มีกระแสข่าวลือมากมายเกี่ยวกับแผนการที่อินเดียจะยกเลิกการใช้ชื่อภาษาอังกฤษของประเทศอย่างเป็นทางการ หลังใช้คำว่า "ภารัต" เรียกชื่อประเทศตัวเองในคำเชิญที่ออกโดยรัฐส่งไปยังผู้นำโลก

ป้ายประชาสัมพันธ์ที่มีชื่อเรียกประเทศว่า "ภารัต" นำหน้าชื่อภาษาอังกฤษ "อินเดีย" ท่ามกลางข่าวลือที่ว่ารัฐบาลของนายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี เตรียมเปลี่ยนชื่อประเทศ เพื่อลบความเป็นอาณานิคมของอังกฤษ (Photo by Sajjad HUSSAIN / AFP)
เอเอฟพีรายงาน เมื่อวันพุธที่ 6 กันยายน 2566 กล่าวว่า มีข่าวลือเกี่ยวกับรัฐบาลของนายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี เรื่องความพยายามกำจัดสัญลักษณ์ที่ยังหลงเหลืออยู่ของการถูกปกครองในฐานะอาณานิคมของอังกฤษ ให้หมดไปจากภูมิทัศน์เมือง, สถาบันทางการเมือง และหนังสือประวัติศาสตร์ของอินเดีย โดยอาจรวมถึงการเปลี่ยนชื่อประเทศ
โดยทั่วไปแล้ว โมดีจะเรียกอินเดียว่า "ภารัต (Bharat)" ซึ่งเป็นคำที่ย้อนกลับไปถึงพระคัมภีร์ฮินดูโบราณที่เขียนด้วยภาษาสันสกฤต และเป็นหนึ่งในสองชื่ออย่างเป็นทางการในบทบัญญัติรัฐธรรมนูญของประเทศ
ก่อนหน้านี้สมาชิกของพรรครัฐบาลชาตินิยมฮินดูของเขาเคยรณรงค์ต่อต้านการใช้ชื่อที่รู้จักกันดีของประเทศคือ "อินเดีย" ซึ่งมีรากฐานโบราณของฝั่งตะวันตกและถูกกำหนดขึ้นระหว่างการปกครองโดยอังกฤษ
สุดสัปดาห์นี้ อินเดียจะเป็นเจ้าภาพการประชุมสุดยอดผู้นำโลก จี20 และปิดท้ายด้วยงานเลี้ยงอาหารค่ำของรัฐที่การ์ดเชิญถูกระบุว่า "ประธานาธิบดีแห่งภารัต" จะเป็นเจ้าภาพ
ก่อนหน้านี้ รัฐบาลได้เรียกประชุมรัฐสภาสมัยพิเศษในช่วงปลายเดือน แต่ยังคงปิดปากเงียบเกี่ยวกับวาระการออกกฎหมายเรื่องดังกล่าว
ข่าวลือเกี่ยวกับแผนดังกล่าวเพียงพอที่จะจุดชนวนให้มีเสียงวิจารณ์จากส.ส. ฝ่ายค้านในรัฐสภา เช่นเดียวกับภาคส่วนอื่นๆ ที่มีทั้งเห็นด้วยและคัดค้านผสมปนเปกันไป
เป็นเวลาหลายทศวรรษแล้วที่รัฐบาลอินเดียเริ่มเปลี่ยนชื่อถนนและเมืองที่มีมาตั้งแต่ยุคอาณานิคมของอังกฤษ
กระบวนการดังกล่าวทวีความรุนแรงมากขึ้นภายใต้รัฐบาลที่นำโดยโมดี ซึ่งกล่าวสุนทรพจน์ในที่สาธารณะโดยเน้นย้ำถึงความจำเป็นที่อินเดียจะต้องละทิ้งร่องรอยของ "กรอบความคิดแบบอาณานิคม"
เมื่อเดือนที่แล้ว มีการร่างแผนสำหรับการยกเครื่องประมวลกฎหมายอาญาก่อนการประกาศอิสรภาพของอินเดีย เพื่อลบการอ้างอิงถึงสถาบันกษัตริย์อังกฤษ และสิ่งที่เป็นสัญญาณอื่นๆ ของความเป็นทาส
นอกจากนี้ รัฐบาลของโมดียังได้ลบชื่อทางอิสลามออกจากสถานที่หลายแห่งที่ถูกกำหนดขึ้นตั้งแต่สมัยอาณาจักรโมกุล (ก่อนหน้าการปกครองของอังกฤษ) เพื่อให้คงไว้ซึ่งอำนาจสูงสุดของศาสนาฮินดูที่คนส่วนใหญ่ในอินเดียนับถือ.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
'แจ๊ส สรวีย์' เจาะลึกวัดฮินดู พาชม 'รอยเท้าของพระเจ้าวิษณุ'
เที่ยวประเทศอินเดียพร้อมซึมซับเรื่องราวทางวัฒนธรรม-ศาสนาอย่างเพลิดเพลิน ล่าสุดรายการ “รูทเตลู” (ROUTELU) ดำเนินรายการโดย พิธีกรรับเชิญพิเศษ “แจ๊ส-สรวีย์ รวีรัฐฐากรณ์” ที่จะพาออกเดินทางไปศึกษาวัฒนธรรมต่างศาสนา ดูการประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ พร้อมตามรอยไปรำลึกถึงจุดกำเนิดของศาสนาฮินดู
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวถ้อยแถลงเปิดประชุม Voice of the South Summit
นายกฯ กล่าวถ้อยแถลงเปิดการประชุม Voice of the South Summit ผลักดันความร่วมมือระหว่างประเทศกำลังพัฒนา ยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชน