'บินไทย’โชว์แผนฟื้นฟูกิจการลดต้นทุนค่าใช้จ่าย 4.4 หมื่นล้าน

“การบินไทย” อัปเดตความคืบหน้าแผนฟื้นฟูกิจการฯ ลุย 400 โครงการ ช่วยลดต้นทุน 4.48 หมื่นล้าน/ปี จ่อขายเครื่องบิน 42 ลำ ฟันรายได้ 8 พันล้าน เดินหน้ากู้สินเชื่อใหม่จากเอกชน 2.5 หมื่นล้าน เสริมแกร่งองค์กร คาดปีหน้าขาดทุนลดลง พร้อมกลับมากำไรในปี 66

1 พ.ย. 2564 นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ประธานคณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ในภาพรวมระยะเวลากว่า 1 ปี บริษัทฯ มีความคืบหน้าในการดำเนินการตามกระบวนการฟื้นฟูกิจการ มีการปรับปรุงประสิทธิภาพด้านการลดต้นทุนและค่าใช้จ่าย การปรับโครงสร้างและขนาดองค์กร และเพิ่มการหารายได้ อีกทั้งได้ดำเนินโครงการปฏิรูปธุรกิจ ที่พัฒนาจากการระดมสมองของพนักงานทุกระดับกว่า 400 โครงการ ส่งผลให้สามารถลดค่าใช้จ่ายได้เป็นมูลค่า 44,800 ล้านบาทต่อปี เปรียบเทียบกับปริมาณการผลิตที่ใกล้เคียงกับปี 2562 ค่าใช้จ่ายจำนวนดังกล่าวคิดเป็น 77% ของเป้าหมายที่กำหนดไว้

ทั้งนี้ ในแผนปฏิรูปธุรกิจมีโครงการสำคัญๆ ครอบคลุมด้านต่างๆ และส่งผลให้ปรับลดต้นทุนการดำเนินงานได้ อาทิ ด้านบุคลากร 16,000 ล้านบาท ด้านประสิทธิภาพฝูงบินและการใช้น้ำมันเชื้อเพลิง 12,000 ล้านบาทการเจรจาปรับปรุงสัญญาเช่าเครื่องบินและซ่อมบำรุงเครื่องยนต์ 11,300 ล้านบาท ด้านการปรับปรุงประสิทธิภาพการจัดซื้อจัดจ้าง 1,100 ล้านบาท ด้านการปรับปรุงกระบวนการปฏิบัติการบิน 719 ล้านบาท ด้านการเพิ่มประสิทธิภาพฝ่ายช่าง 802 ล้านบาท และด้านอื่นๆ 3,200 ล้านบาท

ขณะที่การปรับโครงสร้าง ลดขนาดองค์กร ปรับเปลี่ยนสภาพการจ้างและโครงสร้างค่าตอบแทนบุคลากร โครงการลาหยุดโดยไม่รับเงินเดือน รวมถึงโครงการร่วมใจจากองค์กรนั้น ได้รับความร่วมมือจากพนักงาน ซึ่งมีพนักงานที่เสียสละเข้าร่วมโครงการรวมกว่า 6,000 คน เมื่อเปรียบเทียบกับในปี 2562 มีจำนวนบุคลากรรวมแรงงานภายนอกจำนวน 29,500 คน ปัจจุบันบริษัทฯ มีพนักงานทั้งสิ้น 14,900 คน ส่งผลให้ค่าใช้จ่ายบุคลากรลดลงจากเดือนละกว่า 2,600 ล้านบาทต่อเดือน เหลือกว่า 600 ล้านบาทต่อเดือน

นายปิยสวัสดิ์ กล่าวอีกว่า ส่วนการปรับโครงสร้างหนี้นั้น บริษัทฯ ขยายเวลาการชำระหนี้ออกไป 5-7 ปี โดยการพักชำระหนี้ เงินต้นและดอกเบี้ย 2-3 ปี ปรับลดภาระหนี้ในส่วนดอกเบี้ยตามภาระผูกพันเดิมเหลือ 1.5% อีกทั้ง มีแผนปลดระวางเครื่องบินที่มีอายุการใช้งานมาเป็นระยะเวลานาน มีอัตราการสิ้นเปลืองน้ำมันเชื้อเพลิงสูงเพื่อจำหน่ายจำนวน 42 ลำ คาดว่าจะได้รับเงินทั้งหมด 8,000 ล้านบาท โดยในจำนวนดังกล่าว ได้เซ็นสัญญาขายออกไปแล้ว 11 ลำ

นอกจากนี้ มีการยกเลิกสัญญาเช่าและเช่าซื้อจำนวน 16 ลำ จะทำให้บริษัทฯ มีฝูงบินรวม 58 ลำ โดยรวมถึงฝูงบิน A320 ซึ่งสายการบินไทยสมายล์เช่าดำเนินการ 20 ลำ ซึ่งฝูงบินปัจจุบันมีความทันสมัย ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ มีประสิทธิภาพการประหยัดน้ำมันเชื้อเพลิงสูงเป็นผลให้บริษัทฯ สามารถลดต้นทุนด้านการบริหารฝูงบินและค่าใช้จ่ายน้ำมันเชื้อเพลิงได้ถึงปีละ 12,000 ล้านบาทเมื่อทำการบินในปริมาณการผลิตใกล้เคียงปี 2562 และแบบเครื่องบินในฝูงบินของบริษัทฯ ลดลงจาก 9 แบบ เหลือ 4 แบบ

นายปิยสวัสดิ์ กล่าวต่ออีกว่า สำหรับแผนการจัดหาสินเชื่อใหม่ เพื่อเสริมสภาพคล่องวงเงิน 5 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็น สินเชื่อจากภาครัฐ 2.5 หมื่นล้านบาท และสินเชื่อจากภาคเอกชน 2.5 หมื่นล้านบาท ซี่งเป็นไปตามแผนฟื้นฟูกิจการฯ นั้น ขณะนี้ อยู่ระหว่างการดำเนินการกับสถาบันการเงินภาคเอกชน เพื่อขอวงเงินสินเชื่อใหม่ 2.5 หมื่นล้านบาท คาดว่า จะสรุปและลงนามในสัญญาได้ภายใน ธ.ค. 2564 จากนั้น จะเบิกเงินกู้ได้ภายในต้นปี 2565 ขณะที่สภาพคล่องทางการเงินในปัจจุบัน อยู่ที่ประมาณ 6,500 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม คาดการณ์ว่าในช่วงปี 2565 จะขาดทุนลดลงตามลำดับ หรืออาจมีกำไรแต่ก็ต้องขึ้นอยู่กับสถานการณ์การบินว่า จะฟื้นตัวเร็วแค่ไหน แต่มั่นใจว่าในปี 2566 บริษัทจะกลับมามีกำไร

ทั้งนี้ ใน ต.ค. 2564 บริษัทฯ มีรายได้จากการดำเนินงานสูงสุดนับตั้งแต่มีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 เมื่อ เม.ย. 2563 สะท้อนให้เห็นถึงแนวโน้มการฟื้นฟูของธุรกิจการบิน โดยระหว่าง เม.ย. 2563-ต.ค. 2564 บริษัทฯ มีรายได้จากเที่ยวบินขนส่งสินค้าทางอากาศ รวมกว่า 10,000 ล้านบาท มีรายได้จากหน่วยธุรกิจการบินในการให้บริการลูกค้ากว่า 80 สายการบินเป็นเงินรวม 4,800 ล้านบาทและมีแผนงานขยายธุรกิจ Master Franchise ร้าน Puff & Pie ไปทั่วประเทศ

ขณะเดียวกัน จากความมุ่งมั่นในการหารายได้และการหาประโยชน์จากทรัพย์สินรองที่ไม่ได้ใช้งาน บริษัทฯ ขาดทุนจากการดำเนินงานในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2564 ลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2563 เป็นเงิน 3,973 ล้านบาท เมื่อรวมรายการครั้งเดียวทางบัญชี ทำให้บริษัทฯ มีกำไรสุทธิ 11,121 ล้านบาท ดีขึ้นกว่าช่วงเดียวกันของปี 2563 เป็นเงิน 39,151 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ ได้ดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการอย่างเต็มที่ พร้อมให้บริการเต็มรูปแบบ อีกทั้งช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของประเทศ ร่วมเชื่อมโลกสู่ไทย เชื่อมไทยเป็นหนึ่ง ในฐานะสายการบินแห่งชาติที่คนในชาติภาคภูมิใจ

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'การบินไทย' ปรับเส้นทางบินเลี่ยงน่านฟ้าตะวันออกกลาง

“การบินไทย” ปรับเส้นทางบินเลี่ยงน่านฟ้าตะวันออกกลาง ยันยังไม่มีเที่ยวบินได้รับผลกระทบ บุ๊กกิ้งล่วงหน้าเส้นทางยุโรปยังเดินทางตามปกติ พร้อมจับตาดูสถานการณ์อย่างใกล้ชิด

'บินไทย' แจงยิบปมซื้อเครื่องบิน 45 ลำไม่กระทบชำระหนี้

“การบินไทย” เผยแผนจัดหาฝูงบินใหม่ 45 ลำ เพื่อทดแทนอากาศยานปลดระวาง ยันดำเนินการภายใต้แผนฟื้นฟู ไม่กระทบการชำระหนี้ เตรียมเผยรายละเอียดการจัดซื้อในงานสิงคโปร์แอร์โชว์ ย้ำดำเนินการด้วยความรอบคอบบนพื้นฐานแห่งความจำเป็นเพื่อการดำเนินธุรกิจให้บรรลุเป้าหมาย

31 ธ.ค.นี้ ปิดตำนาน 'ไทยสมายล์'

“การบินไทย” เผยคืบหน้าควบรวม ไทยสมายล์ เตรียมปิดตำนานโค้ดบิน WE 31 ธ.ค.นี้ ย้ำพร้อมอำนวยความสะดวกผู้โดยสารให้ได้รับความสะดวกอย่างต่อเนื่อง หลังทำการบินทดแทนไทยสมายล์