เยอรมนียึดบริษัทพลังงานรัสเซีย

รัฐบาลเยอรมันเข้าควบคุมการดำเนินงานของ Rosneft (รอสเนฟต์) ซึ่งเป็นบริษัทน้ำมันของรัสเซีย เพื่อใช้เป็นหลักประกันพลังงานในประเทศ

(จากซ้ายไปขวา) โรเบิร์ต ฮาเบ็ค รัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจและสภาพอากาศของเยอรมนี, นายกรัฐมนตรี โอลาฟ ชอลซ์ ของเยอรมนี และดีทมาร์ วอยด์เก นายกเทศมนตรีแห่งรัฐบรันเดนบูร์ก กล่าวแถลงข่าวเมื่อวันที่ 16 กันยายน ที่ทำเนียบรัฐบาลในกรุงเบอร์ลิน หลังจากที่รัฐบาลประกาศเข้าควบคุมกิจการและบริษัทในเครือของ Rosneft เพื่อเป็นหลักประกันพลังงานให้ประเทศ (Photo by JENS SCHLUETER / AFP)

เอเอฟพีรายงาน เมื่อวันเสาร์ที่ 17 กันยายน 2565 กล่าวว่า รัฐบาลเยอรมันนำโดยนายกรัฐมนตรี โอลาฟ ชอลซ์ ตัดสินใจเข้ายึดและควบคุมกิจการในเครือของ Rosneft (รอสเนฟต์) ซึ่งเป็นบริษัทน้ำมันของรัสเซียที่ดำเนินกิจการอยู่ในเยอรมนี

โดยบริษัทในเครือของ Rosneft ในเยอรมนี มีสัดส่วนของกำลังการกลั่นน้ำมันในประเทศ ประมาณ 12% และจะอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานเครือข่ายรัฐบาลกลาง (Federal Network Agency) ซึ่งเป็นหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเศรษฐกิจและสภาพอากาศของเยอรมนี

นายกรัฐมนตรี โอลาฟ ชอลซ์กล่าวในแถลงการณ์ว่า "เพื่อตอบโต้ภัยคุกคามต่อความมั่นคงด้านแหล่งพลังงาน รัฐบาลจำเป็นจะต้องดำเนินการเช่นนี้ แม้จะเป็นการไม่สุภาพซักเท่าไหร่ แต่ก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ บนพื้นฐานของการปกป้องประเทศของเรา"

การเข้าควบคุมกิจการของรัสเซียในครั้งนี้เกิดขึ้นในขณะที่เยอรมนีกำลังดิ้นรนที่จะเลิกพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิล(น้ำมันดิบ)ของรัสเซีย โดยมีเป้าหมายที่จะหยุดการนำเข้าน้ำมันทั้งหมดภายในสิ้นปีนี้ ในขณะที่รัสเซียเองก็ตอบโต้ด้วยการหยุดการส่งก๊าซธรรมชาติไปยังเยอรมนีผ่านท่อส่งก๊าซ Nord Stream 1

โดยบริษัทรัสเซียที่จะถูกควบคุม ได้แก่ Rosneft Deutschland GmbH (RDG) และ RN Refining & Marketing GmbH (RNRM) รวมถึงสัดส่วนการถือครองหุ้นในโรงกลั่น 3 แห่ง ได้แก่ PCK Schwedt, MiRo และ Bayernoil

การเข้าควบคุมกิจการจะทำให้ทางการเยอรมันสามารถดำเนินการกลั่นโดยใช้น้ำมันดิบจากประเทศอื่นที่ไม่ใช่รัสเซียได้ เป็นหลักประกันว่าประเทศจะไม่ขาดแคลนแหล่งพลังงาน โดยเฉพาะในฤดูหนาวที่กำลังจะมาถึง

ในแถลงการณ์เมื่อวันศุกร์ Rosneft ประณามการเคลื่อนไหวนี้ว่าผิดกฎหมายและเป็นการละเมิดหลักการพื้นฐานทั้งหมดของตลาดเศรษฐกิจ และบริษัทฯกำลังตรวจสอบมาตรการที่เป็นไปได้ทั้งหมดเพื่อปกป้องผู้ถือหุ้น รวมถึงการดำเนินคดีในชั้นศาล

เมื่อต้นเดือนเมษายน รัฐบาลเยอรมันได้ดำเนินการควบคุมบริษัทย่อยในเยอรมนีของ Gazprom (ก๊าซพรอม) เป็นการชั่วคราวมาก่อนแล้วเช่นกัน.

เพิ่มเพื่อน