โอมิครอนลามทั่วอเมริกาดับแล้ว 1 อนามัยโลกแนะงดฉลองปีใหม่

โอมิครอนกลายเป็นไวรัสโควิดสายพันธุ์หลักที่พบผู้ติดเชื้อมากที่สุดในสหรัฐแล้ว โดยพบผู้ป่วยเสียชีวิต 1 รายที่เทกซัส ขณะผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลกเรียกร้องยกเลิกงานฉลองขึ้นปีใหม่

ชาวอเมริกันต่อแถวยาวเพื่อรอตรวจโควิด-19 ที่ไทม์สแควร์ในนครนิวยอร์ก เมื่อวันที่ 20 ธ.ค. 2564 (Getty Images)

รายงานเอเอฟพีและรอยเตอร์เมื่อวันอังคารที่ 21 ธันวาคม 2564 กล่าวว่า ไวรัสโคโรนากลายพันธุ์สายพันธุ์โอมิครอนกำลังทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่เพิ่มสูงขึ้นทั่วโลกอีกครั้ง โดยพบผู้ติดเชื้อแล้วในประมาณ 90 ประเทศ และทำให้หลายประเทศอยู่ในภาวะเฝ้าระวังหรือต้องกลับไปใช้มาตรการควบคุมเข้มงวดก่อนหน้าจะถึงวันหยุดยาวเทศกาลคริสต์มาสและปีใหม่

ที่สหรัฐ ประธานาธิบดีโจ ไบเดน มีกำหนดแถลงต่อชาวอเมริกันในวันอังคารตามเวลาวอชิงตัน แต่โฆษกทำเนียบขาวเผยว่า ไบเดนไม่มีแผนจะล็อกดาวน์ประเทศ ขณะเดียวกัน ทำเนียบขาวรายงานว่า มีเจ้าหน้าที่ระดับกลางรายหนึ่งที่ฉีดวัคซีนครบโดสรวมถึงโดสกระตุ้นแล้ว ถูกตรวจพบว่าติดเชื้อโควิด-19 สามวันก่อนหน้านั้นเจ้าหน้าที่ผู้นี้อยู่ใกล้กับประธานาธิบดีไบเดนนาน 30 นาที แต่ผลตรวจของไบเดนไม่พบการติดเชื้อ

ก่อนหน้านี้ ดร.แอนโธนี เฟาซี ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อชั้นนำของสหรัฐ กล่าวเตือนว่า การเดินทางช่วงคริสต์มาสจะเพิ่มการแพร่ระบาดของโอมิครอน แม้แต่ในกลุ่มผู้ที่ฉีดวัคซีนครบแล้ว

ข้อมูลจากศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งสหรัฐ (ซีดีซี) เปิดเผยว่า ขณะนี้โอมิครอนคิดเป็น 73.2% ของผู้ติดเชื้อรายใหม่ในสหรัฐรอบสัปดาห์ที่ผ่านมาถึงวันเสาร์ที่ 18 ธันวาคม และในบางภูมิภาคคือในฝั่งตะวันตกเฉียงเหนือติดฝั่งแปซิฟิก, ภาคใต้และบางพื้นที่ของเขตมิดเวสต์ ผู้ติดเชื้อโอมิครอนคิดเป็นมากกว่า 90% ของผู้ติดเชื้อรายใหม่

การแพร่ระบาดรวดเร็วปานสายฟ้าแลบทำให้ชาวอเมริกันในหลายเมือง รวมถึงนิวยอร์กและวอชิงตัน แห่กันไปตรวจโควิด-19 เพื่อตรวจว่าติดเชื้อไวรัสหรือไม่ ก่อนที่จะไปร่วมฉลองเทศกาลวันหยุดกับครอบครัว

เมื่อวันจันทร์ มีรายงานว่า ผู้ป่วยโควิดที่เป็นชายวัยประมาณ 50 ปีที่ไม่ได้ฉีดวัคซีน เสียชีวิตรายแรกจากการติดไวรัสสายพันธุ์โอมิครอน ชายคนนี้เป็นชาวเมืองแฮร์ริสเคาน์ตี ในรัฐเทกซัส ซึ่งมีรายงานพบผู้ติดเชื้อโอมิครอนรายแรกของสหรัฐเมื่อวันที่ 6 ธันวาคม

ทางการสหรัฐมีคำแนะนำพลเมืองงดเดินทางไปยังมากกว่า 80 ประเทศที่ซีดีซีขึ้นบัญชีเป็นประเทศที่มีความเสี่ยงสูงมากจากโควิด-19 รวมถึงเกือบทุกประเทศในยุโรป อย่างไรก็ดี สหรัฐก็อยู่ในบัญชีที่หลายประเทศแนะนำให้เลี่ยงการเดินทางเช่นกัน

ทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลก (ดับเบิลยูเอชโอ) แถลงที่นครเจนีวาเมื่อวันจันทร์ เรียกร้องให้ประเทศต่างๆ เพิ่มความพยายามอีกเท่าตัวเพื่อช่วยกันยุติการแพร่ระบาด และว่า ขณะนี้มีหลักฐานว่าโอมิครอนแพร่เร็วกว่าสายพันธุ์เดลตาอย่างมีนัยสำคัญ

ด้านซูมยา สวามินาธาน หัวหน้านักวิทยาศาสตร์ของดับเบิลยูเอชโอ เสริมว่า เป็นเรื่องไม่ฉลาดที่จะสรุปจากหลักฐานเบื้องต้นว่า โอมิครอนเป็นสายพันธุ์ที่อ่อนกว่าสายพันธุ์อื่นก่อนหน้านี้

ทีโดรสกล่าวว่า ทุกคนย่อมอยากใช้เวลากับมิตรสหายและครอบครัว ทุกคนย่อมอยากกลับสู่ภาวะปกติ แต่ตอนนี้เราต้องให้ความสำคัญกับการยุติการแพร่ระบาด และทุกคน ทั้งผู้นำและปัจเจกบุคคล ต้องตัดสินใจอย่างยากลำบากเพื่อปกป้องผู้คน รวมถึงการยกเลิกหรือการชะลอการจัดงานฉลอง

"ยกเลิกในตอนนี้แล้วฉลองในภายหลัง ดีกว่าฉลองตอนนี้แล้วมาเสียใจทีหลัง" ทีโดรสกล่าว

เมื่อวันจันทร์ กรุงลอนดอนของอังกฤษประกาศแล้วว่าจะยกเลิกงานฉลองส่งท้ายปีเก่าขึ้นปีใหม่ที่จัตุรัสทราฟัลกากลางกรุงลอนดอน ซึ่งคาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมงาน 6,500 คน

ก่อนหน้านี้ กรุงปารีสของฝรั่งเศสสั่งยกเลิกการฉลองปีใหม่แล้วเช่นกัน ส่วนเยอรมนีเตรียมออกกฎข้อบังคับจำกัดการจัดงานเลี้ยงของเอกชนและปิดไนต์คลับ ขณะโมร็อกโกห้ามการฉลองต้อนรับปีใหม่

การพบผู้ติดเชื้อโอมิครอนยังทำให้หลายประเทศ อาทิ เกาหลีใต้, เนเธอร์แลนด์, เยอรมนี และไอร์แลนด์ เริ่มใช้มาตรการล็อกดาวน์เต็มรูปแบบหรือบางส่วน หรือบังคับใช้มาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม ในช่วงหลายวันที่ผ่านมา.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'หมอธีระวัฒน์' แจง 5 ข้อ พูดเรื่องผลกระทบการวัคซีนโควิดทำไม ในเมื่อมันผ่านไปแล้ว

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ว่า

‘หมอมนูญ’ เตือนโควิดหลังสงกรานต์เปลี่ยนไป ใครมีอาการแบบนี้รีบตรวจ ATK

อาการของโรคโควิดเปลี่ยนไป ส่วนใหญ่เป็นอาการของทางเดินหายใจส่วนบน คอ จมูก มากกว่าทางเดินหายใจส่วนล่าง หลอดลม และปอด

‘หมอมนูญ’ เผยผลติดตามสถานการณ์ 5 โรคติดเชื้อทางเดินหายใจ

ข้อมูลของโรงพยาบาลวิชัยยุทธที่ติดตามโรคติดเชื้อทางเดินหายใจที่เกิดจากเชื้อไวรัสโควิด-19 ไวรัสไข้หวัดใหญ่  ไรโนไวรัส (Rhinovirus) อาร์เอสวี (RSV) และ ฮิวแมนเมตะนิวโมไวรัส Human metapneumovirus (hMPV)