Starship ซึ่งเป็นจรวดที่ทรงพลังที่สุดเท่าที่มนุษย์เคยสร้างมา เกิดระเบิดระหว่างทดสอบการบินเที่ยวแรก แต่ถือเป็นการเริ่มต้นที่มีความหวังสำหรับโครงการส่งนักบินอวกาศไปยังดวงจันทร์และดาวอังคาร

จวรดสตาร์ชิป (Starship) ซึ่งเป็นจรวดที่ใหญ่ที่สุดและทรงพลังที่สุดในโลก ถูกปล่อยทดสอบการบินครั้งแรกอย่างเป็นทางการ แต่ระเบิดกลางอากาศ ก่อนตกลงไปในอ่าวเม็กซิโก เมื่อวันที่ 20 เมษายน (Photo by Patrick T. Fallon / AFP)
เอเอฟพีรายงาน เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 20 เมษายน 2566 กล่าวว่า สตาร์ชิป (Starship) ซึ่งเป็นจรวดที่ใหญ่ที่สุดและทรงพลังที่สุดในโลก ถูกปล่อยทดสอบการบินครั้งแรกอย่างเป็นทางการ แต่ผลลัพธ์ไม่เป็นอย่างที่คาดหวัง
จรวดไร้คนขับลำดังกล่าวเกิดระเบิดภายใน 4 นาที หลังจากถูกปล่อยออกจากฐานยิงได้สำเร็จเมื่อเวลา 08.33 น. ตามเวลาท้องถิ่น (20.33 น. ตามเวลาประเทศไทย)
สตาร์ชิปถูกปล่อยจากสตาร์เบส (Starbase) ซึ่งเป็นท่าอวกาศของบริษัทสเปซเอกซ์ (SpaceX) ในเมืองโบคา ชิกา รัฐเท็กซัส ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยตามกำหนดแล้ว มันต้องแยกตัวออกจากจรวดสนับสนุนในระยะ 3 นาทีแรกของการบิน แต่การแยกตัวล้มเหลวและจรวดเกิดระเบิดกลางท้องฟ้าเป็นลูกไฟขนาดใหญ่ ก่อนจะตกลงไปในอ่าวเม็กซิโก
แม้จะล้มเหลวในการทดสอบการบินเต็มเวลา 90 นาทีเพื่อไปให้ถึงวงโคจร แต่บริษัทสเปซเอกซ์และอีลอน มัสก์ ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งและซีอีโอของบริษัท ก็ประกาศความสำเร็จของการทดสอบครั้งนี้
อีลอน มัสก์ แสดงความยินดีกับทีมงานของเขาในการทดสอบยานอวกาศอันน่าตื่นเต้น ซึ่งออกแบบมาเพื่อบรรทุกลูกเรือและสินค้าออกนอกโลก
"ขอแสดงความยินดีกับทีมสเปซเอกซ์ในการเปิดตัวการทดสอบที่น่าตื่นเต้นของสตาร์ชิป และการได้เรียนรู้มากมายก่อนเปิดตัวการทดสอบครั้งต่อไปในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า" มัสก์กล่าวผ่านทวิตเตอร์
ขณะที่บริษัทสเปซเอกซ์กล่าวว่า "การทดสอบครั้งนี้ถือเป็นความสำเร็จ เพราะได้สอนอะไรหลายๆอย่างให้เราได้เรียนรู้ และความล้มเหลวในวันนี้จะช่วยให้เราปรับปรุงสตาร์ชิปให้ดีขึ้น เพื่อภารกิจสร้างสิ่งมีชีวิตในหลายๆ ดาวเคราะห์"
ทั้งนี้ องค์การนาซาเลือกสตาร์ชิปเพื่อใช้ในภารกิจส่งนักบินอวกาศไปยังดวงจันทร์ให้ได้ภายในปี 2568 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการอาร์เทมิส 3 (Artemis III) ต่อจากความสำเร็จของโครงการอะพอลโล (Apollo) ที่สิ้นสุดไปตั้งแต่ปี 2515
บิล เนลสัน ผู้อำนวยการนาซา ก็ได้ร่วมแสดงความยินดีกับบริษัทสเปซเอกซ์เช่นกัน โดยกล่าวว่า "ทุกความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ตลอดประวัติศาสตร์นั้น ต้องการความเสี่ยงจากการคำนวณในระดับหนึ่ง เพราะความเสี่ยงที่ยิ่งใหญ่มาพร้อมกับรางวัลอันยิ่งใหญ่"
สตาร์ชิปมีความสูง 164 ฟุต และถูกออกแบบมาเพื่อบรรทุกลูกเรือและสินค้า โดยจะประกอบเข้ากับยอดของจรวดสนับสนุนชื่อซุปเปอร์ เฮฟวี (Super Heavy) ที่มีขนาดสูง 230 ฟุต และจะถูกปล่อยขึ้นสู่ท้องฟ้าพร้อมกันในทุกปฏิบัติการ
การทดสอบการบินในวันนี้จึงเป็นการทดสอบแบบรวม เพื่อวัตถุประสงค์ในการประเมินประสิทธิภาพร่วมกัน
กำหนดการบินเดิมถูกเลื่อนจากวันจันทร์มาดำเนินการในวันพฤหัสบดี เนื่องจากความไม่สมบูรณ์ของวาล์วแรงดันแช่แข็งในบูสเตอร์ระยะแรก
อีลอน มัสก์ เคยเตือนล่วงหน้าก่อนการทดสอบว่า มีแนวโน้มจะเกิดปัญหาทางเทคนิค และเขาได้พยายามลดความคาดหวังสำหรับเที่ยวบินปฐมฤกษ์ของสตาร์ชิป
"มันเป็นการเปิดตัวครั้งแรกของจรวดขนาดมหึมาที่ซับซ้อนมาก จรวดลำนี้มีโอกาสล้มเหลวเป็นล้านวิธี" มัสก์กล่าว
บริษัทสเปซเอกซ์มั่นใจว่าจะประสบความสำเร็จในการส่งสตาร์ชิปขึ้นสู่วงโคจรได้ในที่สุด โดยหลังจากอยู่ในวงโคจรแล้ว สตาร์ชิปจะได้รับการเติมเชื้อเพลิงด้วยยานลำอื่น เพื่อให้มันสามารถเดินทางต่อไปยังดาวอังคารหรือดาวที่ไกลออกไปได้
เป้าหมายสุดท้าย คือการสร้างฐานบนดวงจันทร์และดาวอังคาร และทำให้มนุษยชาติสามารถดำรงอยู่บน "เส้นทางสู่การสร้างอารยธรรมบนดาวเคราะห์หลายดวง" ตามเจตนารมณ์ของอีลอน มัสก์.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
'เศรษฐา' ปลื้มหารือ 'อีลอน มัสก์' ชวน 'Tesla' ลงทุนในไทย
นายกฯ หารือ 'อีลอน มัสก์' ผู้บริหารบริษัท Tesla ผ่านระบบการประชุมทางไกล ไทยพร้อมร่วมมือพัฒนาความร่วมมือ เชื่อมั่นเพิ่มโอกาสการลงทุนในไทย
'บอสชาตรี' อาสาจัดไฟต์พิเศษ 'มาร์ก' ปะทะ 'อีลอน' ในมวยวัน
“ชาตรี ศิษย์ยอดธง” ผู้ก่อตั้ง ประธาน และซีอีโอ วัน แชมเปียนชิพ (ONE) อาสาจัดไฟต์พิเศษให้กับสองผู้บริหารระดับโลก “มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก” และ “อีลอน มัสก์” หลังจากที่ทั้งคู่โต้ตอบกันสนั่นโซเชียลถึงการประลองฝีมือการต่อสู้กันในสังเวียนกรง
'มาร์ก' นัดวันชก 'อีลอน' แต่คู่กรณีเงียบกริบ มวยคู่ประวัติศาสตร์หยุดโลก
ศึกมวยกรงที่คนทั่วทั้งโลกจับตามอง และให้ความสนใจเป็นพิเศษ ในการดวลกันระหว่างสองเจ้าพ่อยักษ์ใหญ่แห่งวงการเทคโนโลยี อย่าง อีลอน มัสก์ เจ้าของทวิตเตอร์ กับมาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก เจ้าของเฟซบุ๊ก ที่สาดคารมตอบโต้กันไปมาไม่หยุดหย่อน
นายกฯยินดี 'องค์การนาซา' เชื่อมั่นผลิตภัณฑ์อาหารเนื้อไก่ของไทย ให้เป็นอาหารนักบินอวกาศ
นายกฯ ยินดี องค์การนาซา เชื่อมั่นผลิตภัณฑ์อาหารเนื้อไก่ของไทย พิจารณาให้เป็นอาหารสำหรับนักบินอวกาศ สร้างความภาคภูมิใจให้สินค้าไทย สู่นวัตกรรมอาหารระดับอวกาศ