จากสุวรรณภูมิ.. สู่แคว้นคันธาระ (ปากีสถาน).... (ตอนที่ ๑๒) พรรษาประวัติศาสตร์ (ปี ๒๕๖๕) .. ณ นครตักกศิลา

  • สู่     .. ร่องรอยอารยธรรมพุทธศาสนา ในอาณาจักรกุษาณะ (เปศวาร์/ปุรุษปุระ)

เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา... จากที่ได้กล่าวมาในตอนที่แล้ว... แต่ด้วยการจัดการประสานงานของกองโบราณคดีและพิพิธภัณฑ์เปศวาร์.. รัฐ KP Dr.Abdul Samad Director Archeology & Museums จึงได้รับอนุญาตให้เดินทางเข้าไป เพื่อเข้าไปเยี่ยมชมการทำงานบูรณะพระมหาสถูปติดชายแดนอัฟกานิสถาน ด้าน Khyber Pass... ดังกล่าว ซึ่งใช้หินแกรนิตในพื้นที่เข้าซ่อมแซมบูรณะ จนได้สภาพรูปร่างของพระสถูปคืนกลับมาเกือบสมบูรณ์ โดย ดร.ซามัดกล่าวว่า

 “ใช้เวลา ๓ ปี ตามแผนงานที่จะบูรณะให้คืนกลับมาอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ที่สุด.. คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี ๒๕๖๗.. คือ ๒ ปีข้างหน้า...” (ในขณะที่ ดร.ซามัดกล่าวอยู่นั้น กองโบราณคดีฯ ของ KP ได้ทำการบูรณะผ่านมาแล้ว ๑ ปี.. คือ ปี พ.ศ.๒๕๖๔)

เมื่อได้ไปเห็นสภาพงานจริงของการบูรณะของหน่วยงานโบราณคดีและพิพิธภัณฑ์เปศวาร์ แห่ง KP.. ก็ต้องยอมรับในความตั้งใจจริงของ Dr.Abdul Samad และทีมงาน แม้จะต้องเผชิญกับความยากลำบากในหลายมิติ.. แต่ก็ยังได้เห็นผลงานที่ก้าวหน้า.. จนเป็นรูปร่าง

จึงได้แนะนำให้คณะศรัทธาชาวไทยที่ตามไป ร่วมบริจาคเพื่อบูรณะพระมหาสถูปดังกล่าว จากกองทุนอารยวังโส.. ที่พุทธศาสนิกชนผู้มีจิตศรัทธาได้ถวายไว้ เพื่อเรียกใช้จากลูกศิษย์ผู้ดูแลได้ในสิ่งที่เหมาะควรต่อสมณะเรียกใช้ตามมูลค่าดังกล่าว

แม้จะไม่ใช่จำนวนเงินมากมาย.. แต่มีคุณค่าทางจิตใจ.. เพื่อแสดงน้ำใจในการสนับสนุนเกื้อกูลการทำงานของกองโบราณคดีฯ แห่งเปศวาร์ ภายใต้การนำของ Dr.Abdul Samad Director ที่เดินทาไปร่วมอำนวยความสะดวกและถวายความรู้ด้วยตนเองตลอดรายการ ก็ได้แต่หวังว่า.. หากมีโอกาสมาเยี่ยมเยียนพื้นที่ชายแดน Khyber Pass.. อีกครั้ง.. จะได้มาถวายสักการะ พระมหาสถูปองค์สมบูรณ์ อีกครั้ง...

หลังจากนั้นจึงรับนิมนต์ไปตรงจุดตรวจการณ์ที่ช่องเขา Khyber Pass.. เส้นทางเชื่อมโยงระหว่างอัฟกานิสถานและปากีสถาน อันเป็นช่องทางประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ.. ที่ทับซ้อนมาหลายสมัย สืบสานร่องรอยต่างๆ มากมายทั้งดีและไม่ดี... อันเชื่อมต่อเรื่องราวเข้าสู่ หุบเขาเปศวาร์ (Peshawar Valley)

การจะศึกษาร่องรอยอารยธรรมพุทธศาสนาจากมรดกโลกใน หุบเขาเปศวาร์ จึงควรรู้จักความสำคัญของเมืองเปศวาร์ ที่พระเจ้ากนิษกะทรงเลือกเป็นเมืองหลวงหลักของอาณาจักรกุษาณะ โดยมีประวัติโดยย่อ ดังนี้

 “ชื่อเมือง เปษวาร์ (Peshawar) มาจากชื่อเดิมเป็นภาษาสันสกฤตว่า ปุรุษปุระ หรือ เปษาวูร แปลความหมายว่า เมืองของมหาบุรุษ อันเป็นไปตามคติธรรมในพุทธศาสนา ที่แปล ปุรุษ (ปุริสะ) หมายถึงบุคคลที่มีความดีงาม

 “เปษวาร์” หรือที่นิยมเขียนกันในปัจจุบันด้วยคำ “เปศวาร์” เป็นดินแดนที่สำคัญยิ่งในตอนเหนือของชมพูทวีป ด้วยตั้งอยู่ใกล้ ช่องเขาไคเบอร์ (Khyber Pass) ซึ่งรองรับและซึมซับร่องรอยจากเรื่องราวต่างๆ ไว้มากมาย ด้วย ช่องเขาไคเบอร์ เป็นดุจประตูบ้านเมืองประตูเดียวทางตอนเหนือของชมพูทวีป ที่ผู้คนในทุกยุคสมัย หากสัญจรมาจากเอเชียกลางหรือเอเชียใต้ ก็จะต้องใช้ช่องทางดังกล่าว.. ช่องทางเดียว โดยเฉพาะการเคลื่อนสรรพกำลังมากมายทั้งหมู่ชน รถรา ม้าช้าง สิ่งของ สินค้า เครื่องใช้ทั้งปวง

ดังที่นักประวัติศาสตร์ทั่วโลกยอมรับเป็นคติเดียวกันว่า การเคลื่อนทัพของพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราช ก็ต้องผ่านช่องทาง Khyber Pass .. ตลอดจนถึงทุกกองกำลังของกลุ่มชนต่างๆ ไม่ว่าจะเข้ามาทำการค้าขาย.. อพยพมาหาทำเลถิ่นฐานเพื่ออยู่อาศัยทำมาหากิน.. หรือการยกกองกำลังจากภายนอกเพื่อเข้ามารุกราน โจมตี ยึดครอง ปล้นสะดม.. ก็ต้องอาศัยช่องทาง Khyber Pass .. เช่น กลุ่มชนอารยัน กลุ่มกุษาณะ กลุ่มฮั่น กลุ่มเตอร์ก กลุ่มมองโกล และกลุ่มโมกุล..

เมืองเปศวาร์ (Peshawar) จึงเป็นเมืองสำคัญต่อการควบคุมดูแลเส้นทางประวัติศาสตร์ดังกล่าว.. จึงเกิดการตั้งเมืองเปศวาร์เป็นเมืองหลวง.. ควบคู่กับเมืองตักศิลาที่เป็นเมืองหลวงของแคว้นคันธาระมายาวนาน ที่ต่อมาราชวงศ์กุษาณะได้ปกครองทั่วแว่นแคว้นฝ่ายเหนือในชมพูทวีป.. และแผ่ราชอำนาจไปสู่พื้นที่ต่างๆ ในมัชฌิมชนบท.. จนถึงมคธ.. และวังสะ...”

พระเจ้ากนิษกะ แห่งราชวงศ์กุษาณะ จึงได้ทรงย้ายเมืองหลวงจาก ปุษกลวดี (Pushkalavati) ปัจจุบันคือเมือง Chassadda มายัง Peshawar ด้วยความตระหนักถึงช่องเขา Khyber Pass .. อันเป็นเส้นทางยุทธศาสตร์ที่ควรควบคุมไว้ให้อยู่ในปกครองให้ได้

ด้วยความรุ่งเรืองของพุทธศาสนาสมัยพระเจ้ากนิษกะ ระหว่าง พ.ศ.๔๐๐-๗๐๐ .. ที่เข้าสู่พุทธศาสนายุคมหายานตอนต้น ที่มีพุทธศาสนานิกายสรวาสติวาทิน .. นิกายศูนยวาท มีบทบาทในการปลูกฝังแนวพุทธมหายานไว้เป็นพลังขับเคลื่อนในเรื่องพระพุทธศาสนา ทั้งนี้ด้วย ความศรัทธาของพระเจ้ากนิษกะ .. จึงได้เห็นความสืบเนื่องอย่างเจริญเติบโตอย่างสูงของพุทธศาสนาในฝ่ายภาคเหนือของชมพูทวีป ที่ถูกเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “พุทธฝ่ายเหนือ”

ดังปรากฏเรื่องราวความศรัทธาต่อพระพุทธศาสนาที่ภิกษุฮ่วนฉ่าง (Hiuen Tsang) หรือพระถังซัมจั๋ง ซึ่งเข้ามาสู่ชมพูทวีปประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๒.. ได้เขียนบันทึกประวัติและอุปนิสัยของ พระเจ้ากนิษกมหาราช ไว้อย่างน่าสนใจว่า...

 “พระเจ้ากนิษกมหาราชทรงเป็นพระมหากษัตริย์แห่งราชวงศ์กุษาณ โดยทรงสืบเชื้อสายมาจากชนเผ่าเร่ร่อน ซึ่งเรียกว่า “ยุเอจิ” (Yuen-Chi) ชนเผ่านี้ได้ตั้งถิ่นฐานอยู่ใน อาณาจักรแบกเทรีย (Bactria) แล้วละทิ้งนิสัยชอบเร่ร่อน ครั้นเมื่อเวลาล่วงมาถึงช่วงกลางพุทธศตวรรษที่ ๕ พวกเขาได้เริ่มทำการโจมตีอินเดียชนเผ่ายุเอจิมี ๕ กลุ่ม พวกกุษาณเป็นกลุ่ม ๑ ในจำนวน ๕ กลุ่ม โดยมีหัวหน้าชื่อว่า กุชูละ การา กัทฟิเสส (Kujula Kara Kadphises) ผู้สร้างความยิ่งใหญ่เหนืออีก ๔ กลุ่ม และเวลาต่อมา กุชูละ การา กัทฟิเสส ได้สร้าง ราชวงศ์กุษาณ (The Kushan dynasty) ในอินเดีย โดยรู้จักกันในประวัติศาสตร์อินเดียว่า กัทฟิเสสที่ ๑ พระมหากษัตริย์แห่งราชวงศ์กุษาณได้ทรงสร้างจักรวรรดิยิ่งใหญ่ในอินเดียโดยทรงเริ่มปกครองเมื่อประมาณปี พ.ศ.๕๙๑–๗๖๓ พระเจ้ากัทฟิเสสที่ ๑ ทรงเริ่มใช้ ศักราชศกะ (Saka Era) และในปี พ.ศ.๖๒๑ พระเจ้ากนิษกมหาราช หรือพระเจ้ากนิษกะที่ ๓ ทรงครองราชย์สมบัติ พระองค์ทรงเป็นนักพิชิตยิ่งใหญ่ และทรงอุปถัมภ์พระพุทธศาสนานิกายอาจริยวาท หรือนิกายสรวาสติวาทินี (Sachchidananda Bhattacharya)

ราชสำนักของ พระเจ้ากนิษกมหาราชได้เปลี่ยนแปลงโยกย้ายไปตามฤดูกาล เช่น ในฤดูหนาวราชสำนักย้ายไปอยู่ตามรัฐต่างๆ ในอินเดีย แล้วแต่ทรงเลือก ครั้นถึงฤดูร้อน ราชสำนักย้ายไปอยู่ที่รัฐกปิศะ ซึ่งอยู่ทางทิศใต้ของทิวเขาหิมาลัยตอนต้น

ครั้นเข้า ฤดูใบไม้ผลิและใบไม้ร่วง ราชสำนักย้ายไปอยู่ที่รัฐคันธาระ แต่ละแห่งที่พระองค์เสด็จไปประทับได้โปรดฯ ให้สร้าง พุทธวิหารไว้เป็นที่ระลึก ทรงบำรุง บูรณะ สถาปนาพระสถูปเจดีย์ ทรงบริจาคไทยธรรมถวายพระภิกษุสงฆ์เป็นจำนวนมาก เมื่อพระองค์ทรงว่างราชกิจก็ทรงฝักใฝ่ใน การศึกษาพระธรรมวินัย ถึงกับทรงอาราธนาพระเถระผู้แตกฉานในพระไตรปิฎกไปถวายพระธรรมเทศนาใน พระราชวังวันละ ๑ รูป เป็นประจำ และผลจาก การทรงสดับพระธรรมเทศนา นั้น พระเจ้ากนิษกมหาราชทรงบังเกิด พระวิมติกังขาให้หลักธรรมต่างๆ ขึ้น ด้วยว่า คณาจารย์แต่ละรูปที่ได้รับอาราธนาให้ไปแสดงพระธรรมเทศนาถวายนั้นมาจากต่างนิกาย ย่อมแสดงหลักธรรมตามคตินิยมของนิกายนั้น หลักธรรมนานาประเภทย่อมมีทรรศนะไม่ตรงกันบ้าง พระเจ้ากนิษกมหาราชจึงทรงบังเกิดวิจิกิจฉาว่า จักทรงเลือกเอาคติใดแน่นอน แต่ครั้งนั้นมีพระคณาจารย์รูปหนึ่งชื่อว่า ปารศวะ เป็นพระภิกษุในนิกายสรวาสติวาทิน ซึ่งเป็นนิกายที่มีอิทธิพลอยู่ในภาคเหนือของอินเดีย ก่อนที่พระภิกษุปารศวะได้เป็นที่เคารพนับถือของพระเจ้ากนิษกมหาราชนั้น พระองค์ได้ตรัสปรับทุกข์ในเรื่องที่ทรงกังขาอยู่ และทรงปรารถนาเพื่อยกสังคายนาชำระพระธรรมวินัยให้ผ่องแผ้ว พระภิกษุปารศวะได้ถวายอนุโมทนา ด้วยเหตุนี้พิธีสังคายนาจึงบังเกิดขึ้น แต่เป็นสังคายนาในพระธรรมวินัยของ นิกายสรวาสติวาทิน

สำหรับ นิกายสรวาสติวาทิน .. ที่อ้างตนเป็นเถรวาทหรือหีนยาน ซึ่งมีบทบาทมากในยุคสมัยพระเจ้ากนิษกมหาราช จนเกิดการก่อตัวขึ้นเป็นยุคพุทธมหายานตอนต้น (พ.ศ.๔๐๐-พ.ศ.๗๐๐) โดยมีสิ่งสำคัญที่บันทึกไว้ในหนังสือเรียนพุทธศาสนาอย่างปัญญาชนดังนี้...

 “ยุคที่ ๒ ยุคมหายานตอนต้น (ระยะฟักตัว) หลัง พ.ศ.๔๐๐–๗๐๐

พุทธศาสนาฝ่ายคล้อยตามโลก (โลโกตตรวาทิน) หรือที่เรียกตัวเองว่า นิกายมหาสังฆิกะ ค่อยๆ ฟักตัวเองจากความเชื่อถือของคนท้องถิ่น โดยเอาใจมหาชนให้เลื่อมใสด้วยวิธีคล้อยตาม เช่น พราหมณ์มีอะไร ทางนิกายมหาสังฆิกะก็แต่งคัมภีร์หรือนิทานให้เข้าเรื่องกัน ได้โดยใช้ชื่ออย่างใหม่ให้เกี่ยวข้องกับ พุทธมติดั้งเดิมไว้บ้างพอเป็นเชื้อสาย นักปราชญ์สำคัญ ๒ คน ที่ก่อรูปพุทธศาสนาฝ่ายมหายานในลักษณะดังกล่าวนั้น คือ อัศวโฆษ กับ นาคารชุน แต่แม้ว่า จะตีพุทธมติดั้งเดิมไปแล้ว แต่ในยุคนี้ยังไม่มีการเหยียบย่ำซ้ำเติมฝ่ายดั้งเดิมอย่างไร ยังไม่มีคำว่า หีนยาน-มหายาน... (ติดตามอ่านตอนต่อไป).

เจริญพร

[email protected]

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

อย่าใหญ่เกินธรรมชาติ .. พ่อมหาจำเริญ!!

เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธามั่นคงในพระพุทธศาสนา.. ภาวะโลกร้อน (Global warming) .. อันเกิดเนื่องเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ที่กำลังอยู่ใต้ห้วงวิกฤตการณ์อันเนื่องจากการกระทำของคนเรา

“มิจฉาธรรม .. ในอสัตบุรุษที่น่ากลัวยิ่ง”

เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา สงกรานต์ร้อนที่เข้าสู่จุลศักราช ๑๓๘๖ เถลิงศกตรงกับ ๑๖ เมษายน ๒๕๖๗ นับว่าร้อนแล้ง ตรงกับคำพยากรณ์ที่พร้อมเกิดพายุร้อนได้ในทุกพื้นที่ เป็นการแสดงสภาวะผันผวนที่เนื่องมาจากวิกฤตร้อนของโลก (Climate Change) ที่หลายฝ่ายเฝ้าสังเกตการณ์ด้วยความเป็นห่วงว่า มนุษยชาติจะผ่านวิกฤตโลกร้อนไปได้หรือไม่..

สู่.. โครงการพระคืนสู่ป่า น้อมถวายเป็นพระราชกุศลฯ

เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา ในห้วงเวลาที่อากาศร้อนจัด จนเข้าสู่วิกฤตการณ์ โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคอีสานของประเทศ

สู่.. โครงการพระคืนสู่ป่า.. ครั้งที่ ๑/๒๕๖๗!!

เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา.. ในภาวะที่เข้าสู่วิกฤตการณ์โลกร้อน.. ด้วยภาวะการเปลี่ยนแปลงแบบผิดเพี้ยนไปจากธรรมชาติปกติ (Climate Change) อันเป็นผลจากการกระทำของมนุษยชาติ ทั้งในทางตรงและทางอ้อม จึงได้ถือโอกาสคิดทำโครงการนำพระคืนสู่ป่า.. เพื่อศึกษาวงจรธรรมชาติของชีวิตที่เนื่องกับสิ่งแวดล้อม อันประกอบด้วยสรรพสิ่งต่างๆ ที่เกาะเกี่ยวเนื่องกันอย่างมีความสมดุล (Nature Cycle in Balance)

ลัทธิผีบุญ .. ภัยร้ายต่อพระศาสนา!!

เจริญพรสาธุชนผู้มีความศรัทธาในพระพุทธศาสนา.. ปัญหาของพุทธศาสนาในปัจจุบันที่ยังเจริญเติบโตมาจนถึงทุกวันนี้ คือ การยึดถือคำสอนที่ผิดเพี้ยนไปจากพระสัทธรรมดั้งเดิม...

คุณค่าแท้–คุณค่าเทียม ที่ชาวพุทธควรคำนึง..!!

เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา.. คำว่า “วิกฤตศรัทธา” เริ่มมีการพูดถึงกันมากในห้วงเวลานี้ ด้วยเหตุปัจจัยในเรื่องนั้น ที่นำไปสู่ความสั่นคลอนในความเชื่อมั่น ที่เคยอบรมสั่งสมมานานในสิ่งนั้นๆ เรื่องนั้นๆ บุคคลนั้นๆ.. ซึ่งนับเป็นเรื่องปกติของวิถีชีวิตสัตว์ทั้งหลายที่พยายามหาที่ยึดเหนี่ยวทางจิตวิญญาณ