'ความเกลียดชังเป็นเหมือนไวรัสที่รุนแรง'!

บทความพิเศษ จาก “อาร์ตูร์ ดมอฮอฟสกี”
เอกอัครราชทูตโปแลนด์ประจำประเทศไทย

หลังจากที่องค์การสหประชาชาติ ได้กำหนดให้วันที่ 27 มกราคม ของทุกปี เป็นวันรำลึกถึงเหตุการณ์การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวสากล สถานเอกอัครราชทูตอิสราเอลประจำประเทศไทย จึงได้มีการจัดงานรำลึกถึงเหตุการณ์การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิว โดยเริ่มด้วยการจุดเทียน 6 เล่ม เพื่อเป็นการรำลึกถึงชาวยิวผู้เสียชีวิต 6 ล้านคน ที่นำโดยนางออร์นา ซากิฟ เอกอัครราชทูตอิสราเอลประจำประเทศไทย โดยภายในงานยังได้รับเกียรติจากมิตรนักการทูตคนสำคัญของนางออร์นา ซากิฟอีกด้วย คือ นายอาร์ตูร์ ดมอฮอฟสกี เอกอัครราชทูตโปแลนด์ประจำประเทศไทย ผู้ที่เป็นทั้งอดีตนักข่าวและนักประวัติศาสตร์ที่มีความสามารถ ในโอกาสนี้นายอาร์ตูร์ จึงได้มาร่วมบอกเล่าความรู้สึกและแบ่งปันความประทับใจจากการเข้าร่วมงานสำคัญในครั้งนี้

ผมได้เข้าร่วมงานกับเอกอัครราชทูตอิสราเอล นางออร์นา ซากิฟ ในการรำลึกถึงการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่จัดขึ้นที่กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นการพบกันที่สะเทือนอารมณ์มากจากประวัติส่วนตัวของเราทั้งสองคน เนื่องจากอดีตที่น่าเศร้าอยู่ใกล้เรามากเพราะเราทั้งสองคนต่างเป็นลูกของผู้ที่รอดชีวิต พ่อและแม่ของเราต่างเคยเป็นนักโทษในค่ายกักกัน ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองและสามารถเอาชีวิตรอดออกมาได้ ในกรณีของเอกอัครราชทูตซากิฟ แม่ของเธอเกิดในโปแลนด์ ในระหว่างสงครามได้ถูกคุมขังอยู่ในค่ายเอาชวิทซ์จนต่อมาได้ย้ายไปอาศัยอยู่ที่อิสราเอล และพ่อของผมเป็นนักโทษในค่ายกักกันคราคูฟ-พลาสซูฟ ซึ่งเป็นที่รู้จักจากภาพยนตร์เรื่อง Schindler’s List โดยสามารถเอาชีวิตรอดและมีชีวิตอยู่จนเห็นการสิ้นสุดของสงครามได้

เมื่อพวกเราต่างได้พูดคุยกันเกี่ยวกับความทรงจำนี้ ซึ่งเป็นเรื่องยากที่จะไม่รู้สึกหวั่นไหวกับเหตุการณ์ดังกล่าว โดยหนึ่งในภาพสะท้อนแรกๆที่เข้ามาในความคิดก็คือ รากเหง้าของครอบครัวเรามีความเกี่ยวพันอย่างใกล้ชิดกับประวัติศาสตร์ของประเทศ เมื่อพวกคุณได้ดูประวัติศาสตร์ของโปแลนด์ คุณจะพบว่าตั้งแต่ยุคกลางประเทศของผมเป็นที่หลบภัยของชาวยิวในยุโรปมาเป็นเวลาหลายศตวรรษ โดยเป็นที่พักพิงที่ปลอดภัยและได้รับการปกป้องจากการกดขี่ที่มักเกิดขึ้นในส่วนอื่นๆของทวีป แม้กระทั่งช่วงเวลาในประวัติศาสตร์ที่ชาวยิวส่วนใหญ่ทั่วโลกมาอาศัยอยู่ในโปแลนด์ ชุมชนชาวยิวมีความเจริญรุ่งเรืองในโปแลนด์ด้วยการปกครองตนเองและเสรีภาพในการนับถือศาสนา การสร้างวัฒนธรรม ประเพณี และประวัติศาสตร์ แต่น่าเสียดายที่ทุกอย่างต้องสิ้นสุดลงในปี พ.ศ. 2482 โปแลนด์ถูกโจมตีและยึดครองโดยเยอรมนีของฮิตเลอร์และโดยคอมมิวนิสต์รัสเซีย เป็นผลทำให้พลเมืองครึ่งหนึ่งกว่าหกล้านคนที่เป็นชาวยิวในโปแลนด์ต้องถูกสังหาร 

มรดกที่น่าเศร้าของศตวรรษที่ 20 ได้สอนบทเรียนที่สำคัญมากให้แก่เรา เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้โศกนาฏกรรมที่คล้ายกันนี้ได้เกิดขึ้นอีก โดยเฉพาะเรื่องการปลุกปั่นความเกลียดชัง ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นสัญชาติ ศาสนา หรือสีผิว อาจนำไปสู่โศกนาฏกรรมได้ง่าย เพราะความเกลียดชังเป็นเหมือนไวรัสที่รุนแรงสามารถแพร่กระจายและไม่สามารถควบคุมได้ ผมเห็นตัวเองตอนแรกเริ่มที่มาทำงานเป็นนักการทูตในภารกิจสันติภาพที่บอสเนียในทศวรรษ 1990 ซึ่งผู้คนที่อยู่กันอย่างสงบสุขมานานหลายสิบปีที่ใช้ชีวิตทำงานและศึกษาด้วยกัน เริ่มที่จะเข่นฆ่ากันเองเพราะผู้นำทางการเมืองโน้มน้าวพวกเขาว่า เพื่อนบ้านที่ต่างเชื้อชาติคือ “ศัตรู”

น่าเสียดายที่ตอนนี้เราสามารถสังเกตมันได้ด้วยตาของเราเองเช่นกัน อีกไม่นานก็จะถึงวันครบรอบปีที่สองของการรุกรานของรัสเซียกับยูเครน นี่เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของโศกนาฏกรรมเมื่อผู้นำทางการเมืองสามารถโน้มน้าวประเทศของตนว่าประเทศเพื่อนบ้านซึ่งมีขนาดเล็กกว่าและอ่อนแอกว่ามากว่าเป็น “ภัยคุกคาม”

ผลที่ตามมาคือ ผู้คนหลายพันคนกำลังจะตายและเพื่อนบ้านของเราคือ ยูเครน ซึ่งเป็นประเทศที่สวยงามและสงบสุขกำลังถูกทำลายอย่างป่าเถื่อนในทุกๆวัน โดยการรุกรานนี้กำลังคุกคามเสถียรภาพของระเบียบระหว่างประเทศทั้งหมด ดังนั้น ทั้งโปแลนด์และไทยในฐานะสมาชิกที่รักสันติภาพของประชาคมระหว่างประเทศ จึงควรให้การสนับสนุนทางยูเครน แม้ว่าความจริงเป็นสิ่งที่น่าเศร้าแต่ในที่สุดความปรารถนาดีจะต้องนำชัยมาให้เรา โดยเราจะดึงบทเรียนจากอดีตเพื่อหลีกเลี่ยงโศกนาฏกรรมในการสร้างโลกที่มั่นคงยิ่งขึ้นและเป็นการสร้างอนาคตที่ดีกว่าให้กับลูกหลานของเรา

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'ว้าแดง' ออกแถลงการณ์ด่วน ปัดข่าวเตรียมทำสงครามกับกองทัพไทย

“ว้าแดง” ออกหนังสือแถลงการณ์ ยันไม่มีความตึงเครียดระหว่าไทย-ว้าแดง วอนชาวเน็ตกับตาดูและอย่าเชื่อข่าวลือนำไปเผยแพร่

ฝนและความหนาวเย็นทำให้สถานการณ์ของผู้พลัดถิ่นและตัวประกันในฉนวนกาซารุนแรงขึ้น

ชาวปาเลสไตน์ประมาณ 90 เปอร์เซ็นต์ในฉนวนกาซาต้องพลัดถิ่นตั้งแต่เริ่มสงคราม ขณะนี้พวกเขากำลังเผชิญกับภาว

ด่วน! แรงงานไทยตาย 1 ราย สถานทูตไทยในอิสราเอล เผย 11 พื้นที่ห้ามทำงาน-พักอาศัย

สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงเทลอาวีฟ อิสราเอล เปิดเผยว่า เมื่อช่วงเช้าของวันนี้ (11 ต.ค. 67) ได้เกิดเหตุยิงจรวดต่อสู้รถถัง (anti-tank missile) เข้าไปยังนิคมเกษตร Yir'o