้าใจของทุกฝ่าย รวมทั้งการกำหนดผู้ได้รับผลกระทบให้ครอบคลุม

(2) ข้อเสนอแนะในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติพิจารณาร่างกฎกระทรวง ระเบียบ หรือมาตรการ ในกรณีที่หน่วยงานของรัฐจะดำเนินโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ที่อาจส่งผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม สุขภาพ อนามัย คุณภาพชีวิต หรือส่วนได้เสียสำคัญอื่นใดของประชาชนในพื้นที่โฉนดชุมชน โดยควรได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติและได้รับความเห็นชอบจากชุมชนที่จะได้รับผลกระทบก่อน ทั้งนี้ เพื่อรับรองเจตนารมณ์ของรัฐในการจัดให้มีโฉนดชุมชนเพื่อกระจายการถือครองที่ดินอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม นอกจากนี้ ให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมพิจารณาแก้ไขเพิ่มเติมประกาศ เรื่อง กำหนดโครงการ กิจการ หรือการดำเนินการ ซึ่งต้องจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม และหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2562 โดยควรให้โครงการ หรือการดำเนินการ ที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่ที่ผังเมืองรวมกำหนดให้เป็นที่ดินประเภทอนุรักษ์ชนบทและเกษตรกรรม ต้องจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

กสม. แนะแก้ปัญหาความเป็นอยู่ผู้ถูกควบคุมตัวของรัฐ ให้สอดคล้องหลักสิทธิมนุษยชน

กสม. เผยผลตรวจเยี่ยมสถานที่ควบคุมตัวของรัฐ แนะหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ปัญหาสภาพความเป็นอยู่ของผู้ถูกควบคุมตัวให้สอดคล้องตามหลักสิทธิมนุษยชน

กสม. ชี้โครงการขุดลอกอ่าวปัตตานี ละเมิดสิทธิชุมชน กระทบประมงพื้นบ้าน ระบบนิเวศ

กสม. ชี้ โครงการขุดลอกอ่าวปัตตานี ละเมิดสิทธิชุมชน กระทบวิถีชีวิตชาวประมงพื้นบ้านและระบบนิเวศทางทะเล แนะหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมแก้ไข

กมธ.สิทธิฯ ลุยเอาผิดด้อมส้มคุกคาม 'หมอพรทิพย์' พร้อมส่งเรื่องให้กต.-ทูต พิจารณา

นายสมชาย แสวงการ สว. ในฐานะประธานกรรมาธิการ (กมธ.) สิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพ และการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา เปิดเผยถึงการประชุมกมธ. วันนี้ (2ต.ค.) ว่า ที่ประชุมได้นำประเด็นที่ พญ.คุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนนท์ สว.​ถูกคุกคามจากชายในร้านอาหารที่ประเทศไอซ์แลนด​์

กสม.แนะราชทัณฑ์ประกันสิทธิการรักษาพยาบาลผู้ต้องขัง

กสม. สอบปมร้องเรียน จนท.เรือนจำละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ผู้ต้องขังป่วย แนะกรมราชทัณฑ์ประกันสิทธิในการได้รับการรักษาพยาบาลของผู้ต้องขัง

กสม.จี้ กอ.รมน.ภาค 4 หยุดการเผยแพร่ภาพ เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น โยง BRN

กสม. แนะ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า หยุดการเผยแพร่สื่อสร้างความเข้าใจผิดว่า นักปกป้องสิทธิมนุษยชนกลุ่มเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น เกี่ยวข้องกับกลุ่มก่อความไม่สงบ BRN ชี้ละเมิดสิทธิมนุษยชน