วลาดิมีร์ ปูตินชื่นชมความสัมพันธ์ที่พัฒนาขึ้นของรัสเซียกับเมียนมา ระหว่างการเยือนของผู้นำคณะรัฐประหาร

ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซีย และมิน อ่อง หล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุดของเมียนมา (ซ้าย) จับมือกันหลังพิธีลงนามข้อตกลงความร่วมมือ ที่พระราชวังเครมลิน ในกรุงมอสโก เมื่อวันที่ 4 มีนาคม (Photo by Pavel Bednyakov / POOL / AFP)
เอเอฟพีรายงาน เมื่อวันพุธที่ 5 มีนาคม 2568 กล่าวว่า มิน อ่อง หล่าย ผู้นำคณะรัฐประหารเมียนมาเดินทางเยือนกรุงมอสโกอย่างเป็นทางการ และได้เข้าพบกับประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซีย
รัสเซียถือเป็นหนึ่งในพันธมิตรไม่กี่รายที่เหลืออยู่ของเมียนมาและยังเป็นซัพพลายเออร์อาวุธที่สำคัญต่อการดิ้นรนปราบปรามการต่อต้านอย่างรุนแรงหลังการยึดอำนาจของคณะรัฐประหาร
"ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของเรากำลังพัฒนาอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งศักยภาพที่ยิ่งใหญ่ทางการค้าที่เติบโตขึ้น" ปูตินกล่าวกับมิน อ่อง หล่าย ที่พระราชวังเครมลิน
ปูตินเน้นย้ำแผนการของรัสเซียในการช่วยสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาดเล็กในเมียนมาเพื่อจัดหาพลังงานราคาถูกและปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อมให้กับชาติอาเซียนรายนี้ ซึ่งจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและสร้างงานได้หลายพันตำแหน่งอีกด้วย
เมื่อวันอังคาร ทั้งสองฝ่ายได้ลงนามบันทึกความเข้าใจเกี่ยวกับความร่วมมือในการก่อสร้างโรงไฟฟ้าที่มีกำลังการผลิต 110 เมกะวัตต์ ซึ่งสามารถขยายเป็น 330 เมกะวัตต์ได้ ตามรายงานของสำนักข่าว TASS ที่อ้างอิงข้อมูลจาก Rosatom บริษัทนิวเคลียร์ของรัสเซีย
ทั้งนี้ รัสเซียและเมียนมาได้ลงนามข้อตกลงเบื้องต้นเกี่ยวกับความร่วมมือด้านนิวเคลียร์และความเป็นไปได้ในการก่อสร้างโรงไฟฟ้าดังกล่าวเมื่อปี 2023
อเล็กซี ลิคาเชฟ ผู้บริหาร Rosatom กล่าวกับสถานีโทรทัศน์รัสเซียว่า เมียนมามีความสนใจในการสร้างสถานีแบบแยกส่วนที่มีเครื่องปฏิกรณ์สองเครื่องใกล้กับเมืองหลวงเนปยีดอ
มิน อ่อง หล่าย ซึ่งยึดอำนาจจากการรัฐประหารในปี 2021 กล่าวยกย่องปูตินเป็น "กษัตริย์" และสนับสนุนการรุกทางทหารเต็มรูปแบบของรัฐบาลมอสโกต่อยูเครน
"ผมเชื่อว่าชัยชนะต้องเป็นของรัสเซีย ภายใต้การนำที่เข้มแข็งและเด็ดขาดของคุณ" ผู้นำเมียนมากล่าวกับปูติน
ทั้งสองประเทศอยู่ภายใต้การคว่ำบาตรอย่างหนักจากชาติตะวันตก โดยเมียนมาเผชิญมาตั้งแต่การรัฐประหารในปี 2021 และรัสเซียเผชิญมาตั้งแต่การผนวกไครเมียในปี 2014 รวมทั้งหลังการบุกยูเครนที่ดำเนินมาเป็นเวลา 3 ปี
รัสเซียส่งออกวัตถุดิบและปุ๋ยบางส่วนไปยังเมียนมา และทั้งสองฝ่ายได้พูดคุยถึงแนวโน้มในการกระชับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจควบคู่ไปกับพันธมิตรทางทหารและการเมือง
เมื่อปีที่แล้ว เมียนมานำเข้าน้ำมันประมาณ 90% จากรัสเซีย ซึ่งเป็นซัพพลายเออร์ที่เชื่อถือได้
การสนับสนุนของรัฐบาลมอสโกได้กลายมาเป็นสิ่งสำคัญสำหรับกองทัพเมียนมา โดยเฉพาะกองทัพอากาศ เนื่องจากกองทัพต้องต่อสู้กับกลุ่มติดอาวุธชนกลุ่มน้อยและกองกำลังกองโจรที่สนับสนุนประชาธิปไตยในหลายแนวรบ
คณะทหารต้องสูญเสียดินแดนจำนวนมากหลังจากการโจมตีของกลุ่มกบฏในปี 2023 แต่พลังทางอากาศของกองทัพถือเป็นแกนหลักในการหยุดยั้งการรุกคืบของกองกำลังฝ่ายต่อต้าน
ขณะที่รัสเซียพยายามเสริมสร้างความสัมพันธ์กับชาติที่ต่อต้านตะวันตก โดยเฉพาะในเอเชียและแอฟริกา นับตั้งแต่สั่งการให้ทหารเปิดแนวรบในยูเครนเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2022.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
'เทพไท' ซัดรัฐบาล-ทักษิณ ใช้ไทยฟอกขาว 'มิน อ่อง หล่าย' ปมประชุมลับกลางกรุง
อดีต สส.นครศรีธรรมราช ตั้งคำถามรัฐบาลไทย หลังมีรายงาน “อันวาร์-มิน อ่อง หล่าย-ทักษิณ” หารือลับกลางกรุงเทพฯ ชี้เป็นพฤติกรรมคลุมเครือ ทั้งในมิติการทูตและบทบาทของอดีตนายกฯ ในรัฐบาลชุดปัจจุบัน