'นาซา' เปิดตัวจรวดยักษ์สู่ดวงจันทร์ สูงเท่าตึก 32 ชั้น

องค์การนาซาเปิดตัวจรวดรุ่นใหม่ที่มีความสูงเท่าตึก 32 ชั้นและทรงพลังที่สุดในโลก โดยเคลื่อนย้ายออกจากโรงงานประกอบไปยังแท่นปล่อย เพื่อทดสอบระบบปล่อยยานอวกาศก่อนปล่อยจริงภายในเดือน พ.ค.นี้ ด้วยเป้าหมายส่งมนุษย์กลับไปเหยียบดวงจันทร์ภายใน 3 ปีข้างหน้า

จรวดเอสแอลเอสของนาซาติดตั้งแคปซูลโอไรออน ขณะเคลื่อนย้ายออกจากโรงประกอบยานไปยังแท่นปล่อยจรวด 39บี ที่ศูนย์อวกาศเคนเนดี เมื่อวันที่ 17 มี.ค. 2565 เพื่อเตรียมทดสอบระบบ (NASA via Getty Images)

รอยเตอร์และเอเอฟพีรายงานเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 17 มีนาคม 2565 ว่าองค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐ (นาซา) เปิดตัวจรวด "สเปซลอนช์ซิสเต็ม" (เอสแอลเอส) ที่มีความสูงเท่าตึก 32 ชั้น และแคปซูลอวกาศ โอไรออน ในโครงการกลับไปสำรวจดวงจันทร์ที่เผชิญกับอุปสรรคมานานหลายปีและใช้เวลาในการพัฒนานานกว่าทศวรรษ

เอสแอลเอส-โอไรออนได้รับการเผยโฉมต่อสาธารณชนครั้งแรกระหว่างกระบวนการเคลื่อนย้ายจรวดพร้อมแคปซูลที่มีน้ำหนักรวมกันเกือบ 2.6 ล้านกิโลกรัม ออกจากอาคารประกอบยานยนต์ของศูนย์อวกาศเคนเนดี เมื่อเวลา 17.30 น.วันพฤหัสบดีหรือเวลา 04:30 วันศุกร์ตามเวลาประเทศไทย เพื่อไปยังฐานปล่อย 39 บีของศูนย์อวกาศเคนเนดี โดยใช้เวลาในการเคลื่อนย้าย 11 ชั่วโมง

จรวดยักษ์ลำนี้มีความสูง 98 เมตร สูงกว่าอนุสาวรีย์เทพีเสรีภาพ แต่ยังมีขนาดเล็กกว่าจรวดแซทเทิร์น 5 ของภารกิจอพอลโลเล็กน้อย กระนั้น เอสแอลเอสมีแรงขับจรวดสูงสุดถึง 39.1 เมกะนิวตัน หรือมากกว่าแซทเทิร์น 5 ถึง 15% ซึ่งจะทำให้เอสแอลเอสเป็นจรวดที่ทรงพลังที่สุดในโลก

โครงการเอสแอลเอส-โอไรออน ซึ่งใช้งบประมาณในการพัฒนาราว 37,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (1.2 ล้านล้านบาท) ที่รวมถึงระบบภาคพื้นดิน ถือเป็นแกนหลักของโครงการอาร์เทมิสของนาซา ที่มีเป้าหมายส่งนักบินอวกาศกลับไปเยือนดวงจันทร์อีกครั้ง และการสร้างอาณานิคมบนดวงจันทร์ในระยะยาว เพื่อเป็นฐานตั้งต้นในการสำรวจดาวอังคารในภายภาคหน้า

หลังจากเคลื่อนย้ายมาถึงแทนปล่อยจรวด ขั้นตอนต่อไปคือการเตรียมทดสอบระบบปล่อยยานอวกาศ ซึ่งจะเริ่มในวันที่ 3 เมษายน และใช้เวลาประมาณสองวันจึงจะเสร็จสิ้น หลังจากนั้น 8-9 วัน เชื้อเพลิงขับดันจะถูกระบายออกจากจรวด และยานทั้งสองจะถูกเคลื่อนย้ายกลับไปยังอาคารประกอบยานยนต์ดังเดิม เพื่อรอกำหนดวันปล่อยจรวดต่อไป

โครงการอะพอลโลของสหรัฐส่งนักบินอวกาศไปยังดวงจันทร์มาแล้ว 6 ครั้ง ระหว่างปี 2512-2515 ส่วนโครงการอาร์เทมิส ซึ่งตั้งชื่อตามเทพีฝาแฝดของเทพอะพอลโล วางเป้าหมายจะส่งมนุษย์กลับไปเหยียบดวงจันทร์อีกครั้ง โดยเริ่มต้นจากภารกิจอาร์เทมิส 1 ที่จะเป็นการส่งยานไร้คนขับไปวนไกลจากดวงจันทร์ 40,000 ไมล์แล้วกลับสู่โลก นาซาคาดว่าจะเริ่มภารกิจนี้ได้ระหว่างเดือนเมษายนถึงพฤษภาคม แต่ยังขึ้นกับผลลัพธ์ของการทดสอบระบบปล่อยจรวด

จากนั้นภารกิจอาร์เทมิส 2 จะเป็นภารกิจที่มีมนุษย์อวกาศติดไปกับแคปซูลด้วย โดยยานจะวนรอบดวงจันทร์แต่ไม่ลงจอด และตามแผนที่วางไว้ ภารกิจอาร์เทมิส 3 ของนาซาจะเป็นการส่งนักบินอวกาศหญิงคนแรกและนักบินอวกาศผิวสีคนแรกไปลงจอดที่ขั้วใต้ของดวงจันทร์ ในปี 2568.

เพิ่มเพื่อน