อินเดียกลายเป็นประเทศแรกที่ลงจอดยานอวกาศใกล้ขั้วใต้ของดวงจันทร์

อินเดียกลายเป็นประเทศแรกที่ส่งยานอวกาศลงจอดใกล้ขั้วใต้ของดวงจันทร์ได้สำเร็จ ถือเป็นชัยชนะครั้งประวัติศาสตร์ของประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลก แม้โครงการอวกาศจะใช้เงินทุนเพียงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับมหาอำนาจชาติอื่น

ชาวอินเดียชมการถ่ายทอดสดที่ออกอากาศโดยเว็บไซต์องค์การวิจัยอวกาศอินเดีย ที่ศูนย์วิทยาศาสตร์เนห์รู ในนครมุมไบ เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม ก่อนการลงจอดของยานอวกาศจันทรยาน-3 บนขั้วใต้ของดวงจันทร์ได้สำเร็จ (Photo by Punit PARANJPE / AFP)

เอเอฟพีรายงาน เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 24 สิงหาคม 2566 กล่าวว่า ยานอวกาศจันทรยาน-3 (Chandrayaan-3) ของอินเดีย สามารถร่อนลงจอดใกล้ขั้วใต้ของดวงจันทร์ได้สำเร็จเมื่อเวลา 18.04 น. ตามเวลาอินเดีย (19.34 น. ตามเวลาประเทศไทย) ท่ามกลางเสียงโห่ร้องยินดีของทุกฝ่ายที่เฝ้ามองผ่านการถ่ายทอดสด

ภารกิจครั้งนี้ถือเป็นชัยชนะครั้งประวัติศาสตร์ของชาติ ทำให้อินเดียกลายเป็นประเทศแรกที่ลงจอดยานอวกาศใกล้ขั้วใต้ของดวงจันทร์ได้สำเร็จ และเป็นประเทศลำดับที่ 4 ของโลกที่ลงจอดยานอวกาศบนพื้นผิวดวงจันทร์ได้ ต่อจากรัสเซีย, สหรัฐอเมริกา และจีน

ก่อนหน้าไม่กี่วัน ภารกิจเดียวกันนี้ของหน่วยงานอวกาศรัสเซียไม่ประสบความสำเร็จในการนำยานอวกาศลูน่า-25 (Luna-25) ลงจอดในบริเวณขั้วใต้ของดวงจันทร์ และเปิดโอกาสให้ยานอวกาศของอินเดียสามารถทำภารกิจนี้ได้ลุล่วงเป็นชาติแรกแทน

นายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี ของอินเดีย ร่วมประกาศความสำเร็จไปกับประชาชนทั่วประเทศที่ต่างโห่ร้องยินดีพร้อมสะบัดธงชาติด้วยความภาคภูมิใจตามสถานที่ต่างๆ

"ภารกิจดวงจันทร์ที่ประสบความสำเร็จของอินเดียไม่ใช่แค่ของอินเดียเท่านั้น แต่เป็นความสำเร็จของมนุษยชาติทุกคน" โมดีกล่าว

ภารกิจของจันทรยาน-3 ดึงดูดความสนใจจากสาธารณชนนับตั้งแต่เปิดตัวเมื่อเกือบ 6 สัปดาห์ก่อน ต่อหน้าผู้ชมหลายพันคนที่ส่งเสียงเชียร์และร่วมเป็นสักขีพยานในการปล่อยจรวดขึ้นสู่วงโคจร

จันทรายาน-3 ใช้เวลาในการไปถึงดวงจันทร์นานกว่าภารกิจอะพอลโลในช่วงทศวรรษปี 1960 และ 1970 ซึ่งใช้เวลาเพียงไม่กี่วัน ทั้งนี้เพราะอินเดียใช้จรวดที่มีกำลังน้อยกว่าจรวดที่สหรัฐฯ เคยใช้ในสมัยนั้นมาก ซึ่งหมายความว่ายานสำรวจจะต้องโคจรรอบโลกหลายครั้งเพื่อเพิ่มความเร็วก่อนที่จะออกเดินทางนานหนึ่งเดือน

ประเทศในเอเชียใต้แห่งนี้มีโครงการอวกาศที่มีงบประมาณค่อนข้างต่ำ แต่เป็นโครงการที่มีขนาดและโมเมนตัมเพิ่มขึ้นอย่างมากนับตั้งแต่ส่งยานสำรวจไปโคจรรอบดวงจันทร์ครั้งแรกในปี 2551 โดยภารกิจล่าสุดนี้มีค่าใช้จ่ายเพียง 74.6 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 2,600 ล้านบาท) ซึ่งต่ำกว่าภารกิจของประเทศอื่นๆ มาก และเป็นเครื่องพิสูจน์ถึงความประหยัดด้านวิศวกรรมอวกาศของอินเดีย

ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า อินเดียสามารถรักษาต้นทุนให้ต่ำได้ด้วยการคัดลอกและปรับใช้เทคโนโลยีที่มีอยู่ และต้องขอบคุณวิศวกรที่มีทักษะสูงจำนวนมากที่ร่วมมือร่วมใจแม้จะได้ค่าแรงต่ำกว่าวิศวกรชั้นนำในต่างแดนก็ตาม ซึ่งจะทำให้อินเดียสามารถขยับเข้าใกล้มหาอำนาจด้านอวกาศระดับโลกอย่างสหรัฐฯ และรัสเซียได้ ด้วยปฏิบัติการหลายอย่างในราคาที่ถูกกว่ามาก

หลังจากนี้ จันทรยาน-3 ซึ่งขับเคลื่อนด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ จะทำการสำรวจพื้นผิวดวงจันทร์ และส่งข้อมูลกลับมายังโลกตลอดอายุภารกิจ 2 สัปดาห์.

เพิ่มเพื่อน