APEC 2022 Thailand ประเทศไทย จะได้ประโยชน์ จากการประชุมครั้งนี้อย่างมาก

นับถอยหลังเหลือเวลาอีกไม่ถึงหนึ่งเดือนเท่านั้น ก็จะเข้าสู่ช่วงเวลาสำคัญของประเทศไทย นั่นคือการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (Asia-Pacific Economic Cooperation:  APEC) หรือ APEC 2022 Thailand โดยกำหนดจัดขึ้น ระหว่างวันที่ 18-19 พฤศจิกายนที่จะถึงนี้

สำหรับการเตรียมความพร้อมของประเทศไทยจนถึงขณะนี้เป็นอย่างไรบ้าง รวมถึงสิ่งที่ประเทศไทยและคนไทยจะได้รับจากการประชุมเอเปกครั้งนี้คืออะไร เรื่องดังกล่าว  นันทิวัฒน์ สามารถ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ให้สัมภาษณ์พิเศษกับเราในเรื่องนี้ โดยเริ่มต้นกล่าวว่า การเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเอเปกในครั้งนี้ของประเทศไทยเป็นครั้งที่สอง โดยครั้งแรกเกิดขึ้นเมื่อช่วงปี 2546 ผมอยากจะเล่า Background การทำงานว่าการประชุมเอเปก ที่ประเทศไทยเราเป็นเจ้าภาพเชิญผู้นำมาแล้ว ได้มีการเชิญผู้นำมาร่วมการประชุมทั้งหมด 21 ประเทศผู้นำเศรษฐกิจ คือจริงๆ เขาไม่เรียกว่าผู้นำประเทศ เขาเรียกว่าผู้นำเขตเศรษฐกิจ เพราะว่ามีบางเขตเศรษฐกิจที่ไม่ใช่ประเทศ เช่นไต้หวัน ซึ่งในทางเอเปกถือว่าเป็น 1 เขตเศรษฐกิจ คือ 1 ประเทศ 2 ระบบของจีน  และยังมีฮ่องกง เราก็เลยใช้นิยามคำว่าเขตเศรษฐกิจ

ระหว่างที่มีการจัดประชุมเอเปก เราก็จัดประชุมคู่ขนานกันคือ ผู้นำเศรษฐกิจโลกในกลุ่มประเทศเอเปก ซึ่งเขาใช้คำว่าเอแบก (APEC Business Advisory Council:  ABAC) การประชุมคู่ขนานกับเอเปก ผู้นำเขตเศรษฐกิจ ผู้นำนักธุรกิจ ผู้นำนักลงทุน ทางฝ่ายไทยที่เป็นเจ้าภาพก็คือสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสภาหอการค้าไทย  เป็นเจ้าภาพในการจัดประชุม โดยการจัดประชุมคู่ขนานจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 16 พ.ย. จัดประชุมกันที่โรงแรมพลาซ่า แอทธินี โดยอันนี้ทางฝ่ายเราเป็นคนจัด โดยทางพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรองนายกรัฐมนตรี คือคุณจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์, ท่านดอน ปรมัตถ์วินัย ก็จะไปร่วมประชุมที่นี่ด้วยเหมือนกัน ไปร่วมพิธีเปิด  ไปร่วมเป็นเจ้าภาพเลี้ยงอาหารกลางวัน เลี้ยงอาหารค่ำ ประมาณนั้น ก็เป็นเจ้าภาพร่วมกันระหว่าง 2 กระทรวงคือ กระทรวงพาณิชย์และกระทรวงการต่างประเทศ สิ่งนี้คือสิ่งที่เกิดขึ้นพร้อมๆ กับการประชุมผู้นำ และในระหว่างนี้เราก็ยังมีการจัดการดูแลคู่สมรสของผู้นำ

โดยทางรองศาสตราจารย์ นราพร จันทร์โอชา ภริยาพลเอกประยุทธ์ นายกรัฐมนตรี จะเป็นเจ้าภาพในการดูแลคู่สมรสทั้งหมด โดยในวันที่ 18 พ.ย. ช่วงเช้า ทางคุณนราพรจะพาคู่สมรสของผู้นำไปชมพิพิธภัณฑ์ศิลป์แผ่นดิน ที่ ต.เกาะเกิด อ.บางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา ไปดูสิ่งที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้ทรงจัดทำไว้ โดยนอกจากจะได้มีการรับชมศิลปาชีพเก่าๆ ของมีค่าต่างๆ แล้ว ก็จะให้ภรรยาของผู้นำได้มีการทำกิจกรรมทดลองทำอะไรต่างๆ ที่ทางศูนย์ศิลป์แผ่นดินจะเป็นคนจัดการ รวมทั้งรับประทานอาหารเที่ยงที่นั่นด้วย อาจจะเป็นรสชาติแบบของอยุธยาอะไรประมาณนั้น

คู่ขนานกันเราก็มีการจัดประชุม ที่เขาเรียกกันว่า ยุวชน Youth APEC โดยจะเริ่มเข้าที่พักที่โรงเรียนวชิราวุธ  และจะมีการนำผลสรุปของการประชุมมานำเสนอต่อประเทศเจ้าภาพ คือประเทศไทยที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ด้วย คือจะมีกิจกรรมหลายอย่าง นอกจากนั้นเราก็จะพยายามนำเสนอสิ่งที่เป็นไทยๆ ในระหว่างการประชุมเอเปก อย่างสัญลักษณ์ในการประชุมเอเป ที่คือ ชะลอม  ซึ่งเป็นสิ่งที่เราพยายามบอกกับประเทศสมาชิกหรือประเทศเขตเศรษฐกิจต่างๆ ว่า วันนี้เราต้องเปิด Open  และ Connect การสานการติดต่อต่างๆ จึงสร้างเป็นรูปชะลอมขึ้นมา สิ่งนี้คือวิธีคิดของการประกวดการออกแบบสัญลักษณ์การประชุมเอเปก ซึ่งเขาก็ขายไอเดียของคำว่า Open และ Connect ซึ่งสิ่งเหล่านี้ก็จะเป็นสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอีกแค่ไม่ถึง 30 วันข้างหน้าที่จะมีการประชุมเอเปกต่อจากนี้

-คอนเซปต์การประชุมเอเปกที่วางไว้ Open  Connect Balance หัวใจหลักคืออะไร เป้าหมาย?

เราคิดถึงว่า วันนี้เราเป็นการเปิดประชุมแบบเห็นหน้าเห็นตากัน ภาษาอังกฤษใช้คำว่า In Person ซึ่งก่อนหน้านี้ที่มาเลเซียและที่ชิลี เป็นการประชุมโดยใช้ระบบ Video  Conference แต่ในวันนี้เป็นการประชุมที่หลังจากโควิด ที่ทุกคนก็ปิดประเทศ ทุกคนก็ปิดกั้นตัวเอง เราก็เลยนำเสนอว่าเปิดเถอะ เปิดใจ เปิดประเทศ ติดต่อกันเถอะ นี่คือคำว่า Open ของเรา เปิดประเทศค้าขายกันเปิดประเทศให้มีท่องเที่ยวกัน

คำว่า Connect ก็คือการติดต่อทำมาค้าขายกัน ส่วน Balance คือเราทั้งหลายทั้งปวงให้มันพอดีๆ กัน เราจะไม่เปิดกันแบบเสี่ยงต่อโรคภัยไข้เจ็บ เราก็คือ Balance  ทุกอย่างให้มันสมดุล ให้มีการค้าขายมีการติดต่อ และในขณะเดียวกันก็คำนึงถึงความปลอดภัย สิ่งนี้คือหลักคิดของ Open.Connect.Balance

แต่ว่าธีมใหญ่ของการจัดงานของเราก็คือ Bangkok  Goals เราก็นำเสนอในเรื่องของ BCG ซึ่ง BCG คือย่อมาจาก Bio-Circular-Green Economy หากถามว่าแล้วมันยังไง ต้องบอกว่าในวันนี้พูดตามตรงว่าโลกของเราประสบกับปัญหาสภาวะที่เราเรียกกันว่า Climate Change เราพบปัญหาว่าวันนี้ทั่วโลกน้ำท่วม ฝนตกก็น้ำท่วมหมด ทุกประเทศรวมถึงประเทศไทยก็เจอ เกิดสภาวะอากาศเปลี่ยนแปลง ถามว่าเพราะอะไร ก็เพราะว่าโลกมันร้อน แล้วโลกมันร้อนได้อย่างไร ก็ร้อนจากการที่เราช่วยกันเผาทุกอย่างในโลกนี้

วันนี้เราก็เลยบอกว่า เราต้องมาช่วยกันกำจัดขยะและใช้ Bio ให้มากขึ้น ลดการพึ่งพาพลังงานที่เป็นน้ำมัน ถ่านหิน หรือปรมาณู การเผาไหม้จะลดลง ซึ่งเรื่องเหล่านี้เราไม่ได้คิดคนเดียว ทั่วโลกเขาทำมาก่อนแล้ว แต่วันนี้ Bangkok Goals ของเราจะมาเน้นเรื่องนี้ให้มากขึ้น ให้มีการใช้พลังงานหมุนเวียนให้มีการใช้ Circular

ซึ่งวันนี้ถ้าพวกเราเห็นก็คือ อย่างการที่ทางการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย น้ำเหนือเขื่อนเขาไม่ปล่อยทิ้งแล้ว เขาใช้น้ำเหนือเขื่อนทั้งหมดมาวางโซลาเซลล์ ซึ่งแผงโซลาเซลล์ที่ใหญ่ที่สุดในโลกพยายามจะวางที่นั่น ตอนนี้ทดลองกันอยู่ที่เขื่อนสิรินธร ซึ่งผมทราบมาว่าการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยกำลังจะทำที่เขื่อนภูมิพล ซึ่งเป็นเขื่อนที่ใหญ่ที่สุดของไทย ซึ่งการไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ เราต้องชื่นชมเพราะเขากำลังทำในสิ่งที่เรียกว่าเป็นไฮโดรเจน  กำลังจะไปตรงนั้น คือเอาพลังงานน้ำที่เรามีอยู่สะสมมาสังเคราะห์ มาทำให้เป็น Hydrogen Fuel Cell ที่เป็นนวัตกรรมที่น่าสนับสนุน คือไม่พึ่งเฉพาะ EV อย่างเดียว ซึ่งเรากำลังจะไปตรงนั้น

เพราะอย่างในโครงการระเบียงเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ EEC จะพบว่าเราส่งเสริมการทำ EV ที่  EEC จำนวนมาก รวมทั้งการผลิตแบตเตอรี่ลิเธียมต่างๆ  เรากำลังไปตรงนั้น เพราะฉะนั้นเราถึงมั่นใจว่าใน  Bangkok Goals เรื่อง BCG ของเราน่าจะได้รับการสนับสนุน และคำถามกลับมาคือว่า แล้วประเทศไทยเราจะได้อะไรในเมื่อคนอื่นเขาก็ทำ จริงๆ ก็ต้องบอกว่าในวันนี้ถ้า  BCG ได้รับการผลักดัน แล้วทุกประเทศก็เดินหน้าไปสู่  BCG Green Energy โลกสีเขียว อย่างน้อยที่สุดเราก็ได้แก้ไขลดการเผาไหม้ ลดภาวะที่เกิด Climate Change นี่คือสิ่งที่ผมเข้าใจว่าเป็นเรื่องที่ชาวโลกต้องการ รวมทั้งคนไทยก็จะได้ตรงนั้นด้วย

-จนถึงขณะนี้ไทยมีการเตรียมความพร้อมในการประชุมเอเปกครั้งนี้มากน้อยแค่ไหน พร้อมร้อยเปอร์เซ็นต์แล้วหรือยัง?

ผมเข้าใจว่าในวันนี้เราเตรียมความพร้อมไว้พอสมควรแล้ว จะเรียกว่าเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์แล้วก็ได้ เราเตรียมแผนการรองรับผู้นำจองโรงแรมกันหมดเรียบร้อยแล้ว เราเตรียมการจัดเลี้ยง เราเตรียมขบวนต้อนรับต่างๆ ให้สมเกียรติกับผู้นำที่จะมาประเทศไทย

การเตรียมการของเรา ผมว่าในรูปแบบเราเตรียมหมดแล้ว ในกระบวนการโลจิสติกส์ การเตรียมสถานที่จัดประชุม ซึ่งวันก่อนทางศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ที่เป็นศูนย์ประชุมใหญ่ของเราก็ได้ทำพิธีเปิดศูนย์เรียบร้อยแล้ว เมื่อวันที่ 15 ต.ค.ที่ผ่านมา ก็เป็นศูนย์ประชุมที่กว้างขวาง มีที่มีทาง มีห้องจัดประชุมย่อยให้เราสามารถจัดประชุมระหว่างผู้นำประเทศต่างๆ ถ้าเขาต้องการที่จะคุยกันที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ แต่หากเขาไม่อยากประชุมที่ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เขาอาจอยากไปใช้ที่อื่นก็แล้วแต่ประเทศนั้นๆ แต่ว่าที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เราเตรียมความพร้อมเรื่องศูนย์ประชุมไว้เรียบร้อยหมดแล้ว

รวมทั้งสื่อมวลชนก็มีการลงทะเบียนจากต่างประเทศ ประมาณพันกว่าคนแล้ว แต่ศูนย์สื่อมวลชนที่เตรียมไว้ สามารถรองรับสื่อมวลชนไว้ที่ 2,000 คนต้นๆ รวมทั้งการเตรียมสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ อินเทอร์เน็ต ไวไฟ ทั้งออนไลน์หรือออฟไลน์ เราก็เตรียมความพร้อมไว้หมดแล้ว

-หัวข้อ ประเด็นที่ไทยจะนำเข้าไปคุยในเวทีเอเปกครั้งนี้ เรื่องหลักๆ มีอะไรบ้าง?

คงเป็นเรื่องของ BCG เรื่องการเปิดประเทศกัน คือต้องทำความเข้าใจก่อนว่าการประชุมเอเปกเป็นการประชุมเรื่องเศรษฐกิจอย่างเดียว ไม่มีเรื่องการเมือง ซึ่งจริงๆ ไม่มีเรื่องการเมือง มีแต่เรื่องการคุยกันว่าเราจะทำมาค้าขายกันอย่างไร เราจะเปิดประเทศหรือเราจะลดข้อจำกัด เงื่อนไขในการค้ากันอย่างไร นี่คือจุดหลักของการประชุมเอเปก ไม่ใช่คุยกันเรื่องการเมือง นี่คือประเด็นที่ต้องทำความเข้าใจ

และต้องเรียนตามตรงว่าไม่มีวาระการประชุม เป็นเรื่องการประชุมไม่มีวาระการประชุม ซึ่งเป็นเรื่องที่จริงๆ แล้วมีการประชุมมาก่อนหน้านี้ ที่เป็นการประชุม APEC SOM เมื่อต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมาที่เชียงใหม่ ที่มีการประชุมคุยกันในเรื่องการท่องเที่ยว การค้า การคลัง ได้มีการคุยกันหมดแล้ว ก็เหลือประมาณว่าเอาข้อสรุปจากการประชุมดังกล่าวมาสรุปรวบยอดแล้วรายงานให้ที่ประชุมทราบ เพราะฉะนั้นการประชุมซัมมิตเอเปกเป็นเหมือนประมาณว่ามารองรับผลการประชุม APEC SOM ที่เชียงใหม่ที่ผ่านมา

-ไทยจะนำประเด็นการอำนวยความสะดวกในเรื่องการค้า การลงทุน มาคุยกันอย่างไรในการประชุมเดือน พ.ย.ที่จะถึงนี้?

วันนี้เรายังไม่สรุปในตรงนั้น เพราะมันไม่ใช่หน้าที่ของกระทรวงการต่างประเทศ หรือหน้าที่ของเจ้าภาพที่ต้องสรุป เป็นเรื่องที่ที่ประชุมต้องคุยกัน ไม่งั้นเหมือนเรามัดมือชกอะไรประมาณนั้น

ส่วนการทำงานของคณะอนุกรรมการต่างๆ ที่ตั้งขึ้นมาก็มีการประชุมทำงานกันไป อย่างคณะอนุกรรมการด้านสารัตถะฯ กระทรวงการต่างประเทศกับกระทรวงพาณิชย์ก็ช่วยกันในการกำหนดกรอบการประชุม การสรุปผลการประชุมในแต่ละด้าน เช่น ด้านการพาณิชย์ การค้า การคลัง  การท่องเที่ยว ก็จะต้องมีการย่อยผลการประชุมของแต่ละด้านเข้ามาเพื่อกำหนดเป็นสารัตถะในแต่ละด้าน

ขณะที่คณะอนุกรรมการด้านพิธีการและอำนวยการ ก็เป็นเรื่องของการดูว่าเราจะต้องมีการต้อนรับอย่างไรที่ไหน  จัดเลี้ยงอย่างไร คอยดูว่าผู้นำแต่ละเขตเศรษฐกิจจะมีใครเดินทางมาร่วมประชุมโดยเครื่องลงที่สนามบิน หรือจะมาด้วยเครื่องบินส่วนตัว ใครจะมาแบบเช่าเหมาลำเพื่อเดินทางมา ที่ก็อาจจะมีการเปลี่ยนแปลงได้ในนาทีสุดท้าย เช่น จากที่เดิมจะมาด้วยเครื่องบินพาณิชย์ ก็จะมาด้วยเครื่องบินเช่าเหมาลำ การทำงานก็ต้องปรับไปเรื่อยๆ

สิ่งที่คนไทย-ประเทศไทยจะได้

จากการเป็นเจ้าภาพประชุมเอเปก

-สิ่งที่ประเทศไทย คนไทยจะได้รับจากการจัดประชุมเอเปกครั้งนี้ในด้านต่างๆ คืออะไร?

คือวันนี้เราเชื่อมั่นในเรื่องการเปิดประเทศ เปิดเขตเศรษฐกิจการค้า การลงทุน การท่องเที่ยว อันนี้คือสิ่งที่เราบอกว่า open เปิดเถอะ เราถึงได้พยายามผลักดันในเรื่องของแนววิธีคิดในการเปิดประเทศ เปิดเขตเศรษฐกิจ  ให้ทำมาค้าขายกันโดยลดข้อจำกัดให้เหลือน้อยที่สุด

อย่างเรื่องการท่องเที่ยว จะเห็นได้ว่าประเทศไทยเปิดเรื่องการท่องเที่ยวโดยลดข้อจำกัดในเรื่องของวีซ่า ลดข้อจำกัดเรื่องของเอกสารทางการแพทย์ เพื่อให้นักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาประเทศไทย เพราะเราคาดหวังว่าเมื่อเปิดประเทศ การท่องเที่ยวก็จะเกิดขึ้นได้ เพราะรายได้ของประเทศไทย การท่องเที่ยวคือรายได้หลักที่เราขาดไม่ได้  เราก็คาดหมายว่าเมื่อเราเปิดประเทศกัน การท่องเที่ยว การลงทุนก็น่าจะดีขึ้น เราถึงได้ชวนทุกประเทศให้ open  เปิดให้มีการติดต่อไปมาหาสู่กัน อย่าปิดประเทศกันเลย  เหมือนประมาณว่าเรากำลังสรุปบทเรียนหลังจากโควิดแล้วว่า วันนี้โรคอุบัติใหม่ที่อาจจะเกิดขึ้นต่อจากนี้ เราต้องไม่ปิดประเทศกันแล้ว แต่เราต้องหาวิธีการจัดการกันมันโดยไม่ใช้วิธีการปิดประเทศ หากเราปิดประเทศกัน ผลกระทบมันรุนแรงมาก นี่คือสิ่งที่ไทยพยายามนำเสนอในที่ประชุมเอเปกครั้งนี้เหมือนกัน ว่าต่อจากนี้หากเกิดโรคอุบัติภัยใหม่แบบนี้ เรามาช่วยกันในทางสาธารณสุขด้วยการเปิดประเทศกัน

ส่วนในเชิงเศรษฐกิจ เมื่อวันนี้เราชวนทุกประเทศมาเปิดการค้าเสรีกัน ลดข้อจำกัดต่างๆ วันนี้มี มาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษีกันเยอะ เราก็พูดกันว่า วันนี้เลิกเถอะ เราพยายามที่จะบอกว่า ลดภาษี ลดศุลกากรกัน แต่มันก็มี มาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษีมาจำกัดอยู่ดี  ก็พยายามคุยกันในเรื่องพวกนี้

ส่วนในเชิงการต่างประเทศ อย่างที่บอกตอนต้น การประชุมเอเปกไม่ใช่การคุยกันทางการเมือง แต่มันก็ไม่ได้มีข้อจำกัดอะไรที่ห้ามผู้นำคุยกัน ผู้นำทุกประเทศที่มา ผู้นำทุกเขตเศรษฐกิจที่มา สามารถขอคุยกับใครแบบทวิภาคีกับประเทศไหนก็ได้ ไม่ได้มีการห้าม อย่างเราเองก็จะมีการหารือทวิภาคีกับผู้นำหลายประเทศเช่นกัน ประเทศไหนที่มาแล้วเราคิดว่าเรายังไม่เคยคุยกับเขา หรือยังไม่เคยได้คุยกันอย่างเป็นทางการ การประชุมครั้งนี้ก็จะเป็นโอกาสที่จะได้คุยกันอย่างเป็นทางการ ผมเชื่อว่าการประชุมเอเปกครั้งนี้ประเทศไทยจะได้ประโยชน์จากการประชุมครั้งนี้อย่างมาก

      ขอให้เราช่วยกันรับแขกบ้านแขกเมือง อยากให้คนไทยนำยิ้มสยามของคนไทยกลับมาโชว์ชาวโลก เอาวัฒนธรรมอันดีงามของบ้านเราโชว์แขกบ้านแขกเมืองที่กำลังจะเข้ามา นี่คือมนตร์เสน่ห์ของคนไทยและประเทศไทย รัฐบาลแค่เตรียมการต้อนรับ แต่เจ้าบ้านคือคนไทย ถ้าการประชุมครั้งนี้สำเร็จเสร็จสิ้นด้วยความเรียบร้อย คนไทยทุกคน ประเทศไทยจะได้รับประโยชน์ร่วมกันหมด

ฝรั่งเศส-ซาอุฯ-กัมพูชา

สามผู้นำมาร่วมในานะแขกพิเศษ

-หลังเสร็จสิ้นการประชุมจะทำให้สถานะและภาพลักษณ์ของประเทศไทยในเวทีโลก เวทีต่างประเทศ เป็นอย่างไร?

ขออนุญาตต้องคุยแบบว่า ผมไม่ใช่เลขานุการ รมว.ต่างประเทศก่อน แต่คุยในฐานะที่เป็นนักเรียนรัฐศาสตร์ ทั้งปริญญาตรี-ปริญญาโท คุยในฐานะที่ผมเรียนการเมืองระหว่างต่างประเทศมาเยอะมาก และสนใจการเมือง ติดตามการเมืองมาโดยตลอด เป็นผู้สังเกตการณ์ทางการเมือง เป็น political observer คนหนึ่ง คือวันนี้ผมยังไม่กล้าฟันธงว่าผู้นำจะมากันครบทุกประเทศหรือไม่ แต่ผมเชื่อว่ามาเกือบหมดทุกคนที่เราเชิญเขาให้มาร่วมประชุม นั่นแปลว่าวันนี้ประเทศต่างๆ ให้การยอมรับประเทศไทยใช่ไหม แล้วเห็นว่าประเทศไทยมีบรรยากาศการเมืองที่เอื้อต่อการพูดคุยกัน นี่คือสิ่งที่ประเทศไทยได้พยายามทำ สร้างบรรยากาศที่เอื้อต่อการคุยกันในกลุ่มคนที่มาร่วมประชุม เหมือนอย่างที่สื่อก็พอจะทราบอยู่แล้วว่า ก็มีผู้นำที่อยู่นอกเขตเศรษฐกิจ นอกเขต APEC ที่เราเชิญให้มาร่วม

ประเทศหนึ่งที่เราเชิญ โดยไม่ได้เป็นสมาชิกเอเปกก็คือ กัมพูชา เราเชิญกัมพูชา เพราะตอนนี้กัมพูชาคือประธานอาเซียนคนปัจจุบัน เราก็เชิญมาเพื่อให้ได้ร่วมแสดงบทบาทในการประชุมเอเปก

ประเทศที่สองที่เราเชิญมาคือ ซาอุดีอาระเบีย เราเชิญนายกรัฐมนตรีของซาอุดีอาระเบียมาร่วมประชุมในฐานะแขกของประธานการประชุมเอเปก ที่เป็นเพราะว่า 32 ปีที่เราห่างเหินกัน วันนี้ก็ถือว่าน่าจะเป็นโอกาสที่ดีที่เราจะได้ รื้อฟื้นความสัมพันธ์กับซาอุดีอาระเบีย จึงได้เชิญมาเป็นแขกของการประชุมในฐานะที่ไทยเป็นประธาน

"มองในมุมไหน ผมก็มองว่าเราได้ประโยชน์หมด ในเชิงการค้า การลงทุน ผมก็เชื่อว่าหลังการประชุมครั้งนี้จะมีนักลงทุนซาอุดีอาระเบียมาประเทศไทยจำนวนมาก"

      เท่าที่ผมพอจะเปิดเผยได้คือ ในช่วงประมาณต้นเดือนหน้าจะมีคณะของการลงทุนของซาอุดีอาระเบียมาเมืองไทยพร้อมกับนักธุรกิจ ที่จะมาคุยกับสภาหอการค้าไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยเรือนร้อยคน ส่วนตัวผม มองว่าเป็นนิมิตหมายที่ดีของการเปิดสัมพันธ์การค้าและการลงทุนกับซาอุดีอาระเบีย ไทยจะได้ประโยชน์มาก

อีกประเทศหนึ่งที่เราเชิญและเชื่อว่าท่านจะมา ก็คือ ฝรั่งเศส เราเชิญท่านประธานาธิบดี เอมมานูเอล มาครง ให้มาร่วมประชุมในฐานะแขก โดยฝรั่งเศสไม่ใช่ประเทศสมาชิกเอเปก และส่วนตัวผมเชื่อว่าท่านเอมมานูเอล มาครง จะมา

ผมถึงบอกว่าเวทีของเรา ท่านเอมมานูเอล มาครง ประธานาธิบดีฝรั่งเศส จะเหมือนผู้แทนของสหภาพยุโรป (European Union) หรือ EU เพราะ EU ไม่ใช่สมาชิก โดยฝรั่งเศสเป็นประเทศเดียว โดดๆเ ลยจากประเทศในกลุ่มอียูที่มาในฐานะแขก ผมจึงเชื่อว่าการประชุมเอเปกครั้งนี้น่าจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อทุกประเทศ

-ในส่วนของวลาดิมีร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย และสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน ยืนยันหรือยังว่าจะเดินทางมาร่วมประชุมด้วยตัวเอง?

ในส่วนของทั้งสองท่าน ส่วนตัวผม ผมเชื่อไว้ก่อนว่าท่านจะมา และอย่างที่บอก ด้วยบรรยากาศการเมืองของไทย ด้วยการที่เราสร้างบรรยากาศของการพูดคุย ทางนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ และท่านดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ก็ได้พยายามคุยกับทุกฝ่ายในการสร้างบรรยากาศดังกล่าวนี้ ผมเชื่อว่าทั้งสองท่านก็จะมาเหมือนกัน แม้จะยังไม่มีการยืนยันที่เป็นตัวหนังสือ

-เห็นมีข่าวออกมาจากวงประชุมผู้นำเหล่าทัพและ ผบ.ตร.ว่า ในที่ประชุมได้รับการแจ้งเรื่อง ประธานาธิบดีรัสเซียจะเดินทางมาด้วย?

อันนี้ผมคิดว่าพอคุยกันได้ คือการมาของผู้นำเหล่านี้ต้องมีการส่ง "คณะส่วนล่วงหน้า" มา เพื่อมาดูห้องประชุม ดูโรงแรมที่พัก มาดูสถานที่ต่างๆ เพื่อดูว่าเขาจะต้องอารักขาผู้นำของเขาอย่างไร เขาเห็นจุดอะไรที่อยากให้เราปรับปรุง ประมาณนั้น ผมเห็นส่วนล่วงหน้าของทุกประเทศที่ว่านี้แล้ว เขาก็ประชุมกับคนที่เกี่ยวข้อง

-การที่โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ไม่เดินทางมาด้วยตัวเอง จะมีผลอย่างไรต่อการประชุมหรือไม่?

คือท่านให้เหตุผลว่าท่านต้องไปงานแต่งงานของหลาน ต้องมีวันของครอบครัว เราก็ต้องรับฟังเขาไว้ แต่ผลอิมแพ็กต์ต้องดูว่ารองประธานาธิบดีที่มาแทนจะนำเสนออะไร เพราะฟังว่าจะส่งรองประธานาธิบดีมาก็ต้องดูตรงนั้นอีกที

-เวทีเอเปกครั้งนี้ หากจะนำปัญหาระหว่างรัสเซียกับยูเครน ที่สร้างผลกระทบต่างๆ เช่น เรื่องราคาน้ำมัน เรื่องพลังงาน จะสามารถนำมาคุยกันได้หรือไม่?

ผมไม่รู้ว่า ผู้นำประเทศไหนจะหยิบยกขึ้นมาหรือไม่หยิบยกขึ้นมา แต่อย่างที่บอกตอนต้นว่าเป็นการคุยกันในเรื่องเศรษฐกิจ เรื่องการเมืองเราไม่คุยกัน แต่ก็สามารถคุยกันได้ ซึ่งผมยังไม่รู้ว่าประเทศไหนจะหยิบยกขึ้นมา      

      -หากในช่วงจัดประชุมเอเปก ถ้าจะมีการเคลื่อนไหวการเมือง มีม็อบต่างๆ มีการจัดกิจกรรมกัน?

      อันนี้ผมขอพูดในฐานะที่เคยทำงานด้านความมั่นคง เรื่องการข่าวมาก่อน สมัยที่เราเป็นเจ้าภาพจัดประชุมเอเปกครั้งแรก ผมก็เคยไปพบผู้นำบรรดาม็อบต่างๆ แต่วันนี้ไม่ได้ทำงานด้านการข่าว ความมั่นคง แต่ก็อยากฝากไปถึงบรรดาม็อบ ผู้อยู่เบื้องหลังม็อบ ว่าการจัดงานแบบนี้ เราไม่ได้จัดกันทุกปี สิบกว่าปีที่เราว่างเว้นจากการเป็นเจ้าภาพ อยากฝากไปว่าวันนี้สถานการณ์โลก ไม่ได้ดีอะไร สงคราม การต่อสู้ในยูเครน หรือความตึงเครียดทางการเมืองในภูมิภาคอื่นของโลก มันหนักหนาสาหัสอยู่พอสมควร

      วันนี้ถ้าผมฝากไปได้ ก็อยากจะฝากไปยังผู้นำกลุ่มต่างๆ ที่คัดค้านรัฐบาลวันนี้ ผมไม่รู้ว่าท่านจะเห็นด้วยกับการเป็นเจ้าภาพของเราหรือไม่ หรืออะไรก็ตาม แต่ผมอยากบอกว่า หยุดสักหนึ่งสัปดาห์ได้หรือไม่ รัฐบาลเองก็ให้มีหยุด 4-5 วัน หยุดให้ไปเที่ยว เพื่อให้การจราจรคล่องตัว เพราะวันนี้ อย่างขบวนรถของผู้นำประเทศแต่ละประเทศจะยาวมาก เราต้องดูแลความปลอดภัยเขาอย่างมาก จึงต้องมีการหยุดราชการในกรุงเทพมหานครและปริมณฑลเพื่อให้ถนนโล่ง

อยากฝากไปถึงผู้นำม็อบและผู้อยู่เบื้องหลังม็อบทั้งหลาย วันนี้หากท่านจะทำประโยชน์ให้กับประเทศชาติ ก็หยุดสักหนึ่งสัปดาห์ และหลังจัดประชุมเอเปกแล้วจะออกมาม็อบกันใหม่ก็ค่อยมาว่ากัน

วันนี้บรรยากาศเราควรช่วยกันในการที่จะทำให้ประเทศไทยได้มีการฟื้นฟูบรรยากาศการท่องเที่ยว การเป็นผู้นำของโลก คนไทยเราต้องร่วมกันเป็นเจ้าภาพในการจัดประชุมเอเปก ไม่ใช่แค่รัฐบาลไทย แต่เป็นคนไทย เอายิ้มสยามของเราออกมาโชว์ชาวโลก 21 ประเทศ เป็นประชากรที่แทบจะเกินครึ่งหนึ่งของโลกแล้ว เฉพาะจีนก็พันกว่าล้านคนแล้ว อินโดนีเซียและประเทศต่างๆ อีก ที่สำคัญจีดีพีของกลุ่มนี้ทั้ง 21 ประเทศ เกินกว่าครึ่งของจีดีพีของโลก มีมูลค่าการค้ากันมากกว่าเกินครึ่งหนึ่งของโลก วันนี้หากเราสามารถสร้างบรรยากาศของการประชุมให้ผ่านพ้นไปได้ด้วยดี ผมก็เชื่อว่าการค้า การลงทุน การท่องเที่ยวของประเทศไทยจะดีดตัวขึ้นอย่างมากหลังการประชุมเอเปก

-หลังการประชุมเอเปกเสร็จสิ้น บทบาทและภาพลักษณ์ของประเทศไทยในเวทีต่างประเทศ มองว่าจะเป็นอย่างไร?

ขอพูดในมุมของประเทศไทยก่อน หลังการประชุมเอเปก บทบาทของประเทศไทย ในความเห็นส่วนตัว ผมเชื่อว่าน่าจะสูงขึ้น เพราะเราจะได้รับการยอมรับจากผู้นำทุกประเทศที่เข้าร่วมการประชุม อันนี้ชัดเจน เห็นได้เลย อย่างที่ผู้นำประเทศนั้นก็มา ประเทศนี้ก็มา เหตุก็เพราะเขาให้การยอมรับเรา และหลังจากนี้ผลการประชุมที่จะประกาศ จะเป็นจุดนำของเราในการที่ในความเป็นจริง เราก็ไม่ได้เป็นผู้ริเริ่มทั้งหมด หลายอย่าง ประเทศอื่นก็ริเริ่มแล้ว แต่วันนี้เรานำทุกอย่างที่เขาริเริ่มกันมารวมไว้ที่เรา เช่นเรื่อง BCG ที่เราจะชวนชาวโลกให้มารักโลกให้มากขึ้น การนำเสนอให้โลกกลับมา green เหมือนเดิม แปลว่าเราจะลดการพึ่งพาพลังงานที่เผาโลก ลดความร้อนของโลกลง ที่เป็นการนำเสนอที่ผมมั่นใจทุกเขตเศรษฐกิจจะเห็นด้วยกับเราหมด โดยพลเอกประยุทธ์ นายกรัฐมนตรี จะเป็นผู้แถลงข่าวสรุปผลการประชุมด้วยตัวท่านเอง โดยนายกรัฐมนตรีจะเป็นผู้นำเขตเศรษฐกิจเข้าเฝ้าฯ ในหลวง ซึ่งผมเชื่อว่าจะมีภาพสวยงามออกไปทั่วโลก

มองในมุมไหน ผมก็มองว่าเราได้ประโยชน์หมด ในเชิงการค้า การลงทุน ผมก็เชื่อว่าหลังการประชุมครั้งนี้จะมีนักลงทุนซาอุดีอาระเบียมาประเทศไทยจำนวนมาก ...เท่าที่ผมพอจะเปิดเผยได้คือ ในช่วงประมาณต้นเดือนหน้าจะมีคณะของการลงทุนของซาอุดีอาระเบียมาเมืองไทยพร้อมกับนักธุรกิจ ที่จะมาคุยกับสภาหอการค้าไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยเรือนร้อยคน ส่วนตัวผมมองว่าเป็นนิมิตหมายที่ดีของการเปิดสัมพันธ์การค้าและการลงทุนกับซาอุดีอาระเบีย ไทยจะได้ประโยชน์มาก

คาดคนต่างชาติเดินทางเข้าไทย

ไม่ต่ำกว่า 4 พันช่วงประชุมเอเปก 

-ในช่วงจัดประชุมเอเปกจะมีคนจากต่างประเทศเดินทางมาที่ประเทศไทยเพื่อร่วมประชุม ทำข่าวอะไรต่างๆ มากน้อยแค่ไหน?

เอาแค่เฉพาะสื่อมวลชนก็สองพันคน ก็ถือว่าเยอะมากแล้ว และทุกคนที่มาก็ต้องมาจับจ่ายใช้สอย และทางทีมงานด้านประชาสัมพันธ์ก็เตรียมพาสื่อมวลชนจากต่างประเทศเหล่านี้ไปชมความเป็นอยู่ของคนไทย เพื่อให้เขานำไปถ่ายทอด เพราะประเทศไทยมีจุดนำเสนออยู่หลายจุด อย่างสถานที่หนึ่งที่ผมอยากให้เขาไปดูก็คือ จุดที่มีการดำเนินชีวิตและการอยู่ร่วมกันอย่างสันติของคนต่างศาสนาในประเทศไทย ซึ่งจุดที่น่าจะเป็นไฮไลต์และไม่ไกลมาก ก็คือตรงแถววัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร ที่แถวนั้นจะมีโบสถ์ซางตาครู้สอยู่ใกล้ๆ และยังมีสุเหร่าของมุสลิมดั้งเดิมอยู่ที่นั่นเหมือนกัน ผมว่าวันนี้คนต่างศาสนิกในประเทศไทยเขาพร้อมจะแสดงพลังให้ชาวโลกได้เห็นว่าเราอยู่ด้วยกันอย่างสันติอย่างไร แสดงให้เห็นถึงสังคมที่เราอยู่กันอย่างสงบสุข คิดว่าในช่วงเอเปกจะมีคนต่างชาติที่เกี่ยวข้องกับการประชุมเดินทางเข้ามาประเทศไทยเบื้องต้นไม่ต่ำกว่าสี่พันคน คิดดูว่าคนที่เข้ามา คนหนึ่งจะใช้เงินคนละกี่บาท โรงแรมของเราจะเต็มจนไม่รู้จะเต็มอย่างไร 21 เขตเศรษฐกิจ ก็ 21 โรงแรม ก็จองกันเต็มหมด ยกชั้นเลย ซึ่งตอนนี้จองเต็มหมดแล้วไม่มีเหลือ 

"ผมอยากฝากบอกคนไทยขอให้เราช่วยกันรับแขกบ้านแขกเมือง อยากให้คนไทยนำยิ้มสยามของคนไทยกลับมาโชว์ชาวโลก เอาวัฒนธรรมอันดีงามของบ้านเราโชว์แขกบ้านแขกเมืองที่กำลังจะเข้ามา นี่คือมนตร์เสน่ห์ของคนไทยและประเทศไทย รัฐบาลแค่เตรียมการต้อนรับ แต่เจ้าบ้านคือคนไทย ถ้าการประชุมครั้งนี้สำเร็จเสร็จสิ้นด้วยความเรียบร้อย คนไทยทุกคน ประเทศไทยจะได้รับประโยชน์ร่วมกันหมด".

โดย วรพล กิตติรัตวรางกูร 

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

พนัส อดีตสว.-อดีตสสร. คัดเลือกสภาสูง 2567 ฝ่ายประชาธิปไตยมีสิทธิลุ้น

ความเคลื่อนไหวการได้มาซึ่ง"สมาชิกวุฒิสภา"(สว.) ชุดใหม่ ใกล้เข้ามาเรื่อยๆ ล่าสุดที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันอังคารที่ 23 เม.ย.ที่ผ่านมา ได้อนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. ....

อย่าใหญ่เกินธรรมชาติ .. พ่อมหาจำเริญ!!

เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธามั่นคงในพระพุทธศาสนา.. ภาวะโลกร้อน (Global warming) .. อันเกิดเนื่องเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ที่กำลังอยู่ใต้ห้วงวิกฤตการณ์อันเนื่องจากการกระทำของคนเรา

‘สุชาติ’ ลั่นไม่ยึดติด หลังมีชื่อนั่ง รมต. ยันปรับ ครม.อำนาจนายกรัฐมนตรี

พรรครวมไทยสร้างชาติ ทุกสิ่งทุกอย่างอยู่ในกลไกของหัวหน้าพรรค เลขาธิการพรรค และผู้ใหญ่ของพรรคเป็นหลัก การปรับ ครม.อำนาจเป็นของนายกรัฐมนตรี

“มิจฉาธรรม .. ในอสัตบุรุษที่น่ากลัวยิ่ง”

เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา สงกรานต์ร้อนที่เข้าสู่จุลศักราช ๑๓๘๖ เถลิงศกตรงกับ ๑๖ เมษายน ๒๕๖๗ นับว่าร้อนแล้ง ตรงกับคำพยากรณ์ที่พร้อมเกิดพายุร้อนได้ในทุกพื้นที่ เป็นการแสดงสภาวะผันผวนที่เนื่องมาจากวิกฤตร้อนของโลก (Climate Change) ที่หลายฝ่ายเฝ้าสังเกตการณ์ด้วยความเป็นห่วงว่า มนุษยชาติจะผ่านวิกฤตโลกร้อนไปได้หรือไม่..