วิกฤติผู้ลี้ภัยยูเครนทะลุ 1.5 ล้าน เพิ่มเร็วสุดนับแต่สงครามโลก

จำนวนผู้อพยพลี้ภัยออกจากยูเครนมีมากกว่า 1.5 ล้านคนแล้ว ในช่วงเวลา 10 วัน เป็นวิกฤติผู้ลี้ภัยที่เพิ่มขึ้นเร็วที่สุดในยุโรปนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 ขณะผู้นำยูเครนเรียกร้องขอเครื่องบินรบต่อกรรัสเซีย ส่วน "วลาดิมีร์ ปูติน" ขู่ชาติไหนกำหนดเขตห้ามบินถือว่ามีส่วนร่วมในการขัดแย้งด้วยอาวุธกับรัสเซีย

ชาวยูเครนอพยพออกจากเมืองเอียร์ปิน ทางตะวันตกเฉียงเหนือของกรุงเคียฟ ที่กำลังโดนรัสเซียยิงปืนใหญ่และระเบิดถล่มอย่างหนักเมื่อวันที่ 5 มี.ค. 2565 (Photo by Aris Messinis / AFP)

รายงานเอเอฟพีเมื่อวันอาทิตย์ที่ 6 มีนาคม 2565 อ้างคำแถลงผ่านทวิตเตอร์ของสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติในวันเดียวกันว่า ภายในเวลา 10 วัน มีผู้ลี้ภัยจากยูเครนข้ามพรมแดนเข้าสู่ประเทศเพื่อนบ้านแล้วมากกว่า 1.5 ล้านคน ซึ่งถือเป็น "วิกฤติผู้ลี้ภัยที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วที่สุดในยุโรปตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2"

เมื่อวันเสาร์ หน่วยงานแห่งนี้ประกาศว่า มีผู้ลี้ภัยออกจากยูเครนเกือบ 1.37 ล้านคน ที่เข้าสู่ประเทศเพื่อนบ้านของยูเครน ทั้งโปแลนด์, ฮังการี, มอลโดวา, โรมาเนีย และสโลวาเกีย

กองกำลังป้องกันชายแดนของโปแลนด์เปิดเผยในวันอาทิตย์ว่า นับตั้งแต่รัสเซียเปิดฉากรุกรานยูเครนเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ ถึงขณะนี้มีผู้คนหนีข้ามพรมแดนเข้าโปแลนด์แล้ว 922,400 คน

เจ้าหน้าที่ยูเอ็นกล่าวกันว่า พวกเขาคาดการณ์ว่าคลื่นผู้ลี้ภัยจะรุนแรงขึ้นในช่วงยามที่กองทัพรัสเซียรุกโจมตีหนักหน่วงขึ้น โดยเฉพาะในกรุงเคียฟ

เมื่อวันเสาร์ รัสเซียยินยอมหยุดยิงชั่วคราวที่เมืองท่ามาริอูโปลและเมืองโวลโนวาคาที่อยู่ติดกันในภาคใต้ เพื่อเปิดทางให้ยูเครนอพยพพลเรือนออกจากเมืองท่าสำคัญติดทะเลอาซอฟแห่งนี้ ซึ่งโดนทหารรัสเซียปิดล้อมนานหลายวัน แต่การอพยพถูกเลื่อนเมื่อทั้งสองฝ่ายต่างกล่าวหาอีกฝ่ายว่าละเมิดการหยุดยิง อย่างไรก็ดี ทางการยูเครนเตรียมจะทำการอพยพอีกครั้งในช่วงค่ำของวันอาทิตย์ตามเวลาไทย

ในพื้นที่อื่น กองทัพรัสเซียยังคงเดินหน้าถล่มอย่างต่อเนื่อง กองทัพยูเครนโพสต์เฟซบุ๊กเมื่อวันอาทิตย์ว่า ทหารกำลัง "สู้รบอย่างดุเดือด" กับทหารรัสเซียเพื่อควบคุมพรมแดนที่เมืองมีโคลาอีฟในภาคใต้ และเมืองเชอร์นิฮิฟในภาคเหนือ รวมถึงยังมีปฏิบัติการที่แคว้นโดเนตสค์ในภาคตะวันออก แต่ความพยายามหลักเน้นที่การปกป้องเมืองมาริอูโปล

ผู้อพยพลี้ภัยตะเกียกตะกายข้ามสะพานที่ถูกทำลายในเมืองเอียร์ปิด เมื่อวันที่ 5 มี.ค. 2565 (Photo by Aris Messinis / AFP)

ประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกี ของยูเครน ซึ่งขอให้เพื่อนบ้านในยุโรปตะวันออกส่งเครื่องบินรบที่ผลิตโดยรัสเซียมาให้ เนื่องจากนักบินยูเครนเคยฝึกมาก่อน แถลงปลุกขวัญประชาชนอีกครั้งเมื่อคืนวันเสาร์ โดยขอให้ชาวยูเครนในพื้นที่ที่ทหารรัสเซียยึดครอง ออกมาต่อสู้ขับไล่ปิศาจนี้ออกไปจากเมือง เขายังอ้างด้วยว่า ทหารยูเครนกำลังตีโต้ตอบทหารรัสเซียรอบเมืองคาร์คิฟ เมืองใหญ่อันดับสองในภาคตะวันออก และสร้างความสูญเสียแก่ฝ่ายรุกรานชนิดที่คนพวกนั้นไม่เคยพบเจอแม้แต่ในฝันร้าย

เมื่อคืนวันเสาร์ เซเลนสกีได้วิดีโอคอลล์กับสมาชิกสภาคองเกรสของสหรัฐ สื่ออเมริกันรายงานว่า เขาได้ร้องขอบรรดาพันธมิตรในโลกตะวันตกช่วยจัดส่งอากาศยานมาให้ รวมถึงเรียกร้องอีกครั้งให้เพิ่มความช่วยเหลือด้านอาวุธ, ห้ามการนำเข้าน้ำมันจากรัสเซีย, กำหนดเขตห้ามบิน และขอให้วีซ่าและมาสเตอร์การ์ดระงับบริการบัตรเครดิตในรัสเซีย โดยในวันอาทิตย์ ทั้งสองบริษัทนี้ก็ประกาศระงับการดำเนินการในรัสเซียเป็นที่เรียบร้อย

สหรัฐเคยกล่าวว่าจะมอบอาวุธให้ยูเครนเพิ่มเติม โดยทำเนียบขาวเผยว่า สหรัฐกำลังทำงานร่วมกับโปแลนด์ เพื่อนบ้านของยูเครนที่กำลังพิจารณาว่าจะส่งเครื่องบินรบให้ยูเครนหรือไม่ ด้านสภาคองเกรสรับปากว่าจะจัดตั้งงบช่วยเหลือฉุกเฉินเพิ่มอีก 10,000 ล้านดอลลาร์ เพิ่มเติมจากการอนุมัติความช่วยเหลือด้านอาวุธยุทโธปกรณ์มูลค่า 350 ล้านดอลลาร์เมื่อสัปดาห์ก่อน ส่วนข้อเรียกร้องให้ห้ามนำเข้าน้ำมันรัสเซียนั้น ทำเนียบขาวยังคงปฏิเสธ ด้วยเกรงว่าจะทำให้ราคาน้ำมันพุ่งขึ้นอีก และทำร้ายผู้บริโภคในสหรัฐที่เผชิญกับปัญหาภาวะเงินเฟ้ออยู่แล้ว

แอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐ ที่เดินทางมาเยี่ยมผู้ลี้ภัยที่ชายแดนโปแลนด์เมื่อวันเสาร์ กล่าวขณะเยือนมอลโดวาเมื่อวันอาทิตย์ว่า สหรัฐกำลังทำงานอย่างแข็งขันร่วมกับโปแลนด์ เพื่อทำข้อตกลงจัดส่งเครื่องบินรบให้ยูเครน และกำลังเจรจากับเจ้าหน้าที่ยูเครนเพื่อประเมินความต้องการของพวกเขาจนนาทีสุดท้าย

สื่อหลายสำนักของสหรัฐรายงานเมื่อวันเสาร์ว่า ข้อตกลงที่เป็นไปได้คือโปแลนด์จัดส่งเครื่องบินยุคสหภาพโซเวียตให้แก่ยูเครน เพื่อแลกกับการที่สหรัฐจะจัดส่งเครื่องบินเอฟ-16 ไปทดแทน

ด้านประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน กล่าวเตือนเมื่อวันเสาร์ว่า การกระทำของยูเครนอาจทำให้ประเทศนี้สูญเสียอธิปไตย "ฝ่ายบริหาร (ยูเครน) ในปัจจุบันต้องเข้าใจว่า หากพวกเขายังคงทำในสิ่งที่พวกเขากำลังทำอยู่นี้ต่อไป พวกเขากำลังทำให้อนาคตความเป็นรัฐของยูเครนไม่แน่นอน" ผู้นำรัสเซียกล่าว "และถ้าสิ่งนี้เกิดขึ้น พวกเขาจะเป็นผู้ที่รับผิดชอบทั้งหมด"

ปูตินยังเปรียบเทียบการคว่ำบาตรของตะวันตกกับ "การประกาศสงคราม" แต่ "ขอบคุณพระเจ้าที่ยังไม่ไปถึงจุดนั้น" ขณะเดียวกัน เขาเตือนนาโตเรื่องการกำหนดเขตห้ามบินด้วยว่า จะก่อผลลัพธ์ร้ายแรงมหาศาล ไม่เพียงต่อยุโรปเท่านั้น แต่รวมถึงทั้งโลก "การเคลื่อนไหวใดๆ ไปในทิศทางนี้ เราจะถือว่าประเทศนั้นๆ มีส่วนร่วมในการขัดกันด้วยอาวุธ".

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'เอิ้ก ชาลิสา' เล่าวีรกรรมเฉียดโดนปล้นที่รัสเซีย

เมื่อพิธีกรสาวสุดแซ่บ "แก้มบุ๋ม ปรียาดา" ต้องมาร่วมปรุงเมนูสุดโปรด "ไก่โค๊ะ" ของยูทูปเบอร์ตัวแม่สายฮา ที่นาทีนี้คงไม่มีใครไม่รู้จักเธอคนนี้ "เอิ้ก ชาลิสา" หรือ "เอิ้ก หิ้วหวี" เจ้าของเพลงดังที่กำลังเป็นไวรัลไปทั่วทั้งประเทศ

‘นันทิวัฒน์’ สะกิดรัฐบาล เตรียมรับมือภาวะสงคราม หลังกลิ่นไอสู้รบยูเครนรุนแรง

กลิ่นไอการสู้รบในยูเครนเพิ่มความรุนแรง เมื่อมีข่าวลือว่าชาติพันธมิตรนาโตบางชาติ ได้ส่งทหารเข้าไปร่วมรบในยูเครน ปฏิกิริยาจากฝ่ายรัสเซียประกาศชัดเจน

โล่ง! ยังไม่พบคนไทยบาดเจ็บ-เสียชีวิต ในเหตุกราดยิงมอสโก

นายเศรษฐา ทวีสิน นายก​รัฐมนตรี​และ​รมว.คลัง​ กล่าวถึงเหตุการณ์การก่อการร้ายที่กรุงมอสโก ประเทศรัสเซีย หลังคนร้ายในชุดพรางทหาร