กระจ่าง! 'กูรูการเงิน' ชำแหละ 'ตั๋ว P/N' กลยุทธ์ เหล่าเศรษฐี ส่งต่อมรดก แบบเสียภาษี 0 บาท

26 มี.ค.2568 - เพจ MONEY LAB ย่อย​เรื่อง​การเงิน​ การลงทุน ให้​เข้าใจ​ง่าย โพสต์ข้อความ อธิบาย กลยุทธ์ส่งต่อมรดก แบบเสียภาษี 0 บาท ด้วยตั๋วสัญญาใช้เงิน P/N มีเนื้อหาดังนี้

สำหรับประเทศไทยแล้ว หากเรารับมรดกจากบุคคลใดบุคคลหนึ่งมูลค่าเกิน 100 ล้านบาท ส่วนที่เกิน 100 ล้านบาทนั้น จะถูกเก็บภาษีในอัตราสูงสุด 10%

แต่หากผู้รับมรดกเป็นพ่อแม่ ปู่ย่าตายาย หรือลูกหลาน ของคนให้มรดก อัตราภาษีจะลดเหลือ 5%
เช่น หากเราเป็นเศรษฐีพันล้าน แล้วเมื่อถึงวันที่เราเสียชีวิต เรามอบทุกอย่างเป็นมรดกให้ลูกของเรา 1,000 ล้านบาท

ส่วนที่เกิน 100 ล้านบาท ก็คือ 900 ล้านบาท จะต้องถูกนำไปคิดภาษีในอัตรา 5%

ดังนั้นลูกของเราจะต้องเสียภาษีมรดกมากถึง 45 ล้านบาท เรื่องนี้จะไม่มีปัญหาอะไร หากเรามีเงินสดเตรียมไว้เป็นมรดกให้ลูกของเรา 45 ล้านบาท

แต่หากมรดกนั้น เป็นทรัพย์สินที่ขายได้ยาก เช่น ที่ดิน หรือหุ้นในบริษัทของครอบครัว ที่เราไม่อยากขายให้สูญเสียอำนาจการควบคุม ภาษีก้อนนี้ก็จะดูเป็นปัญหาขึ้นมาทันที

และถ้าเราโอนทรัพย์สินพวกนี้ก่อนเราเสียชีวิต ลูกของเราก็ต้องจ่ายภาษีอยู่ดี เรียกว่า ภาษีการรับให้
โดยเงื่อนไขการคิดภาษีการรับให้ จะแตกต่างจากภาษีมรดกเล็กน้อย ตรงที่ภาษีการรับให้ จะเรียกเก็บในอัตรา 5% ของมูลค่าทรัพย์สินที่ได้รับมาในส่วนที่เกิน 10 ล้านบาท

แต่ถ้าผู้ให้เป็นพ่อแม่ ปู่ย่าตายาย หรือลูกหลาน จะเรียกเก็บภาษีในอัตรา 5% จากมูลค่าทรัพย์สินที่ได้รับมาในส่วนที่เกิน 20 ล้านบาท

จะเห็นได้ว่า ถ้าเรายกทรัพย์สินทั้งหมดให้ลูก ตอนเรายังมีชีวิตอยู่ ลูกของเราจะต้องเสียภาษีมากกว่าการรับมรดกเสียอีก

ตรงนี้เอง ที่ตั๋วสัญญาใช้เงิน หรือ P/N จะมาช่วยทำให้พวกเขาไม่ต้องเสียภาษีมรดก หรือภาษีการรับให้สักบาท

อธิบายความหมายของตั๋วสัญญาใช้เงิน แบบง่าย ๆ ก็คือ สมมติว่า เราต้องการซื้อของที่มีมูลค่าสูง แต่เราไม่มีเงินสดเพียงพอที่จะจ่ายในทันที

เราสามารถใช้ตั๋วสัญญาใช้เงิน เพื่อทำสัญญาว่าจะจ่ายเงินภายในเวลาที่กำหนด

โดยผู้ออกตั๋ว คือฝ่ายที่ให้คำมั่นว่าจะจ่ายเงินให้ผู้รับเงิน เพียงแต่ว่าขอเอาสินค้ามาก่อน ซึ่งถ้าเรียกกันแบบบ้าน ๆ ก็เหมือนที่คนซื้อของจากร้านขายของชำโดยการ “เซ็น” ไว้

องค์ประกอบของตั๋วสัญญาใช้เงิน หลัก ๆ แล้ว ก็จะประกอบด้วย

- เงินต้น
- อัตราดอกเบี้ย
- กำหนดวันชำระเงิน
- วันสิ้นสุดการชำระเงิน

ซึ่งในบางครั้งอาจมีการใส่เงื่อนไข เพื่อป้องกันในกรณีที่ผู้ออกตั๋ว ไม่จ่ายเงินตามสัญญา เช่น ผู้รับเงินสามารถยึดทรัพย์สินที่โอนให้ไปแล้วได้

พูดง่าย ๆ ก็คือ ตั๋วสัญญาใช้เงิน ทำหน้าที่เหมือนเป็นบัตรเครดิต ที่สามารถกำหนดวันชำระหนี้ได้นั่นเอง

แต่นอกจากนี้ยังมีตั๋วสัญญาใช้เงินอีกประเภทหนึ่ง ที่ไม่กำหนดวันสิ้นสุดการชำระเงินเอาไว้ โดยจะขึ้นอยู่กับผู้รับเงินว่าจะเรียกเก็บเงินเมื่อไร เรียกว่า ตั๋วสัญญาใช้เงินตามความต้องการ

ตั๋วประเภทนี้เอง ที่เหล่าเศรษฐี จะสามารถใช้เป็นเครื่องมือในการหลีกเลี่ยงการจ่ายภาษีที่เกี่ยวข้องกับมรดกได้

ถ้ายังไม่เห็นภาพ เราลองไปดูตัวอย่างการใช้ตั๋วสัญญาใช้เงิน เพื่อวางแผนภาษีการรับให้กัน
สมมติว่า นางสาว A ทายาทมหาเศรษฐีหมื่นล้าน ได้รับโอนหุ้นจากพ่อแม่ และพี่ชายของตัวเอง ซึ่งผู้ให้ทั้งหมดยังมีชีวิตอยู่

โดยหุ้นนั้น เป็นหุ้นของบริษัทนอกตลาดหลายบริษัท มีมูลค่ารวมกันประมาณ 5,000 ล้านบาท
แต่ถ้าจะโอนให้กันตรง ๆ ก็คงจะเสียภาษีการรับให้มากถึง (5,000 - 20) x 5% = 249 ล้านบาท

ดังนั้นนางสาว A ซึ่งเป็นผู้รับโอนหุ้นมา จะเป็นคนออกตั๋ว จึงมีการทำตั๋วสัญญาใช้เงินตามความต้องการขึ้นมา เสมือนว่าเป็นธุรกรรมการซื้อขายหุ้น โดยมีพ่อแม่ และพี่ชาย ที่เป็นคนโอนหุ้นให้ เป็นผู้รับเงิน

ข้อดีของการทำแบบนี้คือ นางสาว A จะยังไม่ต้องจ่ายเงินค่าซื้อหุ้น แต่ได้รับหุ้นมาแล้ว

ถ้าหากผู้รับเงินอย่างพ่อแม่ และพี่ชายของนางสาว A จะเรียกเก็บเงินคืน ตามสัญญาที่ให้ใน P/N
ปัญหาภาษี ก็จะตกเป็นภาระของพ่อแม่ และพี่ชายที่ขายหุ้นให้นางสาว A แทน

เพราะตามกฎหมายไทยระบุว่า หากมีการขายหุ้นของบริษัทนอกตลาด กำไรที่ได้จากการขายหุ้น ต้องนำมาคิดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

ดังนั้น เพื่อหลีกเลี่ยงภาระภาษีนี้เพิ่ม พ่อแม่ และพี่ชายของนางสาว A ก็จะตกลงราคาซื้อขายหุ้นกันในราคาพาร์ หรือราคาทุน ให้นางสาว A ตั้งแต่แรก
เพียงเท่านี้ นางสาว A และครอบครัว ก็จะไม่ต้องกังวลกับปัญหาภาษีมรดกอีกต่อไป จากการขายที่เท่าทุน จึงทำให้ไม่ได้กำไร ไม่ต้องนำเงินได้มาคิดภาษี

เพียงเท่านี้ ต่อให้จะส่งต่อมรดกกันเป็นแสนล้านบาท ภาษีมรดกทั้งหมดที่ต้องเสีย ก็จะเท่ากับ 0 บาท

#วางแผนการเงิน #หลักวางแผนการเงิน #ตั๋วสัญญาใช้เงิน

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'แพทองธาร' หารือ 'ฮุน เซน' ร่วมมือกระชับความสัมพันธ์ไทย-กัมพูชา

นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เข้าเยี่ยมคารวะสมเด็จอัคคมหาเสนาบดีเดโช ฮุน เซน (Samdech Akka Moha Sena Padei Techo HUN SEN) ประธานวุฒิสภาและประธานองคมนตรีแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา

'แพทองธาร' หารือกับประธานสภากัมพูชา ส่งเสริมความสัมพันธ์รัฐสภาทั้งสองประเทศ

นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี พบหารือกับสมเด็จมหารัฐสภาธิการธิบดี ควน โซะดารี (Samdech Maha Rathsapheathika Thipadei Khuon Sudary) ประธานสภาแห่งชาติ ราชอาณาจักรกัมพูชา 

นายกฯแพทองธาร ร่วมพิธีต้อนรับ ในโอกาสเยือนกัมพูชาเป็นทางการ

น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ร่วมพิธีต้อนรับอย่างเป็นทางการ จากนั้น ได้มีการหารือแบบเต็มคณะกับสมเด็จมหาบวรธิบดี ฮุน มาแนด นายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา