อินเดียเตรียมบังคับใช้กฎหมายแบ่งแยกสัญชาติ

กระทรวงมหาดไทยของอินเดียจะบังคับใช้กฎหมายความเป็นพลเมือง ก่อนเข้าสู่ช่วงการเลือกตั้งทั่วไปในอีกไม่กี่สัปดาห์ ซึ่งนักวิจารณ์กล่าวว่าเป็นการเลือกปฏิบัติต่อชาวมุสลิม

นักเคลื่อนไหวของสมาพันธ์นักเรียนออลอัสสัม (AASU) ได้จุดไฟเผาสำเนาพระราชบัญญัติการแก้ไขความเป็นพลเมืองของรัฐบาลอินเดีย ในระหว่างการประท้วงในเมืองกูวาฮาติเมื่อวันที่ 11 มีนาคม (Photo by Biju BORO / AFP)

เอเอฟพีรายงาน เมื่อวันอังคารที่ 12 มีนาคม 2567 กล่าวว่า กระทรวงมหาดไทยของอินเดียเตรียมบังคับใช้กฎหมายความเป็นพลเมืองเร็วๆนี้ ท่ามกลางเสียงวิจารณ์ว่าเป็นการเลือกปฏิบัติต่อชาวมุสลิม

แม้ว่ากฎหมายดังกล่าวผ่านการอนุมัติมาตั้งแต่เดือนธันวาคม 2562 แต่การบังคับใช้จริงถูกเลื่อนออกไป หลังเกิดการประท้วงในวงกว้างจนกลายเป็นความรุนแรงที่มีผู้เสียชีวิตกว่า 100 ราย

กฎหมายดังกล่าวมอบสัญชาติอินเดียแก่ชาวฮินดู, ปาร์ซี, ซิกข์, พุทธ, เชน และคริสเตียน ที่เดินทางจากปากีสถาน, อัฟกานิสถาน และบังกลาเทศ เข้ามายังอินเดียก่อนเดือนธันวาคม 2557 แต่งดเว้นการมอบให้แก่ชาวมุสลิม

เมื่อวันจันทร์ กระทรวงมหาดไทยกล่าวว่ากฎหมายดังกล่าวกำลังจะมีผลบังคับใช้แล้ว

"กฎหมายความเป็นพลเมืองที่แก้ไขเพิ่มเติมในปี 2567 จะช่วยให้ผู้มีสิทธิ์ สมัครขอรับสัญชาติอินเดียได้" กระทรวงฯระบุในถ้อยแถลง

ชาวมุสลิมจำนวน 200 ล้านคนในอินเดียเกรงว่ากฎหมายดังกล่าวจะเป็นรากฐานของการขึ้นทะเบียนพลเมืองระดับชาติ ซึ่งอาจทำให้พวกเขากลายเป็นคนไร้รัฐไร้สัญชาติในประเทศที่มีประชากรกว่า 1,400 ล้านคนแห่งนี้

ปัจจุบันมีชาวอินเดียยากจนจำนวนมากที่ไม่มีเอกสารพิสูจน์สัญชาติของตน

นายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี ปฏิเสธเรื่องนี้ โดยกล่าวว่าที่ชาวมุสลิมไม่ได้รับการคุ้มครองภายใต้กฎหมายนี้ เพราะพวกเขาไม่ต้องการการคุ้มครองจากอินเดีย

ทั้งนี้ ผู้ที่มีสัญชาติอินเดียจะได้รับการบันทึกลงในทะเบียนพลเมืองแห่งชาติ (NRC) หรือรายชื่อพลเมืองตามกฎหมายทั้งหมด

ขณะที่อามิท ชาห์ รัฐมนตรีมหาดไทยอินเดีย กล่าวในแถลงการณ์ว่า "กฎหมายเหล่านี้จะช่วยให้ชนกลุ่มน้อยที่ถูกข่มเหงด้วยเหตุผลทางศาสนาในปากีสถาน, บังกลาเทศ และอัฟกานิสถาน ได้รับสัญชาติในประเทศของเรา"

ชาห์กล่าวว่า โมดีได้ตระหนักและทำตามคำมั่นสัญญาของอดีตผู้สร้างรัฐธรรมนูญของเราที่มีต่อชาวฮินดู, ซิกข์, พุทธ, เชน, ปาร์ซี และคริสเตียนที่อาศัยอยู่ในประเทศเหล่านั้น

อย่างไรก็ตาม นอกจากกีดกันชาวมุสลิมแล้ว การบังคับใช้กฏหมายฉบับนี้จะยิ่งจุดชนวนการประท้วงของประชาชนที่ไม่พอใจกับการไหลบ่าเข้ามาของชาวฮินดูจากบังกลาเทศ

กฎหมายยังระบุไว้ว่าจะไม่มอบสัญชาติให้ผู้อพยพจากประเทศที่ไม่ใช่มุสลิมที่หลบหนีการกดขี่ข่มเหงไปยังอินเดีย ซึ่งหมายถึงผู้ลี้ภัยชาวทมิฬจากศรีลังกา, ชาวพุทธทิเบตที่หลบหนีการปกครองของจีน และผู้ลี้ภัยชาวมุสลิมโรฮีนจาจากเมียนมา

กลุ่มสิทธิมนุษยชนฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าวถึงกฎหมายนี้ว่าเป็น "การเลือกปฏิบัติ" และเป็นครั้งแรกในอินเดียที่คำนึงถึงศาสนาเป็นพื้นฐานในการให้สัญชาติ

คาดว่าอินเดียจะประกาศวันเลือกตั้งทั่วไปเร็วๆ นี้ ซึ่งน่าจะจัดขึ้นในเดือนเมษายนถึงพฤษภาคม โดยโมดีได้รับการสนับสนุนอย่างท่วมท้นให้คว้าชัยจากการเลือกตั้งเป็นสมัยที่ 3.

เพิ่มเพื่อน