แซ่ซ้องสรรเสริญ พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 และพระราชินีคามิลลาหลังเสร็จสิ้นพิธีบรมราชาภิเษก

พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 ได้รับการสวมมงกุฎกษัตริย์อย่างเป็นทางการในพิธีบรมราชาภิเษกครั้งแรกในอังกฤษนับตั้งแต่ปีค.ศ. 1953 และเถลิงราชสมบัติตามประเพณีร่วมกับพระราชินีคามิลลาในวาระเดียวกัน

สมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 แห่งสหราชอาณาจักร และพระราชินีคามิลลา ทรงโบกพระหัตถ์จากระเบียงของพระราชวังบักกิงแฮมในกรุงลอนดอน ภายหลังเสร็จสิ้นพิธีบรมราชาภิเษก เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม (Photo by Oli SCARFF / AFP)

เอเอฟพีรายงาน เมื่อวันเสาร์ที่ 6 พฤษภาคม 2566 กล่าวว่า สมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 แห่งสหราชอาณาจักร ได้รับการสวมมงกุฎกษัตริย์ของอังกฤษอย่างเป็นทางการในพิธีบรมราชาภิเษกครั้งสำคัญในรอบ 70 ปี

เมื่อเวลา 12.02 น. ตามเวลาท้องถิ่น (18.02 น. ตามเวลาประเทศไทย) จัสติน เวลบี อาร์คบิชอปแห่งแคนเทอร์เบอรี ได้วางมงกุฎทองคำของเซนต์เอ็ดเวิร์ดลงบนพระเศียรของสมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 เพื่อเป็นการแสดงสัญลักษณ์อันศักดิ์สิทธิ์และเก่าแก่ของอำนาจของกษัตริย์ และเป็นเครื่องยืนยันสถานะอันสมบูรณ์ในฐานะพระประมุขของอังกฤษ

เสียงร้อง "God Save the King" ดังขึ้นจากผู้เข้าร่วมพิธีดังกล่าวกว่า 2,300 คนที่เวสต์มินสเตอร์แอบบีย์ ในกรุงลอนดอน และการประโคมแตรก็ดังขึ้นเมื่อผ่านพ้นห้วงเวลาแห่งพิธียืนยันทางศาสนาอันเก่าแก่ของการภาคยานุวัติสู่การเป็นกษัตริย์

ขณะที่ผู้มาร่วมพิธีที่อยู่ด้านนอกร่วมโห่ร้องสดุดีแข่งกับเสียงระฆังดังของโบสถ์ และเสียงสลุตปืนที่ดังสนั่นไปทั่วทั้งทางบกและทางน้ำ

สมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 พระชนมายุ 74 พรรษา จะทรงสวมมงกุฎเซนต์เอ็ดเวิร์ดเพียงครั้งเดียวในรัชสมัยของพระองค์ ขณะที่คามิลลา พระชายาวัย 75 ปี ได้รับการสวมมงกุฎเป็นราชินีในพิธีเรียบง่ายหลังจากนั้นไม่นาน

พิธีสวดและสรรเสริญแบบคริสต์ที่สืบทอดมายาวนานกว่า 1,000 ปีในประวัติศาสตร์และประเพณีของอังกฤษ พร้อมฉลองพระองค์หรูหราและเครื่องราชกกุธภัณฑ์อันหาค่ามิได้ ถือเป็นสิ่งที่หาดูได้ยากยิ่งในปัจจุบัน อันอาจรวมถึงกาลภายภาคหน้าด้วยเช่นกัน

สมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 แห่งสหราชอาณาจักร และพระราชินีคามิลลา (Photo by Oli SCARFF / AFP)

ในฐานะกษัตริย์ สมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 จะเป็นประมุขสูงสุดของนิกายเชิร์ชออฟอิงแลนด์ ซึ่งพระองค์ประกาศตัวเองว่าทรงเป็น "คริสเตียนนิกายแองกลิกันที่แน่วแน่"

อย่างไรก็ดี พระองค์ทรงเป็นประมุขของประเทศที่มีความหลากหลายทางศาสนาและเชื้อชาติมากกว่ารัชสมัยของพระมารดาที่สืบทอดราชบัลลังก์ภายใต้เงาของสงครามโลกครั้งที่สอง

ด้วยเหตุนี้ พระองค์จึงพยายามเปลี่ยนแปลงรายละเอียดในพิธีบรมราชาภิเษกให้สะท้อนถึงความเป็นสังคมอังกฤษมากขึ้น ด้วยการเชื้อเชิญสมาชิกสามัญของสาธารณชนให้นั่งเคียงข้างประมุขแห่งรัฐและราชวงศ์ทั่วโลก

ในการเปลี่ยนแปลงด้านอื่น พระองค์ทรงผสานความสนใจตลอดชีวิตของพระองค์ในด้านความหลากหลายทางชีวภาพและความยั่งยืนลงไปในพิธีบรมราชาภิเษกของยุคใหม่

ดอกไม้และใบไม้ตามฤดูกาลถูกนำมาจากเกาะสกายทางตะวันตกเฉียงเหนือของสกอตแลนด์ ตลอดจนคอร์นวอลล์ที่ปลายสุดของชายฝั่งตะวันตกเฉียงใต้ของอังกฤษ เพื่อนำมาประดับเติมเต็มอารามพิธี

นอกจากนี้ ชุดพิธีการจากพิธีบรมราชาภิเษกครั้งก่อนๆ ถูกนำมาใช้ซ้ำ ส่วนน้ำมันเจิมที่ปรุงด้วยมะกอกก็นำมาจากสวนบนภูเขา และปรุงน้ำหอมด้วยน้ำมันหอมระเหยแบบวีแกน

ริชี ซูนัค นายกรัฐมนตรีผิวสีคนแรกของอังกฤษ ซึ่งเป็นผู้ถวายการอ่านคัมภีร์ไบเบิลในพิธีดังกล่าว ได้กล่าวถึงพิธีบรมราชาภิเษกว่าเป็น "การแสดงออกทางประวัติศาสตร์, วัฒนธรรม และประเพณีอันน่าภาคภูมิใจของประเทศเรา"

ความนิยมและสนับสนุนสถาบันพระมหากษัตริย์เริ่มลดลงในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะในกลุ่มคนรุ่นใหม่ เห็นได้จากการประท้วงคัดค้านสถานะกษัตริย์และราชวงศ์ รวมทั้งการตั้งคำถามถึงงบประมาณมหาศาลในการจัดพิธีบรมราชาภิเษกครั้งนี้ เช่นเดียวกับสถานะประมุขที่สั่นคลอนในกลุ่มประเทศสหราชอาณาจักร ถึงกระนั้นยังคงมีประชาชนอีกจำนวนมหาศาลที่ยึดมั่นและศรัทธาต่อราชวงศ์ เห็นได้จากการเฝ้าติดตามและการเดินทางมาร่วมพิธีจากทั่วทุกสารทิศตลอดทั้งสัปดาห์ เพื่อสรรเสริญพระบารมีของกษัตริย์และราชินีพระองค์ใหม่แห่งสหราชอาณาจักรในวันสำคัญนี้.

สมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 แห่งสหราชอาณาจักร และพระราชินีคามิลลาทรงประทับนั่งในพระราชพาหนะโกลด์สเตต (The Gold State Coach) เพื่อเดินทางไปยังพระราชวังบักกิงแฮม ภายหลังเสร็จสิ้นพิธีบรมราชาภิเษกที่เวสต์มินสเตอร์แอบบีย์ (Photo by Adrian DENNIS / POOL / AFP)

ฝูงบิน"เรด แอร์โรว์ส"ของกองทัพอากาศอังกฤษ ทำการบินผาดแผลงใจกลางกรุงลอนดอนเพื่อร่วมเฉลิมฉลองหลังพิธีบรมราชาภิเษก (Photo by Marco BERTORELLO / AFP)

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เมื่อสมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 ทรงเปิดเผยความจริงต่อสาธารณะ

ในเดือนกุมภาพันธ์ปี 1952 ที่พระราชวังแซนดริงแฮม พระเจ้าจอร์จที่ 6 ซึ่งเป็นพระอัยกาของสมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 สิ้นพระชนม์อ