บังกลาเทศเร่งอพยพผู้คนนับแสน ก่อนพายุไซโคลนมาเยือน

ประชาชนบังกลาเทศหลายแสนคนเร่งอพยพออกจากพื้นที่ที่คาดว่าจะเป็นเส้นทางที่พายุไซโคลนศรีตรังกำลังมุ่งหน้ามา

คนขับรถลากใช้แผ่นพลาสติกคลุมตัวเองจากฝน ขณะรอผู้โดยสารตามถนนในเมืองฟาริดปูร์ ประเทศบังกลาเทศ เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม ก่อนการมาเยือนของพายุไซโคลนศรีตรัง (Photo by Munir uz Zaman / AFP)

เอเอฟพีรายงาน เมื่อวันจันทร์ที่ 24 ตุลาคม 2565 กล่าวว่า ประชาชนในบังกลาเทศหลายแสนคนเร่งอพยพออกจากพื้นที่เสี่ยง หลังมีข่าวพายุไซโคลนกำลังมุ่งหน้าเข้าประเทศ

พายุไซโคลนศรีตรัง ซึ่งมีกำลังลมแรงประมาณ 88 กิโลเมตรต่อชั่วโมง คาดว่าจะขึ้นฝั่งเมืองเคปูปาราทางตอนใต้ของบังกลาเทศในช่วงเช้าวันอังคาร

สิ่งที่น่ากังวลที่สุดคือ พายุดังกล่าวได้รับการคาดการณ์ว่าจะทำให้ระดับน้ำสูงกว่าปกติถึง 3 เมตร ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมสูงในพื้นที่บ้านเรือนของผู้คนนับล้าน

เจ้าหน้าที่ทางการในเขตชายฝั่งอย่างเมืองปาทัวคาลี, โบลา, บาร์กูนา และจาลาคาธี ให้ข้อมูลกับเอเอฟพีว่า ประชาชนกว่า 400,000 คนจะถูกอพยพจากหมู่บ้านทั้งบนแผ่นดินและตามเกาะแก่งต่างๆไปยังที่พักพิงฉุกเฉินที่รัฐจัดเตรียมไว้ให้ ซึ่งต้องเร่งดำเนินการให้เสร็จทั้งหมดภายในคืนวันจันทร์

แม้กระทั่งผู้อพยพลี้ภัยชาวโรฮีนจากว่า 3 หมื่นคน ที่อาศัยอยู่บนเกาะภาสานจร (Bhashan Char) ในอ่าวเบงกอล ที่บังกลาเทศได้ย้ายผู้ลี้ภัยไปพำนักอยู่เพื่อบรรเทาความแออัดของค่ายผู้ลี้ภัยบนแผ่นดิน ก็ได้รับการเตือนให้อยู่แต่ในที่พัก เพราะคาดว่าจะได้รับผลกระทบจากฝนตกหนักและลมกระโชกแรง เช่นเดียวกับรัฐเบงกอลตะวันตกทางตะวันออกของอินเดียที่อยู่ใกล้เคียง

พายุไซโคลนเป็นภัยร้ายแรงที่คุกคามชายฝั่งมหาสมุทรอินเดียตอนเหนือซึ่งมีผู้คนอาศัยอยู่หลายสิบล้านคน และมีความรุนแรงเทียบเท่ากับพายุเฮอริเคนในมหาสมุทรแอตแลนติกเหนือ หรือพายุไต้ฝุ่นในมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันตกเฉียงเหนือ

นักวิทยาศาสตร์กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมีแนวโน้มที่จะทำให้เกิดความรุนแรงและเกิดขึ้นบ่อยครั้ง ซึ่งบังกลาเทศได้รับการจัดอันดับจากสหประชาชาติว่าเป็นหนึ่งในประเทศที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้วมากที่สุดนับตั้งแต่ช่วงเปลี่ยนศตวรรษเป็นต้นมา.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'เศรษฐา' เตรียมต้อนรับนายกฯบังกลาเทศ เยือนไทยในฐานะแขกของรัฐบาล 24-29 เม.ย.นี้

นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า เชค ฮาซีนา นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐประชาชนบังกลาเทศ มีกำหนดเดินทางเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการในฐานะแขกของรัฐบาล ระหว่างวันที่ 24 - 29 เมษายน 2567

'รศ.ดร.วินัย' บอก 'คนปาเลสไตน์' ชีวิตรวดร้าวยิ่งกว่าชาวโรฮีนจา!

'รศ.ดร.วินัย' เล่าประสบการณ์เรื่องคนปาเลสไตน์ บอกไม่ว่าจะอยู่ในดินแดนของตนเอง หรือลี้ภัยในประเทศอื่น ชีวิตรวดร้าวยิ่งกว่าชาวโรฮีนจาจากเมียนมา วอนคนนอกเห็นใจและสงสารพวกเขาบ้าง