การบริหารเงินหลังเกษียณ

หากกูเกิ้ลคำว่า “บริหารเงินหลังเกษียณ” จะมีผลลัพธ์อยู่  1.14 ล้านรายการ ส่วนใหญ่แนะนำเหมือนๆ กัน คือ ให้จัดสรรเงินกองทุน หรือเงินบำเหน็จที่ได้รับเมื่อครบกำหนดเกษียณอายุ เพื่อการจับจ่ายใช้สอยในชีวิตประจำวันส่วนหนึ่ง เพื่อดูแลสุขภาพยามเจ็บไข้ได้ป่วยอีกส่วนหนึ่ง และส่วนสุดท้ายเพื่อการลงทุนในสัดส่วนที่แตกต่างกันไป แต่โดยทั่วไปก็อยู่ในระดับร้อยละ 10 ถึง 20 ของเงินก้อนที่ได้รับมา ผลลัพธ์อื่นๆ จากกูเกิ้ล ก็เป็นการขายผลิตภัณฑ์ทางการเงินต่างๆ ที่ผู้สูงอายุสามารถเลือกลงทุนได้

บทความนี้ ให้ความสำคัญ การบริหารเงินเพื่อการลงทุนของผู้สูงวัยหลังเกษียณอายุ ที่ได้รับเงินกองทุนหรือเงินบำเหน็จไม่ต่ำกว่า 10 ล้านบาท และกลุ่มที่เลือกรับบำนาญรายเดือนและต้องการนำเงินออมมาลงทุน เพราะเป็นกลุ่มที่หมิ่นเหม่จะได้รับความเสียหายหากจากการลงทุนที่ผิดพลาด และ/หรือจัดสรรเงินไปลงทุนมากเกินไป จุดมุ่งหมาย คือ นำเสนอข้อสรุปเกี่ยวกับปัจจัยความสำเร็จและข้อพึงระวังในการลงทุนของผู้สูงวัยหลังเกษียณ

ขนาดเงินลงทุน มีคำกล่าวว่า “ไม่มีอะไรเศร้า เท่ากับตายแล้วยังใช้เงินไม่หมด” แต่ “ไม่มีอะไรน่าสลด เท่ากับใช้เงินหมดแล้วยังไม่ตาย” ตัวเลขกลมๆ ของอายุเฉลี่ยอยู่ที่ 80 ปี แสดงว่า เรายังต้องใช้เงินหลังเกษียณเป็นเวลาอีก 20 ปี แม่ของผู้เขียนอยู่ถึง 98 ปี หากผู้เขียนอายุยืนเหมือนแม่ แสดงว่าต้องเตรียมเงินไว้ใช้เป็นเวลาเกือบ 40 ปี นานขนาดนี้ทั้งเงินออมและเงินกองทุนรวมกันก็คงเอาไม่อยู่ การต้องปันส่วนเงินก้อนสุดท้ายไปลงทุนจึงเป็นเรื่องที่เลี่ยงไม่ได้ บรรดาเพื่อนสนิทมิตรสหายล้วนเห็นพ้องกันว่า สมัยนี้ไม่ต้องคิดพึ่งพาลูก เอาแค่ให้ลูกอยู่ได้ด้วยตัวเองไม่ต้องมาพึ่งเราก็ดีถมไปแล้ว

ผู้เขียนเสนอว่า เงินออมและเงินกองทุนที่ได้รับเมื่อเกษียณอายุเฉพาะส่วนที่เกิน 10 ล้านบาท เท่านั้น ที่ควรนำมาลงทุน จำนวนเงิน 10 ล้านบาท หรือต่ำกว่า ต้องได้รับการดูแลรักษาให้ปลอดภัย เช่น บัญชีเงินฝากธนาคารพาณิชย์ และพันธบัตรรัฐบาลอายุสั้นๆ กระจายกันออกไปแต่ไม่เกิน 3 ปี ผู้เขียนไม่ถือว่าการซื้อพันธบัตรรัฐบาลเป็นการลงทุน แต่เป็นแหล่งพักเงินที่ปลอดภัย เผลอๆ ปลอดภัยกว่าฝากเงินเงินธนาคารด้วยซ้ำ ทั้งนี้ เพื่อให้มั่นใจว่าเมื่อใดที่ต้องการใช้เงิน จะยังได้รับเงินต้นคืนครบถ้วน จำไว้ว่า ไม่มีการลงทุนใดที่ไม่เสี่ยง

มีข้อพิจารณา 2 ประการ เกี่ยวกับการกันเงิน 10 ล้านบาท ไว้สำหรับใช้จ่ายในช่วงชีวิตที่เหลือ ประการแรก ความกังวลที่นำเงินออมออกมาใช้ทำให้ร่อยหรอลงไปเรื่อยๆ ขอให้คิดว่า “มีเงินก็ต้องใช้” เราสะสมจากการทำงานมาตลอดชีวิตก็เพื่อการใช้จ่ายในช่วงนี้ จำไว้ว่า การหาผลตอบแทนให้เพียงพอกับการใช้จ่ายโดยไม่แตะเงินต้นเลยนั้นไม่ยั่งยืน ดังที่จะได้กล่าวต่อไป ประการที่สอง การปรับไลฟ์สไตล์ไม่ใช่ทางเลือก หลายคนยินดีต่อคิวโรงพยาบาลรัฐบาลครึ่งค่อนวันแทนโรงพยาบาลเอกชนราคาแพง ทำงานบ้านเอง เลิกกินข้าวนอกบ้าน ฯลฯ เราต้องอยู่ให้ได้โดยไม่พึ่งพาหยิบยืมใคร

ส่วนที่เกิน 10 ล้านบาท เท่านั้นที่จะถูกนำไปลงทุนในสินทรัพย์ หรือเครื่องมือทางการเงินต่างๆ ข้อห้าม คือ ห้ามกู้ยืมมาลงทุน ห้ามค้ำประกัน ห้ามลงทุนร่วมกับคนอื่น ไม่ว่าญาติหรือเพื่อนสนิท การลงทุนที่ดีที่สุดของกลุ่มต่ำสิบ คือ การลงทุนเพื่อสุขภาพด้วยการออกกำลังกาย เจียดเวลาที่มีเหลือเฟือไม่ต้องประหยัด ออกไปเดินให้ได้วันละหมื่นก้าว เท่านี้ก็ประหยัดได้ปีละหลายหมื่นบาทแล้ว

องค์ประกอบที่จำเป็นสำหรับนักลงทุนวัยชรา จากการสอบถามกลุ่มตัวอย่างจำนวนหนึ่ง พบว่า พฤติกรรมในการลงทุนของคน 2 กลุ่มแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง ระหว่างกลุ่มที่ทำงานสถาบันการเงิน กับกลุ่มที่ทำงานประเภทอื่นที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน เกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ของผู้ที่ไม่ได้ทำงานสถาบันการเงินจะไม่สนใจลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงเลย ยกเว้นบางคนที่มีองค์ประกอบจะเป็นนักลงทุนที่จะได้กล่าวต่อไป ความมั่งคั่งหลังเกษียณจะยังเก็บไว้ในกองทุน RMF ที่ยังเก็บไว้ไม่ไถ่ถอน รองลงมาเป็นบัญชีเงินฝากธนาคารพาณิชย์และธนาคารของรัฐ สหกรณ์ออมทรัพย์ ทองคำรูปพรรณ และบางส่วนซื้อพันธบัตรรัฐบาล แทบไม่มีใครเลยลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ และกองทุนของ บลจ ที่คนกลุ่มนี้เห็นผลตอบแทนของกองทุนที่ติดอยู่แล้วจึงไม่เชื่อมั่นที่จะลงทุนเพิ่ม

ส่วนกลุ่มที่ก่อนเกษียณทำงานสถาบันการเงิน มีการลงทุนที่หลากหลายกว่า ได้แก่ หุ้นปันผล อัตราผลตอบแทนเฉลี่ยร้อยละ 5 ต่อปี ที่เป็นการลงทุนระยะยาว ซื้อแล้วลืมไปเลยไม่สนใจว่าราคาจะเป็นอย่างไร บางคนสนุกสนานกับการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ในลักษณะ day-trade (ซื้อขายภายในวันเดียว) และการซื้อขายระยะสั้น บางคนประสบความสำเร็จสามารถทำกำไรเป็นกอบเป็นกำจากตลาด TFEX (ตลาดซื้อขายล่วงหน้า ที่ซื้อขายบนดัชนี SET) บางคนมีความสุขกับการได้ทดลองวิวัฒนาการใหม่ๆ ในตลาดการเงิน ไม่ว่าจะเป็น Bitcoin หรือ digital currency อื่นๆ การลงทุน Cloud Funding การเปิดบัญชีกับโบรคเกอร์ต่างประเทศเพื่อซื้อขายเงินตราต่างประเทศ ทองคำ ฯลฯ กลุ่มนี้จะมีความทนทานต่อความเสี่ยงที่ดีกว่ากลุ่มแรก มีข้อน่าสังเกตที่น่าสนใจประการหนึ่ง คือ หนึ่งร้อยเปอร์เซ็นต์ของตัวอย่างในกลุ่มนี้ ไม่สนใจลงทุนในกองทุนของ บลจ เลย

นักลงทุนสูงวัยที่โลดโผนและประสบความสำเร็จในวัยหลังเกษียณเหล่านี้มีลักษณะคล้ายๆ กันหลายประการ ได้แก่

ความสัมพันธ์กับแหล่งข่าว แหล่งข้อมูล บางคนเป็นเครือญาติ เป็นเพื่อนนักเรียน เคยอบรมหลักสูตรเดียวกัน เคยช่วยเหลือเกื้อกูลกันกับเหล่า “เซียนหุ้น” หรือนักลงทุนกลุ่มที่มีความเชี่ยวชาญในตลาดหุ้น ทำให้ได้รับข้อมูลประกอบการตัดสินใจในการลงทุนในตลาดหุ้น ผู้เขียนมีข้อสังเกตประการหนึ่งว่า ข้อมูลที่ได้รับส่วนใหญ่เป็นข้อมูลที่ใช้ประกอบการตัดสินใจในการซื้อ ส่วนการขายมักจะตัวใครตัวมัน เพื่อนลงรถไปหมดแล้วเหลือเรากลายเป็นผู้โดยสารคนสุดท้ายนั่งต่อไปจนสุดสาย และให้ระวังข้อมูลประเภท “อย่าไปบอกใครนะ” ให้ดี

ความรู้ ความชำนาญที่ติดตัวมาตั้งแต่ก่อนเกษียณ ผู้เขียนได้สนทนากับกลุ่มตัวอย่างที่สามารถมีรายได้เป็นกอบเป็นกำจากการซื้อชายสัญญา TFEX อย่างสนุกสนาน จนรู้สึกเหมือนยังไม่เกษียณ แต่ทำงานเต็มเวลา แถมอยู่จนดึกจนดื่นเพื่อติดตามความเคลื่อนไหวของตลาดสหรัฐฯ เงินทองไหลมาเทมา กำไรมากกว่าขาดทุน ทั้งนี้เพราะเป็นผู้นำเอาความรู้ความชำนาญที่ติดตัวมาตั้งแต่สมัยยังทำงานมาใช้ พวกนักค้าเงินของธนาคารเมื่อเกษียณก็มักจะไปเปิดบัญชีกับโบรคเกอร์ในต่างประเทศเพื่อซื้อขายเงินตราต่างประเทศ ทองคำ และ Bitcoin ตามความชำนาญในการซื้อขายเงินตราต่างประเทศที่ตนฝึกฝนมาเป็นเวลานาน อย่างไรก็ดี จากประสบการณ์ส่วนตัวผู้เขียนมอง trading skill นี้ว่าเป็น gifted มากกว่าการฝึกฝน หรือการอ่าน ที่ใช่ว่าใครๆ จะเป็นได้

ความทนทานต่อความเสี่ยง การลงทุนในเครื่องมือทางการเงินทุกประเภทมีความเสี่ยง จังหวะพอดีกับที่ตลาดหุ้นไทยมีเหตุการณ์ STARK ทำให้ผู้เขียนไม่ต้องเขียนเสือให้วัวกลัว มากล่าวซ้ำอีกในที่นี้ ความทนทานต่อความเสี่ยงเกี่ยวข้องโดยตรงกับการตัดขาดทุน cut-loss ซึ่งเป็นเรื่องยากที่สุดของนักลงทุนรายย่อยทั้งก่อนและหลังเกษียณ เพราะการทู่ซี้ถือเอาไว้ให้ขาดทุนจนเงินต้นหดหายไปเรื่อยๆ ผู้เขียนขอยกตัวอย่างการกำหนดวงเงิน cut-loss limit ที่ธนาคารพาณิชย์ใช้ในการบังคับให้เจ้าหน้าที่ต้องปิดฐานะความเสี่ยงเมื่อ trading portfolio มีผลขาดทุนเท่ากับหรือสูงกว่าวงเงินนี้ บางธนาคารพาณิชย์กำหนดจากผลกำไรรายวันเป็นเวลา 7 วัน (เป้ากำไรทั้งปี หาร 250 คูณ 7) หรือจำนวนวันที่คิดว่าจะสามารถทำกำไรกลับมาได้ในภายหลัง นักลงทุนรายย่อยอาจนำแนวความคิดทำนองเดียวกันนี้มาใช้ โดยการมองการลงทุนในช่วงเวลา 1 ปี ว่า เราตั้งเป้าไว้ว่าปีนี้ เราหวังว่าจะมีผลตอบแทนจากการลงทุนเท่าใด อย่างมองเพียงหุ้นเป็นรายตัวแล้วเสียดายไม่กล้าตัดขาดทุน

Stay Hungry Stay Foolish วลีเด็ดของสตีฟ จ๊อบ ผู้เขียนเจอผู้สูงอายุหลายคนที่สนุกกับการศึกษาหาความรู้ไม่หยุดหย่อน ตำรับตำราต่างประเทศขวนขวายหามาอ่าน เข้าร่วมหลักสูตรอบรมทั้งในประเทศและต่างประเทศ มีความสุขกับการได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ติดตามวิวัฒนาการของตลาดการเงิน การได้สนทนากับผู้คนกลุ่มนี้บ่อยๆ ได้ช่วยเปิดกะลาให้ผู้เขียนได้อัพเดทตัวเองอยู่เนื่องๆ ผู้สูงอายุกลุ่มนี้เมื่อเรียนรู้แล้วก็ไม่ได้อยู่เฉย ทำการลงทุนในผลิตภัณฑ์ใหม่เหล่านี้ด้วยตัวเองไม่ว่าจะเป็นเงินตราต่างประเทศ (FOREX) สัญญาล่วงหน้าโภคภัณฑ์  Digital Currencies ต่างๆ Cloud funding ฯลฯ และพร้อมก้าวไปกับพัฒนาการของตลาดการเงิน บางคนบอกว่า “มึงก็ทำได้” “Sorry I’m not hungry”

สังขาร ความว่องไวในการตัดสินใจ สายตาที่ต้องจ้องจอคอมพิวเตอร์ ความเร็วในการพิมพ์คำสั่งซื้อขาย ความรู้ในการใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ใหม่ๆ ความเครียดสะสมจากการจมอยู่กับกิจกรรมการลงทุน ความสัมพันธ์กับคนในครอบครัว คิดว่าหลังเกษียณเราจะทนอยู่ในสภาพแบบนี้ได้สักกี่ปี 10 ปี หรือ 15 ปี นักซื้อขาย TFEX ที่กล่าวข้างต้นทำอยู่ได้ 5 ปี พบว่า ความเร็วในการสั่งซื้อขายลดลง นักลงทุนรุ่มใหม่ใช้ AI เข้ามาช่วย และพบว่าช่วงชีวิต 5 ปี แรกหลังเกษียณพลาดอะไรไปบ้าง

ผู้สูงอายุที่ต้องการนำเงินก้อนสุดท้ายหลังหักส่วนที่ต้องเก็บไว้ใช้จ่าย มาหาผลตอบแทนควรต้องมีคุณสมบัติข้างต้นอย่างน้อยก็ข้อสองข้อ อย่าลงทุนในสิ่งที่เราไม่รู้จริง อย่าลงทุนในอะไรที่ตลาดมีการซื้อขายที่ไม่เป็นธรรมชาติแต่ถูกชี้นำโดยคนบางกลุ่ม ทองคำรูปพรรณ ที่ดิน อสังหาริมทรัพย์เพื่อปล่อยเช่า เหล่านี้เป็นอีกทางเลือกหนึ่ง โดยเฉพาะที่ดินที่จะไม่เสื่อมค่าในระยะยาว อีกผลิตภัณฑ์หนึ่งที่ผู้เขียนเห็นว่า มีคอนเซปน่าสนใจสำหรับสังคมสมัยใหม่ที่คนนิยมอยู่เป็นโสด หรือคู่สมรสที่ไม่มีทายาท คือ สินเชื่อ Reverse Mortgage เรานำบ้านและที่ดิน ที่อาศัยอยู่ไปค้ำประกันสินเชื่อกับธนาคาร แล้วธนาคารก็จะให้เงินเราไว้ใช้จ่ายเป็นรายเดือนเป็นเวลา 25 ปี เมื่อครบกำหนดเราสามารถเลือกได้ว่าจะนำเงินมาใช้ไถ่ถอน (เงินต้นพร้อมดอกเบี้ย) หรือให้บ้านและที่ดินเป็นกรรมสิทธิ์ของธนาคารไป    

หากเราอายุยืนกว่า 80 ปี ยิ่งอยู่นานเท่าไหร่ เราจะเป็นคนแก่ที่ไม่น่ารักมากขึ้นเท่านั้น สร้างความอึดอัดให้ลูกหลานรอบข้าง ถ้าเราไม่มีการเตรียมตัวแต่เนิ่นๆ ด้วยการปฏิบัติธรรมฝึกสมาธิ อย่าคิดว่ารอจนอายุ 70 แล้วค่อยเริ่มนั้นไม่ทัน เพราะไม่ใช่เรื่องง่ายและต้องอาศัยความสมบูรณ์ทั้งกายและใจ นี้เป็นเรื่องท้าทายที่สำคัญสำหรับผู้สูงวัยมากกว่าการมุ่งความสนใจไปที่การลงทุนสร้างดอกผลเลยทีเดียว

   

คอลัมน์ เวทีพิจารณ์นโยบายสาธารณะ

วิจักษณ์ ศิริแสร์
กลุ่มนโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล

             

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

อภิสิทธิ์-อดีตนายกรัฐมนตรี มอง 'จุดเสี่ยง' รัฐบาลเพื่อไทย ระเบิดการเมือง วางไว้เองหลายลูก

แม้ขณะนี้จะไม่ได้มีตำแหน่งทางการเมืองใดๆ แต่สำหรับ "อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และอดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์" การแสดงทัศนะหรือความคิดเห็นทางด้านการเมือง

ความเสื่อม.. ที่ควรเห็น.. ก่อนตาย!!

เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา.. มีคำกล่าวเป็นสุภาษิต ว่า ความเสื่อมของมนุษย์ ล้วนมีสาเหตุมาจากมนุษย์.. ความเสื่อมของสิ่งใดๆ .. ก็มีสาเหตุมาจากสิ่งนั้นๆ..

วิสาหกิจเพื่อสังคม องค์กรน้ำดีที่รอวันเติบโต

วิสาหกิจเพื่อสังคม (social enterprise) หรือ องค์กรที่ประกอบธุรกิจเพื่อช่วยเหลือสังคม นับเป็นองค์กรประเภทหนึ่งที่มีบทบาทในนำแนวคิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน (sustainable development) ไปปฏิบัติอย่างแท้จริงได้ ในช่วงเวลา ๒-๓ ทศวรรษที่ผ่านมา วิสาหกิจเพื่อสังคมในหลายประเทศทั่วโลกที่ได้รับการสนับสนุนอย่างเหมาะสมพิสูจน์ให้เห็นว่า การประกอบธุรกิจขององค์กรสามารถช่วยเหลือสังคมได้จริง ตัวอย่างเช่น ธนาคารกรามีน (Grameen Bank) ในประเทศบังกลาเทศ

รัฐบาลแพทองธาร อยู่ไม่ครบปี บิ๊กป้อม ยังสู้-พปชร.เดินหน้าต่อ

เหลือเวลาอีกเพียง 3 สัปดาห์เศษ ปี 2567 ก็จะผ่านพ้นไปแล้วเพื่อเข้าสู่ปีใหม่ 2568 ซึ่งภาพรวมเศรษฐกิจไทยปี 2567 เป็นอย่างไร และปีหน้า 2568 จะมีทิศทางเช่นไร เรื่องนี้มีมุมมองแนววิเคราะห์จาก

นโยบายและกฎหมายรัฐบาลดิจิทัล (ตอนที่ 1) : งานหลังบ้านที่ถูกมองข้าม 

ในปี 2562 และ 2565 รัฐบาลได้ออกกฎหมายสำคัญเกี่ยวกับความเป็นรัฐบาลดิจิทัล 2 ฉบับ คือ พระราชบัญญัติการบริหารงานและให้บริการภาครัฐผ่านระบบดิจิทัล (พ.ศ. 2562) และ พระราชบัญญัติการปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ (พ.ศ. 2565) กฎหมายทั้ง 2 ฉบับถูกออกแบบมาโดยเจตนาเพื่อให้กระตุ้นให้เกิดความเป็นรัฐบาลดิจิทัลอย่างยิ่งยวด