สนธิสัญญาทะเลหลวงเข้าใกล้ความเป็นจริง หลังการลงนามรับรองครั้งแรก

หลายสิบประเทศจะลงนามในสนธิสัญญาประวัติศาสตร์ว่าด้วยการปกป้องทะเลหลวง เพื่อเริ่มบังคับใช้ข้อตกลงที่ออกแบบมาเพื่อปกป้องระบบนิเวศสำคัญของโลก

นักเคลื่อนไหวจากกรีนพีซกางป้ายขนาดใหญ่หน้าสำนักงานใหญ่ของสหประชาชาติ ในระหว่างการเจรจาเกี่ยวกับสนธิสัญญาเพื่อปกป้องทะเลหลวง ในนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา (Photo by Ed JONES / AFP)

เอเอฟพีรายงาน เมื่อวันพุธที่ 20 กันยายน 2566 กล่าวว่า ความเคลื่อนไหวภายหลังสนธิสัญญาว่าด้วยทะเลหลวงได้รับการรับรองในที่ประชุมสหประชาชาติเมื่อเดือนมิถุนายน ล่าสุด หลายสิบประเทศจะทำการลงนามเป็นครั้งแรกในสนธิสัญญาดังกล่าว เพื่อเริ่มบังคับใช้อย่างเร่งด่วน

สนธิสัญญาทะเลหลวงถูกออกแบบมาเพื่อปกป้องระบบนิเวศที่สำคัญต่อโลก โดยการผลักดันขององค์การสหประชาชาติ ที่ใช้เวลาหารือกันนานกว่า 15 ปี รวมถึงการเจรจาอย่างเป็นทางการอีก 4 ปี

"การเริ่มต้นการลงนามในระหว่างการประชุมสมัชชาใหญ่ประจำปีของสหประชาชาติ ถือเป็นก้าวสำคัญในการสร้างการคุ้มครองที่มีความหมาย" นิโคลา คลาร์ก จากโครงการธรรมาภิบาลมหาสมุทรขององค์กร The Pew Charitable Trusts กล่าว และเสริมว่า "เราเริ่มต้นบทใหม่ที่ประชาคมโลกต้องดำเนินการอย่างกล้าหาญเพื่อให้บรรลุถึงการคุ้มครองเหล่านั้น และรับประกันว่าแหล่งกักเก็บความหลากหลายทางชีวภาพขนาดมหึมาในมหาสมุทรจะยังคงให้ประโยชน์ต่อสุขภาพของมหาสมุทรและชุมชนทั่วโลกที่ต้องพึ่งพามัน"

ข้อความของสนธิสัญญาได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการโดยฉันทามติ แม้รัสเซียจะท้วงว่ามีเนื้อหาบางส่วนไม่เป็นที่ยอมรับก็ตาม

ทั้งนี้ทะเลหลวง (มหาสมุทร) กว่าครึ่งของโลกอยู่นอกเขตเศรษฐกิจจำเพาะหรือนอกชายฝั่งเกินกว่า 370 กิโลเมตรของแต่ละประเทศ จึงไม่อยู่ภายใต้เขตอำนาจของรัฐใดรัฐหนึ่งในการรับผิดชอบ ดังนั้นการให้ความคุ้มครองสิ่งที่เรียกว่า "ทะเลหลวง" จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือของทุกประเทศ

ทะเลหลวงถูกละเลยมานานในการต่อสู้ด้านสิ่งแวดล้อมหลายต่อหลายครั้ง เนื่องจากผู้คนมักจะสนใจอยู่แค่พื้นที่ชายฝั่งและสิ่งมีชีวิตหลักๆไม่กี่ชนิด

เครื่องมือสำคัญในสนธิสัญญาดังกล่าวคือ การกำหนดความสามารถในการสร้างพื้นที่คุ้มครองทางทะเลในน่านน้ำสากล ซึ่งปัจจุบัน ทะเลหลวงเพียงประมาณ 1% เท่านั้นที่ได้รับการคุ้มครองโดยมาตรการอนุรักษ์ทุกประเภท

สนธิสัญญานี้ถูกมองว่ามีความสำคัญต่อประเทศต่างๆ ที่จะปกป้อง 30% ของมหาสมุทรและผืนดินของโลกภายในปี 2573 ตามข้อตกลงแยกอีกฉบับที่รัฐบาลโลกได้บรรลุร่วมกันในแคนาดาเมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา

สนธิสัญญาทะเลหลวงมีชื่ออย่างเป็นทางการว่า "สนธิสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพนอกเหนือเขตอำนาจแห่งชาติ" หรือบีบีเอ็นเจ (BBNJ) และได้รับการคาดหวังให้มีการผลักดันสู่การให้สัตยาบันของทุกประเทศสมาชิกในการประชุมมหาสมุทรแห่งสหประชาชาติครั้งต่อไปที่เมืองนีซ ประเทศฝรั่งเศส ในเดือนมิถุนายน 2568

หลังจาก 60 ประเทศให้สัตยาบันครบแล้ว สนธิสัญญาจะมีผลใช้บังคับภายใน 120 วัน

ตามข้อมูลขององค์การสหประชาชาติ รัฐบาลมากกว่า 60 ประเทศวางแผนที่จะเริ่มสนธิสัญญานี้ทันที แต่การให้สัตยาบันอย่างเป็นทางการขึ้นอยู่กับกระบวนการภายในของแต่ละประเทศ

นักวิทยาศาสตร์เริ่มตระหนักถึงความสำคัญของมหาสมุทรมากขึ้นเรื่อยๆ ในฐานะแหล่งผลิตออกซิเจนส่วนใหญ่ที่มนุษย์ใช้ในการหายใจ และมีบทบาทในการหยุดยั้งการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วยการดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ รวมถึงเป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพในระดับจุลภาค.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'อังคนา' เผยสหประชาชาติจี้ไทยรับผิดชอบการสูญหายของ 'ทนายสมชาย' เมื่อ20ปีก่อน

นางอังคณา นีละไพจิตร อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ นักเคลื่อนไหวสตรี ภรรยาของนายสมชาย นีละไพจิตร นักกฎหมายและนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนมุสลิมชาวไทยที่หายสาบสูญ โพสต์ข่าวสารจากเว็บไซต์ คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ว่า

สหประชาชาติเตือน ฉนวนกาซาแทบไม่เหลือสภาพเป็นที่อยู่อาศัยแล้ว

ความช่วยเหลือเข้าถึงฉนวนกาซาได้มากขึ้น สหประชาชาติและองค์กรช่วยเหลืออื่นๆ จะต้องเพิ่มขีดความสามารถในการรับและแจกจ่ายความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน

แอฟริกาใต้ฟ้องศาลโลก กล่าวหาอิสราเอลเรื่องการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์

แอฟริกาใต้กล่าวหาอิสราเอลด้วยข้อหาฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวปาเลสไตน์ในฉนวนกาซา ที่ศาลสูงสุดของสหประชาชาติ เมื่อวัน

'นักวิชาการอิสระ' เตือนไทยไม่เข้าร่วม 'BRICS' หายนะศก.ยิ่งกว่าวิกฤตต้มยำกุ้ง จับตา 'SCO'

'กมล' วิเคราะห์ อำนาจภูมิรัฐศาสตร์ของไทย เตือนหากไม่เข้าร่วม BRICS ยังผูกอยู่กับดอลลาร์ เงินบาทจะไร้ค่าไปด้วย หายนะทางเศรษฐกิจยิ่งกว่าวิกฤติต้มยำกุ้ง จับตา องค์กรความร่วมมือเชี่ยงไฮ้ SCO จะแทนยูเอ็น