ครอบครัว “อบอุ่น ลูกหลานกตัญญู”: ความท้าท้ายในสังคมสูงอายุ

ปัจจุบัน ข่าวในสื่อสารมวลชนได้นำเสนอเกี่ยวกับปัญหาความรุนแรง ความแตกแยกในครอบครัวไทย มีมากขึ้น สะท้อนให้เห็นถึงภาพหนึ่งของความเป็นปึกแผ่นหรือความอบอุ่นของครอบครัวไทยที่มีสายใยความสัมพันธ์ของสมาชิกในหลายรุ่นวัย ตั้งแต่รุ่นปู่ย่าตายาย ลุงป้าน้าอา พ่อแม่ ลูก ที่เปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะในการเข้าสู่สังคมสูงอายุโดยสมบูรณ์ (Aged society) สายใยความสัมพันธ์และการเกื้อกูลกันในระหว่างรุ่นคนในครอบครัวที่เป็นอยู่ปกติในทางพฤติกรรม ได้มีการเปลี่ยนแปลงจากครอบครัว “อบอุ่น ลูกหลานตัญญู” หรือไม่อย่างไร

ข้อมูลเกี่ยวกับโครงสร้างครอบครัวและการเกื้อกูลที่สำรวจได้ในรอบที่ 2 ปี พ.ศ. 2560 (ซึ่งยังไม่เกิดการระบาดของไวรัสโควิด-19) จากโครงการสำรวจด้านสุขภาพ การสูงอายุ และการเกษียณในประเทศไทย ด้วยครัวเรือนตัวอย่างซ้ำระยะยาว (Longitudinal household panel survey on Health, Aging, and Retirement in Thailand – HART) โดย นักวิจัยของโครงการ คือ รศ. ดร. เดือนเพ็ญ ธีรวรรณวิวัฒน์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ได้ฉายภาพการเกื้อกูลกันระหว่างรุ่นคน 2 รุ่น คือ บิดามารดาสูงอายุ (อายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป) และบุตร (อายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป) จากการศึกษาตัวชี้วัดของความเป็นปึกแผ่น (Solidarity) ของครอบครัวไทยในความคิดเห็นของบิดามารดาสูงอายุ  ใน 3 ด้าน ได้แก่ (1) การพักอาศัยอยู่ด้วยกัน (Structural solidarity) (2) ความถี่ในการติดต่อสื่อสารกัน ไม่ว่าจะเป็นการพบปะเยี่ยมเยียน ติดต่อพูดคุยกันทางโทรศัพท์ จดหมาย จดหมายอิเลคโทรนิคส์ หรืออื่นๆ ในกรณีของบิดามารดาและบุตรที่ไม่พักอาศัยอยู่ด้วยกัน  ที่แสดงถึงความเชื่อมโยงสัมพันธ์ระหว่างกัน (Associational solidarity) และ (3) การช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกันของสมาชิกครอบครัวข้ามรุ่นระหว่างบิดามารดาและบุตร ในการทำหน้าที่ (Functional solidarity) ของบิดามารดาในฐานะ “ผู้ให้” แก่บุตร และ “ผู้รับ” จากบุตร ทั้งที่เป็น “เงิน” และ “ไม่ใช่เงิน” (เช่น การดูแลทำความสะอาดบ้าน การทำอาหาร หรือการสนับสนุนทางด้านจิตใจ เป็นต้น) ผลการวิเคราะห์ด้วยเทคนิค Latent Class Analysis สามารถแยกแยะประเภทของการเกื้อกูลระหว่างบิดามารดาสูงอายุและบุตรวัยผู้ใหญ่ได้เป็น 4 รูปแบบ ได้แก่ (1) เหินห่างจากลูก ซึ่งร้อยละ 41 ของบิดามารดามีการพบปะพูดคุยกับบุตรแต่ไม่บ่อย ไม่มีการเกื้อกูลกันทั้งที่เป็นเงินและไม่ใช่เงินกันกับบุตร กล่าวคือ บิดามารดาสูงอายุไม่ได้เป็นทั้ง “ผู้ให้” หรือ “ผู้รับ” แต่อย่างใด (2) เห็นหน้าลูก/เลี้ยงลูกไม่โต ร้อยละ 6 ของบิดามารดา มีการพบปะพูดคุยกับบุตรบ่อยๆ แต่ไม่ได้รับเงินหรือความช่วยเหลือเกื้อกูลด้านอื่นๆที่ไม่ใช่เงินจากบุตรวัยผู้ใหญ่ ในทางตรงกันข้ามมีแนวโน้มที่จะเป็น “ผู้ให้” ความช่วยเหลือแก่บุตร (3) แลกเปลี่ยนด้วยบริการ ร้อยละ 29 ของบิดามารดามีการพบปะพูดคุยกับบุตรบ่อยๆ บิดามารดาเป็น “ผู้รับ” การเกื้อกูลจากบุตรทั้งที่เป็นเงินและความช่วยเหลืออื่นๆที่ไม่ใช่เงิน และเป็น “ผู้ให้” เฉพาะความช่วยเหลือที่ไม่ใช่เงินเท่านั้น และ (4) มีลูกกตัญญู ร้อยละ 24 ของบิดามารดามีการพบปะพูดคุยกับบุตรบ่อยๆ บิดามารดาเป็น “ผู้รับ” การเกื้อกูลจากบุตรทั้งที่เป็นเงินและความช่วยเหลืออื่นๆที่ไม่ใช่เงิน เพียงฝ่ายเดียว ดังนั้นในภาพรวม บิดามารดาสูงอายุส่วนใหญ่จะยังมีความสัมพันธ์เกื้อกูลกับบุตร

แต่เมื่อพิจารณาแยกตามกลุ่มอายุของบิดามารดา จะเห็นว่า บิดามารดาที่มีอายุมากขึ้น การเกื้อกูลจะมีน้อยประเภทลง โดยเฉพาะบิดามารดาในวัยปลาย (อายุตั้งแต่ 80 ปีขึ้นไป) จะไม่มีการเกื้อกูลจากบุตรทั้งที่เป็นเงินและไม่ใช่เงิน (จากตาราง)

ร้อยละของผู้สูงอายุในภาพรวมและในแต่ละกลุ่มอายุจำแนกตามประเภทของการเกื้อกูลกับบุตรวัยผู้ใหญ่

ความแตกต่างประเภทของเกื้อกูลกันในแต่ละกลุ่มวัย แสดงให้เห็นว่าตลอดช่วงชีวิตของคนเรา (Life course) การปฎิสัมพันธ์ข้ามรุ่นคนเป็นกระบวนการที่เป็นพลวัต ขึ้นอยู่กับทรัพยากรของบุตรและความต้องการของบิดามารดาที่แตกต่างกันในแต่ละช่วงวัยของคู่ปฎิสัมพันธ์ รวมทั้งข้อจำกัดจากสภาพแวดล้อมภายนอก ปัจจัยทั้งหลายเหล่านี้เป็นตัวกำหนดการถ่ายโอนทรัพยากรระหว่างกัน เช่น เมื่อบิดามารดาเข้าสู่ผู้สูงอายุวัยต้น บุตรยังอยู่ในวัยทำงาน ยังมีรายได้อยู่ ในขณะที่ความต้องการของบิดามารดายังไม่มากเท่าใดเพราะยังช่วยเหลือตนเองได้ อีกทั้งคู่สมรสยังมีชีวิตอยู่สามารถพึ่งพาซึ่งกันและกันได้ ดังนั้นประเภทของการปฎิสัมพันธ์หรือการเกื้อกูลข้ามรุ่นจึงมีได้หลากหลาย แต่เมื่อบิดามารดาเป็นผู้สูงอายุวัยปลาย บุตรเข้าสู่ผู้สูงอายุวัยต้น ซึ่งส่วนใหญ่พ้นวัยทำงานแล้ว ไม่มีรายได้และต้องพึ่งพาบุตรหลานเช่นกัน จึงขาดศักยภาพ (ทรัพยากร) ที่จะช่วยเหลือเกื้อกูลบิดามารดาของตน ในขณะที่บิดามารดามีความต้องการมากขึ้น เนื่องจากส่วนใหญ่เข้าสู่สภาพต้องพึ่งพาบุคคลอื่นอย่างสมบูรณ์ อีกประเด็น คือ การเกื้อกูลในผู้สูงอายุวัยปลายไม่มีประเภท “เหินห่างจากลูก” ทั้งนี้น่าจะเนื่องมาจากการที่ผู้สูงอายุวัยปลายส่วนใหญ่เป็นหม้ายและช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ จึงมักต้องอาศัยอยู่กับบุตรหลาน ส่งผลให้ภาระหนักอาจจะไปตกอยู่กับหลาน (บุตรของบุตร) เพราะต้องดูแลผู้สูงอายุอย่างน้อย 2 คน 2 รุ่น เป็นรุ่นบิดามารดา และรุ่นปู่ย่าตายาย

การศึกษานี้ชี้แนะว่าบรรทัดฐานของสังคมเกี่ยวกับความกตัญญูรู้คุณบิดามารดายังมีอยู่ในสังคมไทย แต่อาจจะเปลี่ยนรูปแบบของพฤติกรรมจากรูปแบบดั้งเดิมในอดีต ที่บุตรให้การช่วยเหลือสนับสนุนทั้งที่เป็นเงินและไม่ใช่เงินกับบิดามารดาอย่างเดียว มาเป็นอย่างน้อยมีการติดต่อพูดคุยกับบิดามารดาอย่างสม่ำเสมอ หรือบิดามารดาแลกเปลี่ยนความช่วยเหลือในด้านที่ไม่ใช่เงิน ซึ่งเป็นการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้เหมาะสมกับสภาพของสังคมที่เปลี่ยนไป และการเกื้อหนุนผู้สูงอายุจากครอบครัวมีแนวโน้มที่จะเป็นการดูแลระยะยาว ผู้สูงอายุอาจต้องเกี่ยวพันกับสมาชิกในครอบครัวหลายรุ่นด้วยกัน ดังนั้น การกำหนดนโยบายด้านครอบครัวอาจต้องมีกรอบวิสัยทัศน์ที่กว้างขึ้นเกี่ยวกับการสร้างความเป็นปึกแผ่นของครอบครัวไทยและการเกื้อกูลระหว่างรุ่นคนในครอบครัวที่รวมถึงการเกื้อกูลระหว่างรุ่นปู่ย่าตายายและรุ่นหลาน นอกเหนือจากวิสัยทัศน์ในกรอบของการสังคมสงเคราะห์ครอบครัวเปราะบาง หรือการให้รัฐสวัสดิการ

ดารารัตน์ อานันทนะสุวงศ์

เดือนเพ็ญ ธีรวรรณวิวัฒน์

ศูนย์วิจัยสังคมสูงอายุ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์

กลุ่มนโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'จิ๊บ ปกฉัตร' อุ้มท้อง 8 เดือน เผยแพ้ท้องสุดแปลก ฟุ้งสามีดูแลดีขั้นสุด!

จิ๊บ ปกฉัตร นักแสดงและพิธีกรสาวอารมณ์ดีที่วันนี้ขออุ้มท้องลูกสาว 8 เดือน เปิดใจก่อนคลอดลูก เล่ามีอาการแพ้ท้องแบบสุดแปลก พร้อมเผยเส้นทางกว่าจะมีลูกคนนี้ทำเสียน้ำตามาแล้ว! ในรายการคุยแซ่บ Show ทางช่อง One31 ที่มี หนิง ปณิตา และ เบนซ์ พรชิตา เป็นพิธีกร

'บิ๊ก D Gerrard' รับเคยท้อจนคิดสั้น ใช้ดนตรีเป็นที่พึ่งจนประสบความสำเร็จ

จากชีวิตในวัยเด็กของ "บิ๊ก D Gerrard” หรือ ไบรอัน เจอร์ราร์ด อุกฤษ วิลลีย์ บรอด ดอนกาเบียล เติบโตมาพร้อมกับความเข้มงวดของครอบครัว โดนกลุ่มเพื่อนวัยเด็กบูลลี่ และทำร้ายร่างกาย

'เบียร์ พร้อมพงษ์' ส่ง4 เพลงเติมกำลังใจร่วมเดินทางกลับบ้านสู่อ้อมกอดครอบครัว

ช่วงนี้หลายคนกำลังเตรียมเดินทางกลับภูมิลำเนาเพื่อไปหาครอบครัวหรือคนที่รักในช่วงเทศกาลสงกรานต์เพื่อกลับไปชาร์ตแบตเพิ่มพลังใจหลังจากที่มาสู้งานในเมืองหลวงกันตลอดทั้งปี

'ป๋อ ณัฐวุฒิ' สวนกลับชาวเน็ต "ผมโตมาในครอบครัวที่พ่อให้เกียรติแม่"

หยอดคำหวานกับภรรยาตลอดเรียกได้ว่าสวีทกันสุดๆ สำหรับพระเอกรุ่นเก๋า ป๋อ-ณัฐวุฒิ สกิดใจ กับภรรยาสาวสวย เอ๋-พรทิพย์ สกิดใจ ล่าสุดวาเลนไทน์คุณสามีก็ยังชมภรรยาไม่หยุด หลังจากมีชาวเน็ตชอบเหน็บแนมว่าวันๆเอาแต่ชมเมีย เจ้าตัวเลยตอกกลับว่าไม่รู้ใครโตมาแบบไหนแต่ตนโตมาในครอบครัวที่พ่อให้เกียรติแม่ อีกทั้งภรรยาก็ดูแลตัวเองดี ดูแลบ้านและลูกๆดีขนาดนี้จะให้ไปชมใคร