ฟิลิปปินส์ช่วยเหลือเหยื่อค้ามนุษย์กว่า 1,000 คน

ทางการฟิลิปปินส์ได้ช่วยเหลือผู้คนกว่าพันคนจากหลายชาติในเอเชียซึ่งถูกขบวนการค้ามนุษย์นำเข้ามาในประเทศ, ถูกจับเป็นเชลย และถูกบังคับให้หลอกลวงทางออนไลน์

ตำรวจฟิลิปปินส์บุกค้นอาคารอยู่อาศัยในเมืองมาบาลากัต ห่างจากกรุงมะนิลาไปทางเหนือประมาณ 90 กิโลเมตร และช่วยเหลือเหยื่อค้ามนุษย์กว่า 1,000 คน จากหลากหลายชาติที่ลักลอบเข้าประเทศอย่างผิดกฏหมายและถูกบังคับให้ทำงานหลอกลวงในรูปแบบคอลเซ็นเตอร์ เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม (Photo by Handout / Philippine National Police Anti-Cybercrime Group / AFP)

เอเอฟพีรายงาน เมื่อวันเสาร์ที่ 6 พฤษภาคม 2566 กล่าวว่า กองกำลังตำรวจแห่งชาติฟิลิปปินส์นำกำลังบุกค้นอาคารอยู่อาศัยในเมืองมาบาลากัต ห่างจากกรุงมะนิลาไปทางเหนือประมาณ 90 กิโลเมตร และค้นพบผู้ลักลอบเข้าประเทศอย่างผิดกฏหมายกว่า 1,000 คน

การเตือนภัยระหว่างประเทศเพิ่มขึ้นในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา เนื่องจากการขยายตัวของขบวนการหลอกลวงทางอินเทอร์เน็ตในภูมิภาคนี้ ซึ่งมักมีผู้คนตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์จากการถูกหลอกหรือถูกบีบบังคับให้ส่งเสริมการลงทุนคริปโตปลอม

มิเชลล์ ซาบิโน โฆษกหญิงของแผนกต่อต้านอาชญากรรมไซเบอร์ของกองกำลังตำรวจแห่งชาติฟิลิปปินส์ กล่าวว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถช่วยเหลือเหยื่อทั้งหมด 1,090 คนที่ถูกล่อลวงและนำตัวเข้าประเทศอย่างผิดกฏหมายเพื่อดำเนินการหลอกลวงทางออนไลน์

ซาบิโนกล่าวว่า เหยื่อถูกบังคับให้พุ่งเป้าดำเนินการหลอกลวงต่อผู้คนในแถบสหรัฐอเมริกา, ยุโรป และแคนาดา 

"หนังสือเดินทางของพวกเขาถูกยึดและพวกเขาต้องทำงานถึง 18 ชั่วโมงต่อวัน โดยมีการลงโทษด้วยการหักเงินเดือนหากมีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงานหรือหยุดพักงาน พวกเขาถูกปฏิบัติเหมือนนักโทษที่ไม่มีห้องขัง พวกเขาไม่ได้รับอนุญาตให้ออกไปนอกประตู หลังจากทำงาน 18 ชั่วโมงพวกเขาจะถูกนำตัวไปที่หอพักและไม่ได้รับอนุญาตให้พูดคุยกับเพื่อนร่วมห้องด้วยซ้ำ" ซาบิโนบอกกับเอเอฟพี

ตามรายงานอย่างเป็นทางการของตำรวจ เหยื่อค้ามนุษย์ที่ถูกช่วยเหลือไว้ได้ส่วนใหญ่เป็นชาวจีน, เวียดนาม, ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย นอกจากนี้ยังมีบางส่วนที่มาจากมาเลเซีย, ไทย, ไต้หวัน, เมียนมา, ฮ่องกง และเนปาล

ซาบิโนกล่าวว่า บรรดาเหยื่อถูกขบวนการค้ามนุษย์ฝึกฝนการล่อลวงคนแปลกหน้าให้ลงทุนในเงินคริปโต (Cryptocurrency) หรือฝากเงินเข้าบัญชีธนาคารปลอม ด้วยการสร้างความสัมพันธ์โรแมนติกปลอมๆ (โรแมนซ์แสกม) เช่น สัญญาว่าจะสร้างอนาคตที่ดีร่วมกัน, ซื้อบ้าน, ซื้อรถ, ลงทุนทางการเงิน หรือทำธุรกิจด้วยกัน

"ผู้ต้องสงสัยระดับหัวโจกของขบวนการนี้อย่างน้อย 12 คนถูกจับกุมและถูกตั้งข้อหาค้ามนุษย์ ในจำนวนนี้มีชาวจีน 7 คน, ชาวอินโดนีเซีย 4 คน และชาวมาเลเซีย 1 คน" ซาบิโนกล่าว

โฆษกหญิงยังกล่าวอีกว่า ปฏิบัติการของตำรวจเป็นผลมาจากคำร้องของเอกอัครราชทูตอินโดนีเซียประจำกรุงมะนิลาที่ขอให้ช่วยตามหาพลเมืองซึ่งถูกล่อลวงมา

เมื่อเดือนที่แล้ว ริซา ฮอนติเวรอส วุฒิสมาชิกฟิลิปปินส์ เคยประกาศเตือนว่า "แก๊งคอลเซ็นเตอร์" กำลังก่ออาชญากรรมเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในฟิลิปปินส์ ด้วยการว่าจ้างชาวต่างชาติที่ลักลอบเข้าประเทศมาอย่างผิดกฏหมายและไม่มีทางเลือกในการทำงานสุจริต.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ยิมนาสติก'ซีเกมส์'งานหนัก 'ฟิลิปปินส์-มาเลเซีย'จ้องล้มไทย

น.ต.ศรายุทธ พัฒนศักดิ์ นายกสมาคมกีฬายิมนาสติกแห่งประเทศไทย เป็นประธานการประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2567  ณ ห้องประชุม สมาคมกีฬายิมนาสติกแห่งประเทศไทย ในซอยเพชรเกษม 81 พร้อมทั้งกรรมการบริหาร ดร.กุสุมาลย์ ประเสริฐศรี, น.ส.รุ่งกานต์ แสงทองสกุลเลิศ , นายวีระพงษ์ บริสุทธิ์สุขกมล และมีผู้แทนสโมสรสมาชิกสามัญเข้าร่วมประชุมจำนวน 30 สโมสร จากทั้งสิ้น 39 สโมสร

กสม.แนะทบทวน กม.คุ้มครองเด็กที่เกิดด้วยเทคโนโลยี

กสม.แนะทบทวน พ.ร.บ.คุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ฯ เพิ่มความคุ้มครองแก่เด็กและหญิงที่รับตั้งครรภ์แทนจากขบวนการค้ามนุษย์

'ทูตญี่ปุ่น' ขอบคุณตำรวจไทย จับแก๊งคอลเซ็นเตอร์ พร้อมมอบเกียรติบัตร

พล.ต.อ.ธัชชัย ปิตะนีละบุตร จเรตำรวจแห่งชาติ ให้การต้อนรับ นายโอตากะ มาซาโตะ เอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็มแห่งญี่ปุ่น ประจำราชอาณาจักรไทย และคณะ

'อิชิอิ'รับเสียเปรียบฟิลิปปินส์ แต่จะเอาชนะให้ได้ เพื่อเข้ารอบชิงฯอาเซียน

เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2567 เวลา 16.30 น. ณ ห้องแถลงข่าว สนามราชมังคลากีฬาสถาน ฝ่ายจัดการแข่งขันสหพันธ์ฟุตบอลอาเซียน(AFF) จัดงานแถลงข่าวก่อนการแข่งขันฟุตบอล ASEAN Mitsubishi Electric Cup 2024 รอบรองชนะเลิศ นัดที่สอง ระหว่าง ทีมชาติไทย กับ ทีมชาติฟิลิปปินส์