เทศบาลนครยะลา ให้คุณค่าประชาธิปไตยทางตรง

ใครยังนึกภาพไม่ออก หรือยังงงๆ กับคำว่า “ประชาธิปไตยกินได้” มีหน้าตาอย่างไร ขอเสนอแนะให้ไปดูที่เมืองยะลาเป็นตัวจริงเสียงจริงที่สามารถเห็นภาพและสัมผัสได้

เมื่อ 20-26 ต.ค.64 ผู้เขียนไปยะลา สำรวจเมือง ถนน ตรอกซอกซอย ร้านกาแฟ และพูดคุยกับชาวบ้าน ได้พบเห็นทางกายภาพว่า เรื่องขยะนั้น ในอุปกรณ์โกยขยะ มีแต่ใบไม้แห้งที่ร่วงหล่นตามธรรมชาติ นานๆ จะเห็น

เศษกระดาษหรือขวดพลาสติก แปลว่าคนเมืองยะลาไม่ทิ้งขยะเกลื่อนถนน ถ้าจะมีขยะพวกนี้ตกหล่นอยู่บ้างก็จะมีคนเก็บไป โดยไม่ต้องรอให้พนักงานกวาดขยะมาเป็นคนเก็บ บ้านพักอาศัยหรือร้านค้าห้องแถวจะไม่มีถังขยะมาวางไว้หน้าบ้านให้เกะกะนัยน์ตา

ความจริงคือ ทุกหลังคาเรือนจะรวบรวมขยะไว้ในบ้านตนเอง ทุกคนรู้ว่าการวางถังขยะไว้หน้าบ้าน จะรกตาส่งกลิ่นเหม็น อาจถูกคุ้ยเขี่ยกระจายความสกปรกออกไปอีก ขยะในบ้านถูกแยกประเภทใส่ถุงดำมัดรวมไว้อย่างเป็นระเบียบ ขยะรีไซเคิล จะถูกนำไปเข้ากระบวนการต่อไป เมื่อถึงเวลาก่อนเช้าตรู่ ทุกบ้านรู้เวลานัดหมาย ก็จะเอาถุงขยะมาวางหน้าบ้านหน้าร้าน รถเก็บขยะมาเก็บไปหมด ไม่เหลือร่องรอยเปรอะเปื้อนให้เห็น

เมืองยะลาจึงไม่มีถังขยะ และไร้กลิ่นเหม็น ตรงไหนมีดินตรงนั้นมีต้นไม้ เกาะกลางถนน และบาทวิถีนั้นมีต้นไม้เรียงรายเต็มไปหมด บริเวณที่สร้างและพัฒนาขึ้นภายหลัง เช่น ทางเดินเท้าริมน้ำ ทางจักรยาน ถนนหนทางตัดใหม่จะมีต้นไม้เล็กใหญ่ปลูกเว้นระยะเท่ากันเป็นแนวยาวอย่างมีระเบียบ ทำให้ทางเดินเท้าตลอดสาย   เป็นสวนสาธารณะไปด้วยในตัว มีม้านั่งวางไว้เป็นระยะๆ ให้นั่งพักผ่อนได้

นายกเทศมนตรีนครยะลา คุณพงษ์ศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ เน้นย้ำความต้องการให้ยะลาเป็น “นครแห่งสวน”  แปลว่าต้องมีต้นไม้มากๆ เพื่อเพิ่มปริมาณออกซิเจน และเป็นเสน่ห์ของเมืองอย่างแท้จริง ด้วยการให้ชาวบ้านเข้ามามีส่วนร่วม

เทศบาลทำอย่างไร

เทศบาลนครยะลาจะเตรียมกล้าไม้ไว้จำนวนมาก เช่น กล้ามะฮอกกะนี กล้าตะคียน โดยไปทำความเข้าใจกับโรงเรียนชั้นประถม มัธยม และอุดมศึกษาในพื้นที่ให้มาปลูกต้นไม้ร่วมกัน จะนัดวันมหกรรมการปลูกต้นไม้ในวันพ่อ วันแม่ หรือวันอื่นใดแล้วแต่กำหนด

เทศบาลจะมอบกล้าไม้ผ่านโรงเรียน เพื่อให้นักเรียนคนละต้นก่อนวันปลูกต้นไม้จริง ให้ทุกคนเอากล้าไม้ต้นนั้นไปบำรุงเลี้ยงที่บ้านเป็นเวลา 10 วัน

เมื่อถึงวันนัดหมาย ตามจุดกำหนด นักเรียนและผู้ปกครองเด็กจะเอาต้นไม้มาลงดินตรงพื้นที่ซึ่งเทศบาลขุดหลุมเตรียมไว้ ติดป้ายชื่อนักเรียนผู้ปลูกไว้ทุกต้นทุกคน เพื่อให้เด็กรับผิดชอบดูแลต่อเนื่อง เช่น เอาน้ำบรรจุขวดมารดต้นไม้ของตนเอง หรือกำจัดวัชพืชโดยรอบไม้ต้นนั้น ทางเทศบาลก็จะไปใส่ปุ๋ยพรวนดินเป็นครั้งคราว

เป็นการปลูกฝังนิสัยรักต้นไม้และสร้างจิตสำนึกในการดูแลรักษาต้นไม้ของเยาวชนยะลาที่ดำเนินมาอย่างต่อเนื่องหลายปี คืนทางเท้าให้คนเดินถนน การรุกล้ำทางเท้าด้วยการตั้งแผงค้า รถเข็น หาบเร่ แผงลอย การติดตั้งป้ายโฆษณาเป็นปัญหาปวดหัวของเทศบาลเมืองใหญ่ๆ ทุกแห่ง ทำให้คนต้องมาเดินเสี่ยงอันตรายบนถนนรถวิ่ง

เทศบาลนครยะลาทำโครงการ “คืนยะลาให้คนยะลา” เพื่อรักษาเกียรติภูมิที่ได้รับรางวัลความสะอาดเรียบร้อยดีเยี่ยม 3 ปีซ้อน เริ่มด้วยการรณรงค์ขอความร่วมมือร้านค้าทั้งหมดให้เห็นคุณค่าของความเป็นยะลาเมืองสะอาด และให้ความเป็นธรรมต่อคนเดินเท้าที่มีสิทธิ์ใช้บริการทางเท้าสาธารณะ โดยปราศจากสิ่งกีดขวาง

ร้านค้าส่วนข้างมากเกือบทั้งหมดให้ความร่วมมือ เพราะเห็นประโยชน์ร่วมกัน ถนนไหนสะอาดเป็น “หน้าบ้าน น่ามอง” คนย่อมมาเดินเลือกหาซื้อสินค้า

เทศบาลนครยะลาทุกวันนี้จึงยังเหลือบางจุดที่มีข้าวของรุกล้ำทางเท้าอันเป็นพื้นที่สาธารณะของประชาชน

นี่เป็น 3 ตัวอย่างทางกายภาพที่สามารถมองเห็นและสัมผัสได้ ความจริงผลงานอื่นอีกมากมายที่ควรจารึกได้ เช่น ศูนย์การเรียนรู้ T.K. Park วงออร์เคสตรา เยาวชนยะลา การประกวดนกเขา มหกรรมวิ่งมาราธอนและอื่นๆ

เมื่อ 26 ต.ค.64 เวลา 14.00 น. ผู้เขียนได้พูดคุย เรียนรู้ กับคุณพงษ์ศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ นายกเทศมนตรีนครยะลา ทำให้เห็นถึงการทำงานในแบบฉบับการมีส่วนร่วมของประชาชนที่ต้องถือเป็นแบบอย่างได้

 “เรามีการประชุมประจำ 2 ระดับ คือ ประชุมผู้นำชุมชน 42 ชุมชน เป็นการประชุมประจำเดือน และเรามีการประชุมสภาประชาชนทุกกลุ่มอาชีพ ทุกเพศวัย ทุกศาสนา จำนวน 2,500 คน เป็นประชุมสาธารณะเป็นประจำทุกปี มีการประชุมสภาเด็กและเยาวชน ซึ่งประกอบด้วยตัวแทนเด็กนักเรียนชั้นประถม มัธยม อุดมศึกษา และ กศน. มีสภากาแฟ ทุกวันเสาร์ที่สามของเดือนในช่วงเช้า แล้วเรายังมี ไลน์และเฟซบุ๊ก ที่ประชาชน 25,000 คนเข้ามาร่วม โดยมีแอดมินเป็นผู้บริหารจัดการ” คุณพงษ์ศักดิ์อธิบาย

การประชุมผู้นำชุมชนประจำเดือน จะมีผู้รับผิดชอบของเทศบาลระดับผู้อำนวยการเข้าร่วมประชุมทุกครั้ง เพื่อแก้ไขปัญหาอย่างฉับพลัน งานขยะ งานระบายน้ำ การศึกษา การฝึกอาชีพ ไฟฟ้า ประปา ฯลฯ ตัวแทนชุมชนเสนอปัญหาอะไร เกี่ยวข้องกับใคร คนนั้นต้องรับไปแก้ปัญหาอย่างรวดเร็ว ปัญหาต่างๆ จะไม่ถูกทิ้งค้างไว้

ในการประชุมใหญ่สภาประชาชน ประจำปีละครั้ง เป็นการเปิดพื้นที่ประชาธิปไตยให้ตัวแทนกลุ่มอาชีพ กลุ่มชุมชนต่างๆ มากกว่า 90 กลุ่ม กลุ่มละ 5 คน และประชาชนทั่วไปรวม  2,500 คนเข้าร่วม โดยเชิญบุคคลที่ชาวบ้านนับถือเป็นประธาน เช่น อดีต ผวจ. อดีตอธิการบดี ม.ราชภัฏ โดยนายกเทศมนตรีมีหน้าที่รับฟังตลอดตั้งแต่เช้ายันเที่ยง ชาวบ้านได้สิทธิ์พูดคนละ 3 นาที ตามที่ขอลงทะเบียนไว้แล้ว

นี่เป็นกิจกรรมที่เทศบาลอื่นๆ ไม่กล้าทำ เพราะเกรงว่าจะกลายเป็นเวทีด่านายกเทศมนตรี

คุณซูดิน โรจนอุดมศาสตร์ ปชส. ของเทศบาล เปิดเผยว่า

 “ตอนเปิดประชุมปีแรกๆ ก็มีคนด่าเหมือนกัน แล้วทำไมถึงกล้าทำ นายกพงษ์ศักดิ์บอกว่า 'เขาไม่ได้ด่าเรา เขาอยากบอกความต้องการของเขา เพราะเขาก็เป็นเจ้าของเมืองยะลาเหมือนเรา อย่าไปกลัว ถ้าเขาพูดจริงเราก็แก้ไข ถ้าเขาเข้าใจคลาดเคลื่อน เราก็ชี้แจง ไม่มีปัญหา'

ประชุมมาแล้วสิบกว่าปี เดี๋ยวนี้ปัญหาชีวิตความเป็นอยู่ไม่เอามาพูดกันแล้ว เพราะที่ประชุมประจำเดือน แก้ไขปัญหาไปแล้ว ในอีกช่องทางหนึ่งคือ ไลน์และเฟซบุ๊ก เป็นช่องทางเสนอปัญหาเฉพาะหน้า และแก้ไขกันแบบทันท่วงที นายกจะเฝ้าดูหน้าจออยู่ตลอด

เวทีสภาประชาชนในระยะต่อมา  ชาวบ้านจึงนำเสนอปัญหาเชิงสร้างสรรค์ในอนาคตว่าควรจะทำอะไรอย่างไร แต่ 2 ปีนี้ต้องเว้นประชุมไปเพราะโควิดระบาด”

โครงการ “คืนยะลาให้คนยะลา” หรือคืนทางเท้าให้คนเดินถนนก็มาจากความคิดของที่ประชุมใหญ่สภาประชาชนนั่นเอง

 “ทั้งๆ ที่มีสภาเทศบาล มี ส.ท.ทำหน้าที่ และเป็นตัวแทนประชาชนโดยชอบธรรมจากการเลือกตั้งอยู่แล้ว ทำไมจึงเปิดพื้นที่ให้ประชาชนร่วมประชุมอีกหลายแบบ” ผู้เขียนถาม

คุณพงษ์ศักดิ์ตอบว่า

 “1.เรามี ส.ท.ถึง 24 คนก็จริง แต่ไม่ใช่ว่าเขาจะเข้าถึงทุกปัญหาได้หมด สภาพสังคมเปลี่ยนแปลงตลอด คนเพิ่มมากขึ้น ปัจจัยใหม่ๆ เกิดขึ้น การประชุมที่จัดเปิดเวทีต้อนรับปัญหาและความคิดได้อย่างละเอียดรอบด้าน ถูกต้องและครบถ้วน จะช่วยในการตรวจสอบได้อีกด้วย

2.ส.ท.และทีมบริหารเทศบาลเป็นทีมเดียวกัน มีแนวโน้มที่จะเดินตามกันไปในทางเดียวกัน ไม่มีฝ่ายค้านเลย จึงอาจพากันลงเหวได้ พื้นที่ในเวทีประชาชนจึงช่วยเติมเต็มให้งานของเทศบาลได้รับความชอบธรรมมากกว่า”

ที่น่าสนใจคือ พื้นที่ประชาชนแทนที่จะเป็นเวทีโต้เถียงเอาชนะกัน ในระยะหลังนี้เรียกได้ว่าเป็นพื้นที่แห่งการปรึกษาหารือ เพื่อความดีงามร่วมกันของเมืองยะลา

เมื่อทุกหลังคาเรือนเก็บขยะ ทุกคนรักษาความสะอาด ทุกครอบครัวปลูกต้นไม้ ทุกบ้านมีจิตสาธารณะ ทุกความคิดมีค่า ทุกความเห็นมีการรับฟังและนำไปปฏิบัติ จึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไมเทศบาลนครยะลาจึงเป็นเมืองที่ทุกคนรู้สึกเป็นเจ้าของร่วมกัน

นี่คือการที่ประชาชนสามารถใช้ประชาธิปไตยทางตรง (DIRECT DEMOCRACY) โดยมีประชาธิปไตยระบบตัวแทน (REPRESENTATIVE DEMOCRACY) คือนายกและทีมที่มาจากการเลือกตั้ง ทำหน้าที่ยืนเป็นหลักเอื้ออำนวยให้เกิดประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือ (DELIBERATIVE DEMOCRACY) ที่ร่วมกันสร้างเมืองยะลาให้เป็นเมืองน่าอยู่

สิ่งที่เรียกว่าการ “กระจายอำนาจ” (DECENTRALIZE) สิ่งที่เรียกว่า “เสริมอำนาจ” (EMPOWERMENT) หรือสิ่งที่เรียกว่า “เพิ่มอำนาจให้ประชาชน” ไม่ว่าจะใช้คำเรียกอะไรก็ตาม จิตวิญญาณแห่งการยอมรับและเคารพในบทบาทของประชาชนได้แปรเป็นผลทางปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมที่เทศบาลนครยะลาแล้ว.

 

ประสาร มฤคพิทักษ์

[email protected]/

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

อย่าใหญ่เกินธรรมชาติ .. พ่อมหาจำเริญ!!

เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธามั่นคงในพระพุทธศาสนา.. ภาวะโลกร้อน (Global warming) .. อันเกิดเนื่องเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ที่กำลังอยู่ใต้ห้วงวิกฤตการณ์อันเนื่องจากการกระทำของคนเรา

“มิจฉาธรรม .. ในอสัตบุรุษที่น่ากลัวยิ่ง”

เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา สงกรานต์ร้อนที่เข้าสู่จุลศักราช ๑๓๘๖ เถลิงศกตรงกับ ๑๖ เมษายน ๒๕๖๗ นับว่าร้อนแล้ง ตรงกับคำพยากรณ์ที่พร้อมเกิดพายุร้อนได้ในทุกพื้นที่ เป็นการแสดงสภาวะผันผวนที่เนื่องมาจากวิกฤตร้อนของโลก (Climate Change) ที่หลายฝ่ายเฝ้าสังเกตการณ์ด้วยความเป็นห่วงว่า มนุษยชาติจะผ่านวิกฤตโลกร้อนไปได้หรือไม่..

สู่.. โครงการพระคืนสู่ป่า น้อมถวายเป็นพระราชกุศลฯ

เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา ในห้วงเวลาที่อากาศร้อนจัด จนเข้าสู่วิกฤตการณ์ โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคอีสานของประเทศ

สู่.. โครงการพระคืนสู่ป่า.. ครั้งที่ ๑/๒๕๖๗!!

เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา.. ในภาวะที่เข้าสู่วิกฤตการณ์โลกร้อน.. ด้วยภาวะการเปลี่ยนแปลงแบบผิดเพี้ยนไปจากธรรมชาติปกติ (Climate Change) อันเป็นผลจากการกระทำของมนุษยชาติ ทั้งในทางตรงและทางอ้อม จึงได้ถือโอกาสคิดทำโครงการนำพระคืนสู่ป่า.. เพื่อศึกษาวงจรธรรมชาติของชีวิตที่เนื่องกับสิ่งแวดล้อม อันประกอบด้วยสรรพสิ่งต่างๆ ที่เกาะเกี่ยวเนื่องกันอย่างมีความสมดุล (Nature Cycle in Balance)

ลัทธิผีบุญ .. ภัยร้ายต่อพระศาสนา!!

เจริญพรสาธุชนผู้มีความศรัทธาในพระพุทธศาสนา.. ปัญหาของพุทธศาสนาในปัจจุบันที่ยังเจริญเติบโตมาจนถึงทุกวันนี้ คือ การยึดถือคำสอนที่ผิดเพี้ยนไปจากพระสัทธรรมดั้งเดิม...

คุณค่าแท้–คุณค่าเทียม ที่ชาวพุทธควรคำนึง..!!

เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา.. คำว่า “วิกฤตศรัทธา” เริ่มมีการพูดถึงกันมากในห้วงเวลานี้ ด้วยเหตุปัจจัยในเรื่องนั้น ที่นำไปสู่ความสั่นคลอนในความเชื่อมั่น ที่เคยอบรมสั่งสมมานานในสิ่งนั้นๆ เรื่องนั้นๆ บุคคลนั้นๆ.. ซึ่งนับเป็นเรื่องปกติของวิถีชีวิตสัตว์ทั้งหลายที่พยายามหาที่ยึดเหนี่ยวทางจิตวิญญาณ