ตำรวจปินส์บุกทลายแหล่งอาชญากรรมไซเบอร์ ช่วยหลายร้อยคนจากการค้ามนุษย์

ชาวต่างชาติหลายร้อยคนถูกช่วยไว้ได้จากแก๊งค้ามนุษย์ หลังตำรวจฟิลิปปินส์บุกทลายศูนย์บัญชาการอาชญากรรมไซเบอร์ในกรุงมะนิลา

เจ้าหน้าที่ตำรวจฟิลิปปินส์กำลังพูดคุยกับชาวต่างชาติที่ช่วยเหลือไว้ได้หลังการบุกตรวจค้นอาคารหลังหนึ่งในเมืองบัมบัง จังหวัดตาร์ลัค ทางตอนเหนือของกรุงมะนิลา เมื่อวันที่ 14 มีนาคม มีผู้ต้องสงสัย 8 คนถูกจับกุมในข้อหากักขังหน่วงเหนี่ยวและค้ามนุษย์ (Photo by Philippines' Presidential Anti-Organized Crime Commission (PAOCC) / AFP)

เอเอฟพีรายงาน เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 14 มีนาคม 2567 กล่าวว่า ตำรวจฟิลิปปินส์บุกทลายแหล่งกบดานซึ่งเป็นศูนย์บัญชาการของกลุ่มอาชญากรไซเบอร์ในกรุงมะนิลา และพบชาวต่างชาติหลายร้อยคนถูกบังคับให้ทำงานในศูนย์ดังกล่าว

ตำรวจสามารถจับกุมผู้ต้องสงสัยได้จากที่เกิดเหตุจำนวน 8 คน โดยได้เบาะแสจากข้อมูลของชายชาวเวียดนามคนหนึ่งซึ่งหลบหนีออกจากศูนย์แห่งนี้และไปขอความช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่

หน่วยงานตำรวจมะนิลาแถลงว่า พวกเขาสามารถหยุดยั้งปฏิบัติการหลอกลวงออนไลน์และช่วยเหลือเหยื่อค้ามนุษย์ที่ถูกบังคับให้ดำเนินการดังกล่าวไว้ได้

"กลุ่มชาวต่างชาติที่ได้รับการช่วยเหลือให้ข้อมูลว่า พวกเขาถูกบังคับให้ทำการหลอกลวงด้วยความรักในรูปแบบโรแมนซ์สแกม, ล่อลวงให้ลงทุนในสกุลเงินดิจิทัล และกิจกรรมหลอกลวงประเภทอื่นๆ โดยกลุ่มอาชญากรยึดหนังสือเดินทางของพวกเขาไว้ จึงทำให้ไม่สามารถหลบหนีไปไหนได้" หน่วยงานฯกล่าว

ทั้งนี้ ตำรวจพบชาวจีน 432 คน, ชาวฟิลิปปินส์ 371 คน, ชาวเวียดนาม 57 คน, ชาวมาเลเซีย 8 คน, ชาวไต้หวัน 3 คน, ชาวอินโดนีเซีย 2 คน และชาวรวันดา 2 คน ในที่เกิดเหตุซึ่งเป็นอาคารเอนกประสงค์ขนาด 10 เฮกตาร์ (62.5 ไร่) ในเขตบัมบัง และจดทะเบียนเป็นบริษัทเกมอินเทอร์เน็ต

ศูนย์หลอกลวงออนไลน์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีจำนวนเพิ่มขึ้นมากในระยะหลัง โดยกลุ่มอาชญากรได้ล่อลวง, ลักพาตัว หรือบีบบังคับผู้คนให้ดำเนินกิจกรรมออนไลน์เพื่อหลอกลวงเหยื่อ

ข้อมูลของสำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติระบุว่า อุตสาหกรรมการหลอกลวงกำลังสร้างความเสียหายมหาศาลอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน ซึ่งเทียบเท่ากับมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์

ผู้ที่ตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ในอุตสาหกรรมนี้มักเดินทางข้ามภูมิภาคไปยังดินแดนหนึ่งในรูปแบบการล่อลวงด้วยความรักปลอมๆหรือล่อลวงด้วยการเสนองานที่ได้ค่าตอบแทนสูง แต่สุดท้ายกลับพบว่าตนเองถูกบังคับให้หลอกลวงคนอื่นให้นำเงินเข้าสู่แพลตฟอร์มการลงทุนปลอมและกลอุบายอื่นๆ และมักจะถูกขู่ทำร้ายร่างกายหรือลงโทษในหลายรูปแบบ หากไม่ทำตาม

ล่าสุด ผู้ถูกควบคุมตัวทั้ง 8 คนได้รับการตั้งข้อหากักขังหน่วงเหนี่ยวและการค้ามนุษย์ โดยรายงานระบุว่ากลุ่มคนเหล่านี้อาจเป็นชาวจีน

นอกจากนี้ ตำรวจยังระบุว่าชาวฟิลิปปินส์ที่พบในสถานที่ดังกล่าว จะได้รับการปล่อยตัวโดยไม่ตั้งข้อหา เนื่องจากพวกเขาอยู่ที่นั่นเพียงเพื่อทำงานเป็นเจ้าหน้าที่ซ่อมบำรุงหรือรักษาความปลอดภัย และไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงกับอาชญากรรม.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'ประเสริฐ' ขึงขังจะงัดยาแรง ขจัดอาชญากรรมไซเบอร์ใน 30 วัน

นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ให้สัมภาษณ์กรณี นายเศรษฐา ทวีสิน นายกฯและรมว.คลัง มอบนโยบายให้ ตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี

รัฐบาลลุยต่อต้านค้ามนุษย์ แก้ปัญหา ’ฟินแลนด์’ ระงับวีซ่าคนไทยเก็บเบอร์รี่

‘คารม’  เผยรัฐบาลเร่งแก้ไขปัญหา กรณีฟินแลนด์ระงับวีซ่าคนไทยเก็บเบอร์รี่ชั่วคราว เดินหน้าต่อต้านการค้ามนุษย์และการบังคับใช้แรงงานในทุกรูปแบบ

แก๊งค้ามนุษย์สุดโหด อัดคลิปทรมานร่างกายชาวโรฮิงญา เรียกค่าไถ่จากญาติ

ผู้สื่อข่าวรายงานขบวนการค้ามนุษย์ข้ามชาติ ได้นำชาวโรฮิงญาจากบังกลาเทศ มาพักไว้ที่บ้านพักในอำเภอหาดใหญ่ แถวบริเวณบ้านหน้าควนเทศบาลเมืองควนลัง

ศาลสั่ง 'เสี่ยเฮ้ง' แก้ไขคำฟ้องเพิ่มเติม คดีฟ้องอธิบดีดีเอสไอกับพวกกลั่นแกล้งให้ได้รับโทษ

ศาลนัดฟังคำสั่งชั้นตรวจฟ้องในคดี หมายเลขดำที่ อท.11/2567 ที่นายสุชาติ ชมกลิ่น อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน พร้อมด้วยกลุ่ม สส.14 คน จากพรรครวมไทยสร้างชาติ เดินทางมายื่นฟ้อง อดีตอธิบดีดีเอสไอ รักษาการณ์อธิบดีดีเอสไอ เเละผู้อำนวยการกองคดีค้ามนุษย์ของดีเอสไอ