ผู้ประท้วง 3 รายถูกยิง จากเหตุวุ่นวายในการเดินขบวนเนื่องในวันแรงงาน

เกิดเหตุยิงกันในวันแรงงาน ระหว่างการเดินขบวนประท้วงโดยสหภาพแรงงานในกรุงซานติอาโก เมืองหลวงของชิลี เนื่องจากผู้ประท้วงบางคนสร้างเครื่องกีดขวาง รวมทั้งบุกเข้าไปในอาคารพาณิชย์ และมีเรื่องวิวาทกับผู้ค้าขาย

ผู้ประท้วงคนหนึ่ง ขว้างก้อนหินใส่อาคารพาณิชย์ที่ถูกจุดไฟเผาระหว่างการปะทะกับตำรวจปราบจลาจล ระหว่างการเดินขบวนในวันแรงงานที่กรุงซานติอาโก เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม (Photo by Martin BERNETTI / AFP)

เอเอฟพีรายงานเหตุวุ่นวายในการเดินขบวนเนื่องในวันแรงงานที่ชิลี จนเป็นเหตุให้มีผู้ถูกยิง 3 ราย เมื่อวันจันทร์ที่ 2 พฤษภาคม 2565 กล่าวว่า สหภาพแรงงานในกรุงซานติอาโก เมืองหลวงของชิลี จัดการเดินขบวนประท้วงรัฐบาลเนื่องในวันแรงงาน ก่อนเหตุการณ์บานปลายและมีการใช้ความรุนแรง

เจ้าหน้าที่ตำรวจเปิดเผยว่า มีผู้ได้รับบาดเจ็บจากการถูกยิง 3 คน และมีผู้ถูกจับกุม 2 คนเป็นชาวต่างชาติ ในข้อหายิงปืนจากการวิวาทกันท่ามกลางการเดินขบวน

“มีการปะทะกันระหว่างผู้เดินขบวนประท้วงบางคนกับพ่อค้าริมถนน และมีการใช้อาวุธปืนยิงใส่กัน ทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 3 คน โดยในจำนวนนี้เป็นผู้หญิง 2 คน และชายคนที่ 3 ได้รับบาดเจ็บจากกระสุนปืน” เอนริเก มอนราส ผู้บัญชาการตำรวจนครบาลกล่าว และเสริมว่า “เพื่อป้องกันเหตุบานปลายรุนแรง เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงจำเป็นต้องใช้ปืนฉีดน้ำแรงดันสูงและแก๊สน้ำตาเพื่อสลายการชุมนุม”

 

ประธานาธิบดีกาเบรียล บอริก ของชิลี ประณามการใช้ความรุนแรงที่เกิดขึ้น โดยกล่าวว่า "พวกเขากำลังทำให้ความรุนแรงเป็นเรื่องปกติ ในฐานะผู้นำ ผมไม่สามารถอนุญาตให้แก๊งอาชญากรเข้ายึดครองถนนในประเทศแห่งนี้ได้"

ขณะเดียวกัน อีกฟากฝั่งหนึ่งของซานติอาโก การเดินขบวนในวันแรงงานอันเป็นธรรมเนียมที่ปฏิบัติกันทุกปี และจัดโดยสหภาพแรงงานกลาง (ซียูที) กลับผ่านไปโดยไม่มีเหตุวุ่นวายใดๆ มีแต่การเดินขบวนอย่างสงบ และการวมตัวคนชนชั้นแรงงานที่ออกมาโบกธงชาติที่ บากีดาโน พลาซา สถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ในเมืองซานติอาโก

“พวกเรามีความสุข มันเป็นวันที่พิเศษมากหลังจากการถูกกักขังโดยโควิด เป็นเวลากว่า 2 ปี เราออกมาในวันนี้ เพื่อยกย่องการทำงานของเพื่อนร่วมงานในหลายภาคส่วน เช่น พนักงานด้านสุขภาพ, ด้านการพาณิชย์ และการขนส่ง ซึ่งเป็นปัจจัยพื้นฐานในการต่อสู้กับการระบาดใหญ่ที่ผ่านมา” เดวิด อคุนญา ประธานสหภาพแรงงานกลาง กล่าว

ค่าแรงขั้นต่ำในชิลีอยู่ที่ 400,000 เปโซชิลี (ราว 16,100 บาท) ต่อเดือน และประธานาธิบดีกาเบรียล บอริก ตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะสามารถผลักดันให้ค่าแรงขั้นต่ำเพิ่มขึ้นเป็น 500,000 เปโซ (ราว 20,115 บาท) ต่อเดือน ให้ได้ภายในปี 2569.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'ตะวัน-แฟรงค์' ชวดประกันตัวครั้งที่ 6 ศาลชี้ไม่มีเหตุอื่นให้เปลี่ยนแปลงคำสั่ง

ทนายความได้ยื่นประกัน นางสาวทานตะวัน ตัวตุลานนท์ หรือตะวัน และ นายณัฐนนท์ ไชยมหาบุตร หรือแฟรงค์ ต่อศาลอาญาอีกเป็น

คนนับแสนในเยอรมนียืนหยัดต่อต้านความรุนแรงและการเมืองขวาจัด

กลุ่มผู้ชุมนุมในเยอรมนีกว่าล้านคนออกมาเดินขบวนต่อต้านความเกลียดชังตามท้องถนนในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา นักการเมืองขอบคุณผู้ประ

'เดอะตั้ม' ย้อนยุค 'ทักษิณ' สั่งสลายม็อบถูกตีหัวแตก กลายเป็นจำเลย ขึ้นศาลทุกนัด แต่ทักษิณหนีคดีไม่ติดคุก

'เดอะตั้ม' ย้อนประวัติศาสตร์ 20ธค.45 ประชุมครม.ที่หาดใหญ่ 'ทักษิณ' เป็นนายกฯ สั่งสลายการชุมนุม ถูกตีหัวแตก กลายเป็นจำเลย วันนี้ชนะทุกคดี ขึ้นศาลทุกนัด แต่ทักษิณหนีคดี กลับมาไม่ติดคุก ความยุติธรรมอยู่ตรงไหน