'ธีระชัย' อภิปรายนอกสภาปมข้อดีข้อเสียดิจิทัลวอลเล็ต!

04 ก.ย.2567 - นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล ประธานกรรมการด้านวิชาการ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โพสต์เฟซบุ๊กในหัวข้อ "อภิปรายนอกสภา-2: เรื่องข้อดีข้อเสียดิจิทัลวอลเล็ต" ระบุว่า เมื่อวันที่ 5 ส.ค. มีบทความใน FT เกี่ยวกับโครงการดิจิทัลวอลเล็ตของพรรคเพื่อไทย โดยโปรเฟสเซอร์มหาวิทยาลัยคอร์เนล (ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัย Top 10 ของสหรัฐ)

[เขาเห็นว่า ถ้าทำโครงการนี้สำเร็จ ก็จะเปลี่ยนโฉมระบบการเงินในไทย ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าสนใจติดตาม แต่ในขณะเดียวกัน กรณีประเทศใดที่จะใช้นโยบายทำนองนี้ ควรพิจารณาอย่างรอบคอบ

แนวคิดของโครงการทำนองนี้คือ รัฐจะสามารถควบคุมวิธีการใช้เงินที่แจกได้อย่างละเอียด เช่น กำหนดเวลาที่ต้องใช้เงิน (คือทำให้เงินหมดอายุเมื่อพ้นเวลาหนึ่ง) หรือกำหนดให้วงเงินลดลงไปเรื่อยๆ ถ้าหากผู้รับเงินแจกไม่รีบนำไปใช้จ่าย (คือทำให้เงินมีดอกเบี้ยชนิดที่ติดลบ) หรือกำหนดห้ามใช้ซื้อสินค้าบางชนิด เช่น เหล้า บุหรี่ เป็นต้น

อย่างไรก็ดี เขาเตือนว่า เงินดิจิทัลที่ออกโดยบริษัทเอกชนตามคำสั่งของกระทรวงคลังดังกล่าว อาจทำลายความเชื่อถือในเงินปกติที่ออกโดยแบงก์ชาติ

ถ้าเงินดิจิทัลแบบนี้ขยายใหญ่โต ก็จะกลับทำให้แบงค์ชาติเปลี่ยนบทบาท จากปัจจุบันที่เป็นผู้ออกเงินตรา ไปเป็นผู้ทำหน้าที่เพียงแต่เป็นเอเยนต์ของรัฐ โดยรัฐเป็นผู้ออกเงินตราเสียเอง]

ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ ประธานสภาพัฒน์ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับบทความนี้ในลิงค์ข้างล่าง

ผมตั้งข้อสังเกตดังนี้

1.จะต้องแก้ไขกฎหมายเงินตราเสียก่อน

กฎหมายเงินตราบัญญัติให้แบงค์ชาติเป็นผู้ออกธนบัตร โดยมาตรา 14 ให้ธนาคารแห่งประเทศไทยมีอำนาจจัดทำจัดการ และนำออกใช้ซึ่งธนบัตรของรัฐบาล โดยรัฐมนตรีเป็นผู้ประกาศ ชนิด ราคา สี ขนาด และลักษณะอื่น ๆ ของธนบัตร และมาตรา 9 ห้ามมิให้ผู้ใดทำ จำหน่าย ใช้ หรือนำออกใช้ซึ่งวัตถุหรือเครื่องหมายใด ๆ แทนเงินตรา เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรี

ดังนั้น เงินดิจิทัลที่ออกโดยบริษัทเอกชนตามคำสั่งของกระทรวงคลังซึ่งมีเนื้อหาทางเศรษฐกิจเป็นเงินตราอย่างหนึ่ง จึงต้องขออนุญาตจากรัฐมนตรีผ่านแบงค์ชาติ

แต่ถ้ารัฐบาลต้องการให้กระทรวงคลังทำหน้าที่ออกเงินดิจิทัล ที่เป็นระบบคู่ขนานกับระบบธนบัตรที่ออกโดยแบงค์ชาติ อันจะเป็นการเบียดเข้าไปในกรอบอำนาจหน้าที่ของแบงค์ชาติ นั้น รัฐบาลก็จะต้องแก้ไขกฎหมายเพื่อให้อำนาจกระทรวงคลังทำหน้าที่นี้เสียก่อน

2.ไม่มีประเทศไหนทำเช่นนี้

กรณีประเทศตะวันตกที่มี stable coin เป็นเงินคริปโทชนิดหนึ่งที่ขับเคลื่อนด้วยบล็อกเชน ซึ่ง stable coin เหล่านี้เป็นเครื่องมือสำคัญที่ทำให้เกิด smart contract ตามที่คุณทักษิณกล่าวในการแสดงวิสัยทัศน์ นั้น

ผมขอเรียนว่า stable coin เหล่านี้ในประเทศตะวันตก ออกโดยบริษัทเอกชนกันเอง โดยไม่มีอำนาจพิเศษที่กระทรวงคลังของประเทศนั้นมอบให้ใดๆ และขณะนี้ก็ยังไม่มีกฎหมายออกมาควบคุมการดำเนินการ stable coin แบบนี้ จึงมักเกิดปัญหา บางคอยน์ที่โยงกับสกุลดอลลาร์ ถูกกล่าวหาว่ามีทรัพย์สินสกุลดอลลาร์หนุนหลังไม่เต็ม 100%

ดังนั้น กรณีเงินดิจิทัลที่ออกโดยบริษัทเอกชนไทยตามคำสั่งของกระทรวงคลังไทย จึงเป็นโมเดลที่ยังไม่มีประเทศใดในโลกทำกันเลย จะแหวกแนวสุดๆ

ส่วนกรณีที่มีการออก Central Bank Digital Currency (CBDC) นั้น ล้วนออกโดยธนาคารชาติของประเทศนั้นๆ ไม่ใช่ออกโดยบริษัทเอกชนตามคำสั่งของกระทรวงคลังของประเทศนั้น

3.ต้องไม่มั่วนโยบายการคลังปะปนกับนโยบายการเงิน

กรณีที่รัฐบาลต้องการแจกเป็นเงินดิจิทัลเพื่อให้สามารถควบคุมการใช้เงินแบบที่โฟกัสเงื่อนไขได้ นั้น ในกระบวนการปกติปัจจุบัน รัฐบาลควรเอาเงินปกติไปมอบให้แบงค์ชาติ เพื่อแลกขอให้แบงค์ชาติออกเป็น CBDC แล้วส่งไปให้แก่ประชาชนอีกทอดหนึ่ง ซึ่งจะเป็นการแยกกรอบนโยบายการคลังไม่ให้ปะปนกับนโยบายการเงิน อันเป็นไปตามครรลองปกติในทุกประเทศ

แต่ถ้ารัฐบาลไทยไปแก้ไขกฎหมายให้กระทรวงคลังมอบอำนาจพิเศษให้แก่บริษัทเอกชนเป็นผู้ออกเงินดิจิทัลให้แก่ประชาชนแทนแบงค์ชาติ นั้น จะเป็นการเอากรอบนโยบายการคลังไปมั่วปะปนกับนโยบายการเงิน ซึ่งมีแต่จะทำให้ความมั่นใจในสกุลบาทตามปกติลดลงเพราะเป็นการลิดรอนอำนาจหน้าที่ของแบงค์ชาติ เป็นอันว่า รัฐบาลไทยจะทำให้ทั่วโลกขาดความมั่นใจในนโยบายการเงินของแบงค์ชาติไทยด้วยน้ำมือของรัฐบาลเอง

4.การใช้บล็อกเชนจะสร้างปัญหา

คุณทักษิณกล่าวในการแสดงวิสัยทัศน์ว่า การแจกรอบที่สอง จะแจกเป็นเงินดิจิทัล และน่าจะด้วยเหตุนี้ รัฐบาลรักษาการณ์จึงเพิ่งโอนย้ายงบประมาณของสถาบันการเงินเฉพาะของรัฐ 5 แห่ง วงเงินรวม 35,000 ล้านบาท ไปใช้ในโครงการแจกเงินดิจิทัล

ผมขอเรียนให้ท่านทราบว่า กรณีเงินดิจิทัลที่ออกโดยบริษัทเอกชนไทยตามคำสั่งของกระทรวงคลังไทย ที่ขับเคลื่อนโดยบล็อกเชน นั้น จะมีปัญหาว่าการอนุมัติผ่านรายการใช้เวลานาน ตัวอย่างกรณีบิตคอยน์ใช้เวลาต่อรายการละ 10 นาทีกว่าจะยืนยันรายการโอนบิตคอยน์ได้สำเร็จ และบางรายการต้องรอเป็นชั่วโมง

นอกจากนั้น การเชื่อมโยงจากระบบบล็อกเชนเข้าไปในบัญชีเงินฝากของประชาชนแต่ละคนในแบงก์พาณิชย์ต่างๆ นั้น จะไปก่อความเสี่ยงในระบบคอมพิวเตอร์ของแบงก์พาณิชย์ จึงจะต้องได้รับความเห็นชอบจากแบงก์พาณิชย์และแบงค์ชาติเสียก่อน

อนึ่ง กรณีที่คณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายปี 2568 ลงคะแนนเสียงส่วนใหญ่อนุมัติเปลี่ยนแปลงรายการ โดยโอนย้ายงบประมาณของสถาบันการเงินเฉพาะของรัฐ 5 แห่ง วงเงินรวม 35,000 ล้านบาท ไปใช้ในโครงการแจกเงินดิจิทัล นั้น ผมคาดว่า สส. ที่ยกมือลงมติเห็นชอบดังกล่าว คงไม่ได้เชิญให้ตัวแทนกระทรวงการคลังมาชี้แจงว่า เงินดิจิทัลที่จะแจก จะขับเคลื่อนโดยบล็อกเชนหรือไม่ และกระทรวงการคลังจะแก้ปัญหาการผ่านรายการล่าช้าได้อย่างไร

ถ้าท่านไม่ได้เชิญตัวแทนกระทรวงการคลังมาชี้แจง ก็น่าเป็นห่วงว่า ที่ท่านยกมือลงมติเห็นชอบดังกล่าว ท่านได้ทำหน้าที่กรรมาธิการอย่างถูกต้องรอบคอบครบถ้วนแท้จริง หรือไม่?

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'แจกเงินหมื่น' เฟส 3 ไม่ใช้แอปเป๋าตัง กำลังจัดซื้อจัดจ้างพัฒนาระบบ คาดเสร็จ มี.ค.68

นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวถึงความคืบหน้าการจัดทำแอปพลิเคชันที่ใช้ในโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ เงิน 10,000 บาท เฟส 3 หลัง น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกมนตรี

'นพดล' ร่ายยาวย้ำรัฐบาลเพื่อไทยจะไม่ยอมเสียดินแดนแม้แต่ตารางมิลลิเมตรเดียว

'นพดล' ยัน MOU 44 ไม่มีเรื่องกระทบสิทธิด้านเขตแดน วอนอย่าใส่ความเท็จ ลั่น รบ.เพื่อไทย จะไม่ยอมเสียดินแดนแม้แต่ตารางมิลลิเมตรเดียว

'สนธิญา' ยื่นหลักฐานเพิ่ม ร้องศาลรธน. สั่ง 'อิ๊งค์' หยุดปฏิบัติหน้าที่ แจกเงินหมื่นไม่ตรงปก

นายสนธิญา สวัสดี นำเอกสารหลักฐานไปยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยรัฐบาลดำเนินโครงการแจกเงินหมื่นแตกต่างจากนโยบายดิจิตอลวอลเล็ต 10,000 บาท