ญี่ปุ่นกำลังพิจารณาสร้างเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์รุ่นใหม่ เพื่อเป็นทางเลือกพลังงาน หลังประเทศต้องเผชิญกับต้นทุนพลังงานนำเข้าที่พุ่งสูงขึ้นอันเนื่องจากสภาวะสงครามในยูเครน

แฟ้มภาพ ชาวญี่ปุ่นคนหนึ่งที่ออกมาร่วมประท้วงต่อต้านการใช้พลังงานนิวเคลียร์ในประเทศ (Photo by Philip FONG / AFP)
เอเอฟพีรายงาน เมื่อวันพุธที่ 24 สิงหาคม 2565 กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีฟูมิโอะ คิชิดะ ของญี่ปุ่น กำลังพิจารณาแนวทางแก้ปัญหาพลังงานของประเทศอย่างยั่งยืน ด้วยการสร้างเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์รุ่นใหม่ เพื่อเป็นทางเลือกพลังงาน หลังเผชิญวิกฤตหนักในช่วงสงครามยูเครน
หัวหน้าคณะรัฐบาลญี่ปุ่น กล่าวในการประชุมนโยบายพลังงานเมื่อวันพุธว่า รัฐบาลจะหารือเกี่ยวกับการนำโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชื่อมต่อการทำงานผ่านระบบออนไลน์มากขึ้น รวมทั้งยืดอายุการใช้งานของเครื่องปฏิกรณ์ หากได้รับการตรวจสอบและยืนยันความปลอดภัยแล้ว
แนวคิดการกลับมาฟื้นอุตสาหกรรมพลังงานนิวเคลียร์ของญี่ปุ่น อาจนำไปสู่ความขัดแย้งหลายฝ่าย หลังจากเกิดภัยพิบัติที่ฟุกุชิมะเมื่อปี 2554 ซึ่งนำไปสู่การระงับเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์หลายแห่งทั่วประเทศ
"การรุกรานยูเครนของรัสเซียได้เปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์ด้านพลังงานของโลกไปอย่างมาก" และ "ญี่ปุ่นจำเป็นต้องคำนึงถึงสถานการณ์วิกฤตที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต" คิชิดะ กล่าว
"สำหรับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ นอกเหนือจากการรักษาความปลอดภัยของเครื่องปฏิกรณ์ทั้ง 10 เครื่องให้กลับมาดำเนินการแล้ว รัฐบาลจะเป็นหัวหอกในการกลับมาสนับสนุนการใช้พลังงานนิวเคลียร์อีกครั้ง หัวใจหลักสำหรับพลังงานในยุคต่อไป คือการสร้างเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ที่มีกลไกความปลอดภัยใหม่ และใช้โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่มีอยู่เหล่านั้นให้เกิดประโยชน์สูงสุด" คิชิดะสรุป พร้อมให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการให้เร็วที่สุด
พลังงานนิวเคลียร์ยังคงเป็นประเด็นอ่อนไหวในญี่ปุ่น หลังจากสึนามิขนาดใหญ่ที่เกิดขึ้นในเดือนมีนาคม 2554 ทำให้เกิดความเสียหายที่โรงงานฟุกุชิมะ ซึ่งเป็นภัยพิบัตินิวเคลียร์ครั้งร้ายแรงที่สุดนับตั้งแต่เหตุการณ์เชอร์โนบิลของสหภาพโซเวียต
ปัจจุบันเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ 10 เครื่องจาก 33 เครื่องของญี่ปุ่นกลับมาดำเนินการตามปกติแล้ว แต่ว่าเปิดดำเนินการแค่บางช่วงตลอดทั้งปี และญี่ปุ่นหันมาพึ่งพาการนำเข้าเชื้อเพลิงฟอสซิลมากขึ้นเป็นการทดแทน.