การสนับสนุน SME ด้วยระบบ Alternative Credit Scoring for SME

การเติบโตของธุรกิจวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) ส่งผลต่อการพัฒนาประเทศอย่างมากจนกลายเป็น Growth Engine ที่มีส่วนสำคัญที่สุดที่ช่วยให้เศรษฐกิจไทยยังคงเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง โดยในปี พ.ศ. 2564 มูลค่าทางเศรษฐกิจของ SME คิดเป็นร้อยละ 35.0 ต่อมูลค่า GDP ของทั้งประเทศหรือคิดเป็นมูลค่าเท่ากับ 5.62 ล้านล้านบาท โดยมีสัดส่วนของภาคธุรกิจเป็น ภาคการบริการ ร้อยละ 44.0 ภาคการค้าร้อยละ 31.4 และภาคการผลิตร้อยละ 22.6 ซึ่งปัจจัยที่สนับสนุนให้ SME เติบโตอย่างต่อเนื่องคือการขยายตัวของการบริโภคครัวเรือนและภาคเอกชน    การเติบโตของ E-commerce การเติบโตของภาคท่องเที่ยว รวมถึงนโยบายและมาตรการส่งเสริมต่าง ๆ ของภาครัฐ นอกจากนั้นในช่วงหลังสถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมาพบว่าภาคธุรกิจ SME มีการฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว โดยปี 2564 SME เติบโตเพิ่มขึ้นประมาณ 13 เปอร์เซ็นต์จากปี 2563 ซึ่งมีการเติบโตที่สูงกว่าอัตราการเติบโตของภาคเศรษฐกิจโดยรวม นอกจาก SME จะมีต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศไทยโดยรวมอย่างสูงแล้วการจ้างงานที่อยู่ในภาคส่วนของ SME ก็มีสัดส่วนที่สูงเมื่อเปรียบเทียบกับการจ้างงานของประเทศ โดยการจ้างงานของธุรกิจ SME มีจำนวนประมาณ 13 ล้านคนซึ่งคิดเป็นสัดส่วน  72% ของการจ้างงานทั้งประเทศนอกจากนั้นในปี 2564 การจ้างงานในภาค SME ยังขยายตัวประมาณ 6 เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับปีก่อน และหากมองในถึงภาคการส่งออกพบว่ามูลค่าการส่งออกของ SME อยู่ที่ประมาณ 684,000 ล้านบาทคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ของมูลค่าการส่งออกของประเทศไทย

นอกจากความสำคัญทางด้านการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ SME ยังเป็นภาคส่วนที่สำคัญสำหรับการพัฒนาประเทศผ่านการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศด้วยการใช้นวัตกรรมในการพัฒนาผลิตภัณฑ์หรือธุรกิจให้สามารถแข่งขันในระดับสากลได้ ตามนโยบายการส่งเสริมภาคธุรกิจของรัฐบาลที่เรียกว่านโยบาย “อุตสาหกรรมเป้าหมายกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจ (New Engine of Growth)” หรือที่เราเรียกกันสั้นๆว่าการยกระดับมูลค่าผลิตภัณฑ์ของธุรกิจไปสู่ New s-curve ใหม่ ซึ่งเป็นนโยบายที่เน้นในการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการนำนวัตกรรมมาใช้ในการดำเนินธุรกิจเพิ่มขึ้นเพื่อให้เกิดการสร้างผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง ซึ่งนโยบายนี้ยังเป็นหนึ่งในนโยบายของยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีด้วยเช่นกัน โดยการดำเนินงานเพื่อให้ภาคธุรกิจสามารถบรรลุถึงการพัฒนาไปสู่ภาคเศรษฐกิจ New s-curve ใหม่ผ่านโครงการสร้างผู้ประกอบการอัจฉริยะซึ่งจะต้องมีการสร้างความเข้มแข็งให้กับผู้ประกอบการในหลายๆด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านการสร้างระบบนิเวศ (Ecosystem) ที่เอื้อต่อการดำเนินธุรกิจ SME ยุคใหม่ การสร้างโอกาสในการเข้าถึงตลาดใหม่ หรือ ตลาดสากล และที่สำคัญคือการสร้างโอกาสในการเข้าถึงบริการทางการเงิน โครงการหรือแผนงานต่างๆเหล่านี้ต้องถูกขับเคลื่อนประกอบกันเพื่อทำให้ผู้ประกอบการมีความเข้มแข็ง แต่ในความเป็นจริงแล้ว SME ไทยที่ไม่สามารถพัฒนาธุรกิจด้วยการใช้นวัตกรรมหรือการทำวิจัยเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ได้เนื่องจากการเข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุนเนื่องจากผู้ประกอบการถูกปฏิเสธสินเชื่อจากธนาคารพาณิชย์ ซึ่งจากการศึกษาขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ระบุว่าการปล่อยสินเชื่อให้กับ SME ในประเทศไทยมีผู้ประกอบการเพียง 10 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่สามารถผ่านการประเมินและกู้ยืมได้

นอกจากนั้น OECD ยังระบุอีกว่า SME ใช้หลักทรัพย์ค้ำประกันโดยเฉลี่ยสูงกว่าวงเงินสินเชื่อที่ขอถึง 5 เท่า โดยมูลค่าสินเชื่อที่ผู้ประกอบการทั้งหมดยื่นขอกู้จากธนาคารพาณิชย์มีมูลค่าทั้งหมด 4.46 ล้านล้านบาท มีเพียง 17 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนผู้กู้ที่เป็นผู้ประกอบการ SME และมีจำนวน SME เพียง 50,000 กว่ารายหรือคิดเป็น 10 เปอร์เซ็นต์ของ SME ที่ยื่นขอกู้เท่านั้นที่ผ่านการประเมินจากสถาบันการเงิน ซึ่งสาเหตุหลักที่สถาบันการเงินไม่ปล่อยกู้ให้กับ SME คือ 1. การที่ SME  ไม่มีสินทรัพย์ค้ำประกันที่เพียงพอ 2. SME ส่วนมากมีปัญหาเรื่องการจัดทำแผนธุรกิจ ไม่รู้ว่าจะเขียนแผนธุรกิจอย่างไร ขั้นตอนการเขียนเป็นอย่างไร 3. ผู้กู้ขาดประสบการณ์ทำธุรกิจหรืออาจมีประสบการณ์น้อย โดยในเหตุผลข้อนี้ธนาคารได้อธิบายว่าผู้ประกอบการที่ขาดประสบการณ์แล้วทางธนาคารจะสามารถมั่นใจได้อย่างไรว่าผู้ประกอบการจะสามารถนำพาธุรกิจให้ประสบความสำเร็จและไปรอดได้ ซึ่งเหตุผลนี้หากเป็นธุรกิจ startup แม้ว่าผู้ประกอบการจะมีไอเดียดีเพียงใดก็ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนจากสถาบันการเงินได้เลย 4. SME ส่วนใหญ่ไม่มีประสบการณ์ในการกู้ทำให้ไม่มีประวัติทางด้านเครดิต หรือคะแนนเครดิตต่ำซึ่งธนาคารพาณิชย์อาจไม่มั่นใจเพราะผู้ประกอบการไม่มีประวัติการชำระหนี้หรือประวัติทางด้านเครดิตซึ่งทำให้กู้ไม่ผ่านได้เช่นกัน

ซึ่งกระบวนการวิเคราะห์สินเชื่อนี้จะแตกต่างจากการวิเคราะห์ของประเทศที่พัฒนาแล้ว โดยสถาบันการเงินจะทำการวิเคราะห์ข้อมูลของผู้ของกู้ คือ 1. ข้อมูลทางการเงิน 2. ข้อมูลที่ไม่ใช่ข้อมูลทางการเงิน เช่น คุณลักษณะของผู้ประกอบการความสามารถในการทำธุรกิจ ตัวอย่างเช่นระบบเครดิตบูโรในประเทศสิงคโปร์จะใช้ข้อมูล 2 ประเภท คือ 1. ข้อมูลจากการประเมินตามพื้นฐานการดำเนินการของกิจการเช่น ยอดขาย กำไร ROI ROE 2. ข้อมูลจากการประเมินขีดความสามารถของบุคคล เช่น ระดับของขีดความสามารถของผู้บริหาร ทัศนคติ ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจในระบบออนไลน์หรือ Social Media เป็นต้น นอกจากนั้นจากข้อมูลงานวิจัยที่ผ่านมาพบว่าปัจจัยแห่งความสำเร็จของผู้ประกอบการจะไม่ได้มาจากข้อมูลทางการเงินอย่างเดียวเท่านั้น ผู้ปล่อยกู้ต้องนำปัจจัยต่างๆที่เกี่ยวข้องกับความสำเร็จในการดำเนินธุรกิจมาใช้เป็นข้อมูลในการวิเคราะห์ความสามารถของผู้กู้มาประกอบด้วย สำหรับประเทศไทยทางสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมหรือ สสว. มีโครงการพัฒนาระบบฐานข้อมูลการประเมินความน่าเชื่อถือของ SME หรือ SME Credit Rating database  เพื่อพัฒนาระบบ SME Credit Rating ให้หน่วยงานภาครัฐสามารถนำเครื่องมือนี้มาใช้ในการประเมินขีดความสามารถของ SME เพื่อพิจารณาในการปล่อยสินเชื่อให้กับ SME ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งระบบ SME Credit Rating นี้มีการใช้ AI มาช่วยในการประเมินขีดความสามารถของผู้ประกอบการโดยเน้นไปที่การใช้ข้อมูลที่ไม่ใช่ข้อมูลทางการเงิน ซึ่งข้อมูลจะถูกแบ่งออกเป็น 2 ส่วนได้แก่ 1. ข้อมูลทางด้านขีดความสามารถในการเข้าสู่ตลาดสากล 2. ข้อมูลทางด้านขีดความสามารถทางด้านการตลาด โดยใช้ข้อมูลในส่วนของการเทรนนิ่งมาจากผู้ประกอบการ SME ที่ประสบความสำเร็จในอุตสาหกรรมต่าง ๆ จำนวนมากกว่า 500 ราย 

โดยจากการดำเนินงานใน 3 ปีที่ผ่านมาพบว่า SME ที่ประสบความสำเร็จในการดำเนินธุรกิจนั้นสามารถวัดได้จาก 1. ระดับของความเป็นมืออาชีพของผู้บริหาร 2. ค่าใช้จ่ายในการวิจัยและพัฒนาสินค้าหรือบริการ 3. ความมีเอกลักษณ์ของสินค้าและบริการ 4. กิจการมีการทำวิจัยเพื่อสำรวจความต้องการของผู้บริโภคหรือไม่ 5. กิจการมีการสำรวจความพึงพอใจของสินค้าหรือไม่รวมไปถึงเกลียดการมีเทคนิคที่กิจการใช้ในการพัฒนาและปรับปรุงกระบวนการการผลิตสินค้าหรือไม่ ซึ่งเป็นปัจจัยที่สำคัญ 5 อันดับแรกที่ผู้ประกอบการที่เป็นผู้ที่ประสบความสำเร็จในการดำเนินธุรกิจพึงมี ดังนั้นหากสถาบันการเงินที่ปล่อยเงินกู้ให้ SME นำปัจจัยดังกล่าวไปใช้ในการประเมินการปล่อยสินเชื่อจะเป็นการเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนให้แก่ผู้ประกอบการ SME ดังนั้นหากมีการพัฒนาระบบนี้ต่อไปจะทำให้ภาครัฐหรือสถาบันการเงินที่ปล่อยกู้ให้กับผู้ประกอบการ SME มีประสิทธิภาพมากขึ้นอีกด้วย ซึ่งหากผู้ประกอบการ SME สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากขึ้นกว่าที่ผ่านมาจะส่งผลให้การพัฒนา SME ไปสู่การเป็นผู้ประกอบการอัจฉริยะที่มีการใช้นวัตกรรมได้มากขึ้นด้วยเช่นกัน นอกจากนั้นหากการเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนให้แก่ SME จะส่งผลให้ GDP ของประเทศจะมีโอกาสเพิ่มสูงขึ้นอีกประมาณ 10% – 15% ซึ่งหากเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านแล้วเช่นประเทศสิงคโปร์ซึ่งผลิตภัณฑ์มวลรวมของธุรกิจ SME อยู่ในระดับ 70 เปอร์เซ็นต์ของ GDP ก็จะพบว่าระบบการประเมินขีดความสามารถที่เพิ่มโอกาสให้กับผู้ประกอบการ SME นั้นจะช่วยเพิ่มการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศได้อีกมากด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ผู้เขียนคาดหวังว่าการเผยแพร่ และพัฒนาระบบประเมินขีดความสามารถของ SME ที่มีประสิทธิภาพจะสามารถสนับสนุนผู้ประกอบการ SME ให้มีความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลกได้อีกด้วย

คอลัมน์ เวทีพิจารณ์นโยบายสาธารณะ

ดร.พงษ์สุทธิ พื้นแสน

รองคณบดีฝ่ายบริหารและวางแผนยุทธศาสตร์

อาจารย์วิชาเอกการเงิน คณะบริหารธุรกิจและการบัญชี มหาวิทยาลัยขอนแก่น

กลุ่มนโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

สสว. จับมือ เทลสกอร์ ผลักดัน “อินฟลูเอนเซอร์ มาร์เก็ตติ้ง” หนุนยอดขายเอสเอ็มอี

นายวีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) กล่าวว่า สสว. มีพันธกิจในการบูรณาการ และผลักดันการส่งเสริม MSME

รัฐบาลช่วย SME ไทย เข้าถึงแหล่งเงินทุน ผ่านมหกรรมทรัพย์หลักประกันทางธุรกิจ

รัฐบาลบูรณาการความร่วมมือภาครัฐ-เอกชน ส่งเสริมการเข้าถึงแหล่งเงินทุนให้กับ SME ไทย ผ่านการจัดงานมหกรรมทรัพย์หลักประกันทางธุรกิจ

"สสว." จับมือ "โอเพนเอเชีย " จัดเต็มสิทธิประโยชน์เอสเอ็มอี ลุยส่งออกตลาดจีน

สสว. ร่วมกับ โอเพนเอเชีย สร้างโอกาสเอสเอ็มอีไทย ผลักดันสิทธิประโยชน์เสริมศักยภาพมุ่งเน้นส่งออกสินค้าจำหน่ายยังสาธารณรัฐประชาชนจีน

นักลงทุนเผ่น! คณบดีเศรษฐศาสตร์มธ. ชี้ขึ้นค่าแรง 400 ยังไม่เหมาะ กระทบ SME มีปัญหาย้ายฐานลงทุน

ผศ.ดร.ศุภชัย ศรีสุชาติ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ว่า หลังจากมีการประชุมไตรภาคื ทั้งฝ่า