ทีดีอาร์ไอ กะเทาะเปลือก “ดิจิทัลวอลเล็ต” กับผลกระทบที่จะตามมา

กับการประกาศเดินหน้านโยบายดิจิทัลวอลเล็ตของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง รวมถึงพรรคเพื่อไทย แม้จะมีเสียงทักท้วงในเชิงวิชาการถึงผลกระทบที่จะตามมาหากมีการใช้งบประมาณจำนวนมากถึง 560,000 บาทเพื่อทำนโยบายดิจิทัลวอลเล็ตที่อาจเกิดความเสี่ยงทางด้านการคลังและภาระงบประมาณของประเทศในอนาคต

มุมมองของนักวิชาการชื่อดังจาก สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทยหรือทีดีอาร์ไอ ต่อนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต จึงน่าสนใจยิ่งโดย “ไทยโพสต์”ได้สัมภาษณ์"ดร. สมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือทีดีอาร์ไอ"ซึ่งมีประสบการณ์ในการทำวิจัยด้านความยากจนและการกระจายรายได้-เศรษฐกิจมหภาค นโยบายการเงินการคลัง การปฏิรูประบบการคลัง เป็นต้น อีกทั้ง มีประสบการณ์ทำงานร่วมกับภาครัฐในหลากหลายฐานะ เช่น อดีตกรรมการนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย ที่เพิ่งหมดวาระเมื่อตุลาคมที่ผ่านมา -อดีตกรรมการธนาคารออมสิน เป็นต้น

โดย"ดร.สมชัย"ย้ำว่า ไม่เห็นด้วยกับนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต และควรยกเลิก โดยแม้จะไม่ได้ร่วมลงชื่อด้วยกับแถลงการณ์ของนักเศรษฐศาสตร์ที่ร่วมกันลงชื่อคัดค้านนโยบายดิจิทัลวอลเล็ตที่ออกมาเมื่อปลายสัปดาห์ที่แล้ว  แต่ก็เห็นด้วยกับเหตุผลทุกข้อที่ระบุไว้ในแถลงการณ์ดังกล่าว โดยเหตุผลหลักๆ ก็คือ สถานการณ์ในปัจจุบันไม่มีเหตุจำเป็นต้องใช้งบประมาณเพื่อเข้าไปกระตุ้นเศรษฐกิจ และจะเกิด"ค่าเสียโอกาส"ของงบประมาณดังกล่าวที่นำไปใช้ทำดิจิทัลวอลเล็ตที่มีเยอะมาก โดยหากไม่นำงบประมาณมาทำดิจิทัลวอลเล็ต แต่นำไปใช้ทำอย่างอื่นจะได้ประโยชน์มากกว่า และที่บอกว่าเงินในนโยบายดังกล่าวจะทำให้เกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจหลายรอบ ตอนแรกก็บอกว่า จะหมุนได้ 4-6 รอบ แต่ระยะหลังก็ลดลงมาเหลือ 1-2 รอบ ที่ก็คิดว่าไม่น่าจะได้ขนาดนั้น

มีคำอธิบายล่าสุดของเลขานุการรมว.คลัง(เผ่าภูมิ โรจนสกุล) ที่บอกว่า เงื่อนไขที่กำหนดไว้จะทำให้มีประสิทธิภาพมากกว่าการแจกเงินในอดีต ซึ่งบางเรื่องก็ฟังได้ แต่ประเด็นคือมันยังไม่ได้มีการพิสูจน์ โดยการนำเงินก้อนใหญ่ขนาดนี้ไปทำ แล้วนำไปสู่ความเสี่ยงด้านการคลัง ซึ่งเราก็รู้กันดีเรื่องวินัยการคลังมันจะหายไป ต่างชาติ ก็เริ่มมองเราไม่ดี อัตราดอกเบี้ยในตลาดพันธบัตรก็ขึ้นไปแล้ว ดอกเบี้ยพันธบัตรระยะยาวรัฐบาลก็ขึ้น ความเสี่ยงมันสูงมาก สูงเกินกว่าที่จะเอาความคาดหวังว่ามันน่าจะดีอย่างนั้น ดีอย่างนี้ แล้วมาตัดสินใจเดินหน้าเลย ส่วนเหตุผลที่ตัวนายกรัฐมนตรี-รมว.คลัง หรือโฆษกรัฐบาล และคนในพรรคเพื่อไทยหลายคน ออกมาตอบโต้โดยบอกว่าความเห็นนักวิชาการเป็นเสียงส่วนน้อย ต้องไปถามคนส่วนใหญ่ว่าเขาจะเอาเงินไหม ผมว่าไม่น่าจะพูดแบบนั้น เพราะถ้าบอกว่าเอาเสียงส่วนใหญ่ แบบนั้นก็ต้องแจกเงินกันตลอด รัฐบาลทุกรัฐบาลไม่ต้องทำนโยบายอะไร แจกเงินอย่างเดียว การเอาเงินไปใส่มือคน เขาต้องชอบอยู่แล้ว

โดยเฉพาะคนที่อาจจะเป็นรากหญ้าสักเล็กน้อย เขาอาจไม่ได้รู้สึกว่า เขาต้องเจอภาษีอะไรบ้าง คือพอเป็นหนี้ ก็ต้องเก็บภาษี เพื่อนำไปจ่ายคืน คนที่รู้สึกแบบนี้ จะเป็นคนชั้นกลางกับคนรวย เพราะต้องจ่ายภาษีเยอะ จะมีประเด็นว่าคนที่อยู่ระดับล่างลงมาอาจไม่ได้คิดแบบนั้น ซึ่งหากคิดแบบนั้น ผมคิดว่ามันคิดสั้น โดยเฉพาะประเด็นเรื่อง"ค่าเสียโอกาส" ที่ควรสื่อกับคนที่อาจเป็นระดับรากหญ้าที่ควรสื่อกับเขาให้ชัดเจนว่า ทำนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต แล้วใช้งบประมาณมาทำ อะไรที่มันจะหายไปเช่น เรื่องสวัสดิการดูแลประชาชน คนเจ็บไข้ได้ป่วย คนพิการ ผู้สูงอายุ หรือการพัฒนาการเด็กเล็กที่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กที่มีอยู่ยังไม่ครอบคลุมและยังไม่ค่อยมีคุณภาพ สิ่งเหล่านี้ ถ้านำเงินที่จะทำนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต สามารถนำไปใช้กับการดูแลประชาชน ที่จะทำได้ดีขึ้นอีกเยอะ ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับคนกลุ่มรากหญ้ามากกว่า

"ดร.สมชัย-นักวิชาการจากทีดีอาร์ไอ"กล่าวต่อไปว่า ตรงนี้้ถ้าจะคุยให้ชัด ถ้าหากจะถามประชาชนในเรื่องเงินในดิจิทัลวอลเล็ต มันขึ้นอยู่กับวิธีการถาม หากถามเขาว่าจะเอาเงินหนึ่งหมื่นมาให้ ไม่มีข้อผูกพันใด ๆ ต้องการหรือไม่ ถ้าไปตั้งคำถามลักษณะนี้  ใครต่อใคร ต้องตอบว่าเอาอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าการบริหารประเทศมันไม่ใช่แบบนั้น เงินไม่ได้ลอยมาจากฟ้า เงินมีต้นทุนเสมอ ซึ่งต้นทุนที่สำคัญสำหรับรากหญ้าคือค่าเสียโอกาสบอกข้างต้น ถ้าจะถามรากหญ้า ก็ต้องดูว่า ครอบครัวต่างๆ ต้องการอะไรมากที่สุด โดยหากเป็นครอบครัวที่มีเด็กเล็ก มีคนพิการ มีคนแก่นอนติดเตียงที่ต้องดูแล เขาก็จะตอบความต้องการของเขา แล้วก็ถามเขาใหม่ว่า “หากคุณต้องการเงินหมื่นบาท แต่สิ่งที่คุณต้องการอาจจะไม่ได้แล้ว หรืออาจได้น้อยลงไป แล้วให้เขาตอบใหม่ว่า เขาเอาหรือไม่?” ถ้าแบบนี้จะเป็นการถามที่มันแฟร์ เพราะหากจะถามแค่ว่าจะเอาเงินหมื่นบาทหรือไม่ ผมว่ามันเป็นการถามแบบไม่แฟร์-ไม่ครบถ้วน

อะไรบ้างที่รัฐบาลต้องตอบให้ชัด

ก่อนกดปุ่มแจกหนึ่งหมื่นบาท 

"ดร.สมชัย-ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง ทีดีอาร์ไอ"กล่าวต่อไปว่า จนถึงขณะนี้เรื่องดิจิทัลวอลเล็ต สิ่งที่ยังไม่มีความชัดเจนจากฝ่ายรัฐบาลก็คือ จะนำงบประมาณจากส่วนใดมาทำ แต่รัฐบาลก็สัญญาไว้ว่าจะมีความชัดเจน ก็ต้องรอฟัง ที่ก็ต้องฝากด้วยว่า เมื่อมีความชัดเจนแล้ว ก็ต้องบอกด้วยว่าแหล่งเงินที่จะนำมาใช้ทำดิจิทัลวอลเล็ต จะมีต้นทุนด้านการคลังเท่าใด และที่บอกว่าจะไม่เป็นหนี้สาธารณะมันไม่เป็นจริงหรือ เพราะพวกนี้เล่นแร่แปรธาตุได้

เช่นบอกจะไปกู้จากธนาคารออมสิน โดยใช้มาตรา 28 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ ฯ จะทำให้ไม่นับเป็นหนี้สาธารณะ ซึ่งในทางกฎหมายก็จริง ไม่นับจริง แต่มันไม่นับเฉพาะช่วงแรก หมายถึงตอนที่ให้ธนาคารออมสินออกเงินให้ก่อน มันไม่นับ มันเหมือนกับการยืมเงินหรือสั่งให้ทำงาน แต่กฎหมายก็เขียนไว้ชัดเจนว่ารัฐบาลต้องตั้งงบประมาณมาชดใช้เขาในภายหลัง เพราะฉะนั้นมันไม่เป็นหนี้วันนี้ แต่สมมุติปีหน้า ตอนจัดสรรงบประมาณ ก็ต้องไปจัดสรรงบประมาณเพื่อไปชดเชยให้เขา(ธนาคารออมสิน) และทุกบาททุกสตางค์ที่ต้องเพิ่มในรายจ่ายงบประมาณประจำปี มันก็จะไปโผล่ที่การขาดดุล เพราะโครงสร้างของการคลังไทยมันขาดดุลกันเยอะอยู่แล้ว คือรายได้น้อยกว่ารายจ่าย ซึ่งหากการตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปี แล้วงบขาดดุลมันเพิ่มขึ้น โดยที่การขาดดุลทุกบาททุกสตางค์คือการกู้อยู่แล้ว เพราะฉะนั้น มันไม่ใช่การกู้ ณ วันนี้แต่ว่า ถ้าเวลาผ่านไปปีหนึ่ง เดี๋ยวมันก็กู้เพิ่ม สมมุติต้องชดเชยสิบปี ก็จะเป็นหนี้เพิ่มมาอีกสิบปี ทยอยขึ้น

"เพราะฉะนั้นหากรัฐบาลจะแจกแจง ต้องแจกแจงให้ชัดด้วยว่า ที่บอกจะไม่เป็นหนี้ จะไม่ทำให้หนี้สาธารณะเพิ่ม หมายความว่าอย่างไรที่บอกไม่เป็นหนี้ ไม่ทำให้หนี้สาธารณะเพิ่ม ซึ่งผมคิดว่าไม่จริง สิ่งที่เรียกร้องก็คือรัฐบาลต้องทำเรื่องนี้ให้ชัดเจนและอธิบายต่อด้วยว่า ทำไมถึงไม่เป็นหนี้สาธารณะ เอาให้ชัด จะได้รู้ว่าเขาพูดจริงหรือไม่จริง"

"ดร.สมชัย-ทีดีอาร์ไอ"กล่าวอีกว่า นอกจากนี้เรื่องที่ต้องการความชัดเจนจากรัฐบาลก็คือ ที่รัฐบาลบอกว่านโยบายดิจิทัลวอลเล็ต ทำแล้วจะกระตุ้นเศรษฐกิจได้ดี จะทำให้เกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจได้ดี ทำให้เศรษฐกิจหมุนหลายรอบ ช่วยนำหลักฐานเชิงวิชาการมาแสดงให้ดูด้วยได้หรือไม่ว่ามีที่ไหนที่ทำแล้วมันหมุนได้หลายรอบจริงอย่างที่พยายามจะบอก เพราะเห็นเขาพยายามโต้ว่าที่บางคนบอกว่าจะหมุนได้ไม่ถึงหนึ่งรอบ ผมก็เขียนในเฟซบุ๊ก ส่วนตัวว่าหมุน 0.4 เขาก็โต้มาว่ามันไม่จริง มันต้องสูงกว่านั้นเยอะ ก็อยากให้บอกมาว่าอะไรที่ทำให้คิดว่าจะหมุนได้สูงกว่านั้น และจะหมุนได้เท่าใด รวมถึงมีเหตุผลทางวิชาการและข้อมูลรองรับหรือไม่

อีกเรื่องหนึ่งที่ต้องการความชัดเจนจากรัฐบาลก็คือ ที่บอกว่า เมื่อทำดิจิทัลวอลเล็ตออกมาแล้ว จะพลิกโฉมเศรษฐกิจไทย จะพลิกโฉมแบบ Jump start เศรษฐกิจ ทำให้เศรษฐกิจเติบโตแบบถาวร ช่วยบอกให้เราเชื่อได้ไหมว่ามันจะเป็นแบบนั้นจริง เพราะวิเคราะห์ยังไง มันก็ไม่ใช่

เพราะการเอาเงินให้ไปรอบเดียวให้ใช้ภายในหกเดือน พอผ่านหกเดือนก็หมดไป ที่บอกว่าหมื่นบาทที่คนได้ไป จะไม่ได้แค่ไปบริโภค แต่จะนำไปลงทุนด้วย จะเกิดอาชีพใหม่ เขาแน่ใจมากแค่ไหน เพราะการทำอาชีพ ไม่ใช่ว่ามีหนึ่งหมื่นบาท ก็จะทำอาชีพได้ถาวร เพราะการทำอาชีพมันมีเงื่อนไขเยอะ ไม่ใช่ว่าใช้เงินตั้งต้นก้อนเดียวแล้วก็จบ ต้องหาแหล่งตลาดได้ ต้องมีเงินเข้ามาซับพอร์ตเป็นระยะ เข้าถึงสินเชื่อได้ เพราะการทำธุรกิจก็ต้องมีการบริหารสภาพคล่อง อันนี้คือการทำธุรกิจในโลกความเป็นจริง ไม่ใช่ว่าเอาเงินหมื่นบาทให้ไป จากที่ทำอะไรไม่เป็น ไม่เคยทำการค้า แล้วจู่ๆ ก็ทำการค้าได้แบบยั่งยืนถาวรเป็นสิบปี มันฟังไม่ขึ้น ก็ช่วยตอบด้วยว่า ที่บอกทำนโยบายนี้แล้ว เศรษฐกิจจะถูกกระตุ้นขึ้นมาแบบถาวร ไม่ใช่แค่ชั่วคราว ความถาวรดังกล่าวมันมาจากตรงไหน ช่วยแจกแจงรายละเอียดด้วยว่า ทำไมมันถึงถาวรได้

ดิจิทัลวอลเล็ต

กับผลกระทบความเชื่อมั่นเรื่อง

วินัยการคลังที่มีต่อรัฐบาล

-ท่าทีของนายกฯ และคนในพรรคเพื่อไทย ประสานเสียงบอกว่า จะเดินหน้า ไม่ยกเลิกแน่นอน แล้วหากทำดิจิทัลวอลเล็ตออกมาแล้วจะนำไปสู่ความเสี่ยงอย่างไรบ้าง?

ก็เป็นความเสี่ยงที่ฝ่ายซึ่งไม่เห็นด้วยกับนโยบายดังกล่าวได้แสดงความคิดเห็นออกมาแล้ว แถลงการณ์ของนักเศรษฐศาสตร์ที่ออกมา ได้พูดถึงความเสี่ยงไว้เยอะ

อย่างสื่อเช่นลงทุนแมน ทำคลิปไว้แสดงให้เห็นภาพชัดเจนเช่น ดอกเบี้ยในตลาดพันธบัตรขึ้นไปแล้ว  เพราะตลาดพันธบัตร เขาอ่านเกมออกว่าสุดท้ายรัฐบาลกู้แน่ เพราะพอรัฐบาลกู้ ก็ต้องมากู้จากในตลาด มาหาเงินจากตลาดการเงิน ซึ่งการหาเงินดังกล่าว คือมาแย่งเงิน พอมาแย่งเงิน รัฐบาลต้องออกพันธบัตร การจะแย่งเขาได้ ต้องให้ดอกเบี้ยแพงๆ คนถึงจะนำเงินมาให้ เลยทำให้ภาพของดอกเบี้ยในตลาดพันธบัตรมันปรับขึ้นไปเรียบร้อยแล้ว โดยอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นมันคือต้นทุนของธุรกิจ เช่นธุรกิจที่จะออกหุ้นกู้รอบใหม่ ก็ต้องจ่ายดอกเบี้ยแพงไปด้วย ต้นทุนก็เพิ่มไปด้วย ตัวรัฐบาลเองเมื่อกู้มาแล้ว ตัว 560,000 บาทที่ต้องเป็นหนี้เพิ่มขึ้น มันจ่ายดอกเบี้ยแพงขึ้นด้วย

แต่ตัวที่สาหัสสากรรจ์ที่สุด ก็คือ "ความเชื่อมั่นในเรื่องของวินัยการคลังที่มีต่อรัฐบาล" เพราะตรงท่าทีของคนในรัฐบาลที่ไม่ฟังเสียงใคร จะเดินหน้าแน่ วาดฝันว่าจะต้องดีแน่นอน มันชวนให้คนหวั่นใจ

ความหวั่นใจต่อเรื่องความตั้งใจในการที่จะรักษาวินัยการคลังของรัฐบาลเวลามันสั่นคลอนแล้ว มันทำให้เช่นบริษัทจัดอันดับ ก็จะปรับอันดับลง ซึ่งหากปรับอันดับลง คราวนี้งานใหญ่เลย ดอกเบี้ยขึ้นแน่นอน ต่อไปประเทศไทยไปกู้ใครเขา ก็ต้องจ่ายดอกเบี้ยแพงหมดเลย ต่อไป นักลงทุนอาจจะไม่เข้ามาก็ได้ เพราะว่าการขาดวินัยด้านการคลัง

“ในที่สุด มักนำไปสู่ความปั่นป่วนทางเศรษฐกิจ ก็คือ จะมีเศรษฐกิจถดถอย ที่ก็จะไม่ใช่ปีที่ทำนโยบายแต่เว้นระยะไปสัก 3-4 ปี จะเกิดปัญหาได้ นักลงทุนที่ฉลาด ที่เวลาลงทุน ก็ต้องลงทุนกันยาวๆ เป็นสิบปี ที่เขาต้องอ่านเกมยาว ถ้าเป็นแบบนี้เขาจะมองว่ามันไม่น่าเชื่อถือแล้ว เขาก็จะไม่มาลงทุนในประเทศไทย จะไปลงทุนประเทศอื่น ดังนั้นที่รัฐบาลบอกว่านโยบายนี้จะเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ ทำให้เศรษฐกิจโตแบบถาวร มันก็จะไม่เกิด เพราะคนก็ไม่มาลงทุน”

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ส่อเลื่อนประชามติ รอแก้กฎหมาย ร่างรธน.ฉบับใหม่ ต้องไม่จุดไฟความขัดแย้ง

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 23 เมษายนที่ผ่านมา รับทราบ รายงานผลการดำเนินงานของ”คณะกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางในการทำประชามติ

บทธรรมดับโลกร้อน .. ที่นักปกครองต้องอ่าน!!

เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา.. โลกกำลังเข้าสู่ห้วงธรรมวิกฤต.. ที่มนุษยชาติประพฤติตนอยู่ในมิจฉาทิฏฐิ มีความโลภที่รุนแรงและราคะความกำหนัดที่ผิดธรรม .. เป็นส่วนใหญ่

กกต.เริ่มขยับ พร้อมงัด 'กฎเหล็ก' คุมเข้มเลือก สว. 2567

ความเคลื่อนไหวการได้มาซึ่ง "สมาชิกวุฒิสภา" (สว.) ชุดใหม่ใกล้เข้ามาเรื่อยๆ ล่าสุด ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันอังคารที่ 23 เม.ย.ที่ผ่านมา ได้อนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกสมาชิกวุฒิสภา

พนัส อดีตสว.-อดีตสสร. คัดเลือกสภาสูง 2567 ฝ่ายประชาธิปไตยมีสิทธิลุ้น

ความเคลื่อนไหวการได้มาซึ่ง"สมาชิกวุฒิสภา"(สว.) ชุดใหม่ ใกล้เข้ามาเรื่อยๆ ล่าสุดที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันอังคารที่ 23 เม.ย.ที่ผ่านมา ได้อนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. ....

อย่าใหญ่เกินธรรมชาติ .. พ่อมหาจำเริญ!!

เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธามั่นคงในพระพุทธศาสนา.. ภาวะโลกร้อน (Global warming) .. อันเกิดเนื่องเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ที่กำลังอยู่ใต้ห้วงวิกฤตการณ์อันเนื่องจากการกระทำของคนเรา

“มิจฉาธรรม .. ในอสัตบุรุษที่น่ากลัวยิ่ง”

เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา สงกรานต์ร้อนที่เข้าสู่จุลศักราช ๑๓๘๖ เถลิงศกตรงกับ ๑๖ เมษายน ๒๕๖๗ นับว่าร้อนแล้ง ตรงกับคำพยากรณ์ที่พร้อมเกิดพายุร้อนได้ในทุกพื้นที่ เป็นการแสดงสภาวะผันผวนที่เนื่องมาจากวิกฤตร้อนของโลก (Climate Change) ที่หลายฝ่ายเฝ้าสังเกตการณ์ด้วยความเป็นห่วงว่า มนุษยชาติจะผ่านวิกฤตโลกร้อนไปได้หรือไม่..