ปิดประตูปาร์ตี้ลิสต์ สูตร 500 หาร หากพลิกกลับมา ถือเป็น extraordinary

ที่ประชุมร่วมรัฐสภามีคิวจะพิจารณาร่างแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญสองฉบับ ที่มีการแก้ไขเพื่อรองรับการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราก่อนหน้านี้ ที่แก้ไขระบบการเลือกตั้งจากบัตรเลือกตั้งใบเดียวเป็นบัตรเลือกตั้งสองใบ นั่นก็คือ ร่างแก้ไขเพิ่มเติมร่าง พ.ร.บ.พรรคการเมือง และร่างแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.การเลือกตั้ง ส.ส. ที่จะพิจารณาภายในเดือนนี้ต่อจากร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ โดยอาจจะพิจารณาในสัปดาห์หน้าหรือสัปดาห์ถัดไป

เราได้สัมภาษณ์ นิกร จำนง ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ พรรคชาติไทยพัฒนา ในฐานะเลขานุการคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญทั้งสองฉบับของรัฐสภา โดยมุ่งเน้นเจาะไปที่ ร่าง พ.ร.บ.การเลือกตั้ง ส.ส. เป็นหลัก เพราะตอนนี้ประเด็น สูตรคำนวณ ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ พบว่ายังมีความเห็นแย้งกันอยู่ในคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.การเลือกตั้ง ส.ส. รวมถึงกลุ่มพรรคการเมืองที่ยังเห็นแตกต่างกันมากว่าควรเป็นสูตร 100 หาร หรือจะ 500 หารเพื่อคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อที่แต่ละพรรคการเมืองจะได้หลังการเลือกตั้ง

ประเด็นดังกล่าว นิกร ที่เป็นเลขานุการคณะกรรมาธิการฯ พิจารณาร่างแก้ไข พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญทั้งสองฉบับ อธิบายความไว้โดยลำดับว่า เมื่อมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับที่แก้ไขระบบการเลือกตั้งให้เป็นบัตรสองใบแล้ว ต่อมาก็ต้องมีการเสนอแก้ไข พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ คือ พ.ร.บ.การเลือกตั้ง ส.ส.และ พ.ร.บ.พรรคการเมือง

...การแก้ไข พ.ร.บ.การเลือกตั้ง ส.ส. ตัวร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมที่ยึดถือเป็นหลักในการพิจารณาของคณะกรรมาธิการ คือร่างของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่ทาง กกต.ยกร่างขึ้นมาให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ และเสนอผ่าน ครม. จากนั้น ครม.ก็ส่งร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวมาให้รัฐสภาพิจารณา ซึ่งร่างแก้ไข พ.ร.บ.การเลือกตั้ง ส.ส.ที่ส่งให้รัฐสภามีทั้งสิ้น 4 ร่าง คือร่างของ กกต., พรรคเพื่อไทย, พรรคร่วมรัฐบาล และพรรคก้าวไกล

...ซึ่งเรื่อง การคำนวณ ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ ว่าจะใช้ 500 หาร หรือจะ 100 หาร เรื่องนี้ประเด็นสำคัญก็คือว่า ที่มาของการแก้รัฐธรรมนูญคราวนี้เป็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เอาหลักการ หรือวิธีการและเจตนารมณ์ของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราของรัฐสภา (การแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราในปี 2564) ที่ตอนนั้นผมเป็นเลขานุการคณะกรรมาธิการ ซึ่งเรารู้อยู่แล้วว่าคำนวณแบบไหน คือให้คำนวณด้วยการนำ 100 ไปหารคะแนนปาร์ตี้ลิสต์ทั้งหมดของทุกพรรคการเมือง ที่เหมือนกับการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อปี 2554 ซึ่งตรงนี้เป็นเจตนารมณ์ของกรรมาธิการยกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่เรานำหลักของการเลือกตั้งเมื่อปี 2554 มาพิจารณา และคนที่ส่งมาก็คือ กกต. เท่ากับ กกต.เป็นคนให้ดู
สูตร 100 หาร ตรงตามเจตนารมณ์แก้ รธน.
500 หาร คำนวณไม่ได้-ฝ่าหลายด่าน

เลขานุการคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.การเลือกตั้ง ส.ส. กล่าวต่อไปว่า ในการยกร่าง พ.ร.บ.การเลือกตั้ง ส.ส.ของคณะกรรมาธิการมีความคิดสองแบบ ในเรื่องสูตรการคำนวณ ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ คือ 100 หาร กับ 500 หาร แต่เมื่อรัฐธรรมนูญบัญญัติให้มี ส.ส.บัญชีรายชื่อ 100 คน ก็ต้องใช้ 100 หาร คะแนนบัตรเลือกระบบบัญชีรายชื่อ ส่วนคะแนนในระบบเขตเลือกตั้งก็ต้องแยกออกจากกัน

...ที่มีบางฝ่ายเสนอว่าควรใช้สูตร 500 หาร เพราะต้องคำนึงถึงหลักเรื่อง ส.ส.พึงมี ที่อยู่ในรัฐธรรมนูญมาตรา 93-94 ที่ยังไม่ได้แก้ไข ซึ่งในความเป็นจริงทางกรรมาธิการยกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรากับที่ประชุมร่วมรัฐสภา ตอนพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา ที่แก้ไขมาตรา 91 แต่มาตรา 93-94 ยังไม่ได้แก้ไข เพราะกรรมาธิการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เราก็ไม่กล้าเพราะจะเป็นการแก้ไขเกินหลักการ เลยเป็นประเด็นที่ค้างมา ไม่ใช่ว่าค้างอยู่โดยไม่รู้ เรารู้แต่เห็นว่าถ้าไปแก้มันก็จะมีปัญหาทำให้ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราเวลานั้นมันจะถูกตีร่วงทั้งฉบับ เพราะเป็นการแก้เกินหลักการ เพราะคนจ้องจะล้มมีอยู่แล้ว

“อย่างไรก็ตามเรื่อง 'พึงมี' มันเป็นส่วนปลายที่ไปอธิบายในสิ่งที่ได้มีการตัดทิ้ง แก้ไขเสร็จหมดแล้ว คือเรื่องการคิดในระบบสัดส่วนผสม และหากจะมาบอกว่า 'พึงมีจาก 500' หรือไม่ รัฐธรรมนูญก็ไม่ได้บอกไว้ แต่หากเป็นพึงมีจาก 100 เราก็พอพูดได้ ดังนั้นการจะพยายามให้ไปใช้สูตร 500 หาร โดยอ้างว่ารัฐธรรมนูญยังมีคำว่า 'พึงมี' อยู่ จึงทำไม่ได้”

ดังนั้น เจตนารมณ์ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ผ่านมา คือให้ใช้ 100 หารเพื่อคำนวณออกมาเป็นสัดส่วน ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ที่พรรคการเมืองจะมีหลังการเลือกตั้ง ที่เป็นเจตนารมณ์ตอนยกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา ดังนั้นหากจะใช้เกณฑ์อย่างอื่นมาคำนวณมันจะขัดรัฐธรรมนูญ เพราะตอนที่มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งในชั้นกรรมาธิการ และตอนที่ทางที่ประชุมร่วมรัฐสภาพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา ต่างเข้าใจเหมือนกันว่าให้ใช้ 100 หาร

นิกร กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ร่างแก้ไข พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญที่แต่ละพรรคการเมืองเสนอเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา จะพบว่าทุกร่างที่เสนอมาต่างให้ใช้ 100 หารทั้งสิ้น อย่างร่างหลักที่ใช้ในการพิจารณาที่เป็นร่างของคณะกรรมการการเลือกตั้ง ก็ยืนในหลักการให้ใช้ 100 หาร รวมถึงร่างของพรรคร่วมรัฐบาล, ร่างของเพื่อไทยและพรรคก้าวไกล จึงถามว่าที่เสนอจะให้ใช้ 500 หาร ไปเอาหลักการนี้มาจากไหน

...ในช่วงที่รัฐสภามีการพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา ก็มีการเสนอขึ้นมาว่าอยากให้ใช้ระบบ MMP (ระบบเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสม) ตอนนั้นผมเป็นกรรมาธิการยกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญอยู่ก็ได้รับว่าจะไปแปรญัตติให้ เพราะเห็นว่าหากใช้ระบบ MMP ได้ มันก็เป็นเรื่องดีที่พรรคขนาดใหญ่จะได้ไม่ได้เปรียบพรรคขนาดเล็กมากเกินไป เพราะหากได้เปรียบมากเกินไปมันจะเสียสมดุล ผมก็สงวนคำแปรญัตติให้ แล้วก็ไปคุยเรื่อง "การคำนวณ" โดยมีการไปถามนักวิชาการ ผู้รู้ นักคณิตศาสตร์ พบว่าการที่จะใช้ 500 ไปหาร พบว่าเกิดปัญหาคือ มันคำนวณไม่ได้-ไม่สามารถนำมาใช้ได้ในระบบการเลือกตั้งของประเทศไทย หากจะทำมันก็จะทำให้เกิดสภาพจำนวน ส.ส.ไม่มีลิมิต เช่นอาจจะคำนวณออกมาแล้วเป็นว่าได้ตัวเลขออกมา 550 จากที่รัฐธรรมนูญให้มี ส.ส. 500 คน หรือบางทีคำนวณออกมาแล้วได้ 470 คน ไม่สามารถลงตัวที่ 500 ได้ อันเป็นระบบแบบเยอรมันซึ่งทำไม่ได้

"ข้อเสนอที่จะให้ใช้ 500 ไปหารเพื่อคำนวณที่นั่ง ส.ส.บัญชีรายชื่อ จึงเป็นข้อเสนอที่ 1.ขัดกับเจตนารมณ์ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราที่แก้ระบบการเลือกตั้ง จนเป็นระบบบัตรเลือกตั้งสองใบ เพราะเจตนารมณ์ของกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ และในการประชุมของรัฐสภาเพื่อพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มีการโหวตกัน ต่างมีเจตนารมณ์ให้ใช้ 100 หาร

2.หลักการตามร่างแก้ไข พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. พบว่าทุกร่างที่พรรคการเมืองเสนอต่อรัฐสภา รวมถึงร่างของ กกต.ต่างก็เสนอให้ใช้ 100 หารด้วยกันทั้งหมด

3.การให้ใช้ 500 หาร มันนำมาใช้ไม่ได้ เพราะคำนวณไม่ได้ แม้ว่ามันจะไม่ผิดรัฐธรรมนูญหรือไม่เป็นไปตามหลักการ แต่มันก็ใช้ในทางปฏิบัติไม่ได้กับการที่จะนำคะแนนทั้งระบบเขตและระบบบัญชีรายชื่อมารวมกันแล้วหารด้วย 500 จึงเป็นแนวทางที่มันไม่เวิร์ก"

นิกร-เลขานุการคณะ กมธ.วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.การเลือกตั้ง ส.ส. กล่าวต่อไปว่า ที่มีการจับตากันว่า การพิจารณาร่าง พ.ร.บ.การเลือกตั้ง ส.ส.ที่มองกันว่าเรื่องสูตรคำนวณปาร์ตี้ลิสต์จะเป็นประเด็นใหญ่ในการประชุมร่วมรัฐสภาตอนพิจารณาร่าง พ.ร.บ.การเลือกตั้ง ส.ส. ซึ่งหากไปดูการพิจารณาของกรรมาธิการ พบว่าตอนพิจารณาประเด็นนี้ที่ประชุมลงมติว่าจะเอาสูตรคำนวณปาร์ตี้ลิสต์แบบใด ผลการลงมติออกมาคือกรรมาธิการเสียงข้างมาก 32 เสียงให้ใช้ 100 หาร ส่วน 11 เสียงไม่เห็นด้วยกับการให้คงตามร่างเดิมฯ ที่ก็คือไม่เห็นด้วยกับให้ 100 หาร ซึ่งแนวทางก็คือไปในทางเห็นด้วยกับสูตร 500 หาร แสดงว่า กมธ.เสียงข้างมากเห็นด้วยกับการให้ 100 หาร ซึ่งการพิจารณาในวาระสองและวาระสาม การลงมติใดๆ จะใช้เสียงข้างมาก ที่โดยปกติการโหวตในที่ประชุมจะโหวตตามร่างของกรรมาธิการเสียงข้างมาก

...ดังนั้นเมื่อมาดูจำนวน ส.ส.ในสภา จะพบว่าพรรคการเมืองเกือบทั้งหมดยกเว้น ส.ส.จากพรรคการเมืองขนาดเล็กที่จะได้รับผลกระทบ ก็อาจจะโหวตให้ใช้สูตร 500 หาร แต่พบว่าพรรคการเมืองส่วนใหญ่ โดยเฉพาะพรรคร่วมรัฐบาลทั้งหมด รวมถึงพรรคฝ่ายค้านอย่างเพื่อไทยและก้าวไกล ต่างก็เอาด้วยกับการให้ 100 หารทั้งหมด เพราะเขาจะไปโหวตเอาด้วยกับ 500 หารได้อย่างไร เพราะหากไปโหวตแบบนั้นก็เท่ากับไปลงมติขัดกับร่างแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.การเลือกตั้ง ส.ส.ที่ตัวเองเซ็นชื่อเสนอเข้ามายังรัฐสภา

...ส่วนเสียงลงมติของสมาชิกวุฒิสภาในการโหวตร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ไม่จำเป็นต้องได้เสียงสมาชิกวุฒิสภาลงมติเห็นด้วยไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามหรือ 84 เสียงเหมือนตอนแก้ไขรัฐธรรมนูญ และด้วยการลงมติของที่ประชุมร่วมรัฐสภาใช้เสียงข้างมากของจำนวนสมาชิกที่เข้าประชุม เมื่อเสียง ส.ส.จากพรรคการเมืองที่เอาด้วยกับ 100 หารตามร่างที่เสนอต่อรัฐสภามีมากกว่า อีกทั้งในการลงมติ ส.ส.จากแต่ละพรรคการเมืองจะไปกลับคำของตัวเองได้อย่างไร หากพรรคการเมืองไหนจะมีการเปลี่ยนแปลง เขาต้องตอบคำถามประชาชนให้ได้ จะไปอธิบายประชาชนอย่างไร ผมก็มองว่าสุดท้ายแล้ว ผลโหวตของที่ประชุมร่วมรัฐสภาที่ออกมาก็คงเป็นสูตร 100 หาร
หากพลิกมาเป็น 500 หาร

เป็นเรื่องไม่ปกติครั้งใหญ่ในการเมืองไทย

อย่างไรก็ตาม นิกร-กมธ.จากพรรคชาติไทยพัฒนา กล่าวต่อไปว่า ที่มีการมองถึงเรื่อง scenario ที่อาจมีการจับพลัดจับผลูโดยอะไรก็แล้วแต่ จนปรากฏว่าผลการโหวตออกมาเป็นว่าร่างแก้ไข พ.ร.บ.การเลือกตั้ง ส.ส.สุดท้ายออกมาให้ใช้ 500 หาร ซึ่งหากออกมาแบบนี้ก็เท่ากับเราไปบิดจากร่างหลักของ กกต.

...สิ่งที่จะเกิดขึ้น ถ้าดูตามลำดับขั้นตอนก็คือ พอที่ประชุมร่วมรัฐสภาพิจารณาเสร็จแล้วในวาระสาม จะต้องมีการส่งร่างดังกล่าวที่รัฐสภาเห็นชอบดังกล่าวส่งไปยังหน่วยงานรัฐที่รับผิดชอบ ก็คือคณะกรรมการการเลือกตั้ง ซึ่งพอส่งไป ทาง กกต.ก็ต้องยืนความเห็นกลับมายังรัฐสภาว่าให้ใช้ 100 หาร เพราะร่างของ กกต.ที่ส่งมารัฐสภาให้ใช้ 100 หาร เพราะ กกต.จะไปรับ 500 หารได้อย่างไร เพราะมันไม่ตรงกับหลักการของเขา ทาง กกต.ปฏิบัติไม่ได้ โดย กกต.ต้องส่งกลับมารัฐสภาภายในสิบห้าวัน ทางที่ประชุมร่วมรัฐสภาก็ต้องมาแก้ไขร่างให้กลับไปเป็น 100 หารตามที่ กกต.เสนอกลับมาอีก

...อย่างไรก็ตาม แต่หากสมมุติว่าเกิดมีเหตุไม่คาดฝันเกิดขึ้น คือเกิดว่า กกต.ไปเอาด้วย ไปรับกับที่รัฐสภาลงมติให้ใช้ 500 หาร สิ่งที่จะเกิดขึ้นก็คือจะมีคนเข้าชื่อกันยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าหลักเกณฑ์การคิดคำนวณโดยเอา 500 หารเป็นสิ่งที่ขัดกับรัฐธรรมนูญ

"ผมพิจารณาจาก scenario และด่านต่างๆ เช่น การส่งร่างแก้ไข พ.ร.บ.การเลือกตั้ง ส.ส. กลับไปให้กกต.อีกครั้ง หลังจากที่ประชุมร่วมรัฐสภาโหวตวาระสาม ที่ กกต.ก็ต้องยืนตามร่างที่ กกต.ส่งมา คือให้ใช้ 100 หาร รวมถึงเรื่องเจตนารมณ์ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา ทำให้โดยส่วนตัวผมดูแล้วโอกาสที่จะใช้สูตร 500 หารแทบจะไม่มีเลย ไม่มีโอกาสที่จะทำได้เลย เพราะหากจะออกมาโดยเป็นสูตร 500 หาร ถ้าเกิดขึ้น มันจะเป็น extraordinary มากๆ มันจะเป็นทวนในสิ่งที่ทำกันมาก่อนหน้านี้ ถ้าจะเกิดขึ้นได้มันต้องงัดถึง 4-5 ด่าน ซึ่งหากเกิดออกมาเป็น 500 หาร ก็ถือว่าเป็นเรื่องไม่ปกติครั้งใหญ่ในการเมืองไทย "

-หากสุดท้ายที่ประชุมรัฐสภาเห็นชอบให้ใช้สูตร 100 หาร ที่ก็อาจจะมีบางกลุ่มไม่เห็นด้วย จนมีการเข้าชื่อกันร้องศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยเพราะอาจมองว่าถึงใช้สูตร 100 หารก็อาจขัดรัฐธรรมนูญ?

มันจะขัดหรือไม่ขัด ศาลรัฐธรรมนูญก็คงมีการพิจารณา โดยอาจจะเรียกอดีตคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา มาสอบถามว่าในการยกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญก่อนหน้านี้คณะกรรมาธิการชุดดังกล่าวมีเจตนารมณ์ในการยกร่างอย่างไร และคงมีการขอดูบันทึกการประชุมร่วมรัฐสภาตอนพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญว่ามีสมาชิกรัฐสภาอภิปรายกันไว้อย่างไร มีการลงมติอย่างไร

-เป็นไปได้หรือไม่ หากรัฐสภาโหวตวาระสองเสร็จแล้ว และพักไปสิบห้าวัน พอกลับมาลงมติในวาระสาม อาจเกิดเหตุการณ์มีการโหวตคว่่ำในวาระสาม สำหรับร่าง พ.ร.บ.การเลือกตั้ง ส.ส.?

มันต้องมีเหตุผล อยู่ๆ จะมาคว่่ำกันมันไม่ได้ เพราะนี้คือรัฐธรรมนูญและกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ที่มีความศักดิ์สิทธิ์อยู่ในตัว ไม่ใช่มาเล่นปั่นแปะ ถ้าจะมีการเปลี่ยนแปลงต้องมีเหตุผลมาก

-เพราะเหตุใดการที่พรรคชาติไทยพัฒนา ทั้งที่ไม่ใช่พรรคใหญ่ แต่กลับสนับสนุนสูตร 100 หาร ทั้งที่คนมองกันว่าสูตร 500 หาร จะเป็นผลดีมากกว่าสำหรับพรรคขนาดกลางและเล็ก?

เป็นเรื่องที่ท่านบรรหาร ศิลปอาชา อดีตนายกรัฐมนตรี และอดีตหัวหน้าพรรคชาติไทยได้เริ่มไว้ ในการทำเรื่องการปฏิรูปการเมืองปี 2540 ที่เรื่องบัตรเลือกตั้งสองใบอยู่ในรัฐธรรมนูญปี 2540 แล้วก็ให้เอา 100 หารปาร์ตี้ลิสต์ เราก็เลยยืนตาม แม้ว่าเราอาจจะค่อนข้างเสียเปรียบ เราไม่ได้เปรียบเลย เพราะวันนี้เราเป็นพรรคเล็ก แต่ว่าสิ่งที่เคยดีอยู่ สิ่งที่เคยเป็นหลักการ และอดีตหัวหน้าพรรคของเราเป็นคนทำไว้ เราไม่รับไม่ได้ คือต้องเอาสิ่งที่ควรจะเป็นก่อน แล้วพรรคก็ค่อยๆ ปรับตัว ซึ่งไม่ใช่ง่ายแต่ว่าเราคิดว่าเราทำได้ คือต้องเอาหลักการไว้ก่อน

-มองการเมืองการเลือกตั้งของไทย หากมีการใช้กติกาการเลือกตั้งบัตรสองใบและ 100 ปาร์ตี้ลิสต์อย่างไร ?

ผมขอนำคำกล่าวของท่านบรรหาร ศิลปอาชา ที่บอกไว้ ตอนมีการทำประชามติรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ซึ่งท่านรับรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน แต่ตอนนั้นพวกผมในพรรคไม่รับ แต่ท่านไม่รับ ท่านบรรหารบอกไว้ว่า "บ้านเมืองมันไปไม่ไหวแล้ว เป็นแบบนี้ ต้องมีการเลือกตั้ง" และคำที่ท่านพูดคือ "ให้มีการเลือกตั้ง แล้วการเมืองจะดีขึ้นเอง" ซึ่งเมื่อมีการเปลี่ยนแปลง ระบบการเลือกตั้งยังใช้ไม่ค่อยได้ ก็มาทำใหม่ให้ดีขึ้นกว่าเดิม ที่อาจไม่ได้ดีที่สุด แต่เมื่อมีการเลือกตั้ง แล้วประชาชนได้ตัดสินไปเรื่อยๆ แล้วบ้านเมืองก็จะค่อยๆ ดีขึ้น ที่ตอนนี้เรามีสภามาเกือบสามปี ก็ดีขึ้นตามสมควร พอมีการเลือกตั้งครั้งหน้า ความขัดแย้งจะได้ละลายไป ที่ผมเชื่อว่ามันจะมูฟไปสู่อนาคตได้ การแก้ไขกฎหมายทั้งสองฉบับดังกล่าว จึงเป็นการเคลียร์ปัญหาให้มันลดลงแล้วเข้าไปสู่การเลือกตั้ง แล้วทุกอย่างจะดีขึ้นเอง

สำหรับพรรคการเมืองขนาดเล็ก หากสุดท้ายใช้บัตรเลือกตั้งสองใบและใช้ 100 หารในการคำนวณปาร์ตี้ลิสต์ เขาก็ต้องปรับตัว เช่นอาจจะเป็นพรรคการเมืองเฉพาะทาง แต่ต้องหาเสียงแบบเข้มข้นโดยเฉพาะเรื่องนโยบาย ที่เป็นเรื่องดี ถือเป็นการพัฒนาทางการเมืองอย่างหนึ่ง ส่วนพรรคชาติไทยพัฒนาเราคุ้นเคยกับกติกานี้เป็นอย่างดี แต่เราก็ต้องทำเรื่องนโยบายพรรคให้คมชัดขึ้น และเราเป็นพรรคเก่าแก่ พอพูดถึงชาติไทยพัฒนาคนจะรู้จักมาก มันก็ง่ายต่อการลงคะแนนในระบบปาร์ตี้ลิสต์ เพราะเราเคยมี ส.ส.อยู่ทั่วไปหลายพื้นที่ เราก็จะได้เปรียบเหมือนกัน.

โดย วรพล กิตติรัตวรางกูร

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

อย่าใหญ่เกินธรรมชาติ .. พ่อมหาจำเริญ!!

เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธามั่นคงในพระพุทธศาสนา.. ภาวะโลกร้อน (Global warming) .. อันเกิดเนื่องเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ที่กำลังอยู่ใต้ห้วงวิกฤตการณ์อันเนื่องจากการกระทำของคนเรา

“มิจฉาธรรม .. ในอสัตบุรุษที่น่ากลัวยิ่ง”

เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา สงกรานต์ร้อนที่เข้าสู่จุลศักราช ๑๓๘๖ เถลิงศกตรงกับ ๑๖ เมษายน ๒๕๖๗ นับว่าร้อนแล้ง ตรงกับคำพยากรณ์ที่พร้อมเกิดพายุร้อนได้ในทุกพื้นที่ เป็นการแสดงสภาวะผันผวนที่เนื่องมาจากวิกฤตร้อนของโลก (Climate Change) ที่หลายฝ่ายเฝ้าสังเกตการณ์ด้วยความเป็นห่วงว่า มนุษยชาติจะผ่านวิกฤตโลกร้อนไปได้หรือไม่..

สู่.. โครงการพระคืนสู่ป่า น้อมถวายเป็นพระราชกุศลฯ

เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา ในห้วงเวลาที่อากาศร้อนจัด จนเข้าสู่วิกฤตการณ์ โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคอีสานของประเทศ

สู่.. โครงการพระคืนสู่ป่า.. ครั้งที่ ๑/๒๕๖๗!!

เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา.. ในภาวะที่เข้าสู่วิกฤตการณ์โลกร้อน.. ด้วยภาวะการเปลี่ยนแปลงแบบผิดเพี้ยนไปจากธรรมชาติปกติ (Climate Change) อันเป็นผลจากการกระทำของมนุษยชาติ ทั้งในทางตรงและทางอ้อม จึงได้ถือโอกาสคิดทำโครงการนำพระคืนสู่ป่า.. เพื่อศึกษาวงจรธรรมชาติของชีวิตที่เนื่องกับสิ่งแวดล้อม อันประกอบด้วยสรรพสิ่งต่างๆ ที่เกาะเกี่ยวเนื่องกันอย่างมีความสมดุล (Nature Cycle in Balance)

ลัทธิผีบุญ .. ภัยร้ายต่อพระศาสนา!!

เจริญพรสาธุชนผู้มีความศรัทธาในพระพุทธศาสนา.. ปัญหาของพุทธศาสนาในปัจจุบันที่ยังเจริญเติบโตมาจนถึงทุกวันนี้ คือ การยึดถือคำสอนที่ผิดเพี้ยนไปจากพระสัทธรรมดั้งเดิม...

คุณค่าแท้–คุณค่าเทียม ที่ชาวพุทธควรคำนึง..!!

เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา.. คำว่า “วิกฤตศรัทธา” เริ่มมีการพูดถึงกันมากในห้วงเวลานี้ ด้วยเหตุปัจจัยในเรื่องนั้น ที่นำไปสู่ความสั่นคลอนในความเชื่อมั่น ที่เคยอบรมสั่งสมมานานในสิ่งนั้นๆ เรื่องนั้นๆ บุคคลนั้นๆ.. ซึ่งนับเป็นเรื่องปกติของวิถีชีวิตสัตว์ทั้งหลายที่พยายามหาที่ยึดเหนี่ยวทางจิตวิญญาณ